เหตุการณ์สำคัญๆ ทางการเมืองของประเทศไทยนับแต่ 14 ตุลาคม 2516 เรื่อยมาจนถึงสถานการณ์ในช่วง 3-4 ปีนี้ ถ้าจับจ้องไปที่ฝ่ายกุมอำนาจเพียงฝ่ายเดียวก็คงไม่ผิดกับละครน้ำเน่าที่มีตัวแสดงหลักๆ เป็นข้าราชการ นักการเมือง หรือนักธุรกิจไม่กี่ตระกูลในเมืองไทยหมุนเวียนกันเข้ามาเสวยอำนาจ เข้าทำนองสมบัติผลัดกันชม บางทีก็ทะเลาะกันบ้าง แต่สุดท้ายก็จูบปากกันทุกทีถ้าสามารถจัดสรรผลประโยชน์ได้ลงตัว
ทีนี้ ลองย้อนกลับมามองตัวละครในส่วนของประชาชนกลับพบว่า ตัวแสดงหลักๆ เปลี่ยนไปในแต่ละยุค (ส่วนจะเปลี่ยนจริงหรือจริงๆ แล้วไม่ได้เปลี่ยน นั่นย่อมขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคน) จากนิสิต-นักศึกษาในเหตุการณ์เดือนตุลาคมทั้งสองครั้ง, ชนชั้นกลางในเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 จนถึงวิกฤตล่าสุดที่มีคนในชนบทเป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวทางการเมืองด้วย
กระทั่งล่าสุด พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยประกาศตั้งพรรคการเมือง หรือการที่ เทพไท เสนพงศ์ ท้าทายให้กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติตั้งพรรคการเมือง
สรุปแบบหุนหันพลันแล่นได้หรือเปล่าว่า ตัวละครที่เปลี่ยนไป การมีส่วนร่วมของคนจากหลากหลายชนชั้น ทั้งหมดนี้เป็นสัญญาณอันบ่งชี้ถึงพัฒนาการทางการเมืองของไทย เราจึงนำความคลางแคลงไปถามคนที่น่าจะให้คำตอบได้
ตัวละครเปลี่ยน: เพราะโลกและสังคมเปลี่ยน
“การจะวิเคราะห์ความเปลี่ยนแปลงของตัวละครนั้น ในเบื้องต้นจะต้องเข้าใจความเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกและการเมืองภายในประเทศ”
เป็นประโยคแรกที่ ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน ราชบัณฑิตและนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ บอกกับเรา หลังจากนั้นเขาจึงอธิบายความเคลื่อนไหวของโลกในช่วงกลางศตวรรษที่แล้ว อันเป็นช่วงที่เกิดการต่อสู้กันระหว่างแนวความคิดทางการเมืองแบบฟาสซิสต์พยายามครองอำนาจ โดยมีแกนอย่าง อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ แห่งเยอรมนี เบนิโต มุสโสเลนี แห่งอิตาลี และ นายพลโตโจ แห่งญี่ปุ่น ทั้งสามคนไสส่งโลกเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งที่สุดแล้ว ฝ่ายทุนนิยมและคอมมิวนิสต์จึงจับมือกันจัดการลบฟาสซิสต์ออกจากประวัติศาสตร์
สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 โลกจึงกระโจนเข้าสู่ความขัดแย้งในเชิงแนวคิดทางการเมืองอีกครั้ง แต่คู่ขัดแย้งเปลี่ยนเป็นทุนนิยมซึ่งนำโดยสหรัฐอเมริกา กับคอมมิวนิสต์มีสหภาพโซเวียตเป็นแกนนำ เกิดเป็นสงครามเย็นที่ทำให้ทั้งโลกตกอยู่ในภาวะตึงเครียด
ขณะที่ในเชิงเศรษฐกิจ ต่างฝ่ายก็ต่างพยายามพิสูจน์ให้โลกรู้ว่าระบบเศรษฐกิจของฝ่ายข้าดีกว่า เกิดการสนับสนุนงบประมาณกระจายไปยังหลายๆ ประเทศในโลก โดยเฉพาะประเทศไทยในยุคนั้นที่เลือกยืนอยู่ฝั่งสหรัฐอเมริกา มีการเขียนแผนพัฒนาเศรษฐกิจ พัฒนากระบวนการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้า ฯลฯ
“ทีนี้การพัฒนาแบบนี้มันส่งผล เพราะเมื่อญี่ปุ่นอิ่มตัวมันก็ส่งผลต่อการพัฒนาในประเทศฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ มาเลเซีย และประเทศไทย ยุคนั้นเป็นยุคที่อยากจะเป็นนิกส์หรือประเทศอุตสาหกรรมเกิดใหม่ เป็นยุคสมัยที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เริ่มวางแผนเศรษฐกิจ ต่อมาจนถึงสมัยนายกฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ มันเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในสังคมโลกซึ่งส่งผลต่อสังคมไทยด้วย เพราะเราเองก็กลัวคอมมิวนิสต์ ผลของการพัฒนา มันจึงเกิดการเปลี่ยนแปลง 2 เรื่องใหญ่ อันที่ 1 คือการเปลี่ยนแปลงของระบบเศรษฐกิจซึ่งส่งผลต่อสังคมความนึกคิด อันที่ 2 คือการเปลี่ยนแปลงทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งทำให้การเมืองมันเปลี่ยน
“มีการขยายการพัฒนาเศรษฐกิจในชนบท สร้างถนนหนทาง เพราะคอมมิวนิสต์จะยึดประเทศใดต้องมีความยากจน วิธีหนึ่งคือการทำให้ความยากจนหายไป การพัฒนาอย่างนี้ก็นำไปสู่การเกิดของสถาบันการศึกษาต่างๆ มันก็กระตุกให้สังคมทั้งสังคมเปลี่ยนแปลง แต่ตอนนั้นการปกครองยังเป็นเผด็จการทหารอยู่ ตอนนั้นเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อทดแทนการนำเข้า เกิดโรงงานเต็มไปหมด มีคนย้ายถิ่นฐานเข้ามาทำงาน แต่กระนั้นการปกครองแบบทหารก็ยังอยู่ ไม่มีการเลือกตั้ง ชนชั้นที่เกี่ยวพันโดยตรงกับความตื่นตัวทางการเมืองตอนนั้นจึงเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยและนิสิตนักศึกษา คนที่อยู่ต่างจังหวัดก็มีบ้าง ส่วนในกลุ่มสหภาพรัฐวิสาหกิจ พวกไฟฟ้า โทรศัพท์ ประปา จะตื่นตัวกว่าเพื่อน”
ศ.ดร.ลิขิต อธิบายต่อว่า เมื่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมรุดไปข้างหน้า แต่การเมืองกลับยังถูกแช่แข็งโดยกลุ่มเผด็จการทหาร จึงเป็นความขัดแย้งที่ไปด้วยกันไม่ได้ สุดท้ายแล้ว แรงกระเพื่อมจึงขยายวงออกไปเรื่อยๆ เกิดการเรียกร้องต้องการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน นั่นคือที่มาของเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 โดยมีนิสิต-นักศึกษาซึ่งได้รับผลจากความเปลี่ยนแปลงทางสังคมแปรเป็นความเปลี่ยนแปลงทางความคิดเป็นตัวละครหลัก
“ขณะเดียวกันก็มีชนชั้นกลางที่เป็นนักธุรกิจที่อยู่นอกวงอิทธิพลของกลุ่มถนอม ประภาส ณรงค์ ซึ่งธุรกิจที่อยู่นอกวงก็เสียเปรียบ เมื่อเป็นอย่างนี้ กลุ่มที่อยู่นอกวงก็พยายามที่จะให้การสนับสนุน 14 ตุลาคม จึงไม่ใช่นักศึกษาอย่างเดียว ยังมีชนชั้นกลางที่เป็นนักธุรกิจที่ต้องการจะล้มรัฐบาลทหารด้วย”
ภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 สังคมไทยเปลี่ยนไป ขณะที่อิทธิพลของกลุ่มอำมาตยาธิปไตยยังอยู่ จึงเกิดการประนีประนอมและแปรรูปเป็น ‘ประชาธิปไตยครึ่งใบ’
“เพราะฉะนั้นนายกรัฐมนตรีจึงอยู่บน 3 ขาหยั่ง ขาหยั่งที่ 1 คืออยู่ในความสนับสนุนของทหาร ขาหยั่งที่ 2 มาจากการเลือกตั้งซึ่งต้องให้มีรูปแบบของประชาธิปไตย ขาหยั่งที่ 3 คือต้องมีพระบรมราชโองการแต่งตั้ง มองในแง่หนึ่งก็คือมีฐานแห่งอำนาจของสถาบันเก่าแก่ มีฐานอำนาจของกลุ่มอำมาตยาธิปไตยซึ่งกุมอำนาจมานาน มีฐานอำนาจมาจากกลุ่มใหม่ของสังคมก็คือชนชั้นกลาง”
แต่ครั้นมาถึงเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 เทคโนโลยีเกิดการเปลี่ยนแปลงไปมากกว่าเดิม ขณะที่คนรุ่น 14 ตุลาคม 2516 บางส่วนก็เติบโตขึ้นเป็นนักธุรกิจขนาดกลาง ชนชั้นกลางมีจำนวนมากขึ้นตามการพัฒนาของประเทศ
“คนกลุ่มนี้เรียกว่าม็อบมือถือ ม็อบรถเก๋ง แล้วหลายคนเป็นผู้ที่เคยต่อสู้มาก่อน คนเหล่านี้ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยคงไม่ผิด แต่มีประเด็นหนึ่งซึ่งสำคัญพอๆ กันคือพวกนี้ต่อสู้เพื่อให้ระบบการเมืองแบบเปิดยังคงอยู่ เพราะมิฉะนั้นจะเสียโอกาสการทำธุรกิจอย่างเป็นธรรม เหตุการณ์เดือนพฤษภาทมิฬจึงมี 2 ส่วน ส่วนหนึ่งคือการพยายามล้มอำนาจของทหารที่เข้ามากับพวกที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยโดยผสมผสานกับความกลัวการสูญเสียโอกาสการประกอบธุรกิจ”
หลังจากเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 ประชาธิปไตยเต็มใบเกิดขึ้น จนกระทั่งการมาถึงของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ บวกกับการให้น้ำหนักกับคนรากหญ้า ซึ่งทำให้คนกลุ่มนี้รู้สึกถูกรับรองว่าเป็นมนุษย์ หลังจากถูกละเลยจากรัฐมาแสนนาน เกิดความตื่นตัวทางการเมืองและต้องการมีส่วนร่วม ปัญหาสำคัญก็คือกลไกและสถาบันทางการเมืองไม่อาจเติบโตได้ทันเพื่อรองรับต่อความเปลี่ยนแปลง มันจึงนำไปสู่ความวุ่นวายและความรุนแรง
“สังคมไทยไม่เหมือนเดิมแล้ว ประชาชนที่เป็นพลเมืองจะต้องตื่นตัวอย่างนี้ ไม่ใช่สยบต่ออำนาจ แต่ว่ามันมีกลไกอะไรหรือไม่ที่จะทำให้การตื่นตัวนี้อยู่ในกรอบที่สร้างสรรค์และมีข้อตกลงที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสันติ แต่ถ้าไม่มีอันนี้ซึ่งก็คือการพัฒนาการทางการเมือง มันก็จะกระจุยกระทั่งไม่มีกฎกติกา และผลสุดท้ายก็จะเกิดความวุ่นวายและหาที่ลงไม่ได้ นี่คือสิ่งที่น่าเป็นห่วงที่สุด”
ในมุมมองของ ศ.ดร.ลิขิต จึงมองว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงตัวละครทางการเมืองไทย อันเป็นผลจากบริบททางประวัติศาสตร์ ซึ่งถือเป็นเรื่องดีที่ประชาชนเกิดความตื่นตัว แต่สิ่งที่เราจะต้องขบคิดกันต่อจากนี้คือจะทำอย่างไรที่จะพัฒนากลไกและสถาบันทางการเมืองขึ้นมารองรับความตื่นตัวนี้ให้ทันท่วงที
ตัวละครไม่เปลี่ยน: ทุนกับศักดินายังคงตีหัวประชาชน
“เราจะเห็นว่าตัวละครมันเปลี่ยนไป แต่จริงๆ มันไม่เปลี่ยนหรอก ถ้ามองในกรอบของชนชั้น ถามว่าตัวละครในความขัดแย้งคือใคร ก็มีกลุ่มทุน กลุ่มผู้มีอำนาจในราชการ และกลุ่มประชาชน ก็มีแค่นั้น ถามว่าตรงไหนเปลี่ยน ที่เรามองว่าเปลี่ยน นั่นเป็นเพียงภาพปรากฏเล็กๆ น้อยๆ มองในแง่ประวัติศาสตร์ไม่มีอะไรเปลี่ยน เป็นความวุ่นวายตามฤดูกาล”
ในสายตาของนักเศรษฐศาสตร์การเมืองอย่าง ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่านับจากเหตุการณ์สำคัญๆ ในอดีตถึงปัจจุบัน ตัวละครไม่เคยเปลี่ยน ยังคงเป็นทุน, ศักดินา และประชาชน ที่ขับเคี่ยวกันอยู่อย่างนี้และจะยังคงเป็นต่อไป ถ้าปัญหาเชิงโครงสร้างของสังคมไทยยังไม่ได้รับการเยียวยา
“ถามว่านักศึกษาเป็นชนชั้นกลางหรือเปล่า นักศึกษาก็คือชนชั้นกลาง ตอน 14 ตุลาคม เป็นชนชั้นกลางที่ยังไม่มีรายได้ แล้วกลุ่มคนเสื้อแดงที่บอกว่าเป็นชนชั้นรากหญ้า ต่างตรงไหนกับสหพันธ์ชาวนาชาวไร่หรือกรรมกรในสมัย 14 ตุลาคม มันไม่ต่างหรอก ที่ต่างก็แค่สีสัน
“ทำไมผมพูดอย่างนี้ เพราะลำต้นของความขัดแย้งในทางสังคม มันมาจากเรื่องเชิงโครงสร้างที่ไม่เปลี่ยนและยังรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ถ้าเราจับกระแสมันได้ เราก็จะสามารถปรับปรุงเปลี่ยนให้มันดีขึ้นได้”
ปัญหาเชิงโครงสร้าง เชิงชนชั้นยังคงอยู่ เพียงแต่ความเป็นชนชั้นมีความซับซ้อนมากขึ้นตามสังคมที่เคลื่อนเข้าสู่ระบบทุนนิยม ชาวนาซึ่งเป็นเกษตรกรก็มีทั้งจนและรวย ชนชั้นกลางก็มีหลากหลายสถานะ ดังนั้น ถ้ากล่าวถึงในเชิงคุณภาพแล้วไม่มีอะไรเปลี่ยน จะเปลี่ยนก็เพียงปริมาณ
“แต่ถามว่าในภาคใหญ่คืออะไร ก็คือความแตกต่างทางชนชั้นที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ พัฒนาการที่ผ่านมาเราจะเห็นว่าระหว่างกลุ่มคนจนประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ของประชากร กับคนรวยที่สุด 20 เปอร์เซ็นต์ของประชากร รายได้ต่างกัน 15 เท่า แล้วกลุ่มคนรวยกับคนจนเวลาต่างกัน ไม่ได้ต่างกันแค่ในเชิงรายได้ แต่ฐานะทางสังคม การศึกษาก็ต่าง”
ดร.ณรงค์ อธิบายว่า สิ่งนี้เป็นวิกฤตทางสังคม แต่เป็นโอกาสของนักการเมือง คนรวย 20 เปอร์เซ็นต์จึงเข้าสู่อำนาจเพื่อรักษาความมั่งคั่งด้วยการซื้อเสียงจากกลุ่มคนที่อยู่ในโครงสร้างแบบนี้ แต่ระบบการซื้อเสียงที่ดีกว่านั้นคือการรักษาความสัมพันธ์ คนรวยจึงลงทุนทางวัตถุปัจจัยเพื่อรักษาความสัมพันธ์ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับอำนาจที่เขาได้มาถือว่าเล็กน้อย
ขณะที่โลกทรรศน์ของคนจนมองนักการเมืองเป็นผู้ให้ แต่ชนชั้นกลางมองว่านักการเมืองคือผู้ที่เข้ามาจัดการสังคม จึงต้องมีความโปร่งใส มีคุณธรรม ทำให้โลกทรรศน์ 2 ขั้ว แยกห่างจากกันเรื่อยๆ
“ทั้งที่คู่ขัดแย้งควรจะเป็นชนชั้นกลางกับคนรวย มันถูกขยายไปเป็นชนชั้นกลางกับคนจน เมื่อคนรวยมีอำนาจรัฐจึงดึงเงินจากกระเป๋าชนชั้นกลางไปแจกคนจน 10 บาทให้คนจนบาทเดียว นอกนั้นเข้ากระเป๋าตัวเอง ดึงยังไง ระบบภาษีทั้งหลายโดนชนชั้นกลางหมด สิ่งเหล่านี้มันเกิดขึ้นมาตั้งนานแล้ว ไม่ได้เปลี่ยน ถ้ามองถึงรากเหง้าแล้วมันไม่เคยเปลี่ยน เปลี่ยนแต่รายละเอียดเท่านั้นเอง”
ส่วนวาทกรรมที่ถูกหยิบยกขึ้นมาใช้ในการต่อสู้ ไม่ว่าจะเป็นการสู้กับทุนหรือสู้กับศักดินาหรืออำมาตย์ ดร.ณรงค์ มองว่าเป็นเพียงข้ออ้างของแต่ละกลุ่มที่หยิบยกขึ้นมาใช้ในการต่อสู้
“เมื่อใดก็ตามที่ทุนมีอำนาจก็ใช้อำมาตย์เป็นเครื่องมือ เมื่ออำมาตย์มีอำนาจก็ใช้ทุนเป็นเครื่องมือ ทุนกับอำมาตย์จับมือกันตลอดเวลา ถามว่าเมื่อทักษิณขึ้นมา ใช้ข้าราชการตำรวจมั้ย ใช้กองทัพมั้ย ก็แค่ปรับเปลี่ยนกันว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่ทุนยังเล็กอยู่ อำมาตย์ก็ใช้ทุนเป็นเครื่องมือ อำมาตย์ก็ไถทุน บางครั้งก็บ่มเพาะทุน อย่างในยุคสฤษฎ์ ไม่บ่มเพาะได้ยังไง ห้ามกรรมกรมีสหภาพ แล้วก็ส่งเสริมนายทุน จะเอาอะไรก็ให้ เพราะฉะนั้นทุนถูกบ่มเพาะโดยอำมาตย์ ทุนจึงเป็นหนี้อำมาตย์มาโดยตลอดในบ้านเรา
“แต่พอทุนมันใหญ่กว่าก็ใช้อำมาตย์เป็นเครื่องมือ แล้วมันต่างกันตรงไหน มองในแง่ชนชั้นมันมองไม่เห็น มันเห็นแต่กลุ่มผลประโยชน์ กลายเป็นว่าทุนกลุ่มหนึ่งจับมือกับอำมาตย์กลุ่มหนึ่ง 2 ขั้วนี้ร่วมมือไม่เคยเปลี่ยน เปลี่ยนเฉพาะแค่กลุ่มกับพวกเท่านั้นเอง แต่ความแตกต่างถูกสร้างขึ้นมาเพื่อแยกขั้ว การที่เราไม่เข้าใจสังคม เราจึงถูกคนที่จับมือกันอยู่มาแบ่งแยกเรา คนพวกนี้พอสู้กัน เมื่อใดก็ตามที่ประเมินแล้วว่าสู้ก็ตายทั้งคู่ คนพวกนี้ก็จะจับมือกัน มันเป็นมาตลอด”
ดร.ณรงค์ จึงบอกว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นแค่เกม ทำให้สับสน วุ่นวาย แยกขั้ว แยกพวก ซึ่งในที่สุดสังคมจะเข้าสู่ภาวะ 3 เบื่อ คือเบื่อความขัดแย้ง เบื่อการเมือง เบื่อสิ่งรอบตัว
“ภาวะเช่นนั้นพวกหมาจิ้งจอกก็จะออกมา เพราะคนเฝ้าไม่มีแล้ว เราจึงต้องสนใจการเมืองให้มากขึ้น แล้วต้องใช้ความรู้ ทฤษฎีมาวิเคราะห์ให้มากขึ้น ไม่ใช่ใช้ความรู้สึก ถ้าใช้ความรู้สึก กระแสมันจะปลุกเร้าความรู้สึกไปเรื่อยๆ เมื่อใช้ทฤษฎีวิเคราะห์แล้วก็จะกำหนดท่าทีได้ถูกต้อง แล้วเราจะพัฒนาสังคมไปยังไง อะไรคือปัญหาหลัก เราต้องมองต้นตอให้เห็น อย่ามองสถานการณ์ เพราะสถานการณ์เป็นเพียงผลผลิตของต้นตอ”
ดร.ณรงค์ เตือนว่าประชาชนจึงต้องเท่าทัน เพราะเมื่อไร่ก็ตามที่ประชาชนเข้มแข็ง ทุนกับศักดินาก็จะจับมือกันตีหัวประชาชน
ยังไงก็ถือว่าดี
เรานำคำถามเดียวกันไปพูดคุยกับ สุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เขาเห็นด้วยกับทั้งสองแนวความคิด อย่างไรก็ตาม เขาถือว่าปรากฏการณ์ที่ประชาชนทั้งชนชั้นกลางและคนในชนบทออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองมากขึ้น ถือเป็นสัญญาณที่ดีของภาคประชาชน เป็นการสร้างความเข้มแข็งในระยะยาว
“แต่ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นตอนนี้ ผมคิดว่ามันเป็นเฉพาะช่วงเท่านั้น จริงๆ แล้วมันไม่ได้เป็นความขัดแย้ง ถ้าอำนาจทางการเมืองหรือโครงสร้างทางการเมืองมันตอบสนองและเข้าใจปัญหาทางชนชั้น มันอาจจะไม่ได้เป็นความขัดแย้งแบบที่เป็นอยู่ แต่ถ้าเราไม่ปฏิรูปการเมือง ความขัดแย้งหรือการเผชิญหน้าทางการเมืองมันจะสูงขึ้น เพราะฉะนั้นตัวการเมืองจะต้องไม่ทำให้ปัญหาทางชนชั้นมันกลายเป็นปัญหาทางการเมือง การเมืองจึงต้องปฏิรูปตลอดเวลาเพื่อให้ปัญหาทางชนชั้นมันเกิดน้อยที่สุด”
เราถามต่อไปถึงทฤษฎีสองนคราประชาธิปไตย ของ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ว่าในอนาคตจะยังเป็นจริงหรือไม่
“ในระยะยาวอาจจะเปลี่ยน แต่ในช่วงเปลี่ยนผ่านมันยังเป็นคำอธิบายที่ทรงพลังอยู่ แต่ผมว่าอีกสักไม่เกินทศวรรษหน้า ผมเชื่อว่าพลังของคนระดับล่างจะไม่ใช่แค่เลือกรัฐบาลเท่านั้น แต่จะเข้ามาควบคุมชี้นำรัฐบาลได้ด้วยในอนาคต ซึ่งผมมองว่าเรื่องนี้เป็นวิวัฒนาการที่ดี เพราะประชาธิปไตยมันต้องอยู่บนฐานของคนส่วนใหญ่ และถ้าคนส่วนใหญ่มีความเข้มแข็ง ตื่นตัว มีส่วนร่วมอย่างเข้มข้น เป็นธรรม ประชาธิปไตยก็จะเข้มแข็งไปในตัว”
..........
ในฐานะประชาชนคนหนึ่ง คงไม่มีอะไรดีกว่าการใช้วิจารณญาณ กลั่นกรอง ข้อมูลมหาศาลที่ผ่านเข้ามา เพื่อที่เราจะได้ไม่ต้องตกเป็นเครื่องมือแสวงหาอำนาจของใคร ไม่ว่าจะเป็นทุน หรือศักดินา หรืออื่นๆ ที่สุดท้ายแล้วก็มักจะย้อนกลับมาตีหัวประชาชนทุกทีไป
***********
เรื่อง-กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล