“ภูวดล” แฉแหลก “นักการเมืองขี้ฉ้อ” ฉวยโอกาสตักตวงผลประโยชน์ขึ้นราคาน้ำตาลช่วงการเมืองวิกฤต ยัน “ชาวไร่อ้อย” จนเหมือนเดิมเพราะขายอ้อยตอนยังไม่ประกาศขึ้นราคา ด้าน “ณรงค์” ปูดซ้ำ ก.พาณิชย์-ก.คลัง ทำลับหลัง “สมาคมชาวไร่อ้อย” ทั้งๆ ที่ต้องมีส่วนร่วมในการกำหนดราคา
รายการ “คนในข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์เอเอสทีวี คืนวันที่ 8 พ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งมีนางจินดารัตน์ เจริญชัยชนะ เป็นผู้ดำเนินรายการ โดยเปิดประเด็นซักถาม ดร.ภูวดล ทรงประเสริฐ อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงกรณีที่รัฐบาลกำลังเดือดร้อนเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ แต่ประชาชนทั้งประเทศกำลังเดือดร้อนเรื่องปัญหาปากท้อง โดยเฉพาะกระแสข่าวการขึ้นราคาน้ำตาลทรายนั้น คนที่ได้ผลประโยชน์นั้นตกอยู่ที่ใคร
ดร.ภูวดล กล่าวว่า กล่าวถึงผลสำรวจความพึงพอใจในตัวรัฐมนตรี โดยนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ ได้คะแนน 4.5 ซึ่งสูงเป็นอันดับหนึ่งว่า คะแนนที่นายมิ่งขวัญ ได้เพียง 4.5 นั้น ถือว่าสอบตก เพราะปกติจะต้องได้ 5 ขึ้นไป ยังได้แค่เกรดดี เท่าที่รู้มาคนที่เป็นคีย์แมน ก็คือเจ้าของตัวจริงของรัฐบาลชุดนี้ และคนที่มีบทบาทในการกำกับทั้งหมด ก็ยังคงเป็นนายพันศักดิ์ วิญญรัตน์ เพราะไปที่ไหนก็เข้าประชุมตลอด หรือแม้กระทั่งกระทรวงอุตสาหกรรม ก็ไม่ได้ทำอะไร ประกอบกับสภาวะเงินเฟ้อกำลังดำดิ่งลงไปเรื่อยๆ โดยที่เราไม่มีทางสะบัดหลุดได้ ปัญหาก็คือ เราจะประคับประคองให้ประชาชนส่วนใหญ่เจ็บปวดน้อยลงได้อย่างไร
“ในยามที่ประเทศชาติกำลังประสบสภาวะวิกฤตทางการเมือง มันก็เป็นของปกติธรรมดาที่จะมีการเปิดโอกาสให้มีการโกงกินกันมากที่สุดทั้งผู้ที่มีอำนาจ นายทุน และพ่อค้าคนกลาง โดยราคาน้ำตาลจะเห็นได้ชัดเจนที่สุด ซึ่งปกติชาวบ้านเขาจะขายอ้อยตั้งแต่เดือน ส.ค.จนถึงเดือน ก.พ. โดยชาวบ้านจะได้ราคาเดิม ดังนั้นจะมาบอกจะว่าราคาน้ำตาลเพิ่มขึ้นนั้นไม่จริง เพราะพอหลังตรุษจีนน้ำตาลไปอยู่ที่โรงงานหมดแล้ว ฉะนั้นคนที่ควบคุมนโยบายก็จะได้ประโยชน์ไม่ทางตรง ก็ทางอ้อม ร่วมกับเจ้าของโรงงานน้ำตาล รวมทั้งผู้ส่งออก ที่สำคัญคือ ธุรกิจอ้อยเป็นธุรกิจการเมือง เพราะไม่ได้ขึ้นอยู่กับกระทรวงพาณิชย์ แต่ขึ้นอยู่กับกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งกระทรวงดังกล่าวหากินกับ กนอ.มาโดยตลอด แต่เที่ยวนี้เล่นน่าเกลียดมากเกินไป เพราะขึ้นราคาครั้งเดียวถึง 5.25 บาท”ดร.ภูวดล กล่าว
ด้าน ดร.ณรงค์ กล่าวว่า ปัญหาขณะนี้คือการเช็คโครงสร้าง การจะแก้ปัญหาเล็กๆ น้อยๆ นั้นทำไม่ได้ เพราะนโยบายหลัก หรือนโยบายย่อย จะต้องประสานกันทั้งหมด แต่รัฐมนตรีตอนนี้นั่งคิดอยู่ว่าจะย้ายใครที่เป็นพวกของตัวเองไปอยู่ตรงไหนดี และคิดแต่จะแก้รัฐธรรมนูญตรงไหน อย่างอื่นไม่ทำเลย ที่สำคัญ คือ การแก้ปัญหาราคาสินค้านั้นมีทางออก แต่กลับไม่ทำอะไรให้เป็นชิ้นเป็นอัน ฉะนั้นการประกาศนโยบายของพรรคพลังประชาชนให้เหมือนพรรคไทยรักไทยนั้น ไม่สามารถที่จะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ เพราะเข้ามาในวิกฤตเศรษฐกิจยังไม่ต่ำสุด ซึ่งใช้มาตรการเดิมตามพรรคไทยรักไทยไม่ได้
“ส่วนการขึ้นราคาน้ำตาลนั้น คนที่ได้ประโยชน์ก็คือโรงงาน ฉะนั้นคนที่ปลูกอ้อยไม่สามารถไปขายโรงงานที่ราคาที่ดีที่สุด มันทำไม่ได้ ทำให้ชาวไร่อ้อยมีอำนาจต่อรองต่ำ เพราะปลูกตรงไหน ก็จะขายตรงนั้น ยกเว้นถ้าการต่อรองมีหัวหน้าโควตาเข้ามาช่วยต่อรองด้วย สรุป คือ โรงงาน และผู้ที่เกี่ยวข้องกับโรงงานซึ่งก็คือนักการเมือง ซึ่งจริงๆ แล้วราคาน้ำตาลเป็นสินค้าราคาควบคุม และคนที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจขึ้นราคาก็คือ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม สมาคมชาวไร่อ้อย และสมาคมโรงงานน้ำตาล ซึ่งเกี่ยวข้องกันสี่ฝ่าย แต่ที่น่าแปลกใจคือ สมาคมชาวไร่อ้อยไม่รู้เรื่อง”ดร.ณรงค์ กล่าว