xs
xsm
sm
md
lg

อนุ กก.ถกแก้ รธน.ยังวุ่น สองฝ่ายเห็นต่างคงหรือแก้ ม.237

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง
ที่ประชุมอนุกรรมการศึกษาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ หารือนัด 2 ยังวุ่น ต่างฝ่ายต่างเห็นแย้ง ยากลงตัว ฟาก “เพื่อไทย” อัดมาตรา 237 เป็นยาพิษของระบอบประชาธิปไตย เขียนขึ้นเพราะมองนักการเมืองเป็นตัวร้าย ย้อนพวกปฏิวัติล้มรัฐธรรมนูญ กลับไม่ถูกลงโทษ ชี้ 2 มาตรฐาน ขณะที่ “เจิมศักดิ์” แจงเหตุมีมาตรา 237 เกิดจากการระดมความเห็นประชาชน เห็นพ้องควรลงโทษนักการเมืองที่โกงเลือกตั้ง ส่วน “สุรชัย “ สวนกลับ เป็นยาล้างพิษคนทำลายระบอบประชาธิปไตยมากกว่า

วันนี้ (14 พ.ค.) เมื่อเวลา 10.00 น.ที่ห้องประชุม 206 อาคารรัฐสภา 2 มีการประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยมีพล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช เป็นประธานในการประชุม ซึ่งที่ประชุมได้มีการหารือถึงมาตรา 68 และมาตรา 237 ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นการยุบพรรคการเมือง

นายประยุทธ ศิริพานิชย์ อนุกรรมการ จากพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า มีคนบอกว่ามาตรา 237 เป็นยาแรง แต่ตนไม่คิดเช่นนั้น เพราะมาตรา 237 เปรียบได้กับยาพิษที่ละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนตามมาตรา 65 ที่อนุญาตให้ประชาชนจัดตั้งพรรคการเมืองได้ เปรียบเสมือนเป็นเจ้าของพรรคการเมือง

ด้านนายวิรัช รัตนเศรษฐ อนุกรรมการจากพรรครวมใจไทยชาติพัฒนา กล่าวว่า ตนไม่เห็นด้วยกับการแก้รัฐธรรมนูญ เพราะไม่รู้ว่าแก้ไปแล้วจะได้อะไรหรือแก้แล้วอาจจะเกิดปัญหามากยิ่งขึ้น การที่มีมาตรา 237 ทำให้พรรคการเมืองปรับเปลี่ยนรูปแบบโดยการส่งนอมนีไปเป็นกรรมการบริหารพรรค รวมถึงลดจำนวนกรรมการบริพรรคเพื่อสู้กับมาตรา 237 อย่างไรก็ตาม การบังคับใช้มาตรา 237 นั้นจะเป็น 2 มาตราฐานหรือไม่ เพราะที่ผ่านมามีการยุบพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน แต่วันนี้ทราบว่าคณะกรรมการการเลือกตั้งกำลังจะเสนอเรื่องยุบพรรคประชาธิปัตย์ด้วย จึงอยากทราบว่ามาตราฐานส่วนนี้จะ 2 มาตรฐานหรือไม่

ขณะที่ นายชำนิ ศักดิเศรษฐ์ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เห็นว่า พรรคการเมืองควรถูกยุบในกรณีที่มีพฤติกรรมขัดกับมาตรา 68 ที่ระบุว่าบุคคลจะใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ไม่ได้ ตนจึงไม่อยากให้มีการแก้ไขมาตรา 68 สำหรับมาตรา 237 ที่มีการถกเถียงกันมาตลอดว่า เป็น 2 มาตรฐานนั้น เป็นการพูดของคนที่พรรคถูกยุบ แล้วชี้ไปยังพรรคตรงกันข้ามว่าทำไมไม่ถูกยุบบ้าง ซึ่งการที่พรรคถูกยุบนั้นเพราะพรรคนั้นไปทำผิดกฎหมาย แต่พรรคที่ไม่ถูกยุบก็เพราะไม่ได้ทำผิดกฎหมาย กรณีนี้จึงไม่ใช่เรื่อง 2 มาตราฐาน

นายชำนิ กล่าวอีกว่า ถ้าพรรคการเมืองทำผิดกฎหมายเลือกตั้งแล้วไม่ถูกยุบพรรค ความรับผิดชอบยังคงต้องมีอยู่หรือไม่ และกรรมการบริหารพรรคควรจะต้องมีการรับผิดชอบต่อการทำผิดหรือไม่ ซึ่งหากพิจารณาตามกรอบอย่างนี้จะทำให้การทำงานง่ายขึ้น

นายศุภชัย โพธิ์สุ ส.ส.พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า มาตรา 68 และมาตรา 237 นั้นเจตนารมย์ของคนเขียนรัฐธรรมนูญ เป็นเจตนารมย์ที่มองพรรคการเมืองและนักการเมืองในแง่ร้าย คนร่างมองด้วยความเป็นอคติ เพราะคนที่ล้มล้างระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เช่นการปฎิวัติรัฐประหารของทหาร มีหรือไม่ที่เขียนบทลงโทษไว้ในรัฐธรรมนูญ ไม่มีเลย มีแต่จะเอาเป็นเอาตายกับนักการเมือง และยังมีการร่าง ม.309 เอาไว้นิรโทษกรรมด้วย

ด้าน นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ผู้ทรงคุณวุฒิจากพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญ50 ใช้ยุบพรรค 3 พรรค คือ พรรคพลังประชาชน พรรคมัชฌิมาธิปไตย แลบะพรรคชาติไทย ไม่เกี่ยวกับการยุบพรรคไทยรักไทย ส่วนเรื่องการตัดสิทธิ์การเมือง 5 ปีนั้นก็ไม่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ 50 ที่มาที่ไปของมาตรา 237 มีคนเข้าใจว่ากรรมการยกร่างขึ้นมา จริงๆแล้วเป็นการแปรญัตติในสภาร่างรัฐธรรมนูญ ตนเป็นคนขอเติมมาตรา 237 วรรค 2 เอง และตอนดีเบตกันก็ไม่มีใครหยิกยกเรื่องนี้ขึ้นมา ปัญหาที่ไปรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในครั้งที่ร่างรัฐธรรมนูญนั้นเราไปฟังความเห็นจาก 76 จังหวัด และในการไปฟังนั้นประชาชนมีความเห็นว่าปัญหาหลักของพรรคการเมืองและนักการเมืองมี 2 ประการ คือ 1.การทุจริตซื้อเสียง เราได้ตัวแทนปลอมๆ ที่ใช้เงินมาเป็นตัวแทน ดังนั้น การได้ตัวแทนปลอมๆเป็นการล้มล้างระบบประชาธิปไตยหรือไม่ 2.พรรคการเมืองของเราไม่ทำหน้าที่พรรคการเมือง ทำเพียงแค่ส่งผู้สมัคร จึงไม่ใช่พรรคการเมืองที่แท้จริง เหมือนอย่างที่ นายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตหัวหน้าพรรคชขาติไทย ที่พูดว่า เป็นคนขับรถเมล์แล้วทำไมต้องไปรับผิดชอบคนขึ้นรถเมล์ด้วย ซึ่งความจริงพรรคการเมืองต้องทำหน้าที่ดูแลสมาชิกและรวบรวมสมาชิก เรื่องการยุบพรรคการเมืองนั้นมีอยู่แล้วในรัฐธรรมนูญปี 2540 เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 237 ให้พรรคการเมืองต้องรับผิดชอบภายใต้เงื่อนไขหลายประการ เช่น ต้องมีหลักฐานที่เชื่อได้ว่า แต่บังเอิญทั้ง 3 พรรคที่ผ่านมากรรมการบริหารพรรคเป็นคนกระทำเอง

นายเจิมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ประเด็นนี้ตนไปสอบถามประชาชน ว่า หากเกิดเหตุอย่างนี้จะทำอย่างไร ประชาชนก็บอกว่าต้องยุบพรรคที่ทุจริตการเลือกตั้ง การตัดสิทธิ์ 5ปีนั้นก็ไม่ใช่โทษทางอาญาหรือแพ่ง แต่เป็นโทษเพียงแค่ขอให้ไม่อาสาทำงานเพื่อสาธารณะ 5 ปี เท่านั้น ดังนั้นการใช้พฤติกรรมของศรีธนญชัยมาอ้างในการแก้รัฐธรรมนูญ โดยบอกว่าจะมีการเอาตัวแทนมาเป็นกรรมการบริหารพรรค เพราะถ้าหากเราเอาแบบนี้เป็นมาตรฐาน และคิดว่าจริยธรรมคนในแวดวงการเมืองต่ำกว่าคนทั่วไป รัฐธรรมนูญก็คงต้องเพิ่มอะไรเข้าไปอีกมากมาย

นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย อนุกรรมการจากวุฒิสภา กล่าวเสริมว่า มาตรา 237 เป็นหลักประกันในการพัฒนาสถาบันการเมือง และพัฒนาระบบประชาธิปไตย ถ้าไม่มีการกระทำเกี่ยวกับการทุจริตการเลือกตั้ง มาตรา 237 ก็เหมือนไม่มีอยู่ในรัฐธรรมนูญเลย ฉะนั้นต้องให้ความเป็นธรรมกับรัฐธรรมนูญด้วย ตนไม่ได้มองว่ามาตรา 237 เป็นยาแรงหรือยาพิษ แต่การทุจริตการเลือกตั้งต่างหากที่เป็นยาพิษทำลายระบอบประชาธิปไตย มาตรา 237 เป็นยาล้างพิษการทุจริตเลือกตั้งที่ทำลายระบอบประชาธิปไตย และมาตรา 237 จะไม่ออกฤทธิ์เลยถ้าไม่มีการทุจริตเลือกตั้ง

ผู้สื่อข่าวรายงานการประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องในช่วงบ่าย ว่า ที่ประชุมได้หารือกันต่อในประเด็นการยุบพรรคเมือง โดยนายไพจิต กล่าวว่า ม.237 เป็นเครื่องมือที่มีไว้ฆ่านักการเมืองและทำลายพรรคการเมือง คนที่ร่างขึ้นอยู่จุดไหนเราก็รู้ การพัฒนาการเมืองจะต้องทำให้พรรคการเมืองเข้มแข็ง ดังนั้นขอให้อย่ามีการยุบพรรค แต่หากบุคคลใดทำผิดก็ดำเนินคดีเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งไปภายใต้มาตรฐานเดียวกัน

ด้านพล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า บางเรื่องต้องมองไปที่การรอมชอมกันบ้าง ทำความเข้าใจกันระหว่างความเป็นคนไทยด้วยกัน เพราะธงของเราคือการลดความขัดแย้งทางสังคมให้บ้านเมืองเดินหน้าต่อไปได้ ในอดีตรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นหลังการรัฐประหารจะถูกเรียกร้องให้แก้ไขทันที แต่รัฐธรรมนูญ2550 มีคนพยายามปกป้องรักษาไว้อย่างสุดชีวิต ทำให้จุดของความสมานฉันท์มีปัญหา มาตรา 237 หากไปลงโทษแรงมากก็กลายเป็นเครื่องมือหนึ่งของผู้ที่อยู่ในอำนาจ การบังคับใช้มีความไม่เป็นธรรมเกิดขึ้น ซึ่งอาจทำให้เกิดความแตกแยกได้
นายอรรคพล สรสุชาติ อนุกรรมการ จากพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า การแก้มาตรา237 นั้นไม่ได้แก้เพื่อใครคนใดคนหนึ่ง หรือแก้เพื่อกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หากดูมาตรา 237 จะเห็นเจตนารมย์ที่ส.ส.ร.50 ร่างขึ้นว่าไม่ได้ต่างจากรัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งใครทำผิดก็ต้องรับผิด ดังนั้นจึงต้องมีการแก้ไขในวรรคที่เป็นปัญหา คือ วรรค 2 ซึ่งที่ผ่านมามีคำวินิจฉัย คำพิพากษา ที่พิสูจน์แล้วว่าปัญหาอยู่ที่ตัวของรัฐธรรมนูญ เพราะเจตนารมย์ เป็นอย่างหนึ่ง แต่การนำเอาไปใช้เป็นอีกอย่างหนึ่ง

ขณะที่นายนิพนธ์ วิสิษฐยุทธศาสตร์ อนุกรรมการจากพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การซื้อเสียงของประเทศไทยมีมาอย่างเรื้อรัง และเป็นมะเร็งร้าย ซึ่งหากมีการทุจริตซื้อเสียงมากประเทศชาติก็ไปไม่รอด ฉะนั้นจะทำอย่างไรให้การเมืองดีขึ้นและการเลือกตั้งเป็นไปอย่างสุจริตและยุติธรรม ซึ่งควรที่จะเพิ่มโทษเป็น 2 เท่าและผู้ที่เป็นคณะกรรมการบริหารคนอื่นก็ต้องมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบ ฉะนั้นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการจัดการเลือกตั้งให้บริสุทธ์จึงควรที่จะคงไว้

นายวิรัช รัตนเศรษฐ อนุกรรมการ จากพรรครวมใจไทย กล่าวว่า ระเบียบประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง กกต.จะออกระเบียบอะไรมาก็ได้ เช่น การ กำหนดเรื่องการส่งรูปผู้สมัคร หากส่งขนาดที่ผิดไปจากที่ระเบียบกกต.กำหนด หากวันนั้นกกต.กินยาผิดหรือได้รับใบสั่งมาบอกว่าผู้สมัครคนนั้นทำความผิดร้ายแรงจะทำอย่างไร จะมีสวิชต์ตัดตอนหรือไม่ ถ้าไม่มีถึงแม้จะตัดมาตรา237 ไปก็ไม่มีประโยชน์อะไร นอกจากนี้ ถ้ายกเลิกมาตรา 237 ไปแล้ว หลายคนบอกว่าไม่เป็นการนิรโทษกรรมย้อนหลัง แต่บางคนก็บอกว่าอะไรที่เป็นคุณสามารถย้อนหลังได้ แล้วใครจะเป็นผู้ตัดสินว่าจะไม่เป็นการนิรโทษกรรมย้อนหลัง ถ้านิรโทษกรรมอัตโนมัติสังคมจะเกิดอะไรขึ้น จึงล่อแหลมหากเรายกเลิกมาตรา237 ไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังประชุมนานกว่า 4 ชั่วโมงพล.อ.เลิศรัตน์ จึงกล่าวสรุปประเด็นว่า ในวันที่ 19 พฤษภาคมจะเสนอความเห็นของคณะอนุกรรมการ ต่อที่ประชุมคณะกรรมการชุดใหญ่คือ เสียงส่วนใหญ่เห็นด้วยให้แก้ไขมาตรา237 โดยตัดวรรค 2 ทิ้ง แต่ให้ลงโทษกับผู้ที่ทำความผิด ขณะที่เสียงส่วนน้อยเสนอให้คงเดิมตามรัฐธรรมนูญ 2550 สำหรับการประชุมในวันที่ 20 พฤษภาคมนั้น คณะอนุฯจะเริ่มประชุมในเวลา 9.30 น. โดยจะพิจารณามาตรา190 จากนั้นหากพิจาณาเสร็จก็จะพิจารณามาตรา 265 และมาตรา 266 รวมถึงที่มาของส.ว.ด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าคณะอนุกรรมการหลายคนได้ท้วงติงคณะอนุกรรมการจากพรรคประชาธิปัตย์ ที่ยังไม่สรุปความเห็นของพรรคส่งมาให้ที่ประชุมคณะอนุกรรมการ โดยนายไพจิต กล่าวว่า ตนคาดหวังกับพรรคประชาธิปัตย์มาก และนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ก็ได้พูดต่อหน้ารัฐสภาเอง แต่ฟังผู้อาวุโสพรรคประชาธิปัตย์ที่บอกว่าพรรคยังไม่มีความชัดเจนนั้นตนก็ผิดหวัง วันนี้อย่าไปมัวอ้ำอึ้งกัน รวมถึงกรณีที่นายบัญญัติ บรรทัดฐาน แสดงความคิดเห็นนั้นยิ่งทำให้ตนสงสัยว่าพรรคประชาธิปัตย์มีใครเป็นหัวหน้าพรรรค

นายนิพนธ์ จึงชี้แจงว่า สิ่งที่นายกฯแสดงหรือพูดอะไรออกไปต่อสื่อมวลชนหรือที่ประชุมรัฐสภานั้น ถือว่าตรงนั้นเป็นสัญญาที่ให้ไว้เบื้องต้น ซึ่งนายกฯพูดว่ารัฐธรรมนูญแก้ได้ เพื่อเป็นประโยชน์กับประเทศชาตินายกรัฐมนตรีก็ยินดี แต่พวกตนก็มีความเป็นอิสระในการทำงานด้วย

.
กำลังโหลดความคิดเห็น