xs
xsm
sm
md
lg

KTB-ธสน.หนุนทำประกันส่งออก ติวเข้มเอสเอ็มอีรับมือวิกฤตโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (1 ธ.ค.) ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) หรือ EXIM BANKได้ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงการให้ความร่วมมือภายใต้บริการประกันการส่งออกระหว่างสองธนาคาร โดยทาง EXIM BANK จะให้บริการประกันการส่งออกแก่ลูกค้าของธนาคารกรุงไทยเพื่อผลักดันการส่งออกทั้งในตลาดเดิมและตลาดใหม่ท่ามกลางวิกฤตการเงินโลก

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ปัญหาวิกฤตการเงินโลกนั้น จะทำให้ภาคการส่งออกเสียหายมากกว่าในอดีตโดยขณะนี้นอกจากที่ผู้ส่งออกจะมีปัญหาเรื่องของการหาตลาดแล้วยังมีปัญหาในเรื่องของการเก็บเงินจากคู่ค้าอีกด้วย และถึงแม้ว่าปัญหาวิกฤตยังอยู่ในภาคของสถาบันการเงินในสหรัฐอเมริกา จึงยังไม่ส่งผลกระทบต่อภาคส่งออกอย่างชัดเจน แต่ปัญหาที่เริ่มเห็นนั้นคือเรื่องของคำสั่งซื้อที่ลดลง ทำให้ประเมินว่าในปีหน้าวิกฤตดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกค่อนข้างมาก โดยธนาคารมีพอร์ตสินเชื่อผู้ส่งออกอยู่ประมาณ 5-6% ของพอร์ตสินเชื่อรวม และที่ผ่านมาลูกค้าของธนาคารนั้นจะมีการใช้บริการรับประกันการส่งออกน้อยมากเนื่องจากคู่ค้าเป็นผู้ที่ทำธุรกิจด้วยกันมานานจึงมีความไว้วางใจ แต่เชื่อว่าในภาวะเช่นนี้ลูกค้าจะมีความสนใจเรื่องของบริการประกันการส่งออกมากขึ้น เนื่องจากขณะนี้ผู้ส่งออกไม่รู้ว่าคู่ค้าที่ทำธุรกิจด้วยกันมานานนั้นในอนาคตจะเป็นอย่างไรต่อไป

ส่วนการปิดท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและดอนเมืองของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย(พธม.)ในขณะนี้ยังไม่พบว่ามีผลกระทบต่อลูกค้าส่งออกของธนาคารมากนัก เนื่องจากลูกค้าส่งออกของธนาคารส่วนใหญ่มีการส่งสินค้าไปทางเรือมากกว่าทางเครื่องบิน โดยในปัจจุบันฐานสินเชื่อเพื่อการส่งออกของธนาคารอยู่ที่ 5-6%

"ปัญหาความวุ่นวายทางการเมืองจะกระทบต่อลูกค้าที่ทำธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรมมากกว่า แต่ในขณะนี้ลูกค้ากลุ่มดังกล่าวยังไม่ได้เข้ามาขอความช่วยเหลือจากธนาคาร เพราะลูกค้ายังสามารถรับภาระได้ คือเมื่อเกิดปัญหาขึ้น ลูกค้ายังคงมีภูมิต้านทานอยู่ แต่เมื่อภูมิต้านทานหมดไปลูกค้าก็จะเข้ามาปรึกษากับธนาคารเอง ซึ่งในส่วนนี้ธนาคารจะต้องมีการบริหารความเสี่ยงให้กับลูกค้า"

ด้านนายอภิชัย บุญธีรวร กรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ความร่วมมือในครั้งนี้จะช่วยให้ผู้ส่งออกไทยสามารถเสนอเงื่อนไขการชำระเงินที่ผ่อนปรนและแข่งขันได้ โดยใช้บริการประกันการส่งออกของ EXIM BANKเครื่องมือบริหารความเสี่ยงทางการค้าระหว่างประเทศ ตั้งแต่ขั้นตอนการตรวจสอบความน่าเชื่อถือของผู้ซื้อในต่างประเทศไปจนถึงการช่วยติดตามหนี้ในกรณีที่มีปัญหา

ทั้งนี้ บริการประกันการส่งออกของ EXIM BANK แบ่งเป็น 1. EXIM SUREเป็นบริการประกันการส่งออกที่เหมาะสำหรับผู้ส่งออกที่ต้องการให้ช่วยติดตามดูแลการส่งออกทุก Shipment ที่ส่งไปยังคู่ค้าอย่างใกล้ชิด 2. EXIM FLEXI เป็นบริหารการส่งออกแบบใหม่ซึ่งปรับลดค่าเบี้ยประกันลดขั้นตอนการทำงานของธนาคารและผู้ส่งออกและเพิ่มผลประโยชน์ในส่วนของการจ่ายค่าสินไหมทดแทนสูงสุดถึง 90% ของความเสียหายที่เกิดขึ้นให้แก่ผู้ส่งออกที่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ได้ตกลงไว้กับผู้ซื้อแต่ไม่ได้รับชำระเงินค่าสินค้า

"ปีหน้าค่าเบี้ยประกันการส่งออกคงจะมีการปรับเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวตามความเสี่ยง ส่วนวงเงินรับประกันก็คงจะน้อยลงไปด้วยและบางอุตสาหกรรมคงรับประกันไม่ได้

ซึ่งอุตสาหกรรมที่จะมีความเสี่ยงเพิ่ม คือ พวกสินค้าฟุ่มเฟือย แต่ในส่วนของ EXIM BANKเราจะยังคงค่าเบี้ยประกันเอาไว้ในอัตราเดิมและจะช่วยผู้ส่งออกวิเคราะห์ข้อมูลคู่ค้าให้ด้วยแต่ตอนนี้เรื่องเบี้ยประกันที่จะเพิ่มขึ้นนั้นถือว่าเป็นเรื่องรอง แต่เรื่องการค้าขายจะทำกับใครน่าจะสำคัญกว่าส่วนปัญหาการเมืองมองว่าเป็นเรื่องชั่วคราวและที่น่าห่วงกว่าคือภาวะเศรษฐกิจโลก"

ส่วนผลกระทบจากการปิดสนามบินก็ไม่ได้มีผลกระทบอะไรมากเพราะสินค้าส่วนใหญ่ของไทยส่งออกทางเรือสินค้าที่เป็นห่วงมากในตอนนี้ก็คือ อัญมณี สิ่งทอเพราะเป็นอุตสาหกรรมฟุ่มเฟือย จะได้รับผลกระทบมาก ในแง่ความต้องการและสินค้าเกษตรที่ราคาตกลง ทำให้มีความเสี่ยงมากขึ้น แผนปีหน้า ทาง EXIM BANK พยายามบริหารความเสี่ยงต้องพยายามช่วยเหลือขนาดธุรกิจของลูกค้า และพยายามที่จะรัดเข็มขัดตัวเอง และเข็มงวดมากขึ้น โดยจะดูว่าลูกค้าของเราจะส่งออกไปที่ไหน และพยายามช่วยเหลือดูแล เพราะแต่ละประเทศมีความเสี่ยงไม่เท่ากัน ก่อนเกิดวิกฤติอเมริกามีความเสี่ยงน้อยเบี้ยก็น้อย แอฟริกามีความเสี่ยงมากเบี้ยก็ต้องมากตาม

**กรุงไทยนัดถกเอสเอ็มอีรับวิกฤต**

นายวันชัย ธนิตติราภรณ์ รองกรรมการผู้จัดการ สายงานธุรกิจขนาดกลาง ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ในวันนี้ (2ธ.ค.) ธนาคารได้จัดประชุมหารือกับเอสเอ็มอีที่ทำธุรกิจส่งออกที่อยู่ในเขตกรุงเทพฯจำนวน 300 ราย เพื่อทำการชี้แจงและเป็นการให้ความรู้เบื้องต้นโดยต้องการให้รู้บทบาทของผู้ซื้อในต่างประเทศว่า ขณะนี้มีลักษณะอย่างไรรวมทั้งผู้ประกอบการเอสเอ็มอีควรปรับตัวและควบคุมความเสี่ยงได้อย่างไรในยุคปัจจุบันที่เกิดวิกฤตการเงินอยู่ในขณะนี้

ส่วนกรณีพันธมิตรปิดสนามบิน ในเบื้องต้นคาดว่าเอสเอ็มอีที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับการส่งออกผักสดและดอกไม้จะได้รับผลกระทบ เพราะไม่สามารถส่งสินค้าไปได้และส่งทางเรือก็ไม่ได้ เพราะต้องการความรวดเร็วทั้งนี้ลูกค้าของธนาคารที่ทำธุรกิจส่งดอกไม้กับผักสดนั้นมีน้อยมากแต่ธนาคารก็ต้องหาทางช่วยเหลือลูกค้า

สำหรับลูกค้าที่ทำธุรกิจท่องเที่ยวได้รับผลกระทบอย่างหนักแน่ในปีหน้า แนวทางการให้ความช่วยเหลือของธนาคารในเบื้องต้น อาจจะปรับลดดอกเบี้ยและยืดหนี้ แต่ต้องพิจารณาเป็นรายๆ ไปตามความจำเป็นแต่ในระยะนี้ยังไม่เห็นภาพที่ชัดเจน

"เราได้เตรียมการช่วยเอสเอ็มอีเอาไว้แล้ว คือ การลดดอกเบี้ยเงินกู้ยืดอายุการชำระหนี้ ซึ่งจะเป็นการช่วยเหลือเป็นรายๆ ไปเพื่อหาทางออกให้กับลูกค้าซึ่งเราประเมินว่าภาคธุรกิจท่องเที่ยวได้รับผลกระทบแน่ในปีหน้า"นายวันชัย กล่าวว่า

สำหรับพอร์ตสินเชื่อเอสเอ็มอีของธนาคารในปัจจุบันมีอยู่ กว่า 2.4 แสนล้านบาท ซึ่งในช่วงที่ผ่านมามีการเติบโตเฉลี่ยปีละ 5-6% มาตลอด สำหรับในปีนี้ก็ตั้งเป้าเติบโต 5% หรือยอดเม็ดเงินโตสุทธิ 20,000 ล้านบาท ณ ปัจจุบันปล่อยสินเชื่อไปได้แล้ว 1.8 หมื่นล้านบาท และเชื่อว่าสิ้นปียอดสินเชื่อคงค้างเอสเอ็มอีน่าจะอยู่ที่ 2.5 แสนล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น