xs
xsm
sm
md
lg

ศพแรกอเมริกันเชื้อมรณะลุกลาม403ราย38มลรัฐ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พบชาวอเมริกันเสียชีวิต จากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่เป็นรายแรกแล้ว หลังจากที่มีทารกชาวเม็กซิกันมาสิ้นชีพในสหรัฐฯเมื่อสัปดาห์ก่อน ขณะที่เชื้อมรณะยังลุกลามไม่เลิก ล่าสุดพบผู้ติดเชื้อ 403 ราย ในพื้นที่ 38 มลรัฐของสหรัฐฯ ขณะที่องค์การอนามัยโลกยืนยันยอดผู้ติดเชื้อทั่วโลกเพิ่มเป็น 1,534 ราย ใน 22 ประเทศ ด้านสธ.เผยประชุมรมต.สธ.อาเซียนบวก 3 รับมือ “หวัดใหญ่ 2009” ตอบรับมาครบ ยกเว้นพม่าแค่ส่งเอกอัครราชทูตประชุมแทนชง 6 มาตรการหารือ

พบชาวอเมริกันรายแรกเสียชีวิต

เจ้าหน้าที่สาธารณสุขของสหรัฐฯ ยืนยันเมื่อวันอังคาร (5) ว่า พบชาวอเมริกันรายแรกที่เสียชีวิตจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่แล้วโดยผู้เสียชีวิตเป็นหญิง วัย 30 ปีเศษ ที่อาศัยอยู่ในมลรัฐเทกซัส และถือเป็นผู้เสียชีวิตนอกประเทศเม็กซิโกเป็นรายที่ 2 ต่อจากเด็กวัย 23 เดือนชาวเม็กซิกัน ที่มาเสียชีวิตในมลรัฐเทกซัสของสหรัฐฯ เมื่อสัปดาห์ก่อน
ดัก แม็คไบรด์ โฆษกหน่วยงานด้านสาธารณสุขประจำมลรัฐเทกซัส บอกว่า หญิงชาวอเมริกันรายนี้ เสียชีวิตเมื่อวันจันทร์ (4) หลังเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลนานถึง 3 สัปดาห์และในเบื้องต้นพบว่าผู้เสียชีวิตไม่น่าจะเดินทางไปเม็กซิโกในช่วงที่ผ่านมา แต่เธออาศัยอยู่ในเขตคาเมรอน เคาน์ตี ซึ่งเป็นเขตที่อยู่ใต้สุดของเทกซัส และอยู่ติดกับพรมแดนของเม็กซิโก
ด้าน ริชาร์ด อี. เบสเซอร์ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคติดต่อของสหรัฐฯ เปิดเผยว่า จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ในสหรัฐฯ ได้เพิ่มเป็น 403 รายแล้วในขณะนี้ และพบผู้ติดเชื้อใน 38 มลรัฐ โดยมลรัฐจอร์เจียและมลรัฐเมน ถือเป็น 2 มลรัฐล่าสุดที่มีการยืนยันว่าพบผู้ติดเชื้อไวรัสชนิดนี้
ขณะที่ แคธลีน เซเบเลียส รัฐมนตรีสาธารณสุขของสหรัฐฯ ออกมาเตือนว่า มีแนวโน้มจะพบผู้ติดเชื้อไวรัสชนิดนี้เพิ่มมากขึ้นในสหรัฐฯ แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดในสหรัฐฯ จะไม่ร้ายแรงเท่ากับในเม็กซิโกก็ตาม

กัวเตมาลา-สวีเดนพบผู้ติดเชื้อรายแรก

กัวเตมาลากลายเป็นประเทศที่ 22 ของโลกแล้วที่ยืนยันว่า ตรวจพบผู้ติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ในประเทศเมื่อวานนี้ (6)ประธานาธิบดีอัลบาโร โกลอม กาบาเยโรส ออกมาแถลงที่กรุงกัวเตมาลา ซิตี ซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศ โดยระบุว่า พบผู้ติดเชื้อจำนวน 1 รายในกัวเตมาลา แต่ปฏิเสธที่จะให้รายละเอียดใดๆ เกี่ยวกับผู้ติดเชื้อรายนี้ ทางด้านสถาบันเพื่อการควบคุมโรคติดต่อของสวีเดนรายงานวานนี้ ยืนยันว่าพบผู้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธ์ใหม่รายแรกของประเทศ โดยบุคคลผู้นี้เดินทางกลับจากสหรัฐฯเมื่อเร็วๆ นี้ อย่างไรก็ดี ผู้ป่วยรายนี้ขณะนี้มีสุขภาพดีแล้ว

เม็กซิโกยอดตายพุ่งเป็น 29 ศพแล้ว

โฮเซ อังเฆล กอร์โดบา รัฐมนตรีสาธารณสุขของเม็กซิโก แถลงเพิ่มจำนวนผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ เป็น 29 รายแล้ว ส่วนจำนวนผู้ติดเชื้อก็เพิ่มเป็น 913 รายนอกจากนั้นทางการพบผู้เสียชีวิตอีก 39 คนซึ่งยังไม่ได้รับการยืนยันว่า เสียชีวิตเพราะติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่หรือไม่โดยคนเหล่านี้เป็นผู้ที่เสียชีวิตในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาจากปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจทั้งสิ้น ผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ในเม็กซิโกส่วนใหญ่ จะเป็นผู้ที่มีอายุระหว่าง 20 - 39 ปี   โดยผู้เสียชีวิตรายล่าสุดที่ได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อชนิดนี้   ได้เสียชีวิตตั้งแต่เมื่อวันที่ 29 เมษายนที่ผ่านมา
ขณะเดียวกันมีรายงานว่า ท้องถนนในกรุงเม็กซิโก ซิตี กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งตั้งแต่เมื่อวานนี้ (6) หลังจากที่ประธานาธิบดีเฟลิเป กัลเดรอน อิโนโฮซา ประกาศยกเลิกคำสั่งห้ามดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ของภาครัฐและเอกชน ทำให้ธุรกิจต่าง ๆ รวมทั้ง โรงเรียนระดับมัธยมปลายและมหาวิทยาลัย จะเปิดทำการเรียนการสอนอีกครั้ง ขณะที่ร้านค้าและร้านอาหารต่าง ๆ เริ่มทำความสะอาด เพื่อเตรียมต้อนรับลูกค้าอีกครั้งเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม อกุสติน การ์สเตนส์ รัฐมนตรีคลังของเม็กซิโกยอมรับว่า การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ อาจส่งผลกระทบต่อตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือจีดีพี ของเม็กซิโก ที่คาดว่าน่าจะชะลอตัวลงร้อยละ 0.3-0.5 ในปีนี้

จีนงดออกวีซ่าด่วนชาวอเมริกัน

เว็บไซต์สถานเอกอัครราชทูตจีนในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ของสหรัฐฯ แถลงเมื่อวานนี้ (6)ว่าทางการจีนจะขอระงับการให้บริการวีซ่าด่วนและวีซ่าด่วนพิเศษสำหรับชาวอเมริกัน
ในคำแถลงดังกล่าวระบุว่า จีนจะขอเปลี่ยนแปลงกระบวนการขอวีซ่า เป็น 6 วันทำการ รวมทั้ง จะขอระงับการให้บริการวีซ่าแบบด่วนและด่วนพิเศษ โดยไม่ได้ระบุว่าเป็นมาตรการเพื่อสกัดกั้นเชื้อไวรัสเอช1เอ็น1ไม่ให้เข้าระบาดในจีนหรือไม่ ขณะเดียวกันก็ไม่มีการระบุว่ามาตรการนี้ของจีนจะครอบคลุมไปถึงประเทศอื่นๆ นอกเหนือจากสหรัฐฯ ด้วยหรือไม่เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม เจมส์ สไตน์เบิร์ก รัฐมนตรีช่วยกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐฯระบุว่า การที่ทางการจีนออกมาตรการดังกล่าว น่าจะเป็นการเพิ่มความเข้มงวดเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ เช่นเดียวกับมาตรการกักตัวนักท่องเที่ยวชาวเม็กซิกันและชาวแคนาดาในช่วงก่อนหน้านี้ ซึ่งรัฐบาลสหรัฐฯ มีความเข้าใจดีถึงจุดมุ่งหมายของทางการจีนที่ไม่ต้องการให้เชื้อไวรัสชนิดนี้แพร่ระบาดเข้าไปในประเทศ แต่ก็เรียกร้องให้จีนยกเลิกมาตรการดังกล่าวโดยเร็ว หากสถานการณ์การแพร่ระบาดกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

พบลูกเรือมะกัน 50 นายต้องสงสัย

กองทัพเรือสหรัฐฯ มีคำสั่งยกเลิกการส่งเรือที่ประจำการ ณ ฐานทัพเรือ พอยท์ โลมา ในเมืองซานดิเอโก มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ออกปฏิบัติภารกิจด้านมนุษยธรรมเป็นการชั่วคราว พร้อมมีคำสั่งสั่งให้เจ้าหน้าที่กองทัพเรือและพลเรือนจำนวน 22,000 คนที่ประจำการในฐานทัพเรือแห่งนี้มารายงานตัวเพื่อรับการตรวจเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่เป็นการด่วน หลังจากมีการยืนยันว่า พบลูกเรือที่มีอาการต้องสงสัยว่า อาจติดเชื้อไวรัสชนิดนี้
โฆษกกองทัพเรือสหรัฐฯ ระบุว่า พบลูกเรือบนเรือรบ “ยูเอเอส ดูบูเก” ราว 50 นายที่ต้องสงสัยว่า อาจติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่โดยในขณะนี้ลูกเรือที่คาดว่าจะติดเชื้อต่างได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสทามิฟลูแล้ว และกำลังฟื้นตัวจากอาการป่วย

บรูไน สั่งกักตัวทหารอังกฤษ 200 นาย

สำนักข่าวรอยเตอร์ระบุว่า ทหารของกองทัพอังกฤษราว 200 นาย ซึ่งเพิ่งเดินทางมาถึงยังบรูไนดารุสซาลาม เพื่อปฏิบัติภารกิจซ้อมรบ ได้ถูกทางการบรูไนสั่งกักบริเวณ หลังพบว่า มีทหาร 3 คน ที่มีอาการต้องสงสัยว่าอาจติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่
อย่างไรก็ตาม ซูโวย อุซมัน รัฐมนตรีสาธารณสุขของบรูไน ออกมาเปิดเผยเมื่อวานนี้ (6) ว่า ทางการบรูไนได้สั่งปล่อยตัวทหารอังกฤษทั้งหมดแล้ว เนื่องจากผลการตรวจร่างกายของทหารที่ต้องสงสัยออกมาเป็นลบ โดยในขณะนี้ทหารอังกฤษทั้งหมดได้ถูกย้ายไปยังสถานที่ปลอดภัยแห่งหนึ่งซึ่งไม่เปิดเผย

เผย3ผู้ป่วยเฝ้าระวังเป็นหวัดธรรมดา

วานนี้(6 พ.ค.ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวภายหลังการประชุมศูนย์ปฏิบัติการเตรียมความพร้อมตอบโต้ภาวะฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขว่า สำหรับผู้ป่วยรายสงสัยจำนวน 3 รายที่โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ จ.นครสวรรค์ และโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี ผลการตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการทั้ง 3 รายพบว่าติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ทั่วไป ไม่ใช่ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิดเอ เอช1 เอ็น1 อาการวันนี้ ไม่มีไข้ แพทย์อนุญาตให้กลับบ้าน และให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขติดตามอาการที่บ้านเป็นเวลา 7 วัน เช่นเดียวกับนักเรียนทุนเอเอฟเอส 3 ราย ที่พักรักษาตัวที่สถาบันบำราศนราดูร แพทย์ได้อนุญาตให้กลับบ้านแล้ว
       
รมต.อาเซียนมาครบ

นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงการประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียนบวก 3 สมัยพิเศษว่าด้วยโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ เอช1เอ็น 1 (ASEAN + 3 Health Ministers’ Special Meeting on Influenza A (H 1 N1)  ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 7-8 พ.ค. ที่โรงแรมดุสิตธานีว่า ล่าสุดได้รับการตอบรับเกือบทุกประเทศแล้วว่าจะเดินทางมาร่วมประชุมด้วย ยกเว้นพม่า ที่ยังไม่แน่ใจว่าผู้ที่จะเดินทางมาประชุมจะเป็นใคร ส่วนประเทศบวกสาม คือ จีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ก็ได้ตอบรับเช่นกัน โดยในส่วนของจีน จะเป็นรมว.สาธารณสุข ที่จะเดินทางมา โดยตามกำหนดการจะเดินทางมาถึงประเทศไทยเป็นรายแรก ส่วนญี่ปุ่นจะเป็นรมช.สาธารณสุข อาวุโส ขณะที่เกาหลีใต้อยู่ระหว่างการสรรหาผู้ที่จะมาร่วมประชุม คาดว่าการประชุมจะเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด
นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ที่จะเริ่มขึ้นในวันที่ 7 พ.ค.นี้ เป็นการประชุมเจ้าหน้าที่กระทรวงระดับอาวุโส ส่วนวันที่ 8 พ.ค.เป็นการประชุมระดับรัฐมนตรี ซึ่งการประชุมครั้งนี้ถือว่าประเทศสมาชิกอาเซียนให้ความสำคัญเป็นอย่างมากกับการเตรียมความพร้อมรับมือกับการระบาดอย่างเต็มที่ โดยรัฐมนตรีสาธารณสุข และเจ้าหน้าที่อาวุโสจากประเทศสมาชิกอาเซียนบวก 3 ประกอบด้วย บรูไนดารุสซาลาม กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย เวียดนาม จีน สาธารณรัฐเกาหลี และญี่ปุ่น รวมทั้งผู้แทนจากองค์การระหว่างประเทศ ได้แก่ องค์การอนามัยโลก ธนาคารโลก องค์การภายใต้องค์การสหประชาชาติ ได้แก่ UNSIC ,FAO,UNDP และศูนย์ควบคุมโรคของสหรัฐอเมริกา (CDC) เดินทางมาร่วมประชุมด้วยตนเอง ยกเว้น พม่า ที่ยังไม่มีความชัดเจน เบื้องต้นได้แจ้งว่ามอบหมายให้เอกอัครราชทูตพม่าประจำประเทศไทยมาร่วมประชุมแทน
ทั้งนี้ การประชุมครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ในการประชุมเพื่อ 1. ทบทวนสถานการณ์การระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ เอช 1เอ็น1 ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก รวมทั้งประเทศอาเซียน บวก 3 2.เพื่อปรับมาตรการ การป้องกันและควบคุมโรคที่ประเทศต่างๆ ได้ดำเนินการ ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น 3. เพื่อแสวงหาวิธีการ มาตรการ และการดำเนินการเพื่อป้องกันและควบคุมการระบาดของโรค 4.เพื่อสร้างพันธสัญญา ของรัฐมนตรีสาธารณสุขบวก3 ในการป้องกันและควบคุมการระบาดของโรค ซึ่งที่ผ่านมามีการประชุมลักษณะนี้มาแล้ว 2 ครั้ง คือ การระบาดของโรคระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง หรือซาร์ส และโรคไข้หวัดนก 

ชง 6 มาตรการหารือ

นพ.คำนวณ กล่าวด้วยว่า สำหรับประเด็นที่จะมีการหารือร่วมกัน ประกอบด้วย  1.ความพร้อมในการซ้อมรับมือการระบาดใหญ่ในอาเซียนว่าควรเริ่มเมื่อไหร่   2.ผลกระทบความเสียหายหลังการระบาดของโรค ทั้งทางตรง คือ ผลจากการเจ็บป่วย และทางอ้อมคือ ความเสียหายทางด้านเศรษฐกิจ สังคม  3.การสำรองยาต้านไวรัสโอเซลทามีเวียร์ของแต่ละประเทศ และการสต๊อกคลังยาอาเซียนที่สิงคโปร์มีความเพียงพอหรือไม่  4.มาตรการสกัดโรคหากเกิดการระบาด  โดยเฉพาะตามรอยต่อของประเทศต่างๆ หรือบริเวณที่มีพรมแดน 5.ความร่วมมือในการพัฒนาเทคโนโลยี ความช่วยเหลือและการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี โดยเฉพาะการผลิตวัคซีน และยาต้านไวรัส  6.การซ้อมแผนระดับภูมิภาค ความช่วยเหลือที่ต้องการจากองค์การอนามัยโลก เช่น การสร้างระบบฮอตไลน์ การแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างผู้ปฏิบัติงาน และเจ้าหน้าที่ระดับสูง  ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือของทุกประเทศ
  ทั้งนี้ มาตรการทั้ง 6 ข้อ รัฐมนตรีสาธารณสุขของทั้ง 13 ประเทศ จะหารือและตัดสินใจว่าจะดำเนินการอย่างไร โดยเฉพาะมาตรการสกัดกั้นโรค และการเฝ้าระวังโรค ต้องเป็นมาตรการที่เหมาะสม มีความสมดุลไม่เป็นอุปสรรคต่อการเดินทาง และไม่ทำลายระบบเศรษฐกิจ เช่น การไม่เหมารวมประเทศที่ระบาดว่าเป็นพื้นที่การระบาดทั้งประเทศ ทั้งๆ ที่มีการระบาดในบางพื้นที่ ซึ่งจะส่งผลกระทบกับการเดินทาง จึงให้ระบุเป็นชื่อเมืองแทนในลักษณะพื้นที่เฉพาะ เพื่อไม่ให้เกิดความตื่นกลัว เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อภาพรวม โดยใช้มาตรการคัดกรองผู้โดยสารขาออกประเทศ เฉพาะประเทศหรือเมืองที่เกิดการระบาดของโรค เพื่อไม่ให้เกิดการเจ็บป่วยเคลื่อนย้ายไปในพื้นที่อื่น ซึ่งจะได้ผลมากกว่าการคัดกรองการเข้าประเทศ

ผนึกเครือข่ายภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงเฝ้าระวัง

นพ.มล.สมชาย จักรพันธุ์  อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า  สำหรับเครือข่ายเฝ้าระวังโรคในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ประกอบด้วย ไทย พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม และจีน (ยูนนาน) ซึ่งที่ผ่านมามีความร่วมมือกันโดยมีหน่วยงานความร่วมมือระหว่างประเทศ เช่น องค์การอนามัยโลก หน่วยประสานความร่วมมือเฝ้าระวังโรคไข้หวัดใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UNSIC) องค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งสหรัฐอเมริกา (USAID) และมูลนิธิร็อคกี้ เฟลเลอร์ ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดอยู่แล้ว โดยมีการเฝ้าระวังการระบาดของโรคไข้หวัดนก และ โรคตามแนวชายแดน เช่น เอดส์ มาลาเรีย วัณโรค ดังนั้นในการประชุมครั้งนี้ อาจจะต้องมีการเพิ่มการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009  ชนิด เอ เอช 1  เอ็น 1 เพิ่มขึ้นด้วย

แพทย์จุฬาฯ ตรวจหวัดรู้ผลใน 4 ชม.

วันเดียวกันที่ห้องประชุมชั้น 10 ตึก สก. โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก และคณะแพทย์ แถลงว่า ขณะนี้ทางรพ.จุฬาฯ ได้รับตัวอย่างพันธุกรรม หรือ RNA ของไวรัสต้นแบบไข้หวัดใหญ่ 2009 ซึ่งเป็นไวรัสที่สกัดแยกสารพันธุกรรมจากศูนย์ป้องกันและควบคุม CDC ของสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 4 พ.ค.ที่ผ่านมา เพื่อนำมาใช้พัฒนาการตรวจวินิจฉัยในประเทศไทย โดยขณะนี้กลุ่มผู้วิจัยได้ปฏิบัติการเพิ่มจำนวนและคัดลอกแบบ หรือโคลนนิ่ง เพื่อใช้เป็นตัวเปรียบเทียบและพัฒนาการตรวจให้ได้ผลถูกต้อง แม่นยำ และรวดเร็ว ซึ่งได้ประสบผลสำเร็จในการพัฒนาการตรวจวินิจฉัยโดยใช้หลักชีวะโมเลกุล โดยใช้ตัวอย่างต้นแบบเป็นตัวเปรียบเทียบ แทนการใช้วิธีการถอดรหัสซึ่งใช้เวลายาวนานกว่า อีกทั้งการวินิจฉัยดังกล่าวสามารถแยกชนิดไข้หวัดใหญ่ H1N1 ที่พบตามฤดูกาลในมนุษย์ ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ไข้หวัดใหญ่ที่พบในสุกร ทั้งนี้การตรวจวินิจฉัยดังกล่าวใช้เวลาเฉลี่ยประมาณ 4 ชั่วโมง หลังจากได้รับตัวอย่างมาถึงห้องปฏิบัติการ นอกจากนี้ทางรพ.จุฬาฯ ก็พร้อมทำ positive control หรือ plasmid ที่ใช้เป็นตัวเปรียบเทียบให้หน่วยตรวจอื่น ๆ ที่ต้องการด้วย
ศ.นพ.ยงกล่าวด้วยว่า ไม่อยากให้ประชาชนตื่นตระหนก เพราะขณะนี้การระบาดยังอยู่เฉพาะในทวีปอเมริกาเหนือ ส่วนทวีปอื่น ๆ ยังถือว่า ไม่ระบาดในระดับชุมชน และอัตราการเสียชีวิต ก็ยังต่ำกว่าร้อยละ 1 ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดตามฤดูกาลยังทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า ดังนั้นขอให้ชาวไทยอย่าตื่นตระหนก และอยู่ในความไม่ประมาทต้องติดตามข่าวสารอยู่ตลอดเวลา
ทั้งนี้อยากฝากไปถึงคนขับแท็กซี่ว่าหากได้รับคนไข้ที่มีอาการหวัดไปส่งโรงพยาบาล ก็ขอให้แท็กซี่คันดังกล่าวถามชื่อผู้ป่วย หรือให้โรงพยาบาลช่วยแจ้งข่าว เพื่อให้เป็นการป้องกัน ระมัดระวังร่วมกัน แต่อย่างไรก็ตามขณะนี้เชื้อยังอยู่ในขั้นที่ระงับได้ด้วยยาโอเซลทามิเวียร์ ซึ่งยาตัวนี้ประเทศไทยมีอยู่เป็นจำนวนมาก และองค์การเภสัชกรรมก็สามารถผลิตได้เอง

ครม.ไฟเขียว 100 ล้านสู้ไข้หวัดใหญ่

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล แจ้งว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี วานนี้(6 พ.ค.) เห็นชอบตามที่คณะกรรมการอำนวยการเตรียมความพร้อมป้องกันและควบคุมแก้ไขสถานการณ์การระบาดของไข้หวัดใหญ่ ที่มีพล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานฯ อนุมัติงบประมาณ 100 ล้านบาท เป็นงบกลางปี 2552 ให้กับกระทรวงสาธารณสุข เตรียมความพร้อมในช่วงระยะเวลา 1 เดือน เพื่อแก้ไขปัญหาโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธ์ใหม่ 2009 ชนิด A H1N1 รวมทั้งใช้เป็นงบประมาณเตรียมการและการประชุมคณะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขอาเซียนบวก3 รวม 13 ประเทศ
กำลังโหลดความคิดเห็น