xs
xsm
sm
md
lg

การเมืองซากเน่าในสังคมที่ก้าวหน้า ตอนที่ 1

เผยแพร่:   โดย: วริษฐ์ ลิ้มทองกุล

นับตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2551 ที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยนัดชุมนุมใหญ่ เวลาได้ล่วงเลยมากว่า 4 เดือน จนปัจจุบัน “กระแสการเมืองใหม่” ได้ติดลมบน กลายเป็นกระแสสูงของสังคมไปแล้ว

ช่วงหลายเดือนมานี้ พันธมิตรฯ นับแสน นับล้าน ต้องพิสูจน์ตัวเองครั้งแล้วครั้งเล่าให้สังคมเห็นว่าสิ่งที่เราเหน็ดเหนื่อย สิ่งที่เราเรียกร้อง สิ่งที่เรายอมแลกด้วยหยาดเหงื่อและแรงงาน นั้นมิได้เป็นไปเพื่อ “ผลประโยชน์ส่วนตัว” แต่อย่างใด แต่เป็นไปเพื่อ “ประโยชน์ของสังคมส่วนรวม” โดยแท้ ทว่าถึงปัจจุบันก็ยังมีคนบางกลุ่ม มีสื่อบางสังกัด มีนักวิชาการกลางกลวงบางคน พยายามกระแหนะกระแหนว่า ความนิยมของสังคมต่อพันธมิตรฯ กำลังเสื่อมถอยลงทุกทีเพราะ “ความสุดขั้ว” และที่สำคัญมีความพยายามที่จะโยนข้อกล่าวหา “ขวาสุดขีด-อนุรักษนิยม-ราชานิยม-คลั่งชาติ” ให้กับพันธมิตรฯ

ข้อกล่าวหาเหล่านี้เองที่ทำให้ผมตัดสินใจลงมือเขียนบทความชิ้นนี้ ...

หลายวันก่อน ผมได้ฟัง ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ อาจารย์ของผมที่คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ให้สัมภาษณ์กับรายการโทรทัศน์รายการหนึ่งว่า สภาพการเมืองไทยในปัจจุบันนั้นเป็น “การเมืองเก่า” เป็น “การเมืองที่ล้าหลัง” โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับพัฒนาการของสังคมและระบบธุรกิจของไทยในรอบหลายทศวรรษที่ผ่านมา

ล้าหลังอย่างไร?

อาจารย์ณรงค์อธิบายว่า ล้าหลังตรงที่นับตั้งแต่อดีตกาล สังคมไทยนั้นเป็นสังคมเปิดและมีความเชื่อมโยงกับนานาชาติมาช้านาน ในช่วงหนึ่งศตวรรษที่ผ่านมา สถาบันพระมหากษัตริย์-ภาครัฐ-ภาคเอกชน-สังคมไทย ทุ่มทุนจำนวนมากมายมหาศาลเพื่อส่งบุคลาการไปศึกษาต่อยังประเทศที่มีวิทยาการก้าวหน้า ส่งผลให้บุคลากรของไทยด้านการแพทย์ การสาธารณสุข วิศวกรรม การบริการ ธุรกิจ-เศรษฐกิจ เป็นต้น มีศักยภาพทัดเทียมกับระดับโลก

ในภาคธุรกิจ การรับเอาองค์ความรู้และวิทยาการที่ก้าวหน้า ส่งผลให้ระบบการบริหาร-จัดการทางธุรกิจของไทยในปัจจุบันนั้นก็ก้าวเข้าสู่ระดับมาตรฐานสากล มีการเปลี่ยนแปลงระบบการสืบทอดการบริหารกิจการจากการสืบทอดในครอบครัว ไปสู่นักบริหารมืออาชีพมากขึ้น ทว่า ในทางกลับกัน ระบบการเมืองของไทย ไม่ว่าจะในระดับจุลภาค คือ พรรคการเมือง หรือในระดับมหภาค คือ การคัดเลือกคนเข้ากุมอำนาจในฝ่ายบริหาร-นิติบัญญัติยังคงล้าหลังและย่ำอยู่กับการสืบทอดใน “ระบบครอบครัว” และ “เพื่อนฝูง-พวกพ้อง”

ทั้งนี้ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุด ก็อย่างเช่น กรณีตระกูลชินวัตร-วงศ์สวัสดิ์ ที่ยึดครองอำนาจการบริหารประเทศ ตระกูลศิลปอาชายึดครองตำแหน่ง ส.ส.ใน จ.สุพรรณบุรี หรือตระกูลเทียนทองใน จ.สระแก้ว เป็นต้น นอกจากนี้คณะรัฐมนตรีชุดนายสมัคร สุนทรเวชที่ผ่านมา และชุดสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ที่กำลังจะก้าวขึ้นมาบริหารประเทศ ก็ยังพิสูจน์ให้เห็นได้ชัดว่า ยังวนเวียนอยู่กับระบบการสืบทอดอำนาจภายในวงศ์วาน เครือญาติ โดยเมื่อลูกไม่สามารถรับตำแหน่งรัฐมนตรีไม่ได้ก็ให้พ่อเป็นแทน พ่อ-แม่เป็นไม่ได้ก็ให้ลูกเป็นแทน หรือภรรยารับตำแหน่งแทนสามี หรือน้องรับตำแหน่งแทนพี่ หรือน้องเขยรับตำแหน่งแทนพี่ภรรยา เป็นต้น

เหล่านี้เป็นหลักฐานที่พิสูจน์ให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมว่า การเมืองไทยในปัจจุบันนั้นไม่ได้เป็นระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ทว่าเป็นการสืบทอดตำแหน่งทางสังคม ตำแหน่งสาธารณะกันภายในหมู่เครือญาติ หมู่พรรคพวก ผ่านพิธีกรรมที่เรียกว่า “การเลือกตั้ง” ซึ่งในความเป็นจริงแล้วก็คือ ผ่านการซื้อเสียงทั้งทางตรงและทางอ้อม

ซึ่งเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับ “ภาคธุรกิจ-ภาคสังคม” แล้ว “การเมืองไทย” ในปัจจุบันแทบจะกล่าวได้ว่าจมจ่อมอยู่ในสังคมยุคศักดินาเก่า หรือสังคมยุคไพร่-ทาส เลยทีเดียว (คำกล่าวนี้จะปรากฏภาพเด่นชัดยิ่ง ในฤดูสภาฝักถั่วยกมือเลือกนายกฯ หรือการอภิปรายไม่ไว้วางใจ)

เมื่อได้ยินสัมภาษณ์ของ อ.ณรงค์ ทำเอาผมอดคิดต่อไม่ได้ว่า เมื่อเทียบกับพัฒนาการทางสังคมและเศรษฐกิจแล้ว ระบบการเมืองนั้นมีความล้าหลังอย่างไรบ้าง

จาก มุมมองด้านสิทธิผู้บริโภค (Consumer Rights) และ การคุ้มครองผู้บริโภค (Consumer Protection) ในสังคมที่ก้าวหน้า ต่างให้ความสำคัญกับสิทธิของผู้บริโภคในระดับสูงอย่างเช่น สังคมอเมริกัน หรือประเทศในทวีปยุโรป

ในประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อผู้บริโภคไปซื้อสินค้า ทางร้านค้าจะมีการรับประกันความพึงพอใจให้อย่างน้อย 30 วัน โดยภายใน 30 วันหากผู้บริโภคใช้สินค้าแล้วไม่พอใจก็สามารถนำสินค้ามาคืน (Refund) และรับเงินคืนไปได้เต็มจำนวน (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) นอกจากนี้เราคงเคยได้ยินอยู่บ่อยครั้งว่า เมื่อผู้ผลิตขายสินค้าไปแล้วและพบว่าสินค้ามีตำหนิ-มีข้อบกพร่อง ผู้ผลิตก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเรียกคืนสินค้าจากผู้บริโภค พร้อมทั้งจ่ายเงินชดเชยให้โดยไม่มีเงื่อนไข มิฉะนั้นหากปล่อยให้ผู้บริโภคค้นพบตำหนิ-ข้อบกพร่องนั้นเอง หรือประสบความเสียหายจากการใช้ผลิตภัณฑ์ ผู้ผลิตหรือบริษัทผู้จำหน่ายก็ต้องเผชิญกับการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายเป็นจำนวนเงินมหาศาล

ในประเทศไทย เครือข่ายการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคเริ่มมีความเข้มแข็งขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แม้ว่าปัจจุบันองค์กรอย่างสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) จะไม่มีอำนาจมากนัก แต่ประชาชนก็ยังพอมีเครื่องมืออื่นๆ คอยถ่วงดุล เช่น สื่อมวลชน สื่ออินเทอร์เน็ต เป็นต้น

หากเปรียบเทียบระบบเศรษฐกิจกับระบบการเมือง ผู้บริโภคในกรณีนี้ก็ไม่แตกต่างอะไรจากประชาชนและผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ทั้งสิทธิของประชาชนยังควรมีมากสิทธิผู้บริโภคด้วย เพราะประชาชนไม่ได้มีสถานะเป็นเพียง “ผู้บริโภค” นโยบายของภาครัฐเท่านั้น แต่ยังมีสถานะของการเป็น “เจ้าของ” ประเทศ-สังคม รวมถึงมีสถานะเป็น “นายจ้าง” ของรัฐบาลและระบบราชการทั้งหมดอีกด้วย

เพราะฉะนั้น เหตุใดในระบบการเมืองไทยปัจจุบัน สิทธิและการคุ้มครองสิทธิของ “ประชาชน” ที่เป็นทั้งเจ้าของประเทศและผู้บริโภคนโยบายของรัฐ จึงมีสถานะที่ “ด้อย” กว่าสิทธิของผู้บริโภค?

เรื่องถัดมาที่ผมคิดว่า สามารถสะท้อนภาพความล้าหลังของระบบการเมืองไทย เมื่อเทียบกับระบบสังคม-ธุรกิจได้อย่างเด่นชัด ก็คือในประเด็นของ ข้อมูลเครดิต (Credit Information)

ในทางเศรษฐกิจ-ธุรกิจ ข้อมูลเครดิตถูกจัดเก็บโดยเครดิตบูโร (Credit Bureau) เพื่อรวบรวมเฉพาะข้อมูลของการชำระสินเชื่อหรือบัตรเครดิต ซึ่งข้อมูลนี้จะประกอบไปด้วย ข้อมูลพื้นฐานส่วนบุคคล รวมไปถึงประวัติการชำระสินเชื่อ การชำระบัตรเครดิต การเช่าซื้อ การประกันภัย ประกันชีวิต การขอกู้เงิน การได้รับอนุมัติเงินกู้ที่ผู้บริโภคมีธุรกรรมกับธนาคารหรือสถาบันการเงินต่างๆ

ปัจจุบันข้อมูลทางเครดิต ถือเป็นหัวใจของธุรกิจ เพราะข้อมูลดังกล่าวถือเป็นข้อมูลที่องค์กรธุรกิจจะนำไปใช้เพื่อตัดสินใจดำเนินการทางธุรกิจต่างๆ ได้ เช่น ผู้ขอกู้เงินคนนี้มีประวัติทางการเงินเช่นไร เคยผิดนัดชำระหนี้มาก่อนหรือไม่ เคยเบี้ยวชำระค่าบัตรเครดิตหรือไม่ เคยขาดส่งงวดค่าผ่อนรถ-ผ่อนบ้านหรือเปล่า เป็นต้น

ประเทศไทยมีการออกกฎหมายให้อำนาจจัดเก็บข้อมูลเครดิต ตั้งแต่วันที่ 13 พฤศจิกายน 2545 แต่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2546 โดยมีคณะกรรมการคุ้มครองเครดิตที่มีผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นประธานคอยดูแล

ตรงกันข้าม ในทางการเมือง ประเทศไทยไม่เคยมีการรวบรวมและจัดเก็บ “ข้อมูลเครดิตทางการเมือง (Political Credit Bureau)” หรือกระทั่ง “ฐานข้อมูลนักการเมือง” อย่างเป็นทางการเลย (แม้ทางคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ จะมีโครงการแต่ก็ไม่ได้เป็นที่รับรู้ของประชาชนในวงกว้าง)

ทั้งๆ ที่ “นักการเมือง” เป็นผู้ที่อาสามารับใช้ประชาชน อาสามาเป็น “ลูกจ้าง” ของประชาชน และเป็นผู้ใช้งบประมาณจากภาษีอากรของประชาชน ทว่าประชาชนซึ่งเป็นนายจ้างกลับไม่มีโอกาสรับรู้ว่า “ผู้อาสามารับจ้าง-ลูกจ้าง” คนนั้นๆ มี ประวัติความเป็นมาอย่างไร เคยต้องคดีอาชญากรรม คดีฉ้อโกง คดีทุจริต อะไรมาบ้าง ในอดีตจนถึงปัจจุบันมีคดีความอยู่ในชั้น ป.ป.ช. อยู่ในชั้นศาล-อัยการ-ตำรวจอะไรบ้าง หรือกระทั่ง พรรคการเมืองนั้นๆ เคยมีแนวทาง มีนโยบายอะไรที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อประเทศชาติ ต่อเศรษฐกิจ ต่อสังคมอย่างไรบ้าง

ผมคิดว่าการปฏิรูปการเมืองเพื่อก้าวสู่ยุค “การเมืองใหม่” ของไทย การรวบรวมและจัดเก็บ “ข้อมูลเครดิตทางการเมือง” จำเป็นจะต้องเกิดขึ้น โดยอาจดำเนินการในรูปแบบหน่วยงานหนึ่งในองค์กรอิสระ หรือสถาบันวิชาการที่น่าเชื่อถือ หรืออาจจะตั้งเป็นองค์กรอิสระแยกออกมาโดยเฉพาะก็ได้ แต่ที่สำคัญหน่วยงานนี้ต้องมีความตรงไปตรงมา มีการเผยแพร่ข้อมูลต่อสาธารณชน และเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ได้ง่าย
กำลังโหลดความคิดเห็น