xs
xsm
sm
md
lg

เอ็กซิมแบงก์Q1กำไร75ล้าน เดินหน้าธุรกิจประกันส่งออก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTV ผู้จัดการรายวัน - เอ็กซิมแบงก์เผย 3 เดือน มีกำไร 75 ล้าน และมียอดอนุมัติสินเชื่อใหม่ 5.4 ล้าน พร้อมขยายงานประกันส่งออก เปิดบริการ"EXIM 4 SMEs"ประกันส่งออกให้ลูกค้าเอสเอ็มอีที่มีมูลค่าไม่เกิน 100 ล้าน ด้านเอสเอ็มอีแบงก์โชว์ 4 เดือนยอดปล่อยกู้พุ่ง 34.81%

นายอภิชัย บุญธีรวร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยผลการดำเนินงานไตรมาสแรกของปี 2552 ว่า EXIM BANK มีกำไรสุทธิ 75 ล้านบาท โดยมีการอนุมัติวงเงินใหม่สำหรับสินเชื่อและรับประกันการส่งออกเพื่อสนับสนุนแก่ผู้ส่งออกและนักธุรกิจไทยจำนวนทั้งสิ้น 5,434 ล้านบาท และ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2552 มียอดคงค้างเงินให้สินเชื่อจำนวน 48,028 ล้านบาท ภาระผูกพันประกันการส่งออกจำนวน 12,539 ล้านบาท นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2552 EXIM BANK ได้เปิดบริษัท ไทย เอ็กซิม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด สาขาแรกที่กรุงมอสโก รัสเซีย เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าและช่วยให้ผู้ส่งออกไทยมั่นใจที่จะเริ่มต้นหรือขยายการส่งออกไปยังตลาดใหม่เพิ่มมากขึ้น

พร้อมกันนี้ EXIM BANK ได้เปิดบริการใหม่ "เอ็กซิมฟอร์เอสเอ็มอี" (EXIM 4 SMEs) ซึ่งเป็นบริการประกันการส่งออกที่จะช่วยให้ผู้ส่งออก SMEs ที่มีมูลค่าการส่งออกไม่เกิน 100 ล้านบาทต่อปีมีความมั่นใจที่จะเริ่มต้นหรือขยายธุรกิจส่งออกไปยังตลาดการค้าเดิมหรือตลาดใหม่เพิ่มมากขึ้น แม้ว่าวิกฤตการเงินโลกจะส่งผลให้ความเสี่ยงจากการไม่ได้รับชำระเงินค่าสินค้าจากผู้ซื้อในต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้นก็ตาม โดย EXIM BANK จะช่วยกลั่นกรองข้อมูลผู้ซื้อและประเมินความสามารถในการชำระเงินของผู้ซื้อในต่างประเทศ รวมทั้งช่วยให้ผู้ส่งออกไทยสามารถเสนอเงื่อนไขการชำระเงินที่แข่งขันได้ ในกรณีที่ส่งสินค้าไปยังผู้ซื้อแล้วแต่ไม่ได้รับชำระเงินค่าสินค้า EXIM BANK จะจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้สูงสุดถึง 90% ของความเสียหายที่เกิดขึ้น

ขณะเดียวกัน EXIM BANK ขยายความร่วมมือกับ SME BANK และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ในการสนับสนุนด้านสินเชื่อและบริการให้แก่ผู้ค้าอัญมณีไทยและเครื่องประดับ ซึ่งถือเป็นความร่วมมือระหว่างธนาคารเฉพาะกิจของรัฐเพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องประดับเข้าถึงแหล่งเงินทุนและบริการอย่างครบวงจร

ทั้งนี้ ในไตรมาสแรกของปี 2552 EXIM BANK มีสินทรัพย์ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2552 จำนวน 57,546 ล้านบาท โดยเป็นส่วนของเงินให้สินเชื่อและดอกเบี้ยค้างรับ 48,432 ล้านบาท

และในปี 2552 EXIM BANK ได้รับการอนุมัติการเพิ่มทุนจากกระทรวงการคลังจำนวน 5,000 ล้านบาทในการรองรับ "บริการประกันการส่งออก (EXIMSurance)" เพื่อช่วยป้องกันความเสี่ยงให้แก่ผู้ส่งออกไทยจากการไม่ได้รับชำระเงินค่าสินค้าจากผู้ซื้อในต่างประเทศท่ามกลางภาวะวิกฤตการเงินโลก การดำเนินมาตรการดังกล่าวนี้ EXIM BANK ได้ร่วมกับกระทรวงการคลังและสถาบันการเงิน 10 แห่งลงนามในบันทึกความร่วมมือภายใต้บริการประกันการส่งออกผ่านสถาบันการเงิน ซึ่งจะช่วยให้ผู้ส่งออกไทยซึ่งเป็นลูกค้าของสถาบันการเงินนั้นๆ สามารถเข้าถึงบริการประกันการส่งออกของ EXIM BANK ได้สะดวกขึ้นโดยติดต่อผ่านสถาบันการเงินที่ตนเองมีธุรกรรมอยู่

SME BANKโชว์สินเชื่อโต34%

ด้านนายโสฬส สาครวิศว กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) เปิดเผยถึง ผลการอนุมัติสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการ SMEs ของธนาคารใน 4 เดือนแรกของปี 2552 (ม.ค. – เม.ย.2552) ว่า ขณะนี้ยอดการอนุมัติสินเชื่อมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดย 4 เดือนแรกของปี 2552 นี้มียอดอนุมัติสินเชื่อทั้งสิ้นกว่า 9,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 51 ถึง 34.81% หรือคิดเป็น 35% ของยอดสินเชื่อเป้าหมายรวมทั้งปี 26,000 ล้านบาท สามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของธนาคารได้ถึง 2,142 ราย และสามารถช่วยรักษาการจ้างงานได้ถึง 16,802 คน

สำหรับยอดอนุมัติสินเชื่อแยกตามพื้นที่ตั้งลูกค้า ใน 4 เดือนแรกนี้ ภาคนครหลวง คิดเป็น 31% ภาคเหนือ 20% และภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ มีสัดส่วนเท่ากันคือ 16% การอนุมัติสินเชื่อของลูกค้าจะอยู่ในวงเงิน 15-40 ล้านบาท คิดเป็น 41% รองลงมา วงเงิน 3-15 ล้านบาท คิดเป็น 32 % และวงเงิน 40-75 ล้านบาท คิดเป็น 16 % ไม่เกิน 3 ล้านบาท คิดเป็น 9 % และมากกว่า 75 ล้านบาท คิดเป็น 2 % ทั้งนี้ กลุ่มลูกค้าที่อนุมัติสินเชื่อจากธนาคารสูงที่สุดเป็นกลุ่มธุรกิจด้านบริการ 21 % รองลงมาเป็นธุรกิจเกี่ยวกับอาหาร 19 % และภาคการผลิต 17 % ที่เหลือเป็นภาคธุรกิจอื่นๆ

นายโสฬส กล่าวว่า ยอดอนุมัติสินเชื่อของธนาคารที่เติบโตขึ้นนั้น มีสาเหตุหลักมาจากการปรับเปลี่ยนองค์กรขนานใหญ่ ตั้งแต่ต้นปี 2552 กลายเป็นเอสเอ็มอีแบงก์ยุคใหม่ที่ทำงานแบบเชิงรุกมากกว่าเดิมอีกทั้งจากสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน ส่งผลให้ผู้ประกอบการ SMEs ต้องการเงินทุนเพื่อนำไปหมุนเวียนธุรกิจมากขึ้น ขณะที่ธนาคารพาณิชย์อื่น ๆ มีนโยบายชะลอการปล่อยสินเชื่อ
กำลังโหลดความคิดเห็น