xs
xsm
sm
md
lg

ดักคอแก้ม.237เปิดช่องนิรโทษ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายประพันธ์ นัยโกวิท กกต.ด้านบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวถึงข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 237 ว่า มาตราดังกล่าวส.ส.ร. ต้องการแก้ไขปัญหาทุจริตเลือกตั้ง และโดยหลักการของ รธน.ปี 40 และปี 50 มีความเหมือนคือ ผู้สมัครไม่สามารถลงรับเลือกตั้งส.ส. ด้วยตัวเองได้ แต่พรรคต้องเป็นผู้ส่งลงสมัคร แสดงว่าเราให้ความสำคัญกับพรรคการเมืองมาก เมื่อเป็นเช่นนี้ พรรคและกรรมการรบริหาร ก็ต้องมีความรับผิดชอบ เช่นเดียวกับนิติบุคคล อีกทั้งในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา เราก็ได้เสนอให้เรื่องการขจัดทุจริตเลือกตั้งเป็นวาระแห่งชาติ แต่นักการเมืองไม่ให้ความสำคัญเท่าที่ควร อย่างไรก็ตาม หากจะแก้ ทุกฝ่ายต้องดูว่าจะแก้อย่างไรไม่ให้มีปัญหา ต้องดูว่าปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่ที่จุดใด
ส่วนการแก้มาตรา 237 จะเป็นการเปิดช่องให้นิรโทษกรรมหรือไม่ เห็นว่า หากมีการยกเลิกมาตราดังกล่าว ก็จะเป็นการเปิดช่องทางให้ออกกฎหมายลูก เพื่อให้รับกับรัฐธรรมนูญ ซึ่งอาจจะมีการยกความผิด หรือนิรโทษกรรมได้ ส่วนเรื่องการแก้ไขปัญหาทุจริตเลือกตั้ง จะถอยหลังหรือไม่นั้น ก็เป็นเรื่องที่คณะกรรมการฯ และผู้มีอำนาจจะพิจารณา
สำหรับการเสนอแก้ไข มาตรา 190 นั้น นายประพันธ์ กล่าวว่า ตอนยกร่างมีการนำปัญหาการเซ็นสัญญา เอฟทีเอ มาเป็นตัวตั้ง ซึ่งครั้งนั้นสภาไม่ทราบ รัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงบัญญัติให้นำปัญหามาพูดในสภา ซึ่งตนคิดว่าไม่น่าเป็นเรื่องเสียหาย เพราะสภาจะทำหน้าที่กลั่นกรอง โดยหากผู้แทนคิดถึงเรื่องส่วนรวมก็ไม่น่ามีปัญหา แต่ปัญหาที่เกิดขึ้น ก็มีคนทักท้วงว่าเกิดความล่าช้า และไม่สะดวกในการเจรจากับต่างประเทศ ซึ่งเรื่องการเจรจากับต่างประเทศ ก็ไม่มีเรื่องใดเร่งด่วนต้องมีการเจรจา เป็นขั้นตอน แต่หากจะแก้ให้มาตรานี้ชัดเจนขึ้น ก็ไม่มีปัญหา
**มาร์คชี้แจง คกก.สอบสลายม็อบ
เมื่อเวลา 09.30 น. วานนี้ ที่รัฐสภา คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการชุมนุมทางการเมือง ที่มีนายสมศักดิ์ บุญทอง เป็นประธานฯ ได้เชิญ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี เข้าชี้แจง โดยช่วงแรกได้เปิดโอกาสให้นายกรัฐมนตรี ชี้แจงลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งนายกฯได้อธิบายการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง ตั้งแต่วันที่ 8 เม.ย. ว่า เป็นการชุมนุมที่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย แต่ในวันที่ 12 เม.ย. ที่ตนแถลงข่าวที่กระทรวงมหาดไทย เพื่อประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินนั้น มีความพยายามขว้างปาสิ่งของและพยายามทุบรถ เราก็พยายามใช้ความอดทน และสั่งการอย่างเข้มงวดกับเจ้าหน้าที่ของรัฐว่า ไม่มีความจำเป็นต้องใช้ความรุนแรง
จนกระทั่งเวลา 04.00 น. ของวันที่ 14 เม.ย. มีการใช้กำลังเจ้าหน้าที่เข้าสลายการชุมนุมบริเวณสามเหลี่ยมดินแดง จนมีผู้บาดเจ็บ แต่ยืนยันว่า ไม่มีผู้เสียชีวิต เป็นการดำเนินการสลายการชุมนุมเพื่อคืนสภาพการจราจรเท่านั้น ยืนยันว่ารัฐบาลมีนโยบายใช้ความระมัดระวังมากที่สุดในการดำเนินการเพื่อให้สถานการณ์คลี่คลายไปได้ จากนั้นคณะกรรมการจากพรรคเพื่อไทย อาทิ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญากุล นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว และนางประทีป อึ้งทรงธรรม ได้ซักถาม โดยมีใจความสรุปได้ว่า ภายหลังประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินแล้วนายกฯได้สั่งการโดยวาจาหรือสั่งการเป็นลายลักษณ์อักษร รวมทั้งระหว่างการปฎิบัติการสลายการชุมนุม กรณีที่มีคนเสื้อน้ำเงิน ปะปนอยู่กับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจด้วย จึงอยากทราบว่า เป็นประชาชนทั่วไปหรือเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ นอกจากนี้ยังพบว่า มีผู้ได้รับบาดเจ็บจากกระสุนจริงในการสลายการชุมนุมทั้งๆ ที่รัฐบาลยืนยันว่า การปฏิบัติการใช้กระสุนปลอม แต่เหตุใดจึงมีผู้ได้รับบาดเจ็บ
นายกรัฐมนตรี ได้ชี้แจงว่า หลังประกาศแต่งตั้ง กอฉ.แล้ว ได้มอบหมายให้นายสุเทพ และพล.อ.ทรงกิตติ จักกาบาตร์ ผบ.สส. เป็นผู้ดูแลสถานการณ์ ซึ่งการสลายการชุมนุมของรัฐบาลนั้น ปฏิบัติตามมาตรฐานสากลและมีมาตรฐานเดียว เพื่อให้บ้านเมืองกลับสู่ภาวะปกติ เพราะขณะนั้นแกนนำของกลุ่มคนเสื้อแดงบางคนมีเจตนาที่จะเคลื่อนมวลชนเพื่อแสดงให้เห็นว่า รัฐบาลไม่สามารถใช้อำนาจได้ โดยเห็นได้ชัดว่า มีการปลุกระดมส่งเสริมให้ประชาชนทำผิดกฎหมาย
จากนั้นนายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย ได้ขอให้มีการเปิดซีดีบันทึกเหตุการณ์การสลายการชุมนุมบริเวณสามเหลี่ยมดินแดง แต่นายสมศักดิ์ไม่อนุญาต เนื่องจากเห็นว่านายกฯมีเวลาชี้แจงน้อยและเป็นเรื่องที่พิจารณากันเองในที่ประชุมคณะกรรมการฯ
ด้านนพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม คณะกรรมการฯจากพรรคประชาธิปัตย์ ได้ตั้งคำถามว่า ภายหลังการแถลงข่าวที่กระทรวงมหาดไทย ในวันที่ 12 เม.ย. นายกฯ ถูกรุมทำร้ายรวมทั้งมีข้อสงสัยอีกว่า นายกฯ อยู่ในรถคันดังกล่าวจริงหรือไม่ และในระหว่างนั้นได้มีการสั่งการให้ดำเนินการกับผู้ชุมนุมอย่างไร ขณะที่นางนฤมล ศิริวัฒน์ ส.ว.อุตรดิตถ์ ถามว่า เหตุใดรัฐบาลจึงต้องประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉินที่กระทรวงมหาดไทย ทั้งๆ ที่มีสถานที่อื่นอีกมาก นายอภิสิทธิ์ จึงชี้แจงว่า เหตุการณ์ในวันนั้นมีบันทึกของเจ้าหน้าที่ตำรวจระบุชัดเจนว่า ตนเข้าไปอยู่ในรถและเคลื่อนออกจากกระทรวงมหาดไทย แต่เห็นได้ชัดว่ามีกลุ่มผู้ชุมนุมเข้ามาทุบทำร้ายรถ โดยผู้ชุมนุมมีทั้งไม้ และอาวุธอื่นๆ ส่วนการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่กระทรวงมหาดไทยนั้น เพราะมีผู้ปฎิบัติการด้านนโยบายและบุคคลที่เกี่ยวข้อง อาทิ รมว.กลาโหม รมว.มหาดไทย และรมช. มหาดไทย ตั้งศูนย์บัญชาการที่นั่น และเตรียมพร้อมทุกอย่างไว้อยู่แล้ว และคิดว่าเหตุการณ์ชุมนุมจะไม่บานปลาย เนื่องจากกลุ่มคนเสื้อแดงไม่เคยบุกเข้าไปในสถานที่ราชการ จึงไม่ได้เตรียมกำลังเจ้าหน้าที่ไว้ป้องกันเหตุ
คณะกรรมการจากพรรคเพื่อไทยยังได้ซักถามถึงการได้รับบาดเจ็บ และเสียชีวิตของผู้ชุมนุมจากอาวุธหนัก รวมทั้งกรณีที่มีผู้สูญหายหลายคนด้วย โดยนายอภิสิทธิ์ ยืนยันว่า ไม่มีผู้เสียชีวิต และได้รับบาดเจ็บ อีกทั้งผู้ที่ได้รับบาดเจ็บก็ได้รับการรักษาพยายามด้วย ส่วนผู้สูญหายนั้นก็มีหน่วยงานที่รับผิดชอบทำหน้าที่ตรวจสอบอยู่แล้ว

**เสื้อน้ำเงินที่พัทยาเป็นแค่อาสาสมัคร
จากนั้นคณะกรรมการจากพรรคเพื่อไทยจึงซักถาม นายสุเทพ ถึงการปฏิบัติหน้าที่ โดยเฉพาะกรณีของกลุ่มคนเสื้อน้ำเงิน ที่เกรงว่านายเนวิน ชิดชอบ แกนนำพรรคภูมิใจไทย มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสั่งการด้วยหรือไม่ โดย นายสุเทพ ชี้แจงว่า ตนได้เตรียมการจัดประชุมอาเซียนซัมมิต ที่พัทยาตั้งแต่วันที่ 10 เม.ย. และเห็นว่าจำนวนเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจไม่เพียงพอ จึงหารือกับ ผวจ.ชลบุรี นายกเทศมนตรี และส.ส.ในพื้นที่ เพื่อให้หาอาสาสมัคร มาช่วยดูแลเส้นทางที่จะขึ้นไปยังโรงแรมรอยัลคลิฟ บีช ซึ่งมีถึง 7-8 เส้นทาง ซึ่งอาสาสมัครนั้นใส่เสื้อหลายสีไม่ได้ใส่เฉพาะเสื้อสีน้ำเงิน อย่างเดียว ส่วนเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจนั้นใส่เครื่องแบบ และมีเพียงกระบองกับโล่เท่านั้น ส่วนในพื้นที่ กทม.นั้นรัฐบาลไม่รู้ไม่เห็นว่ามีอาสาสมัครมาช่วยหรือไม่ แต่เท่าที่เห็นมีเพียงเจ้าหน้าที่จากมูลนิธิต่างๆ เท่านั้น
นายสุเทพ กล่าวด้วยว่า ตนพบกับนายเนวิน ชิดชอบ ระหว่างที่เดินตรวจเส้นทางจริง และมี ส.ส.ที่เป็นห่วงสถานการณ์หลายคน รวมทั้ง นายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ก็เข้าไปในพื้นที่เหมือนกัน เพียงแต่สื่อมวลชนไม่ได้ถ่ายรูปไว้ว่ามีใครบ้าง ยืนยันว่าตนไม่ได้เดินทางไปพร้อมกับนายเนวิน และนายเนวิน ก็ไม่ได้เป็นอาสาสมัคร ส่วนมีนายทหารท่านใดอยู่ที่นั่นบ้างหรือไม่นั้น ตนจำไม่ได้ แต่ยืนยันว่า ไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐหรืออาสาสมัครถืออาวุธใดๆทั้งสิ้น
ทั้งนี้ นายสุเทพ ยืนยันว่าการสลายการชุมนุมทั้งที่ กทม.และพัทยา ไม่มีผู้เสียชีวิต แต่ได้รับรายงานว่ามีผู้ได้รับบาดเจ็บ 13 คน ซึ่งไม่ได้เกิดจากอาวุธหนักใดๆ ทั้งสิ้น แต่เกิดจากอาวุธปืน 9 มม. ปืนพกสั้น และปืนลูกซอง ส่วนผู้สูญหายนั้นได้รับแจ้งว่ามี 4 คน และขณะนี้พบแล้ว 1 คน ส่วนอีก 3 คน กำลังอยู่ระหว่างการตรวจสอบ

**ผบ.เหล่าทัพส่งตัวแทนชี้แจง
สำหรับในช่วงบ่าย เป็นคิวของผู้บัญชาการเหล่าทัพและผู้บังคับบัญชาเจ้าหน้าที่ตำรวจ เข้าชี้แจงต่อคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง แต่ไม่มีผู้นำเหล่าทัพคนใดเข้าให้ข้อมูลด้วยตัวเอง มีเพียงการส่งผู้แทนมาให้ข้อมูลเท่านั้น โดยมี พล.ต. องอาจ พงษ์ศักดิ์ รองแม่ทัพภาคที่ 1 ที่ได้รับมอบหมายจาก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. พล.ต.สหัส สูงใหญ่ ผอ.สำนักปฏิบัติการกรมยุทธการ กองบัญชาการกองทัพไทย เข้าชี้แจงแทน พล.อ.ทรงกิตติ จักกาบาตร์ ผบ.สส. ซึ่งติดภารกิจที่ประเทศจีน
ขณะที่ พล.ต.ต.ปราโมทย์ ปทุมวงศ์ รองผบช.ภ.2 รักษาการผู้บังคับการภูธรจังหวัด ให้ข้อมูลเหตุการณ์กรณีที่กลุ่มคนเสื้อแดงบุกเข้าสถานที่ประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ที่ พัทยา จ.ชลบุรี โดยได้สรุปเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 7-11 เม.ย. ต่อที่ประชุมคณะกรรมการ พร้อมกับรายงานความคืบหน้าการดำเนินคดีผู้กระทำผิดในเหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการสืบสวนสอบสวนจำนวนทั้งสิ้น 13 คดี
ส่วนกรณีกลุ่มชายฉกรรจ์สวมเสื้อสีน้ำเงิน ที่พัทยานั้น จากการตรวจสอบพบว่า เป็นกลุ่มคนที่รักท้องถิ่น มาเรียกร้องและประกาศเจตนารมณ์ว่า พัทยาเป็นเมืองเศรษฐกิจ ไม่ให้มีเหตุร้ายเกิดขึ้น สำหรับการดำเนินคดีกับแกนนำกลุ่มคนเสื้อแดง ที่กระทำความผิดอาญา ขณะนี้ได้ทำการสืบสวนสอบสวนแล้วเสร็จ พร้อมส่งอัยการในวันที่ 19 พ.ค.นี้ โดยเหตุผลที่ดำเนินการอย่างรวดเร็ว เพราะเป็นคดีที่มีการจับกุมควบคุมในชั้นศาล บางรายก็ประกันตัวในชั้นพนักงานสอบสวน จึงจำเป็นต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 48 วัน ซึ่งขณะนี้ล่วงเลยมาแล้ว 30 วัน โดยยืนยันว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจภาค 2 ดำเนินการอย่างตรงไปตรงมา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ประเด็นที่ตัวแทนจากพรรคเพื่อไทย ได้ตั้งคำถามจากตัวแทนเหล่าทัพมากคือ ขั้นตอนและระเบียบในการเข้าสลายการชุมนุม และใครออกคำสั่ง โดย พล.ต.องอาจ พงษ์ศักดิ์ รองแม่ทัพภาคที่ 1 ที่ได้รับมอบหมายจาก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. ชี้แจงว่า เป็นไปตามกาประกาศ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคงรับผิดชอบสถานการณ์ ซึ่งหลังจากที่นายสุเทพ ได้มีคำสั่งให้ทหารเป็นเจ้าพนักงาน และคำสั่งให้ พล.อ.ทรงกิตติ จักบาตร์ ผบ.สส.เป็นประธาน กอฉ. ก็ได้ใช้อำนาจดังกล่าวปฏิบัติหน้าที่
ทั้งนี้ยืนยันว่าไม่มีประชาชนเสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ของทหารแม้แต่รายเดียว การเข้าปฏิบัติการควบคุมการชุมนุมได้พยายามทำให้โปร่งใสมากที่สุด โดยเปิดให้สื่อทั้งในประเทศและต่างประเทศติดตามทำข่าว ส่วนประเด็นที่อ้างว่าทหารใช้ยีเอ็มซี ขนศพคนเสื้อแดงไปยังค่ายทหารที่ จ.ลพบุรีนั้น ไม่เคยรับรู้ ไม่ได้รับรายงานมาก่อน ทราบข่าวจากสื่อมวลชนเท่านั้น
จากนั้นนายวรวัจน์ ได้จี้ถามว่า ไม่ได้รับรายงานจริงหรือ เพราะตนมีพยานรู้เห็นว่ามีรถทหารวิ่งไปในเส้นทางสายเอเชีย ข้ามแยก จ.สิงห์บุรี มุ่งหน้าไปจ.ลพบุรี ในช่วงบ่ายวันที่ 13 เม.ย. ซึ่งรองแม่ทัพภาคที่ 1 ได้กล่าวว่า ยอมรับว่า มีการขนผู้ต้องขังจำนวน 19 คน ไปสอบปากคำและควบคุมที่ศูนย์การทหารม้า จ.สระบุรี โดยใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ส่วนกรณีอื่นไม่ได้รับรายงาน
ขณะที่พล.ต.ต. อำนวย นิ่มมะโน รอง ผบช.น. กล่าวว่า ช่วงเวลาที่นำผู้คุมขังไปยังศูนย์การทหารม้า จ.สระบุรี ขณะนั้นได้ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดย 19 คน ขัดขวางการทำงานของเจ้าหน้าที่และชุมนุมตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป แต่หากจะนำไปควบคุมที่ สน.ดินแดง สถานการณ์มีความเสี่ยง และล่อแหลม เพราะผู้ชุมนุมที่บริเวณสามเหลี่ยมดินแดง ก็ยังไม่นิ่ง จึงต้องนำไปควบคุมสถานที่อื่น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมวันนี้ (19 พ.ค. ) ที่ประชุมได้เชิญนายวีระ มุสิกพงศ์ นายจตุพร พรหมพันธุ์ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และนาย อริสมันต์ พงษ์เรืองรอง ในฐานะแกนนำคนเสื้อแดง มาชี้แจงให้ข้อมูล ส่วนในวันที่ 20 พ.ค.ที่ประชุมได้เชิญ ผอ.โรงพยาบาลราชวิถี ผอ.โรงพยาบาลรามาธิบดี ผอ.โรงพยาบาลศิริราช และผอ.โรงพยาบาลทหารผ่านศึกมาให้ข้อมูล
กำลังโหลดความคิดเห็น