xs
xsm
sm
md
lg

EXIM BANK เปิดบริการ ช่วย SMEs ไทยฝ่าวิกฤตการเงินโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายพฤฒิชัย ดำรงรัตน์
EXIM BANK เปิดบริการใหม่ “เอ็กซิม ฟอร์ เอสเอ็มอี (EXIM 4 SMEs)” ช่วยให้ผู้ส่งออก SMEs ที่มีมูลค่าการส่งออกไม่เกิน 100 ล้านบาทต่อปีมีขีดความสามารถในการแข่งขันเพิ่มมากขึ้น ทั้งยังไม่ต้องกังวลว่าจะไม่ได้รับชำระเงินค่าสินค้าจากผู้ซื้อในต่างประเทศ

นายพฤฒิชัย ดำรงรัตน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) ได้เริ่มเปิดบริการ “EXIM 4 SMEs” ซึ่งเป็นบริการประกันการส่งออก เพื่อผู้ส่งออก SMEs ที่มีมูลค่าการส่งออกไม่เกิน 100 ล้านบาทต่อปี

ทั้งนี้ EXIM 4 SMEs เป็นบริการประกันการส่งออกของ EXIM BANK (EXIMSurance) ที่จะช่วยให้ SMEs ไทยมีความมั่นใจในการเริ่มต้นหรือขยายธุรกิจส่งออกไปยังตลาดการค้าเดิมหรือตลาดใหม่เพิ่มมากขึ้น แม้ว่าวิกฤตการเงินโลกจะส่งผลให้ความเสี่ยงจากไม่ได้รับชำระเงินค่าสินค้าจากผู้ซื้อในต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้น โดย EXIM BANK จะช่วยกลั่นกรองข้อมูลผู้ซื้อและประเมินความสามารถในการชำระเงินของผู้ซื้อ รวมทั้งช่วยให้ผู้ส่งออกสามารถเสนอเงื่อนไขการชำระเงินที่แข่งขันได้ให้แก่ผู้ซื้อในต่างประเทศ และจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้ในกรณีที่ส่งสินค้าไปยังผู้ซื้อแล้วแต่ไม่ได้รับชำระเงินค่าสินค้า นอกจากนี้ ผู้ส่งออกยังสามารถใช้กรมธรรม์ EXIM 4 SMEs เป็นหลักประกันในการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินได้โดยการโอนสิทธิการรับค่าชดเชยสินไหมทดแทนให้แก่ธนาคารผู้ให้กู้

“EXIM 4 SMEs เป็นบริการประกันการส่งออกที่คุ้มค่าสำหรับ SMEs ด้วยอัตราเบี้ยประกันถูกกว่ากรมธรรม์แบบปกติถึง 35% สมัครใช้บริการง่าย อนุมัติกรมธรรม์ภายใน 1 สัปดาห์ ขณะที่อัตราความคุ้มครองสูงถึง 90% และเริ่มต้นคุ้มครองตั้งแต่วันที่ลงนามกรมธรรม์” กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK กล่าว

ด้าน ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี กล่าวปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนา “EXIMSurance : ทางรอดของผู้ส่งออกไทย” จัดโดย EXIM BANK เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจแก่ผู้ส่งออกโดยเฉพาะ SMEs เกี่ยวกับความเสี่ยงและแนวทางการบริหารความเสี่ยงทางการค้าระหว่างประเทศว่า วิกฤตการเงินโลกอาจส่งผลให้เศรษฐกิจและการค้าโลกหดตัวอย่างรุนแรงโดยเฉพาะในการตลาดการค้าหลัก ผู้ส่งออกไทยจึงต้องพร้อมที่จะรับมือกับยอดคำสั่งซื้อที่ลดลงและความเสี่ยงด้านอื่นๆ อาทิ การไม่ได้รับชำระเงินค่าสินค้า และความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ผู้ส่งออกที่จะได้รับผลกระทบทางตรงอย่างมากได้แก่ ผู้ส่งออกสินค้าที่พึ่งพาตลาดการค้าหลักอย่างเสื้อผ้าสำเร็จรูป เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน แป้งมันสำปะหลังแปรรูป ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องปรับอากาศ และผลิตภัณฑ์พลาสติก ขณะเดียวกันผู้ส่งออกวัตถุดิบ อาทิ ผ้าผืนและด้าย ชิ้นส่วนยานยนต์ ส่วนประกอบคอมพิวเตอร์ แผงวงจรไฟฟ้า ก็จะได้รับผลกระทบทางอ้อมในฐานะที่ไทยเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานของโลก (Global Supply Chain) ทั้งนี้ แนวโน้มการค้าโลกในอนาคตอันใกล้อาจแย่กว่าที่คาดหากประเทศต่างๆ นำมาตรการกีดกันทางการค้ามาใช้ ดังนั้นผู้ส่งออกไทยจึงจำเป็นต้องปรับแผนการผลิตและการตลาดควบคู่ไปกับการใช้ “บริการประกันการส่งออก” เป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยงจากการไม่ได้รับชำระเงินค่าสินค้าจากผู้ซื้อในต่างประเทศ

ด้านนายสมพร จิตเป็นธม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ EXIM BANK กล่าวว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา การค้าขายภายใต้เงื่อนไขการชำระเงินแบบเปิดบัญชีขายเชื่อ (Open Account : O/A) ได้เพิ่มสูงขึ้นจาก 44% เป็น 66% ในขณะที่การค้าขายด้วยเลตเตอร์ออฟเครดิต (Letter of Credit : L/C) ซึ่งมีธนาคารทำหน้าที่เป็นคนกลางระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายได้ลดลงจาก 42% เป็น 27% นั่นหมายถึงความเสี่ยงของการค้าขายระหว่างประเทศที่เพิ่มสูงขึ้นและอาจทำให้ผู้ส่งออกที่ไม่กล้ารับความเสี่ยงสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน ในขณะที่ปัญหาผู้ซื้อล้มละลายมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นในภาวะวิกฤตการเงินโลกปัจจุบัน EXIM BANK จึงเล็งเห็นความจำเป็นของการพัฒนาบริการประกันการส่งออกให้เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการบริหารความเสี่ยง การตรวจสอบคู่ค้า การทำการตลาด และการเสริมสร้างสภาพคล่องทางการเงิน ทั้งนี้ เพื่อช่วยให้ผู้ส่งออกไทยโดยเฉพาะ SMEs หมดกังวลกับความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับชำระเงินค่าสินค้าและมีเวลาทุ่มเทให้กับการกำหนดและดำเนินแผนการผลิตและการตลาดที่มีประสิทธิภาพในการรักษาและขยายส่วนแบ่งตลาดโลก

ผู้ส่งออกที่สนใจขอรับบริการประกันการส่งออกของ EXIM BANK สามารถติดต่อได้ที่ ฝ่ายส่งเสริมธุรกิจ 1, 2 EXIM BANK สำนักงานใหญ่ และสาขา รวมทั้งสถาบันการเงิน 10 แห่งที่มีความร่วมมือกับ EXIM BANK ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน), ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน), ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน), ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน), ธนาคารไทยธนาคาร จำกัด (มหาชน), ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน), ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน), ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย, ธนาคารออมสิน และธนาคารอิสลามแห่งประเทศ

****ข้อมูลจาก www.smethailandclub.com
กำลังโหลดความคิดเห็น