xs
xsm
sm
md
lg

TUFโยกรง.หนีต้นทุนพุ่ง เล็งลงทุนเพิ่มครึ่งปีหลัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน – ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่นฯสั่งปิดโรงงานผลิตปลาทูน่าที่อเมริกันซามัว หลังค่าใช้จ่ายพุ่งจนแข่งขันลำบาก แต่สร้างโรงงานใหม่ที่รัฐจอร์เจียในสหรัฐฯแทน คาดว่าจะเริ่มผลิตต้นต.ค.นี้ เล็งสร้างห้องเย็นใหม่ที่มหาชัย พร้อมกับดูโอกาสการลงทุนเพิ่มในครึ่งหลังปี 2552 เนื่องจากมองวิกฤตเศรษฐกิจโลกครั้งนี้ไม่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจอาหารทะเลแปรรูป โดยไตรมาส 1/2552 บริษัทฯมีกำไรขยายตัว 13% มาอยู่ที่ 653 ล้านบาท
นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ จำกัด (มหาชน)(TUF) เปิดเผยว่าในปีนี้บริษัทจะพลิกวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทั่วโลกให้เป็นโอกาส โดยการปรับโครงสร้างทางธุรกิจให้กระชับและมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยบริษัทฯได้ประกาศปิดโรงงานผลิตปลาทูนากระป๋องที่อเมริกันซามัว ในวันที่ 1 พ.ค.นี้โดยโรงงานดังกล่าวจะผลิตสินค้าไปจนถึงปลายก.ย. 2552 แล้วจะปรับปรุงโรงงานดังกล่าวเป็นห้องเย็นแทน โดยบริษัทฯจะตั้งโรงงานใหม่ที่รัฐจอร์เจียในสหรัฐฯ คาดว่าจะเริ่มดำเนินการผลิตได้ในเดือนต.ค.นี้ ซึ่งแผนงานดังกล่าวนี้จะทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับไทร-ยูเนี่ยน ซีฟู้ดส์ ซึ่งเป็นบริษัทย่อยในสหรัฐฯที่เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า Chicken of the Sea
ส่วนสาเหตุที่ต้องปิดโรงงานที่อเมริกันซามัว เนื่องจากค่าใช้จ่ายสูงขึ้นตลอดทำให้ความสามารถในการแข่งขันลดน้อยลง ทั้งค่าแรงงานที่มีการปรับขึ้นมาตลอด ค่าสาธารณูปโภค ค่าขนส่งและการซ่อมบำรุงเครื่องจักรเนื่องจากเป็นเกาะ แม้ว่าจะมีการปิดโรงงานดังกล่าวที่นั่น แต่บริษัทฯะจะสร้างโรงงานแห่งใหม่ที่จอร์เจียแทน ใช้เงินลงทุน 20 ล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 750ล้านบาท โดยโรงงานแห่งใหม่นี้จะใช้คนงานเพียง 200 คนเท่านั้น
ทั้งนี้ โรงงานที่อเมริกันซามัวมีกำลังการผลิตปลาทูน่ากระป๋องอยู่ที่ 6 ล้านกล่อง/ปี แต่โรงงานแห่งใหม่ที่จอร์เจีย มีกำลังการผลิตเพียงปีละ 4 ล้านกล่อง ที่เหลืออีก 2 ล้านกล่องจะนำเข้าจากไทย
นอกจากนี้ ปีนี้บริษัทฯยังเน้นการบริหารสินค้าคงคลังให้ลดลงเพื่อสร้างความแข็งแกร่งของกระแสเงินสด โดยครึ่งปีหลังนี้บริษัทฯจะมองหาโอกาสการลงทุนเพิ่มเติม แม้ว่าวิกฤตเศรษฐกิจโลกครั้งนี้จะกระทบต่อธุรกิจอาหารทะเลไม่มาก ทำให้โอกาสที่จะซื้อกิจการอื่นในราคาถูกเหมือนอุตสาหกรรมอื่นเป็นไปได้ยากก็ตาม
สำหรับแผนการลงทุนในปีนี้ จะใช้เงินลงทุนประมาณ 2,000 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นการลงทุนทั่วไปในการปรับปรุงสายการผลิตและพัฒนาสินค้าใหม่เฉลี่ยปีละ 1,200 ล้านบาทแล้ว บริษัทฯมีแผนสร้างห้องเย็นใหม่ขนาด 2 หมื่นตันที่มหาชัย เพื่อรองรับสินค้าที่เพิ่มมากขึ้น คาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 500 ล้านบาท โดยปีนี้จะลงทุนเพียง 200 ล้านบาทเท่านั้นส่วนที่เหลือเป็นการลงทุนสร้างโรงงานใหม่ที่รัฐจอร์เจียในสหรัฐฯ โดยเงินทุนนี้จะมาจากกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน
***ไตรมาส1/52 กำไรพุ่ง13%
นายธีรพงศ์ กล่าวถึงผลการดำเนินงานไตรมาสแรกปีนี้ว่า บริษัทฯสามารถสร้างอัตราการเติบโตทั้งกำไร ยอดขายในรูปสกุลเงินบาทและดอลลาร์สหรัฐเพิ่มขึ้น แม้ว่าตลอดช่วงเวลา 3 เดือนแรกปีนี้จะมีปัจจัยเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง โดยไตรมาส 1/2552 บริษัทฯมีกำไรสุทธิ 653 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13%เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 578 ล้านบาทและมีรายได้จากการขายในรูปเงินบาทเท่ากับ 17,666 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 15% ขณะที่รายได้ในรูปเงินเหรียญสหรัฐเพิ่มขึ้น 4% จากไตรมาสเดียวกันในปี 2551 มาอยู่ที่ 499 ล้านเหรียญสหรัฐในปีนี้ ขณะที่รายได้รวมในไตรมาสนี้ก็เพิ่มขึ้น 12%มาอยู่ที่ 17,889 ล้านบาท
สาเหตุที่ทำให้บริษัทฯมีกำไรเพิ่มขึ้นนั้นส่วนหนึ่งมาจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง10%เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของไตรมาสก่อนมาอยู่ที่ 35.39 บาท/เหรียญสหรัฐ ทำให้การส่งออกได้ดีขึ้น แต่การอ่อนค่าเงินบาทนั้นยังมีสัดส่วนที่น้อยกว่าประเทศคู่แข่งอย่างเวียดนาม ฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย ทำให้มีช่องทางที่จะอ่อนค่าได้อีกเพื่อกระตุ้นส่งออก
นอกจากนี้ บริษัทฯสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงได้ดี จะเห็นได้จากการบริหารทางการเงินที่ดีขึ้น เช่น การลดลงของสินค้าคงคลัง ส่งผลให้มีหนี้ที่ลดลง รวมถึงการควบคุมต้นทุนต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ทำให้มีอัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นจาก 10.4%เป็น 12.1%
ดังนั้น เป้าหมายในปีนี้บริษัทฯจะมีรายได้จากการขายในรูปเงินบาทไม่น้อยกว่า 15%จากปีก่อนและรายได้ในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐเติบโตไม่น้อยกว่า 10%มีความเป็นไปได้มาก ขณะที่กำไรสุทธิก็น่าจะเติบโตสอดคล้องกับรายได้ที่โตขึ้น เนื่องจากเห็นว่าวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่เกิดขึ้นนี้ก็เหมือนกับครั้งอื่นๆ ที่จะไม่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจอาหารทะเลแปรรูปเพราะประชาชนยังต้องมีการบริโภคอาหารอยู่ และ ยิ่งมีความมั่นใจยิ่งขึ้นเมื่อผลประกอบการไตรมาส 1 มีการส่งออกที่ขยายตัวได้ดี รวมทั้งราคาวัตถุดิบ คือปลาทูน่า ได้มีการปรับลดลงจากปีก่อนโดยไตรมาสแรกปีนี้ ราคาปลาทูน่าเคยต่ำสุดอยู่ที่ 900 เหรียญสหรัฐ/ตัน แต่ขณะนี้ราคาได้ขยับขึ้นมาอยู่ที่ 950 เหรียญสหรัฐ/ตัน ขณะที่ปริมาณการผลิตในไตรมาสแรกได้เพิ่มขึ้น 11%
“ จากผลประกอบการไตรมาส 1/52 พบว่าบริษัทยังมีการเติบโตดีอย่างต่อเนื่อง รวมทั้ง 3โรงงานในสหรัฐฯก็โตขึ้นด้วย ส่วนตลาดญี่ปุ่นก็มีพาร์ทเนอร์อย่างมิตซูบิชิ คอร์ปอเรชั่น ที่เดิมเคยถือหุ้นบริษัทอยู่ 3% ได้เพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นเกิน 5% แสดงว่าเขาเชื่อมั่นในบริษัทฯเรา ก็จะร่วมมือทำตลาดในญี่ปุ่นเข้มข้นขึ้นโดยผ่านช่องทางที่มิตซูบิชิเป็นเจ้าของด้วยส่วนตลาดอียูพบว่าปัญหาหลักคือค่าเงินยูโรที่อ่อนค่าลงมากถึง 20% ทำให้กระทบรายได้จากการขาย แต่เชื่อว่าเมื่อผ่านพ้นวิกฤตไปแล้ว อียูก็ยังเป็นตลาดหลักที่มีศักยภาพที่ดีต่อไป “
สำหรับตลาดส่งออกหลักของบริษัทฯยังเป็นสหรัฐฯ 51% รองลงมาคือ สหภาพยุโรป 15% ญี่ปุ่น 11% อัฟริกา 6% ออสเตรเลีย 3% ตะวันออกกลาง 2% ซึ่งปีนี้บริษัทฯจะให้ความสำคัญสำหรับตลาดอัฟริกา ตะวันออกกลางและรัสเซีย โดยเฉพาะตลาดอัฟริกาที่เดิมเคยส่งออกเพียง 3% ปัจจุบันเพิ่มเป็น 6% มีแนวโน้มจะโตได้ถึง 8% ทำให้มั่นใจว่าในปี 2555 บริษัทฯมียอดขายรวมเป็น 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐจากปีก่อนที่มียอดขายรวมเพียง 2,060 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ 2009 นั้นจะส่งผลดีในระยะสั้นต่อธุรกิจอาหารทะเล ทำให้มีการบริโภคสินค้าประเภทอาหารทะเลเพิ่มขึ้น
“ ทางมิตซูบิชิ คอร์ปอเรชั่น ซึ่งเป็นพันธมิตรจากญี่ปุ่น ได้เข้าซื้อหุ้น TUF ผ่านตลาดหลักทรัพย์เพิ่มเป็นกว่า 5% จากเดิมถือประมาณ 3% ถือเป็นเรื่องดี แสดงถึงความมั่นใจว่าบริษัทมีการเติบโตที่ดี ซึ่งปัจจุบันสัดส่วนการถือหุ้นของต่างชาติอยู่ที่ 30% จากเพดาน 45% ก็ยังมีโอกาสที่นักลงุทนต่างชาติจะเข้าถือเพิ่ม “
กำลังโหลดความคิดเห็น