xs
xsm
sm
md
lg

นักธุรกิจชี้ทางรอดวิกฤตชูเกษตรแปรรูป-ท่องเที่ยว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - นักธุรกิจเสนอรัฐบาลปรับโครงสร้างการผลิตใหม่ "พรศิลป์" เชื่อมั่นภาคเกษตร สินค้าเกษตรแปรรูป-อาหาร และธุรกิจท่องเที่ยว พาชาติรอดพ้นวิกฤต ด้าน "ณรงค์" ชูทฤษฎี 3 สูง ราคาสินค้าสูง ค่าแรงสูงและประสิทธิภาพแรงงานสูง เพิ่มกำลังซื้อกระตุ้นตลาดภายในประเทศ ไม่ใช่หวังพึ่งส่งออกมากถึง 70% ของจีดีพีจนเจ็บหนักเมื่อเศรษฐกิจโลกดำดิ่ง นักวิชาการด้านแรงงานย้ำวิกฤตชาติคือวิกฤตชีวิตแรงงานที่ค้ำจุนการพัฒนาเศรษฐกิจชาติ รัฐต้องดูแลอย่าปล่อยให้ผันผวนเหมือนราคาหุ้น

วานนี้ (30 เม.ย.) คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนา เรื่อง "วาระแห่งชาติว่าด้วยการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจการเมืองไทย" โดยมีคณาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ เป็นผู้นำเสนอ ประกอบด้วย นายแล ดิลกวิทยรัตน์, นายสมภพ มานะรังสรรค์, นายณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ และนายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล กรรมการรองเลขาธิการหอการค้าไทย ตัวแทนชมรมศิษย์เศรษฐศาสตร์การเมือง

นายพรศิลป์ กล่าวว่า ภาครัฐต้องจัดลำดับความสำคัญในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ และถึงเวลาปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตของประเทศใหม่โดยหันกลับมาดูว่าไทยมีพื้นฐานความเข้มแข็งในภาคการผลิตใด ซึ่งตนเองมองว่าในปัจจุบันและต่อเนื่องไปอีก 10 -20 ปีข้างหน้า ภาคการผลิตจริงที่ไทยมีศักยภาพสูงสุดและมีพื้นฐานดี คือ ภาคการเกษตร และภาคสินค้าเกษตรแปรรูปและอาหาร เพราะหลายประเทศทั่วโลกต่างนำเข้าสินค้าอาหารและกำลังวิ่งหาพื้นที่เพาะปลูกเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารให้แก่ประชาชนของตนเอง

"โจทย์สำคัญเวลานี้ก็คือรัฐบาลและประชาชนจะร่วมกันกำหนดให้การผลิตอาหารเป็นวาระแห่งชาติอันดับแรกสุดของชาติอย่างเป็นรูปธรรมได้อย่างไร" นายพรศิลป์ กล่าว

นอกจากนั้น ยังมีภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งปีหนึ่งๆ มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามายังประเทศไทยประมาณ 14 ล้านคน สร้างรายได้ประมาณ 6 แสนล้านบาท บวกรายได้จากนักท่องเที่ยวในประเทศอีก 2-3 แสนล้านบาท ต้องมาคิดกันว่าจะรักษารายได้จากอุตสาหกรรมนี้ได้อย่างไร การพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ยังจะส่งผลดีต่อการพัฒนาสังคมและวัฒนธรรมซึ่งเป็นต้นทุนของการท่องเที่ยว ส่วนภาคการเงิน ไอที เทเลคอม นั้น เชื่อว่าไม่มีทางต่อสู้คู่แข่งขันในตลาดโลกได้

นายพรศิลป์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลทักษิณ มีการจัดคัสเตอร์ภาคธุรกิจ อุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อพัฒนาไปด้วยกันหลายตัว แต่จริงๆ แล้วต้องมองว่ามีภาคการผลิตไหนที่มีอนาคตจริงๆ อย่างไรก็ตาม ยังมีเงื่อนไขที่เป็นองค์ประกอบเกื้อหนุนการพัฒนาภาคการผลิตและบริการข้างต้น คือ แรงงานและผู้บริโภคต้องเข้มแข็งขึ้นด้วย

ด้านนายณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ กล่าวเสริมในประเด็นข้างต้นว่า หลายประเทศกำลังกว้านซื้อที่ดินในต่างประเทศเพื่อปลูกพืชอาหาร และคาดว่าอีก 15 ปีข้างหน้าจะเกิดวิกฤตความมั่นคงทางอาหารขึ้นจากปัญหาภาวะโลกร้อน

นายณรงค์ มองว่า เวลานี้แรงงานในภาคเกษตร ตกประมาณ 12 ล้านคน ขณะที่แรงงานซึ่งเป็นลูกจ้างเอกชนและรัฐ เพิ่มสูงถึง 17 ล้านคน อีก 1.3 ล้านคน คือผู้ประกอบการ และอีก 7 ล้านคนเป็นผู้ประกอบการอิสระ เมื่อเทียบจีดีพีจากภาคเกษตร ตกประมาณ 10% ส่วนภาคการค้าอุตสาหกรรม มีสัดส่วนมากถึง 90% นั่นหมายความว่าเมื่อเข้าสู่กระบวนการแปรรูป แรงงานคือปัจจัยการผลิตที่สำคัญ

"สังคมที่มีดุลยภาพต้องไม่พึ่งการส่งออกมากเกินไป ต้องพึ่งส่งออกคู่ตลาดภายใน เงื่อนไขก็อยู่ที่กำลังซื้อ คือรายได้ของลูกจ้าง ถ้าลูกจ้างตกงาน กำลังซื้อก็จะหดหาย โอกาสเติบโตของตลาดภายในก็ไม่เกิดขึ้น ดังนั้นจึงอยากเสนอทฤษฎี 3 สูง คือ ราคาสินค้าสูง ค่าแรงสูง และประสิทธิภาพการผลิตของแรงงานก็ต้องสูงด้วย" นายณรงค์ กล่าว และเชื่อว่า เศรษฐกิจ สังคม การเมือง จะแก้ไขได้หากใช้ทฤษฎี 3 สูงดังกล่าว

นายแล ดิลกวิทยรัตน์ นำเสนอว่า ในแต่ละสถานการณ์มีกลุ่มผู้ที่ได้และเสีย วิกฤตครั้งนี้ก็เช่นกัน ตนมองเห็นว่า ผู้ที่เสียคือผู้ใช้แรงงาน ขณะที่นายจ้างมีช่องของกฎหมายที่หาทางออกให้กับธุรกิจได้ เช่น ยกเลิกการทำโอที ซึ่งเป็นรายได้ที่สำคัญของพนักงานเพราะลำพังเงินเดือนไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพอยู่แล้ว หรือการใช้วิธีปิดงานชั่วคราวตามกฎหมายแรงงาน โดยนายจ้างจ่ายค่าแรงเพียง 75% เท่านั้น

นักวิชาการด้านแรงงาน ชี้ว่า วิกฤตชาติคือวิกฤตชีวิตของผู้ใช้แรงงานซึ่งทำหน้าที่ค้ำจุนการพัฒนาเศรษฐกิจของชาติ รัฐบาลต้องค้ำจุนชีวิตมนุษย์แรงงานเอาไว้เป็นภารกิจหลักไม่ปล่อยให้ผันผวนเหมือนราคาหุ้น เพราะไม่เช่นนั้นการพัฒนาเศรษฐกิจก็ไม่มีความหมายเพราะคนทั้งชาติส่วนใหญ่ไม่ได้ประโยชน์

ส่วนนายสมภพ มานะรังสรรค์ ได้สะท้อนสภาพวิฤตเศรษฐกิจการเมืองที่ไทยกำลังประสบปัญหาอยู่ในขณะนี้ว่า เป็นเพราะความอ่อนแอ 4 และ 5 ขาด คือ 1) สถาบันการเมือง นักการเมืองอ่อนแอ นโยบายต่างๆ ที่ออกมาเน้นย้ำอยู่ที่การสร้างผลตอบแทนทางการเมืองสูงสุด สะท้อนความไม่คงเส้นคงวา ขัดแย้งกันเอง เช่น การเน้นให้รัฐบาลเป็นหลักกอบกู้เศรษฐกิจเพราะเอกชนอ่อนแอ แต่รัฐบาลก็มีปัญหาจัดเก็บภาษีไม่เข้าเป้า ต้องปรับลดงบประมาณลง ทั้งที่มีทางอื่นที่จะแสวงหาเม็ดเงินมาใช้จ่าย 2) สถาบันข้าราชการ ข้าราชการอ่อนแอ มีปัญหาเกียร์ว่าง เกิดสูญญากาศ ไม่เป็นเอกภาพ เพราะความไม่ชัดทางนโยบาย

3) สถาบันธุรกิจและนักธุรกิจอ่อนแอ เผชิญปัญหาเฉพาะหน้า เช่น ส่งออกลดลง 20-30% แก้ปัญหาด้วยการปรับลดขนาดกิจการ แรงงานถูกปลด เมื่อเอกชนไม่สามารถเป็นทัพหลวง ต้องใช้รัฐฯเข้ามาช่วยแต่รัฐฯกลับตัดงบลงเพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมาย แทนที่จะแก้ไขกฎหมายแม่บทโดยจัดลำดับความสำคัญเร่งด่วนก่อน เพื่อการบริหารแผ่นดิน หรือกรณีสภาพคล่องล้นแบงก์เพราะไม่กล้าปล่อยกู้ให้เอสเอ็มอี รัฐควรเป็นตัวกลางผ่องถ่ายเงินออกจากระบบธนาคาร ไม่ใช่ปล่อยให้แบงก์ชาติกดดอกเบี้ยอาร์พีลงต่ำติดดิน หากผู้ฝากแบงก์เจอดอกเบี้ย 0% เหมือนญี่ปุ่นก็เท่ากับเป็นการทำลายกระบวนการออมเงินชาติ และ 4) สถาบันสังคมอ่อนแอทุกภาคส่วน

ส่วน 5 ขาด คือ การขาดประสิทธิภาพในการจัดลำดับความสำคัญก่อน-หลังในนโยบายเศรษฐกิจ ขาดความต่อเนื่องทางนโยบาย ขาดวิสัยทัศน์ระยะไกล ปรับแนวทางพัฒนาเศรษฐกิจจากภาคการผลิตสู่บริการเพื่อหลีกหนีการแข่งขันกับจีนที่จะกลายเป็นยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตสินค้าอุตสาหกรรม รวมไปถึงการขาดกลไกการบริหารจัดการ บลูปริ้นซ์ที่เคยมีขาดวิ่นไม่เหลือ และขาดเครื่องมือบริหารจัดการความขัดแย้งในเรื่องเศรษฐกิจการเมือง

นายณรงค์ ได้ขมวดปมวิกฤตแห่งชาติที่ถักทอด้วยปมวิกฤตเศรษฐกิจ การเมือง สังคม โดยกลุ่มทุนที่มีความโลภเกินขอบเขต มีพฤติกรรมเป็นทุนสามานย์ โกงภาษี คอร์รัปชั่น ปั่นหุ้น และใช้กำไรที่ได้ไปลงทุนทางการเมือง ซื้อสิทธิขายเสียง ทำลายกลไกการเลือกตั้ง กลไกยุติธรรม และกลไกรัฐสภา จนนำไปสู่วิกฤตการเมือง เกิดการประท้วง แตกแยก จนยากจะประสาน ส่วนด้านสังคมไทยยังเต็มไปด้วยความยากจนและคนจน กลายเป็นปุ๋ยอันอุดมของทุนสามานย์ที่ใช้เงินเข้าไปครอบงำ อุปถัมภ์ ทำให้คนจนจำนวนมากกลายเป็นผู้สนับสนุนทุนสามานย์ สร้างวิกฤตการณ์แปลกแยกทางสังคม

ปมวิกฤตข้างต้นไม่อาจพิจารณาแบบแยกส่วน การแก้ปมจึงต้องพิจารณาจากองค์รวม บูรณาการ วางมาตรการด้วยมิติและนโยบายเชิงซ้อน หรือนโยบายเชิงเศรษฐศาสตร์การเมือง ซึ่งวาระแห่งชาติในการแก้ไขปัญหาปมวิฤตนี้เป็นที่มาของการสัมมนาเศรษฐศาสตร์การเมืองครั้งที่ 1 หัวข้อ "ทิศทางประเทศไทยในพัฒนาการเศรษฐกิจสังคมโลก" ในวันที่ 14 พ.ค.นี้ ที่ ร.ร.ตะวันนา กรุงเทพฯ
กำลังโหลดความคิดเห็น