xs
xsm
sm
md
lg

วอนรัฐช่วยอุ้มอุตฯอาหาร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTV ผู้จัดการรายวัน –สภาอุตสาหกรรมฯ เผยธุรกิจอาหารแปรรูปยังเป็นดาวรุ่ง ท่ามกลางวิกฤตการเงิน-เศรษบกิจโลกหดตัว เหตุเป็นภาคอุตสาหกรรมที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ แม้แนวโน้มในปี 52-53 ยังมีความเสียง พร้อมวอนให้รัฐเข้ามาช่วยเหลือ ขณะที่ผู้บริโภค ปรับพฤติกรรมผู้บริโภคสินค้าที่มีราคาถูกลง
นายไพบูลย์ พลสุวรรณา รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร เปิดเผยในงานเสวนาหัวข้อ “วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ : ทางออกผู้ประกอบการอาหารแปรรูปไทย” ว่า ปัจจุบันกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารถือเป็นดาวรุ่งที่พุ่งแรงกว่าอุตสาหกรรมประเภทอื่น ภายใต้วิกฤตเศรษฐกิจและการเงินโลกที่ยังชะลอตัว โดยเฉพาะสินค้าในหมวดอาหารและเกษตรของไทย ที่ปรับตัวที่ดีขึ้นจากอดีตเป็นอย่างมากจากตัวเลขการเติบโตในปัจจุบันที่มีการปรับตัวสูงขึ้นถึงระดับ 50%
“อุตสาหกรรมทั้ง 2 ได้พัฒนาสู่การเติบโตจนเป็นที่ยอมรับของต่างประเทศ รวมถึงการมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาผลิต ให้มีความรวดเร็วและสนองความต้องการของลูกค้า อีกทั้งสิ่งที่สำคัญ คือการเอาใจใส่เรื่องมาตรฐานสินค้าในส่วนของการก่อให้เกิดประโยชน์กับร่างกาย ไม่เป็นอันตราย บริโภคแล้วไม่ก่อให้เกิดโรคภัย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือเป็นเรื่องสำคัญไม่ว่าจะเป็นธุรกรรมขนาดใหญ่หรือขนาดเล็กควรพึงกระทำ”
สำหรับภาพรวมของอุตสาหกรรมอาหารในปี 52-53 น่าจะยังคงมีความเสี่ยง ซึ่งการจะรับมือกับความเสี่ยงดังกล่าวจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากภาครัฐอย่างจริงจัง รวมถึงข้อจำกัดเกี่ยวกับข้อกฎหมายจากกลุ่มประเทศในอียูในหลายเรื่อง เช่น ข้อบังคับประเภทเรือประมง หรือการเปิดกว้างให้ผู้บริโภคฟ้องร้องได้ ต้องได้รับการปฏิบัติอย่างจริงจัง ทั้งจากภาครัฐและผู้ประกอบการด้วย
ทั้งนี้ ตัวเลขภาคการส่งออกของอุตสาหกรรมอาหารไทยในปัจจุบัน มีมูลค่ารวมอยู่ที่ 7.7 แสนล้านบาท ซึ่งรวมทั้งสินค้าเกษตรพื้นฐานและสินค้าสำเร็จรูป โดยแยกเป็นการส่งออกข้าว 2.3 แสนล้านบาท กุ้งแช่แข็ง 8.4 พันล้านบาท ทูน่า 6.4 หมื่นล้านบาท ไก่และสัตว์ปีก 5.9 หมื่นล้านบาท น้ำตาล 4.7 หมื่นล้านบาท ผลไม้กระป๋อง 3.6 หมื่นล้านบาท ปลาแช่แข็ง 2.3 พันล้านบาท อาหารสัตว์ 1.9 หมื่นล้านบาท ผักสดแช่แข็ง 1.8 หมื่นล้านบาท ปลากระป๋อง 1.6 หมื่นล้านบาท และอื่นๆ 2.4 แสนล้านบาท ซึ่งในส่วนนี้ถือเป็นช่องการเติบโตที่ดีของธุรกิจเอสเอ็มอี
นางกอบบุญ ศรีชัย รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF กล่าวว่า ภาพรวมธุรกิจการส่งออกผลิตภัณฑ์โปรตีนเนื้อสัตย์ของ CPF ในปี 2551 ยังมีการเติบโตและความต้องการของผู้บริโภคที่ชัดเจนอยู่ แม้คำสั่งซื้อจากลูกค้าต่างประเทศอาจจะมีการปรับตัวลดลงบ้าง ตามกำลังซื้อของผู้บริโภคในแต่ละประเทศที่ลดลง
ขณะที่ในประเทศไทย อัตราการบริโภคปรับตัวลดลงและกำลังซื้อมีไม่เยอะมากนัก เมื่อดูจากปี 2551 ภาคการบริโภคมีอัตราที่ลดลง 10-15% ในส่วนของภาคการส่งออก เริ่มเห็นสัญญาณตั้งแต่เกิดปัญหาการเมืองในประเทศ และเริ่มชัดเจนขึ้นเมื่อช่วงปลายปีที่มีการปิดสนามบิน ส่งผลให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเกิดการชะงักและลามมาสู่อุตสาหกรรมอาหารด้วย บวกกับวุกฤตการเงินและเศรษฐกิจโลกทำให้ลูกค้าหลายรายในต่างประเทศมีปัญหาเรื่องการปล่อยสินเชื่อของทางธนาคาร และการประกันเครดิตนำเข้าสินค้า ส่งผลต่อจำนวนการเข้านำสินค้าที่ลดลงในส่วนของลูกค้ารายใหญ่ ในขณะที่ลูกค้ารายเล็กบางราย ก็ไม่ไดรับการอนุมัติวงเงินตามที่ขอจึงไม่สามารถทำการซื้อขายได้
สำหรับแนวโน้มของธุรกิจส่งออกไก่และกุ้งของ CPF ในปีนี้ ในส่วนของตลาดกุ้งจะมีการปรับตัวลงเล็กน้อย แต่ยังสามารถโตแบบก้าวกระโดดได้ จากการแปรรูปสินค้าเพื่อเพิ่มมูลค่า ขณะที่การส่งออกไก่ที่มีลูกค้าหลักในแถบยุโรป ภายหลังเกิดวิกฤตจนส่งผลให้ยอดขายปรับตัวลดลงตามยอดการบริโภคที่ลดลง แต่บริษัทจะได้รับผลประโยชน์ จากการที่จีน ซึ่งเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่มีปัญหาสารเมลามีนปนเปื้อนในอาหาร จนประเทศคู่ค้าเดิมอย่างเช่นญี่ปุ่นไม่มั่นใจและหันมาซื้อสินค้าจากบริษัทมากขึ้น
“ยอดขายปีปีนี้คงจะไม่เพิ่มขึ้นมากนัก แม้ต้นทุนจะถูกลง เพราะบริษัทไม่เน้นปริมาณสินค้า แต่จะเน้นการผลิตสินค้าที่สร้างมูลค่าและกำไรสูงเป็นหลัก”
นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยยูเนียน โฟรเซ่น โปรดักส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TUF กล่าวว่า แนวโน้มอุตสาหกรรมอาหารของไทยยังน่าจะขยายตัวได้ต่อเนื่อง จากความต้องการที่มีอยู่ เพราะเป็นสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ รวมทั้งคาดการณ์ว่าประเทศต่างๆ จะปรับกลยุทธ์ให้ค่าเงินอ่อนค่าเพื่อเพิ่มศักยภาพการส่งออกให้แข่งขันกับต่างประเทศได้
“จากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว จะส่งผลให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไป เป็นต้นว่า จากเดิมที่นิยมบริโภคกุ้งตัวใหญ่ ก็จะหันไปบริโภคตัวเล็กแทน ซึ่งถือว่าความต้องการนั้นยังไม่ได้หายไปเพียงแต่มาร์จิ้นที่ได้จะน้อยลง แต่ถ้าสามารถขายได้ในปริมาณมากๆ มาร์จิ้นที่ได้ไม่ต่างกันนัก ส่วนการที่จะขายได้มากขึ้นนั้นคงต้องขึ้นอยู่การบริหารงานธุรกิจแต่ละแห่ง” นายธีรพงศ์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น