xs
xsm
sm
md
lg

เอกชนมึน! ขึ้นภาษีน้ำมัน สวนนโยบายกู้ ศก. แนะ ธปท.คุมบาทแข็ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ภาคเอกชน ชี้ การปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตรน้ำมัน สวนทางนโยบายการกระตุ้น ศก.ของรัฐบาล เชื่อส่งผลกระทบต่อราคาขายปลีกแน่นอน เพราะราคาน้ำมันตามกลไกตลาดในปัจจุบัน ก็ปรับตัวสูงขึ้นอยู่แล้ว หวั่นซ้ำเติมภาระค่าครองชีพ และภาระเพิ่มต้นทุนสินค้า แนะเป็นทางเลือกสุดท้าย และควรปรับขึ้นหลัง Q3 ไปแล้ว เพราะการบริโภคอาจหดตัวแรง หลังเม็ดเงินถูกซับออกจากระบบ พร้อมเรียกร้อง ธปท.ดูแลบาทแข็ง 3% เทียบกับคู่ค้า ห่วงส่งออกทรุดหนัก

นายสมศักดิ์ วิวัฒน์พนชาติ รองประธานกรรมการพลังงานหอการค้าไทย กล่าวถึงการใช้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การขยายเพดานจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันของรัฐบาล โดยระบุว่า จะกระทบต่อราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศอย่างแน่นอน นอกเหนือจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นอยู่แล้ว ซึ่งอาจเป็นการเพิ่มภาระค่าครองชีพ และต้นทุนการผลิตให้กับผู้ประกอบการ และสวนทางกับนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ที่ต้องการให้ประชาชนใช้จ่าย

นายสมศักดิ์ ระบุว่า ประเทศไทยยังอยู่ในภาวะที่เศรษฐกิจซบเซา ดังนั้นรัฐบาลควรออกจะมาตรการในลักษณะที่เป็นการกระตุ้นการบริโภคของประชาชนและภาคเอกชน เพื่อให้มีสภาพคล่องมาใช้จับจ่ายซื้อสินค้า มากกว่าที่รัฐบาลจะมาออกนโยบายเพิ่มอัตราภาษี ซึ่งทางเลือกนี้ควรจะเป็นทางเลือกสุดท้ายในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้

"อยากเตือนรัฐบาลให้ระวังการขึ้นภาษีน้ำมัน เพราะประเทศตอนนี้อยู่ในภาวะซบเซา รัฐบาลควรออกมาตรการกระตุ้นการบริโภคให้ประชาชนมีสภาพคล่องออกมาจับจ่ายได้มากกว่าที่จะไปดูดซับเงินจากประชาชนและเอกชนด้วยการขึ้นภาษี"

ทั้งนี้ ภาคเอกชนต้องการให้รัฐบาลพิจารณาให้รอบคอบ และการขึ้นดังกล่าว ต้องดูแลไม่ให้ประชาชนและภาคเอกชนเดือดร้อน เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อปัญหาการว่างงาน

อย่างไรก็ตาม การขึ้นภาษีน้ำมันขณะนี้ ในฐานะภาคเอกชนมองว่า ไม่เหมาะสม เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจยังอยู่ในช่วงซบเซา น่าจะรอให้ผ่านช่วงไตรมาสที่ 3 ของปีก่อน

ด้านนายพงษ์ศักดิ์ อัสสกุล รองประธานกรรมการหอการค้าไทย แสดงความเป็นห่วงผลกระทบอัตราแลกเปลี่ยนในประเทศ โดยเรียกร้องให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เข้ามาดูแลเงินบาทไม่ให้แข็งค่าไปมากกว่าประเทศคู่แข่ง เพราะจะทำให้ภาคการส่งออกของไทยเสียเปรียบ

"ปัจจุบัน ภาคเอกชนพบว่า เงินบาทของไทยแข็งค่ากว่าประเทศคู่แข่งสำคัญ ประมาณ 3% เช่น จีน มาเลเซีย อินเดีย เวียดนาม และปากีสถาน คงต้องฝากไปถึงแบงก์ชาติว่า เราขอให้ช่วยปรับให้เป็นสัดส่วนเดียวกับประเทศในอาเซียน เพราะหากบาทแข็งค่ามากไปจะทำให้การส่งออกฟื้นตัวได้ลำบากขึ้น"

ส่วนแนวโน้มการส่งออกเดือนเมษายน 2552 นี้ คาดว่าจะเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นกว่าเดือนมีนาคม 2552 ที่การส่งออกติดลบ 23.1% เนื่องจากมีสัญญาณที่ดีจากยอดการออกใบรับรองสินค้าที่สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้ออกให้กับสินค้าของผู้ประกอบการส่งออกในเดือนเมษายน 2552 มีอัตราที่เพิ่มสูงขึ้นจากเดือนมีนาคม 2552 ถึง 33% ในขณะที่เดือนมีนาคม 2552 มียอดการออกใบรับรองสินค้าลดลง 7% เดือนกุมภาพันธ์ 2552 ลดลง 42% และเดือนมกราคม 2552 ลดลง 8%

"การส่งออกในเดือนเมษายน 2552 เริ่มมีสัญญาณที่ดีพอสมควร เห็นได้จากการออก CO เพิ่มขึ้น ก็น่าจะเป็นเครื่องชี้ว่า การส่งออกของเราเริ่มดีขึ้น"

หอการค้าไทย ยังคงประเมินว่าการส่งออกในช่วงครึ่งปีแรกจะยังติดลบ 20-25% ขณะที่ทั้งปี 52 จะติดลบราว 10-15%

ด้านนายคมสัน โอภาสสถาวร รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า จากการหารือร่วมกันของผู้ส่งออกสินค้าใน 9 กลุ่มสำคัญ ต่างเห็นพ้องกันที่ต้องการให้รัฐบาลตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไขปัญหาใน 3 เรื่องสำคัญ คือ การดูแลเงินบาทไม่ให้แข็งค่าจนเกินไปเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง เพราะจะเป็นปัญหาระยะยาวทำให้การส่งออกไทยไม่สามารถฟื้นตัวได้

นอกจากนี้ ภาคเอกชนยังต้องการให้ธนาคารพาณิชย์ ผ่อนคลายกฎระเบียบในการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการ SMEs ในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจเช่นนี้ เนื่องจากปัจจุบัน SMEs ประสบปัญหาในเรื่องการเข้าถึงแหล่งทุนที่ยากมาก และสุดท้ายคือเรื่องการประกันความเสี่ยงให้แก่ผู้ส่งออก ซึ่งต้องฝากไปถึงธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เนื่องจากยังมีระเบียบที่ค่อนข้างจะเคร่งครัดมากเช่นกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น