สธ.เผยประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียน+3 ตอบรับมาครบ ยกเว้นพม่า แค่ส่งเอกอัครราชทูตประชุมแทน เชื่อพันธสัญญาอาเซียน+3 ช่วยพัฒนาระบบสกัดโรคระบาดใหม่ ปกป้องชีวิตประชากรในภูมิภาคกว่า 500 ล้านคนได้ ถกการเตรียมพร้อมสำรองยา ซ้อมใหญ่หากเกิดการระบาด พร้อมเตรียมเสนอมาตรการคัดกรองการเดินทางออกจากประเทศเสี่ยง ใช้ชื่อเมืองแทนชื่อประเทศในพื้นที่ระบาดลดผลกระทบการเดินทางเศรษฐกิจ สังคม เตรียมแลกเปลี่ยน-รับฟังปัญหาพื้นที่ระบาดหวัดใหญ่ 2009 ผ่านวิดีโอลิงก์จากเม็กซิโก อเมริกา เพื่อหาข้อสรุปร่วมกัน
วันนี้ (6 พ.ค.) ที่โรงแรมดุสิตธานี นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียน +3 สมัยพิเศษว่าด้วยโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ เอช1เอ็น 1 (ASEAN + 3 Health Ministers’ Special Meeting on Influenza A (H 1N1) ที่จะเริ่มขึ้นในวันที่ 7 พ.ค.นี้ เป็นการประชุมเจ้าหน้าที่กระทรวงระดับอาวุโส ส่วนวันที่ 8 พ.ค.เป็นการประชุมระดับรัฐมนตรี ซึ่งการประชุมครั้งนี้ถือว่าประเทศสมาชิกอาเซียนให้ความสำคัญเป็นอย่างมากกับการเตรียมความพร้อมรับมือกับการระบาดอย่างเต็มที่ โดยรัฐมนตรีสาธารณสุข และเจ้าหน้าที่อาวุโสจากประเทศสมาชิกอาเซียน +3 ประกอบด้วย บรูไนดารุสซาลาม กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย เวียดนาม จีน สาธารณรัฐเกาหลี และ ญี่ปุ่น รวมทั้งผู้แทนจากองค์การระหว่างประเทศ ได้แก่ องค์การอนามัยโลก ธนาคารโลก องค์การภายใต้องค์การสหประชาชาติ ได้แก่ UNSIC, FAO, UNDP และศูนย์ควบคุมโรคของสหรัฐอเมริกา (CDC) เดินทางมาร่วมประชุมด้วยตนเอง ยกเว้น พม่า ที่ยังไม่มีความชัดเจน เบื้องต้นได้แจ้งว่ามอบหมายให้เอกอัครราชทูตพม่าประจำประเทศไทยมาร่วมประชุมแทน
นพ.คำนวณ กล่าวต่อว่า การประชุมครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ในการประชุมเพื่อ 1.ทบทวนสถานการณ์การระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ เอช1เอ็น1 ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก รวมทั้งประเทศอาเซียน +3 2.เพื่อปรับมาตรการการป้องกันและควบคุมโรคที่ประเทศต่างๆ ได้ดำเนินการ ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น 3.เพื่อแสวงหาวิธีการ มาตรการ และการดำเนินการเพื่อป้องกันและควบคุมการระบาดของโรค 4.เพื่อสร้างพันธสัญญา ของรัฐมนตรีสาธารณสุข +3 ในการป้องกันและควบคุมการระบาดของโรค ซึ่งที่ผ่านมามีการประชุมลักษณะนี้มาแล้ว 2 ครั้ง คือ การระบาดของโรคระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง หรือซาร์ส และโรคไข้หวัดนก โดยการประชุมระดับรัฐมนตรีสาธารณสุข เพื่อตัดสินใจเชิงนโยบาย และลงนามในร่างแถลงการณ์ความร่วมมือระดับอาเซียน ซึ่งถือเป็นพันธสัญญาของอาเซียน +3 ร่วมกัน เพื่อพัฒนาระบบการสกัดกั้นโรคของภูมิภาคมีความแข็งแกร่ง ปกป้องชีวิตของประชากรกว่า 500 ล้านคนในภูมิภาคนี้ให้ปลอดภัยจากโรคระบาดใหม่
“ไฮไลต์สำคัญ คือ การร่วมรับฟังประสบการณ์โดยตรงจากประเทศเม็กซิโก สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่พบการระบาดเป็นแห่งแรกในโลกและองค์การอนามัยโลก ที่รายงานสถานการณ์ของโรค รวมถึงรับฟังการเผชิญปัญหาและประสบการณ์แก้ปัญหาผ่านดาวเทียมกับศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคสหรัฐอเมริกา หรือวิดีโอลิงก์ รวมทั้งแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทำงานจากประเทศต่างๆ ระดมความคิดและสรุปข้อเสนอ เพื่อให้ได้ข้อตกลงที่จะทำร่วมกัน” นพ.คำนวณ กล่าว
นพ.คำนวณ กล่าวด้วยว่า สำหรับประเด็นที่จะมีการหารือร่วมกันในเบื้องต้น ประกอบด้วย 1.ความพร้อมในการซ้อมรับมือการระบาดใหญ่ในอาเซียนว่าควรเริ่มเมื่อไหร่ 2.ผลกระทบความเสียหายหลังการระบาดของโรค ทั้งทางตรง คือ ผลจากการเจ็บป่วย และทางอ้อมคือ ความเสียหายทางด้านเศรษฐกิจ สังคม 3.การสำรองยาต้านไวรัสโอเซลทามีเวียร์ของแต่ละประเทศ และการสต๊อกคลังยาอาเซียนที่สิงคโปร์ มีความเพียงพอหรือไม่ 4.มาตรการสกัดโรคหากเกิดการระบาด โดยเฉพาะตามรอยต่อของประเทศต่างๆ หรือบริเวณที่มีพรมแดน 5.ความร่วมมือในการพัฒนาเทคโนโลยี ความช่วยเหลือและการแลกเปลี่ยนเทโนโลยี โดยเฉพาะการผลิตวัคซีน และยาต้านไวรัส 6.การซ้อมแผนระดับภูมิภาค ความช่วยเหลือที่ต้องการจากองค์การอนามัยโลก เช่น การสร้างระบบฮอตไลน์ การแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างผู้ปฏิบัติงาน และเจ้าหน้าที่ระดับสูง ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือของทุกประเทศ
นพ.คำนวณ กล่าวว่า มาตรการทั้ง 6 ข้อ รัฐมนตรีสาธารณสุขของทั้ง 13 ประเทศ จะหารือตกลงผลึกทางความคิดและตัดสินใจว่าจะดำเนินการอย่างไร โดยเฉพาะมาตรการสกัดกั้นโรค และการเฝ้าระวังโลก ต้องเป็นมาตรการที่เหมาะสม มีความสมดุลไม่เป็นอุปสรรคต่อการเดินทาง และไม่ทำลายระบบเศรษฐกิจ เช่น การไม่เหมารวมประเทศที่ระบาดว่าเป็นพื้นที่การระบาดทั้งประเทศ ทั้งๆ ที่มีการระบาดในบางพื้นที่ ซึ่งจะส่งผลกระทบกับการเดินทาง จึงให้ระบุเป็นชื่อเมืองแทนในลักษณะพื้นที่เฉพาะ เพื่อไม่ให้เกิดความตื่นกลัว เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อภาพรวม โดยใช้มาตรการคัดกรองผู้โดยสารขาออกประเทศ เฉพาะประเทศหรือเมืองที่เกิดการระบาดของโรค เพื่อไม่ให้เกิดการเจ็บป่วยเคลื่อนย้ายไปในพื้นที่อื่น ซึ่งจะได้ผลมากกว่าการคัดกรองการเข้าประเทศ
“ไทยจะเสนอมาตรการดังกล่าวเข้าที่ประชุมอาเซียน เนื่องจากขณะนี้ยังไม่มีมาตรการดังกล่าวเกิดขึ้น ส่วนที่ประชุมจะเห็นด้วยหรือไม่นั้น จะต้องพิจารณารอบคอบอีกครั้ง แต่จากการพิจารณาสถานการณ์ของโรคขณะนี้ อาจจะยังไม่มีความจำเป็นต้องใช้มาตรการานี้ แต่เป็นการเตรียมการไว้รองรับหากองค์การอนามัยโลก ประกาศยกระดับความรุนแรงของโรค เป็นระดับที่ 6” นพ.คำนวณ กล่าว
รวมข่าวเกี่ยวเนื่องโรคหวัดเม็กซิโกในประเทศไทย