xs
xsm
sm
md
lg

รายงานพิเศษ : “ชท.-มฌ.-พปช.” รอด-ไม่รอด “ยุบพรรค”!?!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อมรรัตน์ ล้อถิรธร...รายงาน

ผลงานชิ้นโบแดงของ ปธ.สภา ฉายา “ยุทธ ตู้เย็น” ผ่านไปหมาดๆ กับการเป็นผู้ทูลเกล้าฯ รายชื่อนายกฯ คนที่ 25 และเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ เมื่อภารกิจสำคัญผ่านไปแล้ว หวังว่า “ยงยุทธ ติยะไพรัช” คงไม่ยื้อเวลาพาพยานไปชี้แจง กกต.กรณีทุจริตเลือกตั้งที่เชียงรายที่เป็นชนักติดหลังตนอยู่ เพื่อที่คดีดังกล่าวจะได้บทสรุปเสียที ...ถ้าผิดจริง แล้ว กกต.เสนอศาลฎีกาฯ ให้ใบแดงแก่นายยงยุทธ นอกจากจะส่งผลให้เจ้าตัวต้องหยุดทำหน้าที่ ส.ส.และ ปธ.สภา ทันทีที่ศาลรับฟ้องแล้ว ความผิดดังกล่าวที่กระทำในฐานะรองหัวหน้าพรรคพลังประชาชน ยังอาจส่งผลถึงขั้นยุบพรรคได้ เช่นเดียวกับ กก.บห.พรรคบางคนของพรรคชาติไทย-พรรคมัชฌิมาธิปไตย ที่โดนใบแดง และกำลังลุ้นว่า จะต้องถูกยุบพรรคหรือไม่?

 คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายงานพิเศษ 

ในการเลือกตั้ง 23 ธ.ค.ที่ผ่านมา มีผู้สมัคร-ว่าที่ ส.ส.ของพรรคต่างๆ กระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งหลายคนหลายพรรค โดยหลักฐานสาวถึงตัวผู้สมัครบ้าง-ไม่ถึงบ้าง สรุปยอดใบเหลือง-ใบแดงที่ กกต.ให้ไปแล้ว มีทั้งสิ้น 28 ใบ แบ่งเป็นใบแดง 7 ใบ และใบเหลือง 21 ใบ ขอพูดถึงเฉพาะใบแดงว่ามีพรรคใดได้ไปบ้าง เพราะบางคนบางพรรคที่ได้ใบแดงไป ไม่ได้มีสถานภาพแค่เป็นสมาชิกพรรคเท่านั้น แต่มีตำแหน่งเป็นถึงกรรมการบริหารของพรรค ดังนั้นโทษของการทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง จึงอาจไม่ใช่แค่โดนใบแดง แต่ถึงขั้นถูกยุบพรรคได้

สำหรับผู้ที่โดนใบแดง 7 ใบดังกล่าว แบ่งเป็นว่าที่ ส.ส.ของพรรคพลังประชาชน 4 คน ประกอบด้วย นายประกิจ พลเดช, นายพรชัย ศรีสุริยันโยธิน, นายรุ่งโรจน์ ทองศรี ว่าที่ ส.ส.บุรีรัมย์ เขต 1 พรรคพลังประชาชน ที่ให้หัวคะแนนเกณฑ์คนไปฟังการปราศรัย พร้อมสัญญาว่าจะให้เงินค่ารถค่าน้ำมัน ซึ่งเจ้าหน้าที่ กกต.พบว่า มีการจ่ายเงินจริง ส่วนอีก 1 ใบแดงของพรรคพลังประชาชน คือ นายประสพ บุษราคัม ว่าที่ ส.ส.อุดรธานี เขต 3 ที่มีผู้ร้องต่อ กกต.หลายสำนวนว่า นายประสพ ทำผิดกฎหมายเลือกตั้งหลายกรณี เช่น แจกวีซีดี พ.ต.ท.ทักษิณ, แจกเงินซื้อเสียง และปราศรัยใส่ร้ายพรรคอื่นด้วยข้อความอันเป็นเท็จ (ใส่ร้ายว่าพรรคเพื่อแผ่นดินรับเงินจาก คมช.) ทำให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเข้าใจผิดในคะแนนนิยมของพรรคอื่น โดยตอนแรกนายประสพ ได้ใบเหลืองไปแล้ว 1 ใบ และภายหลังได้ใบแดงอีก 1 ใบ ซึ่ง กกต.ยืนยันว่า ไม่ใช่การเปลี่ยนจากใบเหลืองเป็นใบแดง แต่เป็นคนละสำนวนกัน สำนวนแรกความผิดสาวไม่ถึงนายประสพ จึงให้ใบเหลือง แต่สำนวนหลังหลักฐานชัดเจน จึงให้ใบแดง

ส่วนใบแดงอีก 3 ใบ เป็นของว่าที่ ส.ส.พรรคชาติไทย 2 คน และพรรคมัชฌิมาธิปไตย 1 คน ประกอบด้วย นายมณเฑียร สงฆ์ประชา และ นางนันทนา สงฆ์ประชา ว่าที่ ส.ส.ชัยนาท เขต 1 พรรคชาติไทย หลังพบว่า หัวคะแนนของบุคคลทั้งสองเก็บบัตรประชาชนชาวบ้านและจ่ายเงินให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่หน้าหน่วยเลือกตั้งกลางในการเลือกตั้งล่วงหน้า ส่วนพรรคมัชฌิมาธิปไตย ผู้ที่โดนใบแดงก็คือ นายสุนทร วิลาวัลย์ ว่าที่ ส.ส.ปราจีนบุรี เขต 1 หลังพบการจ่ายเงินซื้อเสียงเพื่อให้ลงคะแนนเลือกนายสุนทร ซึ่งนายสุนทรโดน 2 เด้ง คือนอกจากโดนใบแดงแล้ว ยังถูก กกต.แจ้งความดำเนินคดีอาญาพร้อมหัวคะแนนเพื่อให้ชดใช้ค่าเสียหายในการจัดการเลือกตั้งด้วย!

ทั้งนี้ ในบรรดา 7 ใบแดงดังกล่าว มีพรรคที่เข้าข่ายอาจถูกยุบได้ 2 พรรค คือ พรรคชาติไทยและพรรคมัชฌิมาธิปไตย เพราะนายสุนทร วิลาวัลย์ ว่าที่ ส.ส.ปราจีนบุรี เขต 1 พรรคมัชฌิมาธิปไตย มีตำแหน่งเป็นรองหัวหน้าพรรค ซึ่งถือเป็น 1 ในกรรมการบริหารพรรค ขณะที่นายมณเฑียร สงฆ์ประชา ว่าที่ ส.ส.ชัยนาท เขต 1 พรรคชาติไทย ก็มีตำแหน่งเป็นกรรมการบริหารพรรคเช่นกัน โดยเป็นรองเลขาธิการพรรค

ซึ่งล่าสุด คณะกรรมการที่ กกต.ตั้งขึ้นเพื่อตรวจสอบกรณีกรรมการบริหารพรรคทุจริตเลือกตั้งว่าจะถึงขั้นยุบพรรคหรือไม่ ที่มี นายบุญทัน ดอกไธสง เป็นประธาน ได้สรุปผลการพิจารณาให้ กกต.แล้ว โดยมีข่าวว่า คณะกรรมการเสนอให้ยุบพรรคมัชฌิมาธิปไตย แต่ที่ประชุม กกต.ยังไม่ได้ประชุมพิจารณาเรื่องนี้ ซึ่ง นางสดศรี สัตยธรรม กกต.ด้านกิจการพรรคการเมือง บอกเมื่อวานนี้ (29 ม.ค.) ว่า กรณีพรรคมัชฌิมาธิปไตยได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านกิจการพรรคการเมืองแล้วว่า การที่กรรมการบริหารพรรคถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง(โดนใบแดง) อาจเป็นสาเหตุนำไปสู่การยุบพรรค ซึ่งคาดว่า กกต.จะพิจารณาเรื่องนี้ได้ภายในสัปดาห์นี้

นางสดศรี ยังบอกด้วยว่า กรณีของพรรคชาติไทย กกต.ยังไม่ได้พูดถึง แต่หากข้อเท็จจริงการกระทำผิดของว่าที่ ส.ส.ซึ่งเป็นกรรมการบริหารของพรรคชาติไทยเหมือนกับกรณีของพรรคมัชฌิมาธิปไตย ก็อาจไม่จำเป็นต้องนำเรื่องพรรคชาติไทยเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านกิจการพรรคการเมืองอีก

ด้าน นายสุเมธ อุปนิสากร กกต.ด้านการมีส่วนร่วม บอกว่า หากศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคชาติไทยและพรรคมัชฌิมาธิปไตย ส.ส.ที่สังกัดพรรคดังกล่าวก็สามารถย้ายไปสังกัดพรรคใหม่ได้ภายใน 90 วัน อย่างไรก็ตาม นายสุเมธ ชี้ว่า เรื่องการยุบพรรคไม่ใช่ว่าจะทำกันได้ง่ายๆ ต้องมีเหตุผลประกอบที่เพียงพอ

ขณะที่ นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล รองหัวหน้าพรรคชาติไทย เตรียมทำหนังสือถึง กกต.ขอให้พิจารณาเรื่องยุบพรรคโดยยึดหลักรัฐศาสตร์มากกว่านิติศาสตร์ ซึ่งนายสุเมธ อุปนิสากร 1 ใน กกต.พูดถึงเรื่องดังกล่าวว่า พร้อมรับฟัง แต่ตามหลักการแล้ว กกต.ต้องพิจารณาโดยยึดกฎหมายเป็นหลัก ขณะที่นางสดศรี สัตยธรรม 1 ใน กกต.บอกว่า หากเป็นหลักรัฐศาสตร์เพื่อประโยชน์ของพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง กกต.คงไม่ต้องนำมาวินิจฉัย แต่ถ้าเป็นหลักรัฐศาสตร์เพื่อประเทศชาติ ก็อาจต้องนำมาวินิจฉัย

ทั้งนี้ อาจไม่ใช่แค่พรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย เท่านั้นที่ส่อถูกยุบพรรค แต่พรรคพลังประชาชนก็อาจเข้าข่ายเช่นกัน หากผลสอบกรณีทุจริตเชียงรายของอนุกรรมการฯ ชุดที่ 2 ที่ กกต.ตั้งขึ้น (มีนายสุวิทย์ ธีรพงษ์ เป็นประธาน) สรุปสอดคล้องกับผลสอบของอนุกรรมการชุดแรกของทางตำรวจสันติบาลว่า นายยงยุทธ ติยะไพรัช ส.ส.สัดส่วน กลุ่ม 1 และอดีตรองหน้าพรรคพลังประชาชน ทุจริตเลือกตั้งด้วยการซื้อเสียงผ่านกำนันเชียงราย 10 คนจริงตามที่มีวีซีดีเป็นหลักฐานยืนยัน ซึ่ง กกต.ได้ยืนยันแล้วว่า การที่นายยงยุทธลาออกจากรองหัวหน้าพรรคหรือกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชน ก่อนดำรงตำแหน่งประธานสภาฯ ไม่มีผลต่อการพิจารณาคดีดังกล่าว เพราะต้องพิจารณาว่าขณะกระทำผิดนั้นดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคอยู่!

และที่สำคัญ หาก กกต.สรุปว่า นายยงยุทธ กระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งด้วยการทุจริตซื้อเสียงจริง และเสนอให้ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งพิจารณาให้ใบแดงแก่นายยงยุทธเมื่อใด นายยงยุทธจะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ทันทีที่ศาลรับฟ้อง!

ซึ่งเรื่องนี้ นายยุวรัตน์ กมลเวชช อดีต กกต.ชุดแรก เคยให้สัมภาษณ์วิทยุผู้จัดการเมื่อเร็วๆ นี้เกี่ยวกับการให้ใบแดงว่า หากเป็นการให้ใบแดงก่อนที่ กกต.จะประกาศรับรองผลเลือกตั้งว่าที่ ส.ส.รายใด อำนาจในการพิจารณาให้ใบแดงถือเป็นสิ้นสุดที่ กกต.แต่การจะให้ใบแดงหลัง กกต.ประกาศรับรองผลเลือกตั้งแล้ว (นายยงยุทธ จัดอยู่ในกรณีนี้) อำนาจอยู่ที่ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง ซึ่งหากศาลรับคำร้องหรือรับฟ้องจาก กกต.เมื่อใด ผู้ที่ถูก กกต.เสนอให้ศาล พิจารณาให้ใบแดง จะต้องพ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะ ส.ส.ทันที จนกว่าศาลจะตัดสิน

“มันจะแบ่งเป็น 2 อันนะเรื่องใบแดง ถ้าก่อนประกาศผลเลือกตั้งนี่เป็นอำนาจของ กกต. แต่ในการให้ของ กกต.จะต้องถามความเห็นไปยังกฤษฎีกา เสร็จแล้วเขาก็จะส่งความเห็นมา แล้ว กกต.จะลงมติอีกทีหนึ่ง จะลงตามเขา (กฤษฎีกา) หรือไม่ลงตามเขา ก็ทำได้ แต่ถ้าหลังจากวันประกาศผลการเลือกตั้งแล้ว ต้องส่งไปที่ศาลฎีกา โดยศาลฎีกาจะรับไต่สวนและรับคำร้องของ กกต.หรือไม่ ถ้าสั่งว่ารับ ก็คือรับฟ้อง ถ้ารับฟ้องนี่ ผู้ที่ดำรงตำแหน่ง ผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งจะต้องพ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ของผู้แทนราษฎรทันที ไปจนกว่าศาลจะตัดสิน”

ส่วนการยุบพรรคจากเหตุที่กรรมการบริหารพรรคกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งจนโดนใบแดงหรือถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งนั้น ทางด้าน นายเสรี สุวรรณภานนท์ อดีตรองประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ บอกว่า หลักการและเหตุผลของกฎกติกาดังกล่าว เพื่อให้กรรมการบริหารพรรคแต่ละพรรครับผิดชอบดูแลเรื่องการเลือกตั้ง ไม่ใช่ปล่อยปละละเลยให้มีการทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง

“หลักก็คือ โดยปกติ การจัดการเลือกตั้งควบคุมการเลือกตั้งอยู่ที่ กกต. แต่ 10 ปีที่ผ่านมาเนี่ย มันทำแล้วมันล้มเหลว เพราะคนส่วนใหญ่ที่ทำผิดเนี่ย ส่วนใหญ่ก็จะเป็นบรรดาหัวคะแนน หัวหน้ากลุ่ม หัวหน้าก๊วน ใช่มั้ย ที่จะต้องสนับสนุนลูกพรรคเพื่อให้สนับสนุนตัวเอง เพื่อไปดำรงตำแหน่งสำคัญ ใช่มั้ย คนเหล่านี้ส่วนใหญ่ก็จะไปเป็นกรรมการบริหารพรรค ดังนั้นหลักใหม่ นอกจากจะให้ กกต.รับผิดชอบคนเดียวแล้วเนี่ย หลักใหม่ก็คือ ให้พวกบรรดากรรมการบริหารพรรค ซึ่งจริงๆ แล้ว ถ้าพูดกันตรงๆ ก็คือ เป็นคนส่วนใหญ่ที่จะเป็นคนทำผิดนั่นแหละ เข้ามารับผิดชอบเรื่อง 1.ห้าม (กก.บห.) กระทำผิด 2.จะต้องไม่ให้คนอื่นทำผิด 3.ถ้าหากคนอื่นกระทำผิด แล้ว(กก.บห.)รู้เห็นเป็นใจ หรือปล่อยปละละเลย อย่างนี้ไม่ไปแก้ปัญหา ไม่ไปห้ามปรามเขา ปล่อยให้ทำผิด เท่ากับตัวเองทำผิดด้วย เมื่อตนเองทำผิดด้วย ถ้าเป็น กก.บห.พรรค ก็ต้องถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ถ้าตัวเองถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเนี่ย เขาบอกว่า ให้ยุบพรรคด้วย ถือว่าพรรคทำผิด หลักและเหตุผลมันเป็นแบบนี้”

ทั้งนี้ นายเสรี ยังประเมินด้วยว่า โอกาสที่พรรคหลายๆ พรรคในขณะนี้ที่กรรมการบริหารพรรคทำผิดกฎหมายเลือกตั้งและโดนใบแดง จะถูกยุบพรรคมีสูงถึง 90% เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 237 เขียนไว้ชัดเจนว่า

“ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ใดกระทำการ ก่อ หรือสนับสนุนให้ผู้อื่นกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว. หรือระเบียบหรือประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งมีผลทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของบุคคลดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว.และถ้าการกระทำของผู้สมัครรับเลือกตั้งดังกล่าว ปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า หัวหน้าพรรคการเมืองหรือกรรมการบริหารพรรคการเมืองผู้ใด มีส่วนรู้เห็น หรือปล่อยปละละเลย หรือทราบถึงการกระทำนั้น แล้วมิได้ยับยั้งหรือแก้ไข เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ให้ถือว่าพรรคการเมืองนั้นกระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ตามมาตรา 68 และในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมืองนั้น ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมืองดังกล่าว มีกำหนดเวลา 5 ปีนับแต่วันที่มีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมือง”

ลองไปฟังความรู้สึกของผู้ที่โดนใบแดงและอาจเป็นสาเหตุให้พรรคตัวเองต้องถูกยุบดูบ้างว่า จะรู้สึกอย่างไร นายสุนทร วิลาวัลย์ อดีตว่าที่ ส.ส.ปราจีนบุรี เขต 1 พรรคมัชฌิมาธิปไตย ซึ่งไม่เพียงโดนใบแดงจากกรณีซื้อเสียง แต่ยังถูก กกต.แจ้งความดำเนินคดีอาญาพร้อมหัวคะแนนเพื่อให้ชดใช้ค่าเสียหายจากการเลือกตั้งด้วย กล่าวถึงกรณีที่มีข่าวว่า อนุกรรมการของ กกต.เสนอให้ยุบพรรคมัชฌิมาธิปไตยจากการที่ตนเป็นกรรมการบริหารพรรคแล้วโดนใบแดงว่า ส่วนตัวแล้วยังรู้สึกว่า ตนไม่ได้ทำอะไรผิด ไม่น่าโดนลงโทษถึงขนาดนี้ ทีผู้สมัครพรรคอื่นน่าจะทำผิดมากกว่า น่าจะโดนใบแดง แต่กลับได้แค่ใบเหลือง อย่างไรก็ตาม นายสุนทร เชื่อว่า หากพรรคมัชฌิมาธิปไตยถูกยุบ คงต้องมีอีกหลายพรรคถูกยุบเช่นกัน

“ถ้ายุบเรา ก็คงต้องยุบหลายพรรคมั้ง เพราะเราไม่ผิดอะไร ...มันยุบเพราะเหตุอะไร ผมเองไม่ได้ทำผิดอะไรมากมายเลย ผมว่าผมไม่ได้ผิดด้วยซ้ำ ใบแดง ผมก็ว่าผมไม่น่าโดน คนอื่นดูแล้วมันน่าจะผิดกว่าผมเยอะแยะ(ถาม-กกต.เขาว่าเราแจกเงินใช่มั้ย?) แจกเงินอะไร ผมไม่ได้ไปแจก คนที่เขาไปแจก เขาบอกเขาไม่รู้เรื่อง ไม่เกี่ยวเลย คนอื่นเขาจับกันได้ เห็นข่าวลง จับๆ ไม่โดนใบแดง โดนใบเหลือง ผมก็ยังงง เราก็ไม่รู้ว่า เขาเอาอะไรมาพิจารณา ไม่อยากไปต่อล้อต่อเถียง...ผมไม่น่าจะโดนลงโทษมากขนาดนี้เลยนะ ความรู้สึกผม ผมก็ไม่อยากจะไป เห็นคนอื่นเอาคนมาเรียกร้อง เราทำได้ แต่ไม่อยากทำ ...(ถาม-เรารู้สึกว่า เราพลาดตรงไหนมั้ย?) ผมว่าผมทำดีที่สุดแล้วนะ ไม่น่าพลาด เพียงแต่เขามีความเข้าใจมีความรู้สึกว่าผมน่าจะผิดอย่างนั้นน่าจะผิดอย่างนี้ ผมเล่นการเมืองมาหลายสิบปีนะ ผมก็ว่าผมระวังตัวที่สุด”

คงต้องลุ้นว่า ที่สุดแล้ว ความผิดกรณีซื้อเสียงของนายสุนทร วิลาวัลย์ อดีตว่าที่ ส.ส.ปราจีนบุรี เขต 1 พรรคมัชฌิมาธิปไตย ซึ่งเป็นถึงรองหัวหน้าพรรค จะเป็นเหตุให้พรรคมัชฌิมาธิปไตยต้องจบด้วยการถูกยุบหรือไม่? และความผิดกรณีซื้อเสียงของนายมณเฑียร สงฆ์ประชา อดีตว่าที่ ส.ส.ชัยนาท เขต 1 พรรคชาติไทย ซึ่งเป็นรองเลขาธิการพรรค จะเป็นเหตุให้พรรคชาติไทยต้องถูกยุบหรือไม่? รวมทั้งกรณีทุจริตที่เชียงราย นายยงยุทธ ติยะไพรัช ส.ส.สัดส่วน กลุ่ม 1 และอดีตรองหัวหน้าพรรคพลังประชาชน จะสลัดพ้นความผิดหรือไม่ หรือจะนำไปสู่จุดจบของพรรคพลังประชาชนด้วยการถูกยุบหรือไม่?

นี่ยังไม่รวมถึงข้อน่าสงสัยที่ว่า นายประสพ บุษราคัม อดีตว่าที่ ส.ส. อุดรธานี เขต 3 พรรคพลังประชาชน ที่โดนทั้งใบเหลือง-ใบแดงฐานแจกซีดีทักษิณ-แจกเงินซื้อเสียง และปราศรัยใส่ร้ายพรรคอื่นนั้น แท้จริงแล้ว เป็นกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชนหรือไม่ เพราะช่วงหาเสียงก่อนเลือกตั้ง ยังมีข่าวการให้สัมภาษณ์ของนายประสพหลายครั้งหลายกรณี โดยระบุตำแหน่งของนายประสพว่าเป็น “กรรมการบริหารพรรคพลังประชาชน”บ้าง หรือ”ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.อุดรธานี”บ้าง หรือทั้งสองตำแหน่งบ้าง เช่น หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์เมื่อวันที่ 1 พ.ย.50 ลงข่าวกรณีที่หลายๆ ฝ่ายพูดถึงใบปลิวในภาคเหนือและภาคอีสานที่โจมตีสถาบันเบื้องสูงว่า “นายประสพ บุษราคัม กรรมการบริหารพรรคพลังประชาชน ไม่เชื่อว่าจะมีพรรคการเมืองใดที่อาจเอื้อมกระทำการก้าวล่วงต่อสถาบันที่ประชาชนให้ความเคารพ รวมทั้งช่วงนี้ใกล้การเลือกตั้ง นักการเมืองก็อยากจะเดินหน้า เพื่อให้มีการเลือกตั้ง จึงไม่เชื่อว่าจะมีพรรคใดกระทำการอย่างนี้...”

หรือแม้แต่ข่าวที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ของพรรคพลังประชาชนเองก็ระบุเช่นกันว่า นายประสพ บุษราคัม เป็นกรรมการบริหารพรรค เช่น ข่าวเมื่อวันที่ 1 พ.ย.50 “นายประสพ บุษราคัม กรรมการบริหารพรรคพลังประชาชน กล่าวว่า ขอเรียกร้องให้พรรคการเมืองบางพรรคที่ใช้วิธีการหาเสียงโดยแอบอ้างว่า ยังเป็นคนของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และยังมีการถ่ายภาพยืนประกบคู่ด้วยนั้น ขอให้เลิก เพราะเท่ากับเป็นการหลอกลวงประชาชน”(ถ้าข่าวเดียวกันในเว็บไซต์อื่น จะมีคำพูดนายประสพต่ออีกว่า “...โดยอดีต ส.ส.ที่เคยทำงานกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ยังอยู่ที่พรรคพลังประชาชนไม่ย้ายออกไปไหน และพร้อมที่จะนำนโยบายของท่านที่เคยทำบอกกับประชาชน...)

ข่าวดังกล่าว ไม่เพียงยืนยันว่า นายประสพ บุษราคัม เป็นกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชน แต่ยังบ่งบอกด้วยว่า นายประสพไม่ต้องการให้อดีต ส.ส.พรรคไทยรักไทยในพรรคอื่น นำ พ.ต.ท.ทักษิณไปหาเสียง ยกเว้นอดีต ส.ส.พรรคไทยรักไทยในพรรคพลังประชาชนเท่านั้นที่ทำได้

คงต้องฝากให้ผู้เกี่ยวข้องเช่น กกต.ช่วยตรวจสอบว่า ตกลงนายประสพ บุษราคัม ซึ่งมีดีกรีเป็นถึงคณะทำงานฝ่ายกฎหมายของพรรคไทยรักไทยที่ดูแลคดียุบพรรคไทยรักไทยมาก่อนนั้น แท้จริงแล้วบุคคลผู้นี้เป็นกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชนหรือไม่? เพราะหากดูในเว็บไซต์พรรคพลังประชาชน ณ วันนี้ ไม่มีชื่อนายประสพเป็นกรรมการบริหารพรรคแต่อย่างใด แล้วเหตุใดจึงเคยมีข่าวที่ระบุว่าเขาเป็น ถ้านายประสพไม่เคยเป็นกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชนมาก่อน แต่สื่อเสนอคลาดเคลื่อนและบังเอิญเว็บไซต์พรรคพลังประชาชนก็เสนอคลาดเคลื่อนเช่นกัน ก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้านายประสพเคยเป็นกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชน แล้วถูกลบชื่อออกหลังโดนใบแดง ก็แสดงว่าพรรคพลังประชาชนกำลัง”ตัดตอนความผิด”ของนายประสพไม่ให้ถึงพรรค เพื่อไม่ให้พรรคต้องถูกยุบใช่หรือไม่?

สถานการณ์ช่างชวนให้คิดถึงตอนที่พรรคพลังประชาชนตัดนายประแสง มงคลศิริ อดีตผู้สมัคร ส.ส.อุทัยธานี(ที่ตระเวนแจกซีดีทักษิณ)ออกจากการเป็นสมาชิกพรรค โดยอ้างว่านายประแสงขอลาออกเองทางไปรษณีย์ พร้อมยืนยัน การกระทำดังกล่าวไม่ใช่เป็นการลอยแพหรือตัดตอนความผิดนายประแสงไม่ให้สาวถึงพรรคแต่อย่างใด!?!






กำลังโหลดความคิดเห็น