xs
xsm
sm
md
lg

เศรษฐกิจการเงินยุคใหม่:การะประชุมกลุ่มประเทศG20และการปรับบทบาทของIMF

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมาได้มีการประชุมผู้นำกลุ่มประเทศ G 20 ที่กรุงลอนดอนประเทศอังกฤษ ซึ่งสมาชิกได้สัญญาที่จะดำเนินการทุกวิถีทางในการแก้ไขปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจโลก โดยมีแนวทางสำคัญหลายประการได้แก่

1. การฟื้นฟูเศรษฐกิจและการจ้างงาน ทุกประเทศมีการใช้นโยบายการคลังแบบขยายตัว เร่งการใช้จ่ายภาครัฐเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ และมีการซ่อมแซมระบบการเงินเพื่อฟื้นฟูการให้สินเชื่อ โดยให้การสนับสนุนธนาคารในการอัดฉีดสภาพคล่อง ผ่านการช่วยเพิ่มทุน และจัดหาวงเงิน Soft-loan เพื่อป้องกันปัญหาขาดสภาพคล่อง และให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาการ ด้อยค่าของสินทรัพย์ นอกจากนี้ยังใช้มาตรการลดอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำเพื่อหวังผลในการขยายตัวของสินเชื่อและลดภาระดอกเบี้ยของธุรกิจ มีการตกลงที่จะเพิ่มทรัพยากรทางการเงินให้สถาบันการเงินระหว่างประเทศเป็นจำนวน 1.1 ล้านล้านดอลลาร์ เพื่อช่วยในการเพิ่มสภาพคล่องให้แก่เศรษฐกิจโลก ทั้งนี้ประเทศต่างๆ ยังคงจำเป็นต้องรักษาความยั่งยืนทางการคลังและเสถียรภาพของระดับราคาในระยะยาว

2. การเพิ่มความแข็งแกร่งให้แก่การกำกับและตรวจสอบระบบการเงิน โดยการขยายขอบเขตการกำกับและดูแลให้ครอบคลุมไปถึงบรรดาสถาบันการเงินรูปแบบอื่นๆ ให้มากขึ้นรวมถึงกองทุน Hedge Funds บริษัทจัดอันดับเครดิต รวมทั้งเครื่องมือทางการเงินและตลาดการเงินที่มีความสำคัญเชิงระบบด้วย การกำกับดูแลสถาบันการเงินจะต้องป้องกันมิให้มีการขยายตัวของสินทรัพย์เมื่อเทียบกับเงินกองทุนมีมากเกินไป มีการปรับปรุงการกำกับดูแลระบบการเงินเพื่อให้ทางการสามารถรับทราบความเสี่ยงเชิงระบบได้ด้วย และมีข้อกำหนดให้สถาบันการเงินสะสมทรัพยากรสำรองไว้ในยามที่ภาวะเศรษฐกิจดีเพื่อรองรับความไม่แน่นอนในอนาคต

3. การเพิ่มความแข็งแกร่งให้แก่สถาบันการเงินระหว่างประเทศ เป็นการเพิ่มทรัพยากรทางการเงินและการปฏิรูปสถาบันการเงินระหว่างประเทศเพื่อสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนา ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ผ่านการกระตุ้นการบริโภคในประเทศ การเพิ่มทุนให้สถาบันการเงิน การลงทุนในโครงการพื้นฐาน สินเชื่อทางการค้า และการแก้ปัญหาสังคม โดยการให้สถาบันการเงินเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ เช่น ธนาคารโลก ธนาคารพัฒนาเอเชีย ให้สินเชื่อแก่ประเทศที่ประสบปัญหาและประเทศยากจน

4. การต่อต้านการปกป้องทางการค้าและส่งเสริมการค้าการลงทุนโลก มีความกังวลมากว่าปัญหาที่เป็นอยู่จะทำให้แต่ละประเทศหันกลับไปใช้วิธีปกป้องหรือกีดกันทางการค้า หรือการกระตุ้นการส่งออกในลักษณะที่ไม่สอดคล้องกับข้อกำหนดขององค์การการค้าโลก (WTO) ซึ่งจะเป็นการเพิ่มเติมอุปสรรคให้แก่การค้าและการลงทุนของโลก ดังนั้นประเทศต่างๆ จะต้องลดผลกระทบด้านลบจากมาตรการกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศที่จะมีต่อการค้าและการลงทุนให้น้อยที่สุดไม่ว่าจะเป็นนโยบายการใช้จ่ายด้านการคลัง และมาตรการในการสนับสนุนภาคการเงิน รวมทั้งจะไม่มีการถอยหลังไปสู่การปกป้องทางการเงิน โดยเฉพาะมาตรการที่ไปจำกัดการเคลื่อนย้ายเงินทุนสู่ประเทศกำลังพัฒนา

5. การสร้างความเป็นธรรมและการฟื้นฟูที่ยั่งยืน การจัดสรรวงเงินจำนวนห้าหมื่นล้านปอนด์ เพื่อวัตถุประสงค์ในการคุ้มครองสภาพสังคม กระตุ้นการค้าและรักษาระดับการพัฒนาของประเทศยากจน ประเทศที่ยากจนมากที่สุดในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า จะได้รับเงินช่วยเหลือและเงินกู้ยืมแบบผ่อนปรนและยืดหยุ่นจากทรัพยากรทางการเงินที่ IMF ได้รับจากการขายทองคำอีกจำนวนหนึ่ง

จากข้อสัญญาดังกล่าว จะเห็นได้ว่าองค์กรที่มีบทบาทหลักในการเชื่อมโยงมาตรการระหว่างประเทศก็คือ IMF ซึ่งจะมีการเพิ่มทุนให้แก่ IMF เพื่อใช้ในการดูแลฟื้นฟูระบบการเงินระหว่างประเทศ และ IMF จะต้องติดตามประเมินผลการดำเนินมาตรการตามที่ได้กล่าวมาแล้ว นอกจากนี้จะมีการปรับเงื่อนไขในการให้กู้ยืมของ IMF และจัดให้มีวงเงินสินเชื่อแบบยืดหยุ่นเพื่อใช้ในการแก้ไขการขาดดุลการชำระเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และที่สำคัญ IMF จะต้องมีปฏิรูปบทบาทหน้าที่และพันธกิจ รวมทั้งระบบธรรมาภิบาลของตน เพื่อให้พร้อมที่จะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลกและรองรับโลกาภิวัตน์ทางการเงินและการลงทุนระหว่างประเทศมากขึ้นกว่านี้
กำลังโหลดความคิดเห็น