xs
xsm
sm
md
lg

จุดอ่อนของอภิสิทธิ์

เผยแพร่:   โดย: วริษฐ์ ลิ้มทองกุล

เมื่อคืนวันอังคารที่ 16 ธันวาคมที่ผ่านมา ผมนั่งฟังรายการพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่ออกอากาศทาง “เอเอสทีวี” เหมือนเช่นทุกคืน

แม้พันธมิตรฯ ผู้ชมเอเอสทีวีหลายคนจะบอกว่าตั้งแต่การชุมนุมมาราธอนของพันธมิตรฯ สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม หน้าจอเอเอสทีวีจะดูเหงาๆ หงอยๆ อย่างไรไม่รู้ เพราะเนื้อหาไม่ดุเดือดเลือดพล่าน ไม่ตื่นเต้นเร้าใจเหมือนในช่วงระหว่างการชุมนุมเลย

กระนั้น ทุกงานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา ทุกการต่อสู้ย่อมมีจุดจบ ...

การชุมนุมรอบนี้ก็เช่นกันจบลงไปแล้วด้วยชัยชนะของภาคประชาชน เมื่อมวลชนพันธมิตรฯ แยกย้ายกันกลับบ้านไปทำมาหากิน เลี้ยงชีพ ดูแลครอบครัว เอเอสทีวีก็เช่นกัน เมื่อจบภารกิจการถ่ายทอดสดการชุมนุมก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องย้ายสถานที่การถ่ายทอดกลับมาบ้านเดิมของเรา กลับมายังสถานี กลับมายังสตูดิโอ ซึ่งแน่นอนว่าบรรยากาศย่อมไม่ “อบอุ่น” เฉกเช่นการได้อยู่ท่ามกลางมวลหมู่พันธมิตรฯ

อย่างไรก็ตาม ผมกลับไม่มองว่า การที่เอเอสทีวีกลับบ้านมาคราวนี้ (หลังจากไปผจญภัย-เสี่ยงชีวิตท่ามกลางห่ากระสุนและควันระเบิดมา 190 กว่าวัน) จะเป็นความเหงาหงอย หรือน่าเบื่ออะไร เพราะผมคิดว่านั่นคงจะเป็นอารมณ์ตกค้างที่กำลังอยู่ในระยะเปลี่ยนผ่านและปรับตัวมากกว่า

ในความรู้สึกของผม การได้กลับบ้านรอบนี้ของมวลชนและของเอเอสทีวี น่าจะเป็นการได้มานั่งใช้เวลารักษาบาดแผลทั้งกายภาพและจินตภาพ ทบทวนบทเรียนจากการต่อสู้ ตอกเสาเข็มเพิ่มเติมในจุดยืน เพื่อจะเดินหน้าไปสู่เป้าหมาย “การเมืองใหม่” ที่มุ่งหวัง

ในรายการพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ทางเอเอสทีวี ทีมงานได้เชิญ พี่สุนันท์ ศรีจันทรา ผู้สื่อข่าว-คอลัมนิสต์อาวุโสด้านเศรษฐกิจของแวดวงสื่อสารมวลชนเมืองไทย และ รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ อาจารย์จากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ มาสนทนาในประเด็นเรื่อง ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลอภิสิทธิ์ ปัญหาเศรษฐกิจไทยที่ติดเชื้อมาจากปัญหาเศรษฐกิจระดับโลก รวมไปถึงความสัมพันธ์ของการแก้ปัญหาการเมืองและเศรษฐกิจ

สำหรับ พี่สุนันท์ เป็นสื่อมวลชนอาวุโสที่ผมไม่รู้จักเป็นการส่วนตัวแต่ติดตามผลงานของท่านมาตลอดทั้งทางวิทยุ โทรทัศน์ และคอลัมน์ในหนังสือพิมพ์ ส่วน อ.ณรงค์ นั้นเป็นครูของผมที่คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ โดยท่านถือเป็นนักเศรษฐศาสตร์การเมืองคนหนึ่งที่มีความลึกซึ้งและความรู้รอบด้าน

... ที่สำคัญทั้งสองคนต่างเคยพิสูจน์ตัวเองแล้วว่า ไม่เกรงกลัวต่ออิทธิพลของรัฐ ด้วยการขึ้น “เวทีพันธมิตรฯ 2551” มาแล้ว

วันจันทร์ที่ 15 ธ.ค. หลังจากคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 27 และมีการโปรดเกล้าฯ ไปแล้วเมื่อเย็นวานนี้ สื่อมวลชน นักวิชาการ นักวิเคราะห์ นักการเมืองฝ่ายระบอบทักษิณ หลายคนออกมาสบประมาทว่า “รัฐบาลอภิสิทธิ์” คงจะอายุสั้น บางคนบอกว่าน่าจะมีอายุไม่ถึง 3 เดือน โดยให้เหตุผลว่า “มาร์ค 1” นั้นมีจุดอ่อนรอบด้าน

ไม่ว่าจะเป็น การที่พรรคประชาธิปัตย์ดูดเอา ส.ส. กลุ่มเพื่อนเนวิน ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลเดิมเข้ามาเป็นเสียงสนับสนุนคุณอภิสิทธิ์เป็นนายกฯ ซึ่งแน่นอนว่า การต่อรองผลประโยชน์ย่อมจะส่งผลต่อเสถียรภาพของรัฐบาลในอนาคต, แนวโน้มที่หลังการเลือกตั้งซ่อมพรรคเพื่อไทยจะได้รับเสียง ส.ส. เพิ่มขึ้น, การที่คุณอภิสิทธิ์จะต้องเผชิญกับการป่วนของกลุ่มคนเสื้อแดงที่ชักใยโดย “นายใหญ่”, การที่รัฐนาวาของคุณอภิสิทธิ์จะต้องนำพาประเทศไทยฝ่าพายุเศรษฐกิจโลกกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอยครั้งใหญ่ในรอบเกือบ 80 ปี ฯลฯ

จุดอ่อนและปัญหาเหล่านี้ ล้วนแล้วแต่เป็นงานระดับมหาหิน ซึ่งถือว่าไม่ได้ผิดไปจากที่คนเสื้อแดงขู่ไว้ล่วงหน้าว่า การดัน “อภิสิทธิ์” เป็นนายกฯ นั้นถือเป็นงานง่ายที่สุดแล้วสำหรับพรรคประชาธิปัตย์

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ผมกลับเห็นด้วยกับคำพูดของพี่สุนันท์ที่กล่าวในรายการพันธมิตรฯ ทางเอเอสทีวี เมื่อคืนวันอังคารว่า จุดอ่อนที่สำคัญที่สุดสำหรับหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และผู้นำคนใหม่ของประเทศไทย ไม่ใช่ปัจจัยทั้งหลายทั้งแหล่ข้างต้น แต่เป็นปัจจัยภายในของคุณอภิสิทธิ์เองมากกว่า

ปัจจัยนั้นเรียกว่า “ความกล้าหาญ”

โดยคุณสมบัติส่วนตัว คุณอภิสิทธิ์เป็นบุคลากรที่เพียบพร้อมในทุกๆ ด้านดังเช่นที่หลายๆ คนทราบ ทว่า ตลอดระยะเวลาสิบกว่าปีที่ผ่านมาบนเส้นทางการเมือง ในทัศนะของพี่สุนันท์ ผม และคนอีกจำนวนมาก คุณอภิสิทธิ์ยังไม่ได้พิสูจน์ “ความกล้าหาญ” อันเป็นคุณสมบัติสำคัญของ “ผู้นำ” โดยเฉพาะ “ผู้นำในภาวะวิกฤต” เลย

ในฐานะที่คุณอภิสิทธิ์เป็นทายาททางการเมืองของคุณชวน หลีกภัย แต่คุณอภิสิทธิ์ต้องพึงสังวรไว้ว่า ตนเองมิอาจเจริญรอยตามคุณชวนได้ เพราะภาพลักษณ์ของคุณชวนในสายตาคนกลุ่มใหญ่ในประเทศ นอกจากคำว่า “ซื่อสัตย์” แล้ว ก็ยังมีคำว่า “เชื่องช้า” และ คำว่า “ผมยังไม่ได้รับรายงาน” ติดมาอีกด้วย

ที่สำคัญที่สุด ความแตกต่างระหว่างการขึ้นเป็นนายกฯ ของคุณอภิสิทธิ์และคุณชวนก็คือ สถานการณ์บ้านเมืองที่คุณอภิสิทธิ์กำลังเผชิญอยู่ ณ วันนี้และในอนาคตข้างหน้านั้น มีความหนักหนาสาหัสกว่าสถานการณ์ที่คุณชวนเคยผ่านมาไม่รู้กี่เท่า

ถ้าหากคุณอภิสิทธิ์สามารถพิสูจน์ตัวเองในเรื่องความกล้าหาญได้ นั่นแหละจะทำให้คุณอภิสิทธิ์กลายเป็นผู้นำที่สมบูรณ์แบบ และ “ความกล้าหาญในการทำสิ่งที่ถูกต้อง” นั่นเอง ย่อมจะเป็นผนังทองแดงกำแพงเหล็กที่จะป้องกันปัญหาในจุดอ่อนอื่นๆ ที่หลายๆ คนสบประมาทรัฐบาลคุณอภิสิทธิ์เอาไว้ได้

ขณะที่คำแนะนำของ อ.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ ต่อคุณอภิสิทธิ์ อาจารย์กล่าวว่า คุณอภิสิทธิ์ต้องพิสูจน์ตัวเองให้ได้ว่าเป็นผู้นำของคนทุกภาค ทุกชนชั้นจริงๆ มิใช่เป็นเพียงนายกฯ คนใต้ หรือนายกฯ ของคนชั้นกลาง เพราะจุดอ่อนของพรรคประชาธิปัตย์ก็คือ ไม่สามารถเจาะฐานประชาชนในระดับรากหญ้า หรือกลุ่มคนใช้แรงงานได้ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา

คุณอภิสิทธิ์ ไม่จำเป็นต้องสร้างความโดดเด่นด้วยการเป็น “ผู้นำแห่งระบอบประชาธิปไตย” อย่างที่คนเสื้อแดงพยายามจะเยินยอ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แต่คุณอภิสิทธิ์สามารถเป็น “ผู้นำแห่งสังคมของความหลากหลาย ที่ยึดมั่นในหลักคุณธรรมและจริยธรรม” ซึ่งถือว่าก้าวหน้ากว่า “ระบอบประชาธิปไตยจอมปลอม” ที่คนไทยทั้งสังคมตกหลุม และตกหล่มมาตลอด 7-8 ปีที่ผ่านมา
กำลังโหลดความคิดเห็น