xs
xsm
sm
md
lg

จุฬาฯเตรียมระดมสมองนักวิชาการชั้นนำถกหาทางออกรับมือวิกฤต ศก.ไทย-โลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล รักษาการประธานชมรมศิษย์เศรษฐศาสตร์การเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
“ชมรมเศรษฐศาสตร์การเมือง จุฬาฯ” เตรียมจัดสัมมนาหัวข้อ “ทิศทางประเทศไทยในพัฒนาการเศรษฐกิจสังคมโลก” 14 พ.ค.นี้ ที่ โรงแรมตะวันนา กรุงเทพฯ หวังระดมสมองนักวิชาการชั้นนำฝ่าวิกฤต ศก.ไทย-โลก คาดนำไปสู่แนวทางการแก้ปัญหาที่เป็นธรรมและยั่งยืน

วันนี้ (7 พ.ค.) นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล รักษาการประธานชมรมศิษย์เศรษฐศาสตร์การเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า นับตั้งแต่ประเทศไทยเริ่มทำการค้าขายกับต่างประเทศมาในสมัยโบราณกาล และปรากฏชัดเจนมากขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 จนถึงปัจจุบัน การบริหารจัดการทางด้านเศรษฐกิจ การเมืองและสังคมของประเทศไทย ได้รับอิทธิพลจากต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศตะวันตกมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาคเศรษฐกิจไทยที่เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจต่างประเทศมากขึ้นหลังจากที่ประเทศไทยหันมาดำเนินนโยบายการผลิตสินค้าเพื่อการส่งออก ทำให้การพึ่งพาตลาดต่างประเทศในการส่งออกสินค้าสูงมากขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้ตัวเลขการส่งออกสินค้าสูงถึงประมาณ 70% ของผลิตภัณฑ์มวลรวม(จีดีพี)ในปัจจุบัน ขณะที่สินค้านำเข้าจากต่างประเทศก็มีสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน

“การพึ่งพาการค้าระหว่างประเทศที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ทุกครั้งที่มีปัญหาในตลาดสินค้านำเข้าและส่งออก ประเทศไทยจะได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างมาก เห็นได้จากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจการเงินโลกครั้งล่าสุด ที่แม้ว่าภาคสถาบันการเงินของประเทศไทยจะไม่ได้รับปัญหาจากวิกฤตซับไพรม์โดยตรง แต่การที่ไทยพึ่งพาการส่งออกเป็นรายได้หลักของประเทศในระดับสูง ทำให้ประเทศไทยได้รับผลกระทบทางอ้อมจากวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้ในที่สุด โดยเห็นได้จากการส่งออกและนำเข้าสินค้าของไทยที่ปรับลดลงเป็นจำนวนมากอย่างรวดเร็ว โดยคาดว่าตัวเลขการส่งออกสินค้าในปี 2552 จะลดลงเหลือ 150,450 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากปี 2551 ที่มีจำนวน 177,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือลดลงถึง 15% ส่งผลให้เกิดภาวะการเลิกจ้างแรงงานและคาดว่าจะมีผู้ถูกเลิกจ้างถึงประมาณ 1.5 ล้านคนทั่วประเทศ ทั้งนี้ ความสูญเสียที่เกิดขึ้นจากการพึ่งพาเศรษฐกิจต่างประเทศดังกล่าวเป็นแต่เพียงความสูญเสียด้านเศรษฐกิจที่ยังไม่นับรวมความสูญเสียด้านสังคม สิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรม”

รักษาการประธานชมรมศิษย์เศรษฐศาสตร์การเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นดังกล่าว ก่อให้เกิดคำถามตามมาว่า ระบบทุนนิยมเสรีแนวใหม่ที่ประเทศไทยนำมาใช้เป็นแนวทางในการบริหารเศรษฐกิจเพื่อพัฒนาประเทศนั้นเป็นระบบที่เหมาะสมแล้วหรือไม่ในการนำมาใช้จัดการเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมของประเทศไทย และหากระบบที่เป็นอยู่ไม่ใช่ระบบที่ดีที่สุดแล้ว ขณะนี้ถึงเวลาแล้วหรือไม่ที่คนไทยทุกคนควรจะต้องหันมาศึกษา วิเคราะห์วิจารณ์แนวทางที่เป็นอยู่เพื่อหาแนวทางใหม่เพื่อให้การพัฒนาประเทศไทยนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นธรรมและเหมาะสมกับสังคมและวัฒนธรรมดั้งเดิมของไทยที่มีมาช้านาน

ดังนั้น เพื่อหาคำตอบดังกล่าว ชมรมศิษย์เศรษฐศาสตร์การเมืองจึงได้จัดงานสัมมนาเรื่อง “ทิศทางประเทศไทยในพัฒนาการเศรษฐกิจสังคมโลก” ขึ้นในวันพฤหัสบดีที่ 14 พฤษภาคมนี้ ณ โรงแรมตะวันนา กรุงเทพฯ ถนนสุรวงศ์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นให้เกิดการวิเคราะห์ วิจารณ์ถึงปัญหาและผลกระทบที่เกิดจากพัฒนาการทางสังคม การเมือง และเศรษฐกิจของสังคมโลก รวมถึงปัญหาการเมืองภายในประเทศไทยที่มีต่อการบริหารเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยทั้งในอดีตและปัจจุบันเพื่อนำไปสู่การเสนอแนะถึงแนวทางในการจัดการการเมือง เศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยให้มีความเป็นธรรมและยั่งยืนมากขึ้นในอนาคต

นายพรศิลป์ กล่าวอีกว่า งานสัมมนาที่จัดขึ้น ประกอบด้วย หัวข้อหลัก 3 ส่วนด้วยกัน เริ่มจากการปาฐกถาในหัวข้อ “ทิศทางประเทศไทยในพัฒนาการเศรษฐกิจสังคมโลก” โดย ศ.ดร.ฉัตรทิพย์ นาถสุภา นักเศรษฐศาสตร์ผู้อุทิศตนในการศึกษาสังคมไทยอย่างถึงแก่นเพื่อค้นหาวิถีการพัฒนาประเทศไปสู่ความทันสมัยในรูปแบบของตนเองซึ่งคำนึงถึงรากฐานทางวัฒนธรรมที่มีมาแต่ดั้งเดิม ตามมาด้วยการเสวนาเรื่อง “ทิศทางประเทศไทยในมุมมองภาคการเมือง เศรษฐกิจและสังคม” โดย รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ กับมุมมองถึงทิศทางด้านเศรษฐกิจ ศ.ดร.สมบัติ จันทรวงศ์ กับมุมมองในภาคการเมืองและ ดร.ปรีชา เปี่ยมพงศ์สานต์ กับมุมมองในภาคสังคม หลังจากนั้น งานเสวนาจะมุ่งไปสู่การหาทางออกให้กับสังคมไทย ในหัวข้อ “ทางออกเศรษฐกิจการเมืองไทยภายใต้การแบ่งขั้ว” โดยร่วมการเสวนาโดย ศ.ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน ก่อนที่จะร่วมกันรับฟังแนวความคิดจากผู้เข้าร่วมสัมมนาเพื่อหาทางออกให้กับประเทศไทยร่วมกัน

“งานสัมมนาเพื่อร่วมกันหาคำตอบให้กับสังคมไทยครั้งนี้เป็นงานสัมมนาใหญ่ครั้งแรกของชมรมเศรษฐศาสตร์การเมืองที่จัดขึ้นโดยมีความมุ่งหวังที่จะร่วมกันปลุกสำนึกพลังแห่งการสร้างสรรค์สังคมใหม่ที่ดีกว่าเดิมของคนไทยทุกคน ผู้ที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลและสำรองที่นั่งได้ที่โทรศัพท์ 081-431-4168 และ 086-461-0163 หรืออีเมล pol_econ@yahoo.com” นายพรศิลป์ กล่าวในท้ายสุด
กำลังโหลดความคิดเห็น