ASTVผู้จัดการรายวัน - นักวิชาการเศรษฐศาสตร์การเมืองฟันธงวิกฤตการเมือง-เศรษฐกิจยังมืดมิดไปอีกนาน ชี้ปัญหาเชิงโครงสร้างการแบ่งแยกทางชนชั้น เหลื่อมล้ำทางรายได้ ก่อเกิดวงจรอุบาทว์ทางการเมือง ทุนนิยมสามานย์ เสนอทางออกปฏิรูปการเมือง ปฏิเสธการซื้อเสียงต้นตอวิบัติ ประณามความร่ำรวยจากคอร์รัปชั่น ปลุกพลังสังคมขับเคลื่อนแสวงหาหนทางรอดร่วมกัน ชูธง “ปิดล้อม ปตท.” ขับไล่คณะผู้บริหาร ปรับโครงสร้าง “ปตท.เพื่อสังคมไทย” เป็นเป้าหมายหลักที่ควรปฏิบัติการอันดับแรก
เมื่อวันที่ 14 ก.ค.ที่ผ่านมา ชมรมศิษย์เศรษฐศาสตร์การเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดสัมมนาเศรษฐศาสตร์การเมืองครั้งที่ 1 เรื่อง “ทิศทางประเทศไทยในพัฒนาการเศรษฐกิจสังคมโลก” ที่ร.ร.ตะวันนา กรุงเทพฯ
ศ.ดร.สมบัติ จันทรวงศ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวในการเสวนาหัวข้อย่อย “ทิศทางประเทศไทยในมุมมองของภาคการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม” ว่า วิกฤตการเมืองของไทยในเวลานี้เกิดจากความสับสน มืดบอดในอุดมการณ์ที่ถกเถียงกัน ประชาธิปไตยของแต่ละสีเสื้อไม่เหมือนกัน ตัวการเมืองเองจะไปทางไหน อะไรคือเป้าหมายยังมองไม่เห็น ขณะเดียวกันด้านศีลธรรมก็มีคำถามว่ามีจริงหรือไม่
วิกฤตทางการเมืองเป็นวิกฤตทางฉันทนุมัติที่มีเหตุมาจากความคิดและแนวปฏิบัติที่ขัดแย้งกัน ฝ่ายหนึ่งมองว่าเมื่อตนเองมาจากการเลือกตั้งต้องมีสิทธิปกครอง เพราะเชื่อในมายาคติการเลือกตั้งที่คิดว่าคนเสมอภาคกัน ซึ่งความจริงแล้วไม่ใช่ สังคมไทยมีคนต่างชนชั้นกัน ระหว่างมวลชนรากหญ้าซึ่งชื่นชอบสินค้าประชานิยม มองการอยู่รอดเฉพาะหน้าหาเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง และชนชั้นกลางที่นิยมสินค้าความโปร่งใสไม่โกงกิน มีความคาดหวังในสังคมอุดมคติ ดังนั้นฝ่ายหลังจึงไม่ยอมรับการเลือกตั้งที่นักการเมืองเข้ามามีอำนาจเพราะการซื้อเสียง
ศ.ดร.สมบัติ กล่าวว่า ประชาธิปไตยไม่ได้มาจากการเลือกตั้งอย่างเดียว แต่ต้องมีฝ่ายค้านที่เข้มแข็ง มีระบบควบคุมตรวจสอบ มีความโปร่งใส มีสื่อที่เสรี ภาคประชาชนเข้มแข็งด้วย ประชาธิปไตยไม่อาจเติบโตบนเงื่อนไขที่สังคมแบ่งขั้วกันสุดๆ รัฐบาลมีอำนาจมากไปหรือน้อยไป ตอนนี้หลายคนถามว่าวิกฤตการเมืองที่เกิดขึ้นจะจบลงเมื่อใด ไม่มีใครตอบได้ ความจริงแล้วนี่เพิ่งจะเริ่มต้น ยังมองเห็นแต่ความมืดมิด รัฐบาลไม่มีอำนาจ พรรคการเมืองมีปัญหาไม่ทำงาน การเมืองเป็นเรื่องระบบอุปถัมภ์ คอร์รัปชั่น เศรษฐกิจจะยังมีปัญหาต่อเนื่อง
อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มธ. เสนอทางออกการปฏิรูปการเมืองว่า 1) วัฒนธรรมการเมืองต้องสร้างสำนึกร่วมกันคิดถึงผลประโยชน์ของชาติ 2) สถาบันพรรคการเมืองมีประสิทธิภาพ 3) สื่อซึ่งเป็นตัวเชื่อมรัฐฯ-ประชาชนต้องทำหน้าที่ดีกว่านี้ 4) การผลิตนโยบายทางการเมืองที่ถูกต้องเหมาะสม
5) ผู้นำต้องมีเจตนารมย์ทางการเมือง พร้อมทำในสิ่งที่ต้องทำเพื่อประโยชน์ประเทศชาติ 6) นักการเมืองมองเห็นผลประโยชน์ของชาติเป็นอันดับแรกแทนที่การเห็นแก่ตนเองและพวกพ้อง 7) มีองค์กรธุรกิจที่ดี และ 8) เสริมสร้างคุณธรรมและจริยธรรมของสังคม อย่างไรก็ตาม หากสังคมยอมรับกับการคอร์รัปชั่น ยอมรับการซื้อเสียงซึ่งหมายถึงความวิบัติตั้งแต่ต้น สิ่งที่เสนอมาก็ไม่สามารถแก้ไขได้ไม่ว่าชาตินี้หรือชาติหน้า
รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวถึงวิกฤตที่เกิดขึ้นครั้งนี้ว่ามีพื้นฐานมาจาก 4 เรื่องใหญ่ คือ 1) วิกฤตทางชนชั้น ทั้งที่ไทยเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ระดับกลาง แต่กลับมีสัดส่วนคนรวยสุดกับจนสุดถึง 15 เท่า คนไม่มีการศึกษา 12 ล้านคน มีการศึกษาแค่ระดับประถมฯ 7 ล้านคน ซึ่งจำนวนนี้กว่า 20 ล้านคนเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ไม่เข้าใจความซับซ้อนของการเมือง โลกาภิวัตน์ ทุนนิยม สนใจแต่ว่าจะอยู่รอดอย่างไร วิกฤตชนชั้นเป็นโอกาสของนักการเมืองเข้ามาเสนอผลประโยชน์ให้แก่คนรากหญ้า ซื้อใจใส่ปุ๋ยที่มีพิษลงไป ทำให้เกิดปัญหา และช่องว่างนี้มีแนวโน้มห่างกันมากขึ้น
2) วิกฤตทางโครงสร้างการผลิตและประชากร ที่เคลื่อนตัวจากภาคเกษตรไปสู่อุตสาหกรรมอย่างรุนแรง รวดเร็ว วิถีเกษตรแบบพอมีพอกินถูกละทิ้ง ชุมชนชาวนา 90%ไม่ได้ทำนาเองแต่มีการว่าจ้าง ไม่มียุ้งฉาง ลานตาก ขายข้าวเปลือกซื้อข้าวสารกิน กำลังแรงงานรุ่นใหม่หนีจากภาคเกษตร เหลือแต่คนอายุ 50 ปีขึ้นไป ที่ดินรายเล็กรายย่อยถูกขายออกไป ขณะที่ประเทศอื่นๆ ทั่วโลกกำลังแสวงหาที่ดินเพื่อปลูกพืชส่งกลับประเทศสร้างความมั่นคงทางอาหารให้ประชากรของเขา ในอนาคตคนจนในประเทศไทยจะมีข้าวกินหรือไม่ คำถามนี้ไม่เคยมีอยู่ในหัวของนักวางนโยบาย
3) การเปลี่ยนผ่านจากชุมชนชาวนาสู่ชุมชนโรงงาน ซึ่งชุมชนโรงงานนี้ไม่มีอยู่ในแนวความคิดและแผนการสร้างชุมชนเข้มแข็ง และ 4) ทุนนิยมแข่งขัน หล่อหลอมให้สังคมมุ่งแข่งขัน กระตุ้นการใช้จ่าย เกิดลัทธิปัจเจกบุคคลรุนแรง ทุกคนหากินเอาตัวรอด ใครรวยคือคนดี ซึ่งเมล็ดพันธุ์ทั้งสี่คือตัวก่อให้เกิดวิกฤตทางสังคม
ส่วนวิกฤตเศรษฐกิจ เกิดจากแนวทางการพัฒนาที่ไม่สมดุลระหว่างภาคเกษตรและอุตสาหกรรม การคลั่งทุนนิยมเสรีจนเจ๊งทั้งระบบ และวิกฤตโครงสร้างทุนนิยมโลก ขณะที่วิกฤตการเมืองเป็นส่วนผสมของวิกฤตเศรษฐกิจและวิกฤตสังคม เวลานี้การเมืองไทยอยู่ในระบบซึ่งเป็นส่วนผสมของเงินกับปืนหากลงตัวก็อยู่ได้ยาว เงินเป็นศูนย์กลางของอำนาจ เมื่อเอาเงินลงไปในกลุ่ม 20 ล้านคน เกิดทุนนิยมผสมวัฒนธรรมศักดินาขึ้นมาเป็นทุนนิยมสามานย์
ด้าน ศ.ผาสุก พงษ์ไพจิตร อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬา กล่าวในหัวข้อ “ทางออกเศรษฐกิจการเมืองไทยภายใต้การแบ่งขั้ว” ว่า วิกฤตเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มจะใช้เวลายาวนานในการฟื้นตัว ซึ่งจะส่งผลกระทบถึงไทยที่พึ่งตลาดส่งออกโดยเฉพาะสหรัฐฯ มากถึง 20% ดังนั้นจำเป็นต้องปรับยุทธศาสตร์หันมาพึ่งตลาดภายใน เพื่อส่งผลไปยังการกระจายรายได้และเกิดเสถียรภาพทางการเมือง
ศ.ผาสุก กล่าวต่อว่า เวลานี้แทบทุกภาคส่วนของสังคมไทยกำลังตื่นตระหนกกับความขัดแย้งและความรุนแรงอย่างที่ไม่เคยมีมากว่า 30 ปี เบื้องหลังความขัดแย้งนี้อาจจะมีเรื่องการแสวงหาอำนาจของคนไม่กี่คนหรือความต่างด้านอุดมการณ์ทางการเมืองอยู่บ้าง แต่เรื่องที่ร้าวลึกและใหญ่กว่าคือ ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้และศักดิ์ศรี มีตัวเลขชี้ให้เห็นว่า สัดส่วนในจีดีพีของคนไทยรายได้สูงสุด 20% (เฉลี่ยรายได้ต่อคนต่อเดือน 31,434 บาท) มีมากถึงครึ่งหนึ่งของจีดีพี ขณะที่กลุ่มรายได้ต่ำสุด 20% (เฉลี่ยรายได้ต่อคนต่อเดือน 2,253 บาท) มีสัดส่วนเพียง 4% กว่าเท่านั้น
มีข้อสังเกตว่า ช่องว่างของรายได้ทั้ง 2 กลุ่มนี้เท่ากับประมาณ 13 เท่า สูงกว่าประเทศที่พัฒนาแล้วที่ยุโรปและสหรัฐฯ จะต่ำกว่าก็แต่เพียงในกลุ่มประเทศละตินอเมริกา ซึ่งมีชื่อเสียงเรื่องความเหลื่อมล้ำและเผชิญหน้ากับความขัดแย้งที่แก้ไม่ตกมาตลอด
ส่วนประเด็นความเหลื่อมล้ำด้านศักดิ์ศรี มีคนไทยจำนวนมากที่รู้สึกว่าถูกเลือกปฏิบัติ ไม่ได้รับความเป็นธรรมหรือถูกกดเอาไว้ด้วยกลไกต่างๆ ถูกปิดกั้นไม่ให้พัฒนาศักยภาพของตนเองได้เต็มที่ เหตุผลที่สังคมไทยมีความเหลื่อมล้ำสูง อาจมาจากหลายสาเหตุ เช่น การผูกขาด คอร์รัปชั่น ระบบการศึกษา ระบบจัดสรรงบประมาณ การขาดเสียงหรือพื้นที่ทางการเมือง และอาจรวมไปถึงการเอาอย่างสังคมอเมริกันที่มองเห็นความเหลื่อมล้ำเป็นเรื่องปกติ
อย่างไรก็ตาม หากไม่ทำอะไรเลยสังคมไทยจะยิ่งเคลื่อนไปสู่ความขัดแย้งมากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อาจต้องมีกระบวนการขับเคลื่อนสังคมเพื่อแสวงหาทางออกร่วมกัน เป็นวาระสังคมคล้ายกับกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ 2540 ที่หลายภาคส่วนของสังคมมีส่วนร่วมคิดและเสนอแนะ
ศ.ปรีชา เปี่ยมพงศ์สานต์ นักวิชาการอิสระ ได้นำเสนอบทวิพากษ์เพื่อการปลดปล่อยประเทศไทย ตอนหนึ่งว่า ประเทศไทยในปี 2551-52 เป็นปีแห่งการเคลื่อนไหวทางสังคมจะเพื่อการเปลี่ยนแปลง เพื่อรักษาสภาพเดิม หรือถอยหลังเข้าคลองแห่งความล้าหลัง
แต่ประเด็นที่เสื้อเหลืองหรือเสื้อแดงอย่าลืมถามและอย่าลืมตอบก็คือ เป้าหมายหลักของการเคลื่อนไหวสังคมอยู่ที่ไหน ซึ่งเป้าหมายหลักที่ควรปฏิบัติการที่อยากเสนอ คือ ปิดล้อม ปตท. เรียกร้องซีอีโอและคณะลาออก คืนหุ้นให้แก่ประชาชน และปรับโครงสร้างไปสู่ “ปตท.เพื่อสังคมไทย”.