xs
xsm
sm
md
lg

ปชป.ป่วนโวยผู้แทนพรรคแหกมติชูประเด็นแก้รธน.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมคณะอนุกรรมการ พิจารณาศึกษาแนวทาง การแก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมี พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช เป็นประธาน วานนี้ (14 พ.ค.) ที่ประชุมได้มีการหารือ ถึงมาตรา 68 และมาตรา 237 ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นการยุบพรรคการเมือง 
นายประยุทธ ศิริพานิชย์ อนุกรรมการฯ จากพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า มีคนบอกว่า มาตรา 237 เป็นยาแรง แต่ตนไม่คิดเช่นนั้น เพราะมาตรา 237 เปรียบได้กับยาพิษ ที่ละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนตามมาตรา 65 ที่อนุญาตให้ประชาชนจัดตั้งพรรคการเมืองได้ เปรียบเสมือนเป็นเจ้าของวพรรคการเมือง
ขณะที่นายชำนิ ศักดิเศรษฐ์ อนุกรรมการ จากพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า พรรคการเมืองควรถูกยุบในกรณีที่มีพฤติกรรมขัดกับมาตรา 68 ที่ระบุว่า บุคคลจะใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ไม่ได้  ตนจึงไม่อยากให้มีการแก้ไขมาตรา 68
สำหรับมาตรา 237 ที่มีการถกเถียงกันมาตลอดว่าเป็น 2 มาตรฐานนั้น เป็นการพูดของคนที่ถูกยุบพรรค แล้วชี้ไปยังพรรคตรงกันข้ามว่าทำไมไม่ถูกยุบบ้าง ซึ่งการที่พรรคถูกยุบนั้นเพราะพรรคนั้นไปทำผิดกฎหมาย แต่พรรคที่ไม่ถูกยุบก็เพราะไม่ได้ทำผิดกฎหมาย กรณีนี้จึงไม่ใช่เรื่อง 2 มาตราฐาน
นายชำนิ กล่าวว่า ถ้าพรรคการเมืองทำผิดกฎหมายเลือกตั้งแล้วไม่ถูกยุบพรรค ความรับผิดชอบยังคงต้องมีอยู่หรือไม่ และกรรมการบริหารพรรคควรจะต้องมีการรับผิดชอบต่อการทำผิดหรือไม่ ซึ่งหากพิจารณาตามกรอบอย่างนี้จะทำให้การทำงานง่ายขึ้น
นายศุภชัย โพธิ์สุ อนุกรรมการ จากพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า มาตรา 68 และมาตรา 237 นั้นเจตนารมย์ของคนเขียนรัฐธรรมนูญ มองพรรคการเมืองและนักการเมืองในแง่ร้าย คนร่างมองด้วยความเป็นอคติ เพราะคนที่ล้มล้างระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เช่นการปฎิวัติรัฐประหารของทหาร มีหรือไม่ที่เขียนบทลงโทษไว้ในรัฐธรรมนูญ ไม่มีเลย มีแต่จะเอาเป็นเอาตายกับนักการเมือง และยังมีการร่าง มาตรา309 เอาไว้นิรโทษกรรมด้วย
ด้านนายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ผู้ทรงคุณวุฒิจากพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญ 50 ใช้ยุบพรรค 3 พรรคคือ พรรคพลังประชาชน พรรคมัชฌิมาธิปไตย และพรรคชาติไทย ไม่เกี่ยวกับการยุบพรรคไทยรักไทย ส่วนเรื่องการตัดสิทธิ์การเมือง 5 ปีนั้นก็ไม่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ 50 ที่มาที่ไปของมาตรา 237 มีคนเข้าใจว่า กรรมการยกร่างขึ้นมา จริงๆ แล้วเป็นการแปรญัตติในสภาร่างรัฐธรรมนูญ ตนเป็นคน ขอเติมมาตรา 237 วรรค 2 เอง และตอนดีเบตกันก็ไม่มีใครหยิกยกเรื่องนี้ขึ้นมา
นายเจิมศักดิ์ กล่าวว่า ปัญหาที่ไปรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในครั้งที่ร่างรัฐธรรมนูญ 50 นั้นเราไปฟังความเห็นจาก 76 จังหวัด ประชาชนมีความเห็นว่า ปัญหาหลักของพรรคการเมืองและนักการเมืองมี 2 ประการคือ 1. การทุจริตซื้อเสียง เราได้ตัวแทนปลอมๆ ที่ใช้เงินมาเป็นตัวแทน ดังนั้นการได้ตัวแทนปลอมๆ เป็นการล้มล้างระบบประชาธิปไตยหรือไม่ 2. พรรคการเมืองของเรา ไม่ทำหน้าที่พรรคการเมือง ทำเพียงแค่ส่งผู้สมัคร จึงไม่ใช่พรรคการเมืองที่แท้จริง เหมือนอย่างที่นายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตหัวหน้าพรรคชาติไทย ที่พูดว่า เป็นคนขับรถเมล์แล้วทำไมต้องไปรับผิดชอบคนขึ้นรถเมล์ด้วย ซึ่งความจริงพรรคการเมือง ต้องทำหน้าที่ดูแลสมาชิกและรวบรวมสมาชิก เรื่องการยุบพรรคการเมืองนั้นมีอยู่แล้ว ในรัฐธรรมนูญปี 40 เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ2550 มาตรา 237 ให้ พรรคการเมืองต้องรับผิดชอบภายใต้เงื่อนไขหลายประการ เช่น ต้องมีหลักฐาน ที่เชื่อได้ว่า แต่บังเอิญทั้ง 3 พรรคที่ผ่านมากรรมการบริหารพรรคเป็นคนกระทำเอง
นายเจิมศักดิ์ กล่าวว่า ประเด็นนี้ตนไปสอบถามประชาชนว่า หากเกิดเหตุ อย่างนี้จะทำอย่างไร ประชาชนก็บอกว่าต้องยุบพรรคที่ทุจริตการเลือกตั้ง
นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย อนุกรรมการ จากวุฒิสภา กล่าวเสริมว่า มาตรา237 เป็นหลักประกันในการพัฒนาสถาบันการเมือง และพัฒนาระบบประชาธิปไตย ถ้าไม่มี การกระทำเกี่ยวกับการทุจริตการเลือกตั้ง มาตรา 237 ก็เหมือนไม่มีอยู่ในรัฐธรรมนูญเลย ฉะนั้นต้องให้ความเป็นธรรมกับรัฐธรรมนูญด้วย ตนไม่ได้มองว่า มาตรา 237 เป็นยาแรงหรือยาพิษ แต่การทุจริตการเลือกตั้งต่างหากที่เป็นยาพิษ ทำลายระบอบประชาธิปไตย มาตรา 237 เป็นยาล้างพิษการทุจริตเลือกตั้งที่ทำลายระบอบประชาธิปไตย และมาตรา 237 จะไม่ออกฤทธิ์เลยถ้าไม่มีการทุจริตเลือกตั้ง
ผู้สื่อข่าวรายนงานว่า หลังประชุมนานกว่า 4 ชั่วโมงพล.อ.เลิศรัตน์ จึงกล่าว สรุปประเด็นว่า ในวันที่ 19 พ.ค.จะเสนอความเห็นของคณะอนุกรรมการ ต่อที่ประชุมคณะกรรมการชุดใหญ่คือ เสียงส่วนใหญ่เห็นด้วยให้แก้ไขมาตรา237 โดยตัดวรรค 2 ทิ้ง แต่ให้ลงโทษกับผู้ที่ทำความผิด ขณะที่เสียงส่วนน้อยเสนอให้คงเดิมตามรัฐธรรมนูญ 2550 สำหรับการประชุมในวันที่ 20 พ.ค.นั้น คณะอนุฯจะเริ่มประชุม ในเวลา 9.30 น. โดยจะพิจารณามาตรา190 จากนั้นหากพิจาณาเสร็จก็จะพิจารณามาตรา 265 และมาตรา 266 รวมถึงที่มาของส.ว.ด้วย
วานนี้ (14 พ.ค.) นายชุมพล กาญจนะ ส.ส.สุราษฏร์ธานี ในฐานะประธาน ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ได้ออกแถลงการระบุว่า ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์เริ่มรู้สึกอึดอัดในแนวทางการทำงานของ 8 ตัวแทนพรรค ที่เข้าเป็นคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ เพราะในช่วงที่พรรคเห็นชอบแต่งตั้งบุคคลทั้ง 8 ได้มีข้อกำหนด ว่าให้ไปรับฟังและรวบรวมประเด็นในมาตราต่างๆ ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อเสร็จแล้วหรือมีความคืบหน้าอย่างไรให้ตนำมาแจ้งให้พรรคทราบ และทางพรรคจะได้กำหนดให้มีการประชุมใหญ่ส.ส.พรรคเพื่อพิจารณาหารือร่วมกันเป็นวาระพิเศษและเพื่อให้ ส.ส.ทุกคนของพรรคได้แสดงความเห็นเพื่อนำเสนอมุมมองในการปรับปรุง แก้ไขรัฐธรรมนูญให้ตกผลึกจะได้เป็นไปในทิศทางเดียวกันของเสียงส่วนใหญ่ภายในพรรค
วันนี้ ส.ส.ของพรรคเริ่มอึดอัด เพราะทราบว่าได้มีการพิจารณาในส่วนของ การแก้ไขรัฐธรรมนูญไปไกลมากแล้ว มีการถกเถียงกันในที่ประชุมของคณะกรรมการร่วมว่าจะต้องแก้ไขมาตรานั้นมาตรานี้ และไปไกลถึงขนาดมีการตั้ง อนุกรรมการขึ้นมาหลายคณะดูเหมือนว่าคณะกรรมการทั้ง 8 คนของพรรค ทำงาน เลยกรอบของพรรคทีได้วางไว้ โดยเฉพาะในเรื่องสำคัญบางมาตราต้องดูว่าประชาชนเจ้าของประเทศส่วนใหญ่เห็นตามนั้นด้วยหรือไม่ ควรจะได้มีการสอบถาม หรือทำประชามติให้เป็นที่ชัดเจนเสียก่อน ดังนั้นหากตัวแทนของพรรคดำเนินการในลักษณะอย่างนี้จะต้องมีการหารือในที่ประชุม ส.ส.ของพรรคเพื่อวางกรอบให้ตัวแทนทั้ง 8 คนเสียใหม่
นายชุมพล เปิดเผยเพิ่มเติมว่า การที่ตนเผยแพร่เอกสารดังกล่าวไม่ได้ หมายความว่าจะให้ตัวแทนของพรรคทั้ง 8 คนถอนตัวออกจาการเป็นคณะกรรมการ สมานฉันท์ เพียงแต่ตอนนี้เขาไปไกลแล้วจึงต้องมีการพูดคุยเพื่อวางกรอบกันใหม่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากเอกสารดังกล่าวถูกเผยแพร่ ได้สร้างความสนใจ จากสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์หลายคน พร้อมทั้งขอถ่ายเอกสารดังกล่าว เพื่อนำไปหารือกันในพรรคต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า นายชุมพล ยังได้ออกหนังสือเชิญส.ส.พรรค มาร่วมประชุมนัดพิเศษในวันที่ 18 พ.ค.นี้ ตั้งแต่เวลา 09.00 น.ที่รัฐสภา เพื่อพิจารณาเกี่ยวกับร่างกฎหมายที่จะเข้าสู่ทีประชุมสภาในวันเดียวกันโดยคาดว่าจะมีการหารือในเรื่องดังกล่าวด้วย
นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง คณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อปฏิรูปการเมืองและศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ และคณะอนุกรรมการศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ กรรมการในสัดส่วนผู้ทรงคุณวุฒิของวุฒิสภา ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าร่วมประชุมคณะอนุกรรมการฯ ถึงกระแสข่าวที่ว่าจะลาออกจากคณะอนุกรรมการศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนญว่า ยอมรับว่ารู้สึกหนักใจในการประชุมอนุกรรมการฯเมื่อวันที่ 13 พ.ค. เพราะรู้สึกเหมือนว่ามีการวางแผนเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญบางมาตราเพื่อนักการเมือง โดยไม่มีประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม
ผมเห็นว่ารวบรัดมีธงอยู่ในใจ ที่จะแก้มาตรา 237 และ 309 ให้กับนักการเมือง และเอื้อต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้พ้นผิด ไม่ต้องถูก ยึดทรัพย์ ทั้งนี้ยอมรับว่าลำบากใจเพราะเกรงใจวุฒิสภาที่เลือกผมมาเป็นลำดับหนึ่ง แต่หากอยู่ไปก็เกรงว่าจะไม่เกิดประโยชน์เพราะจะถูกลากไปเรื่อยๆ
ผู้สื่อข่าวถามว่า อะไรคือฟางเส้นสุดท้ายให้ออกจากคณะกรรมการสมานฉันท์ นายเจิมศักดิ์ กล่าวว่า ขอฟังการประชุมของอนุกรรมการฯอีก 2-3 ครั้งก่อน หากฟังแล้วไม่เกิดประโยชน์ ตนยังถูกลากไปเรื่อยๆเพื่อให้เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตนก็คงต้องออกจากตำแหน่งกรรมการสมานฉันท์
กำลังโหลดความคิดเห็น