xs
xsm
sm
md
lg

ปชป.ไม่เสนอแก้ไขรธน. 40ส.ว.เตือนแก้รธน.ทำร้ายประเทศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงข่าวที่ว่า พรรคร่วมรัฐบาลกดดันพรรคประชาธิปัตย์ให้แก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 237 ในประเด็นการยุบพรรค และให้มีการนิรโทษกรรมว่าไม่มีกระแสกดดัน ทุกพรรคมีจุดยืน หรือมีความคิดของตัวเองอยู่แล้ว และแต่ละพรรคทราบดีว่า ขณะนี้ต้องไปที่คณะกรรมการที่รัฐสภาตั้งขึ้น ซึ่งต้องไปพิจารณากันตรงนั้น
ส่วนที่มีการอ้างถึง นายชุมพล ศิลปอาชา รมว.ท่องเที่ยวฯ ในฐานะหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา นั้น นายชุมพลได้พูดกับตนแล้วว่า พรรคชาติไทยพัฒนามีจุดยืนในเรื่องรัฐธรรมนูญ มาตรา 237 ชัดเจนอยู่แล้ว แต่จะไม่นำเรื่องนี้มาเกี่ยวข้องกับรัฐบาล เพราะถือว่าเป็นการทำงานในฐานะพรรคการเมืองไป
"พรรคที่ร่วมรัฐบาล ก็มีจุดยืนที่แตกต่างกันในมาตราเดียวกันด้วยซ้ำ มีประเด็นเดียวที่ผมเคยพูดไว้ตั้งแต่วันลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญก่อนเลือกตั้งว่า จำเป็นต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ ผมก็ยึดถือคำพูดนั้น ซึ่งตรงกับวันนี้ คือต้องการแก้ให้ระบบมันสมบูรณ์ที่สุดในแง่ของความเป็นประชาธิปไตย และความเป็นธรรม" นายอภิสิทธิ์กล่าว
นายอภิสิทธิ์ ยังกล่าวถึงแนวทาง การทำประชาพิจารณ์ หรือประชามติก่อนแก้ไขว่า เราไม่ขัดข้องอยู่แล้ว แต่ทั้งหมดขึ้นกับคณะกรรมการที่เป็นผู้ดำเนินเรื่องทั้งหมด
"การทำประชามติ หรือประชาพิจารณ์นั้นผมคิดว่า ถ้าถามว่าควรแก้หรือไม่แก้ มันไม่ชัด ถ้าจะถามก็ควรถามหนเดียวไปเลยว่า จะแก้อะไรบ้าง เพราะงบ 2,000 ล้านบาท ควรถูกใช้หนเดียว ถ้าไปทำ 2 ครั้ง ก็ 4,000 ล้านบาท อย่าไปทำ 2 หนเลย" นายอภิสิทธิ์กล่าว
ต่อข้อถามถึงผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่ระบุว่า นักการเมืองเป็นฝ่ายที่ทำร้ายประเทศมากที่สุด นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า นักการเมืองเป็นจำเลยสังคมมาตลอด แต่เป็นเรื่องที่เราต้องพยายามทบทวนและแก้ไขปรับปรุง ทั้งนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่า ถ้านักการเมืองไม่ไปมีส่วนในความขัดแย้งทางการเมือง ปัญหาคงไม่ลุกลามบานปลาย แต่ไม่ควรเหมารวมว่านักการเมืองทุกคนเป็นปัญหา ขณะเดียวกันนักการเมืองไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าไม่มีบทบาทแก้ไข เพราะการเมืองก็เป็นชนวนของความขัดแย้งมา
"บางเรื่องที่พูดแล้วดูเหมือนว่าเป็นการช่วยนักการเมือง แต่ที่จริงแล้วไม่ใช่ แต่เราต้องหาความพอดี เช่น มาตรา 265, 266 , 267 ซึ่งผมเห็นด้วยว่า ไม่ควรให้นักการเมืองที่เป็น ส.ส.ไปแทรกแซงงานความรับผิดชอบของราชการ แต่ถ้าเขียนจนทำให้นักการเมืองไม่สามารถนำความเดือดร้อนของประชาชนมาผลักดันให้แก้ไขได้ ก็ไม่สมกับสิ่งที่ประชาชนคาดหวังจากผู้แทนปวงชนชาวไทย แต่การจะแก้ดูว่าแก้อย่างไร ถ้าแก้จนกระทั่งไปแทรกแซงโยกย้าย แต่งตั้ง หรือกอบโกยงบประมาณเข้าตัวเอง ผมไม่เห็นด้วย ส่วนมาตรา 190 ผมคิดว่า ควรแก้ไข เพื่อทำความชัดเจนหรือเปิดโอกาสให้มีกระบวนการในการทำความชัดเจน โดยไม่ต้องสร้างปัญหาร้องมาถึงศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งถ้าจะแก้ ก็ต้องดูว่าทำอย่างไรให้มีความชัดเจน ปฏิบัติได้ง่าย มีประสิทธิภาพควบคู่ความโปร่งใส ส่วนมาตรา 237 เป็นเรื่องที่ต้องพูดกันยาว เพราะมีประเด็นการยุบพรรคไปจนเรื่องการเพิกถอนสิทธิ์ และขอบเขตการรับผิดชอบของกรรมการบริหารพรรค ซึ่งก็ต้องหาความพอดี ไม่ได้หมายความว่า จะแก้เพื่อให้ซื้อเสียงง่ายขึ้น ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้น ผมก็ไม่เห็นด้วย" นายอภิสิทธิ์ กล่าว
เมื่อถามว่าการนิรโทษกรรม จะเอาไว้พิจารณาทีหลังหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขณะนี้ไม่เห็นว่ามีประเด็นนี้ที่จะแก้ ซึ่งเข้าใจว่าเป็นการมองไปที่การแก้รัฐธรรมนูญเป็นไปตามระบบ ส่วนแก้ไขแล้วมีผลตีความทางกฎหมาย เป็นคุณหรือโทษล่วงหน้า หรือย้อนหลังอย่างไรนั้น ก็ต้องมาพิจารณา เผื่อจะต้องมาเขียนบทเฉพาะกาล ที่มีความชัดเจน แต่จะไม่มีการออกเป็นกฎหมายนิรโทษกรรมเป็นการเฉพาะ
เมื่อถามว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญในตอนนี้ ถือว่าเร็วเกินไปหรือไม่ เพราะนายกฯ เคยบอกว่าการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ เป็นเรื่องสำคัญก่อนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เวลานี้การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ มีความคืบหน้าไปมาก เพราะมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบแรกได้ถูกประกาศใช้แล้ว และเงินก็ลงไปเข้าระบบหมดแล้ว ส่วนใหญ่เป็นไปตามเป้าหมายแล้ว ส่วนมาตรการกระตุ้นระยะที่ 2 ซึ่งเป็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงที่มาของแหล่งเงินต่างๆ ก็มีความชัดเจนหมดแล้ว เพราะฉะนั้น กลไกต่างๆ ก็เดินหน้าไป
อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า ความขัดแย้งทางการเมืองได้กลับมาเป็นเงื่อนไขสำคัญในการที่รัฐบาลจะแก้ปัญหาของประชาชน รวมถึงเรื่องเศรษฐกิจ และปากท้อง ซึ่งถ้าการเมืองวุ่นวายรุนแรง จะเห็นชัดว่าแก้ไม่ได้ปัญหาอะไร ดังนั้น ตรงนี้จะเป็นกระบวนการนำไปสู่การคลายเงื่อนไขที่เป็นคำตอบในตัว ทั้งนี้ ถ้าคิดจะแก้แล้วบ้านเมืองวุ่นวายมากขึ้น มันไม่ใช่คำตอบ แต่ต้องแก้เพื่อให้บ้านเมืองสงบแบบยั่งยืน ไม่ใช่สงบแบบแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แล้วเพิ่มปัญหาใหม่ในวันหลัง

**ปชป.ไม่เสนอประเด็นแก้รธน.
เมื่อเวลา 09.00 น. วันเดียวกันนี้ คณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมือง และการแก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนของของพรรคประชาธิปัตย์ ได้ร่วมประชุมหารือถึงท่าทีของพรรคในการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยมี นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรค และนายบัญญัติ บรรทัดฐาน กรรมการที่ปรึกษาพรรคเข้าร่วมด้วย
หลังการหารือ นายบัญญัติ เปิดเผยว่า หลังจากที่ดูอำนาจหน้าที่แล้ว มี 2 ประเด็น ที่คณะกรรมการฯชุดนี้ ต้องทำคือ 1. การสร้างแนวทางความสมานฉันท์ให้เกิดขึ้น และ 2. การพิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งคณะกรรมการมีความเห็นว่า ต้องทำ 2 ประเด็นดังกล่าว ให้เป็นไปตามแนวทางเดียวกัน คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งกระบวนการ ตลอดจนเนื้อหาสาระ ก็ไม่ควรขัดแนวทางการสร้างสมานฉันท์ จึงจำเป็นต้องดึงทุกภาคส่วนเข้าร่วมเพื่อรับฟังปัญหาอย่างกว้างขวางด้วย
นายบัญญัติ กล่าวว่า ได้ศึกษารายงานข้อศึกษาของกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการใช้รัฐธรรมนูญ สภาผู้แทนราษฎร ที่ตั้งขึ้นสมัยรัฐบาลพรรคพลังประชาชน เห็นว่า ผลกระทบจริงๆ จากการใช้รัฐธรรมนูญ ปี 50 มีน้อยมาก โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสถาบันการเมือง ซึ่งในส่วนนี้ คงจะไม่เสนออะไร แต่จะรับฟังข้อเสนอจากพรรคการเมืองอื่นมากกว่า
"พรรคมองว่าเร็วกินไป ที่จะเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ยิ่งเมื่อดูรายงานการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาผลกระทบของสภาผู้แทนราษฎร ที่ใช้เวลาถึง 120 วัน ในการศึกษา ก็ไม่พบว่ามีผลกระทบอย่างใด ภารกิจของคณะกรรมการ คือ ตรงไหนที่ช่วยตบแต่งหรือให้สังคมยอมรับได้ต้องช่วยกัน"
ส่วนกรณี มาตรา 190 ที่เกี่ยวกับการทำสนธิสัญญาต่างๆ ของรัฐบาลต้องนำเสนอเข้ารัฐสภาเพื่อให้รับทราบ ซึ่งหากแก้ไขให้ชัดเจนขึ้น ส่วนตัวว่า น่าจะรับได้ นอกจากนี้ยังมีการหารือถึง มาตรา 265 และ 266 ที่ ส.ส. ต่างบ่นว่ามีข้อจำกัดถึงอำนาจหน้าที่ หลังจากรับฟังปัญหาจากประชาชน และจะไปติดต่อหน่วยงานราชการ เพื่อให้ความช่วยเหลือชาวบ้านก็ไม่สามารถช่วยเหลือได้ มันจะกลายเป็นว่า ส.ส.เข้าไปแทรกแซงการทำหน้าที่ของส่วนราชการ รวมถึงมีการพูดถึงกรณีให้ ส.ส.เป็นรัฐมนตรีได้ แต่กลับเป็นเลขานุการรัฐมนตรีไม่ได้ จะทำให้เป็นว่าคนที่ไม่เคยเป็นเลขารัฐมนตรี และจะก้าวขึ้นเป็นรัฐมนตรีเลย จะทำให้การทำงานมีปัญหาหรือไม่ ซึ่งน่าจะเปิดโอกาสให้ทำหน้าที่ดังกล่าว เพื่อเป็นการศึกษางานล่วงหน้า โดยการประสานงานกับรัฐมนตรี และส.ส. รวมถึงหน่วยราชการ ซึ่งจะทำให้สะดวกยิ่งขึ้น ซึ่งหลายคนก็เห็นด้วย กับการแก้ไข เพื่อให้กลับไปทำงานได้ ส่วนใหญ่รายงานของสภาสอดคล้องกับผลการศึกษาพรรคตลอดมา หลักๆหารือเพียงแค่นี้
ส่วนมาตรา 237 ที่เกี่ยวกับการทุจริตเลือกตั้ง และมีโทษถึงยุบพรรคการเมือง นายบัญญัติ กล่าวว่า ดูจากผลการศึกษา ผลกระทบของรัฐธรรมนูญทั้งในส่วนของพรรคและรายงานจากสภาผู้แทนราษฎร ก็ไม่มีเอ่ยถึงผลกระทบใดๆ ดังนั้นในส่วนของพรรคก็ไม่มีความเห็นในเรื่องดังกล่าว แต่จะไปรับฟังความเห็นของพรรคการเมืองอื่น

*ชี้แก้รธน.ระเบิดเวลาลูกใหม่
นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับวิธีการทำงานของคณะกรรมการฯ ที่ตั้งธงแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือการนิรโทษกรรมเป็นประเด็นสำคัญ ซึ่งวิธีคิดแบบนี้ ถือว่าไม่เข้าใจความขัดแย้งแตกแยกในสังคม แล้วยังหลงทางจะทำให้ความแตกแยกขยายตัว ซ้ำร้ายอาจจะทำให้คณะกรรมการปรองดองไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม เพราะทำให้สังคมหวาดระแวงว่า กรรมการปรองดองมีวาระซ่อนเร้น หรือหวังแก้รัฐธรรมนูญเพื่อช่วยเหลือพวกพ้อง
นอกจากนี้ ความพยายามเสนอให้มีการจัดลงประชามติว่า เห็นสมควรแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้นยิ่งทำให้ประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ กลายเป็นระเบิดเวลาทางการเมือง คล้ายๆ กับการลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 แม้การลงประชามติเป็นหลักการประชาธิปไตยที่ดี แต่ถูกคนบางกลุ่มบิดเบือนหลักการ ให้กลายเป็นเรื่องเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับระบอบทักษิณ หรือการรัฐประหารไปในที่สุด
ครั้งนี้ก็เช่นกัน ถ้ามีการลงประชามติสุดท้ายก็จะกลายเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเอาไม่เอา พ.ต.ท.ทักษิณ หรืออำมาตยาธิปไตย ไปในที่สุด เสียเวลา และเปลืองงบประมาณโดยไม่จำเป็น
" ผมอยากให้คณะกรรมการปรองดองตั้งกรอบการทำงานที่กว้างกว่าการรื้อรัฐธรรมนูญหรือการนิรโทษกรรม เพราะแนวทางปรองดองสมานฉันท์ต้องทำหลายแนวทางควบคู่กันไป โดยเฉพาะการออกแบบการเมืองใหม่ ซึ่งต้องใช้เวลาและมีกระบวนการทำงานที่น่าเชื่อถือกว่านี้ เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญควรจะเป็นขั้นตอนสุดท้ายด้วยซ้ำ" นายสุริยะใสกล่าว
**อย่าทำร้ายประเทศด้วยการแก้รธน.
ส่วนกลุ่ม 40 ส.ว. นำโดยนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา นายอนุศักดิ์ คงมาลัย ส.ว.สรรหา และนายสาย ตังกะเวคิน ส.ว.ระยอง แถลงแสดงจุดยืนของกลุ่ม 40 ส.ว. โดยนายไพบูลย์ กล่าวว่า กลุ่ม 40 ส.ว. ขอ เรียกร้องไปยังคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ ที่มีนักการเมืองอยู่เป็นจำนวนมาก ให้มีมาตรการป้องกันกรรมการบางคน ที่จะใช้ที่ประชุมคณะกรรมการฯ เป็นเวทีทำร้ายประเทศไทย ด้วยการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยไม่แสดงเหตุผลให้ชัดเจนว่าเป็นประโยชน์ต่อประเทศอย่างไร หากปล่อยให้การประชุมเป็นไปโดยลับ จะนำมาซึ่งความคลางแคลงใจของประชาชน ดังนั้นจึงขอเสนอให้มีการประชุมโดยเปิดเผย ให้มีการจัดถ่ายภาพ บันทึกวีดีโอ และบันทึกเสียงตลอดการประชุม เชื่อมต่อออกมานอกห้องประชุม และให้ประชาชนรับฟัง พร้อมทั้งจัดทำซีดี เผยแพร่การประชุมอย่างไม่จำกัด
ทั้งนี้ กลุ่ม 40 ส.ว.จะออกมาคัดค้านแน่ หากคณะกรรมการประชุมแล้วเสนอสภาทันที เพราะเห็นว่า ควรให้ประชาชนนั้นมีส่วนร่วมในการลงประชามติ แม้จะต้องใช้งบประมาณ 2,000 ล้านบาท แต่ก็จะเป็นช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีกทางหนึ่ง

**มุ่งแก้ไขวิกฤติ ไม่มุ่งแก้รธน.
นายวุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมือง และศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ระบุถึงกรอบการหารือในการนัดประชุมคณะกรรมการนัดแรก วันนี้(7 พ.ค.) ว่า ที่ประชุมคงหารือเรื่องกรอบเวลาที่คณะกรรมการจะทำงานร่วมกัน เพื่อแก้ปัญหาวิกฤตการเมืองก่อน จากนั้นจะหารือถึงเป้าหมาย การทำงาน รวมทั้งจะขอรับฟังความเห็นของคณะกรรมการแต่ละพรรคการเมืองถึงประเด็นต่างๆ ด้วย
ส่วนเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็จะมีการรวบรวมประเด็น ที่กรรมาธิการแต่ละคณะของรัฐสภา ได้ทำการศึกษาไว้ โดยเฉพาะคณะกรรมการศึกษาการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ ที่มีนายกระมล ทองธรรมชาติ เป็นประธาน ซึ่งได้ศึกษาเสร็จแล้ว ส่งให้ที่ประชุมวันนี้ (7 พ.ค.) ด้วย ขณะเดียวกันคาดว่า พรรคการเมือง แต่ละพรรค คงจะนำเสนอประเด็นที่จะแก้ไข ส่งให้คณะกรรมการพิจารณาพร้อมกัน ทั้งนี้ ยืนยันว่า การทำงานของคณะกรรมการชุดนี้ไม่ได้มุ่งแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ต้องการแก้ปัญหาวิกฤตการเมืองทั้งระบบ
กำลังโหลดความคิดเห็น