xs
xsm
sm
md
lg

นิด้าชูรบ.แห่งชาติแก้วิกฤตปณิธานชี้ “รบ.-กองทัพ”ร้าว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศ.ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) กล่าวถึงแนวทางเสนอทางออกสถานการณ์การเมืองของ นพ.ประเวศ วะสี ที่เสนอว่า ถ้าหากสันติวิธีไม่มีใครปฏิบัติหรือปฏิบัติไม่ได้ผล กองทัพจะต้องเข้ามายับยั้งยึดอำนาจรัฐแบบสั้นที่สุดเพื่อสลายขั้ว หลังจากนั้นกราบบังคมทูลเพื่อขอพระราชทานนายกรัฐมนตรีที่เป็นคนกลางเข้ามาแก้ปัญหาว่า การยึดอำนาจนั้นเราเคยมีประสบการณ์มาแล้วมากมายไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ อีกทั้งมีหลายฝ่ายต่อต้าน ไม่มีวันจบแน่นอน เป็นหนทางที่ไม่เหมาะสมในขณะนี้ ทั้งนี้ รัฐบาลพระราชทานในอดีตในรัฐบาลนายสัญญา ธรรมศักดิ์ ก็เคยปรากฏมีจุดอ่อน ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นรัฐบาลมะเขือเผา ไม่มีความแข็งแกร่ง อีกทั้งผลเสียอาจจะกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อีกด้วย
ภายใต้การเมืองเวลานี้ถึงจุดวิกฤติเต็มที่แล้วที่จะต้องมีรัฐบาลแห่งชาติ โดยรัฐบาลชุดนี้ลาออกไป จัดตั้งเป็นรัฐบาลแห่งชาติ โดยให้ทั้ง 7พรรคการเมืองร่วมเป็นรัฐบาล ไม่มีพรรคฝ่ายค้าน คัดเลือกคนในที่มีศักยภาพขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญปี 2550 คัดเลือกคนที่มีความรู้ความสามารถคนในก็ได้ คนนอกก็ได้ ให้มาเป็นรัฐมนตรี ไม่ต้องมาคิดเรื่องแบ่งโควตา โดยให้มีวาระ 1 ปีหลังจากนั้นตั้ง ส.ส.ร.ขึ้นมาเพื่อกำหนดแก้ไขรัฐธรรมนูญ แล้วทำประชามติเห็นชอบ หมดวาระก็เลือกตั้งใหม่
ศ.ดร.สมบัติ กล่าวว่า ภายใน 1ปีนั้นนอกจากจะกำหนดรัฐธรรมนูญแล้ว การดำเนินการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ไม่แบ่งฝักแบ่งฝ่าย ขัดแย้งกันร่วมกันแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาเศรษฐกิจที่กำลังรุมเร้าอยู่ในขณะนี้ ไม่จำเป็นต้องให้ ทหารเข้ามายึดอำนาจ ซึ่งเห็นได้ชัดการรัฐประหาร 19 ก.ย.2549 มีหลายคนต่อต้าน จนไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ แถมยังกดทับสะสมมากขึ้นจนกระทั่งบัดนี้ แต่อย่างไรก็ตาม วิธีการดังกล่าวทุกพรรคการเมืองต้องมีความจริงใจ เสียสละ เพื่อต้องการฟื้นฟูชาติบ้านเมืองอย่างบริสุทธิ์ใจ
ด้านรศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า หากว่าไม่มีวิธีใดอื่นแล้ว การใช้ทหารเข้ามาจัดการโดยไม่เสียเลือดเสียเนื้อก็เห็นด้วย แต่จะรับประกันได้อย่างไรว่า ถ้าเกิดใช้วิธีการ ดังกล่าวปัญหาความขัดแย้งจะสงบลง ไม่ซ้ำรอยเหตุการณ์ 19 กันยา 2549
นี่คือคำถามที่ทุกฝ่ายจะต้องขบคิดกันให้หนัก แต่สำหรับเหตุการณ์วิกฤติขณะนี้ ผมคิดว่ายังพอมีทางออก ก็คือการการยุบกับยึด หมายถึงยุบสภา ปล่อยให้มีการเลือกตั้งใหม่ เชื่อว่าถ้าต่อสู้กันด้วยสงครามข่าวสารพรรคพลังประชาชนจะไม่ชนะการเลือกตั้ง และวิธีการยึดอำนาจ แต่ต้องให้ประชาชนจำนวนส่วนใหญ่ของประเทศเห็นด้วย
รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงบทบาทของกองทัพต่อสถานการณ์การเมืองว่า ขณะนี้กองทัพถูกกดดันจากสังคมอย่างสูงที่ไม่ออกมายับยั้งรัฐบาลไม่ให้ใช้ความรุนแรงกับประชาชน โดยเฉพาะประชาชนที่อ้างว่าดำเนินการเพื่อปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ดังนั้น กองทัพจึงต้องกดดันรัฐบาลต่ออีกชั้นหนึ่ง จึงทำให้เห็นว่าวันนี้กองทัพเริ่มมีจุดยืนคนละฝั่งกับรัฐบาลมากขึ้น หากกองทัพขัดแย้งกับรัฐบาลมากขึ้นถึงขั้นว่าไม่สามารถสั่งการได้ ย่อมเกิดปัญหา จะทำให้รัฐบาลหมดสภาพ จะต้องยุบสภาทันที เพราะอยู่ไม่ได้ โดยเฉพาะหากรัฐบาลสั่งการทหารให้ใช้กำลังกับประชาชน รัฐบาลจะต้องเผชิญหน้ากับกองทัพแทน
รศ.ดร.ปณิธาน กล่าวว่า ก่อนที่จะเกิดภาวะขัดแย้งขั้นรุนแรงระหว่างรัฐบาลกับกองทัพ ก็ต้องจับตาดูว่ารัฐบาลจะจัดการอย่างไร หากตัดสินใจผิดพลาดโดยกำจัดผู้นำเหล่าทัพที่แข็งขืนกับรัฐบาล ก็จะเป็นการเพิ่มแรงกดดันให้ทหารก่อการรัฐประหารล้มรัฐบาลได้เพราะจากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาระบุชัดว่าเหตุผลในการยึดอำนาจนั้นมาจากความต้องการปลดผู้นำเหล่าทัพของรัฐบาล
การปฎิวัติรัฐประหาร ในปัจจุบันทำยากมากขึ้น เพราะเป็นกระบวนการ ที่ไม่ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ นอกจากเกิดวิกฤตขั้นจลาจล หรือมีการแทรกแซงกองทัพอย่างหนักเช่นในยุค พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ขณะที่ พล.อ.อนุพงศ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ.ก็มีจุดยืนว่าจะไม่ทำการรัฐประหาร หากรัฐบาลไม่แทรกแซงกองทัพเชื่อว่ากองทัพก็จะไม่กล้าทำ
กำลังโหลดความคิดเห็น