xs
xsm
sm
md
lg

มูลเหตุวิวาท ประชาธิปไตยของทักษิณ

เผยแพร่:   โดย: ปราโมทย์ นาครทรรพ

ท่านผู้อ่านที่เคารพ ผมเขียนเป็นข้อๆ โปรดช่วยผมเชื่อมโยงด้วย

1. ประชาธิปไตยของฮุนเซนกับประชาธิปไตยของทักษิณอาจเหมือนกัน แต่ไม่เหมือนกับประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ของทักษิณเป็นประชาธิปไตยผลประโยชน์ ครั้งหนึ่งเคยขัดกันจนฮุนเซนคั่งแค้นเผาสถานทูตไทย สองสามวันนี้มีข่าวว่า ทักษิณลอบมาเล่นไพ่ตีแตกกับฮุนเซนที่เขมรไพ่ตีแตกไม่มีเสมอ จะต้องหมดตูดคนหนึ่ง ใครเอ่ย?

2. คำนิยามประชาธิปไตยของทักษิณเปลี่ยนไปมา ตามแต่ประโยชน์ของทักษิณ เวลามีอำนาจทักษิณบอกว่าประชาธิปไตยเป็นเพียงเครื่องมือ มิใช่จุดหมายปลายทาง เวลาตกกระป๋องทักษิณโหยหาประชาธิปไตยในความหมายใหม่ หวังให้มวลมหาประชาชนมาช่วยชิงอำนาจคืน

3. คนไทยแตกแยกวิวาทกันอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน เพราะผู้เสียอำนาจ ผู้ได้อำนาจ และพวก ต่างเข้าใจประชาธิปไตยที่ตนได้ประโยชน์ ประชาชนส่วนใหญ่เข้าไม่ถึงข้อมูลข้อเท็จจริงและขาดความรู้พื้นฐานเรื่องประชาธิปไตย สื่อ และรัฐบาลเหมือนไม่มีปัญญาจะช่วย

4. ปัญญาชนนักรบแห่งกองทัพภาคที่ 3 ส่งเอกสาร “ความจริงวันนี้....มูลเหตุแห่งการวิวาท” ของพระคุณเจ้าผู้ทรงศีล ขอให้ผมช่วยคิดและเผยแพร่

5. ผมเสนอเป็น 2 ส่วน คือ 1. บทคัดย่อ และ 2. พระคาถาที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ในพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค แยกกันใช้เป็นส่วนๆ หรือจะใช้ควบกันก็ได้

เรื่องจริงวันนี้ (มูลเหตุแห่งวิวาท)

1. บทคัดย่อ มูลเหตุแห่งวิวาทมี 6 อย่าง คือ ความเป็นผู้มักโกรธ มีความผูกโกรธ 1 ความลบหลู่ ตีเสมอ 1 ความริษยา ในสักการะเป็นต้นของผู้อื่น และความตระหนี่ 1 ความเป็นผู้โอ้อวด เจ้าเล่ห์ ปกปิดความชั่วที่ตนทำ 1 ความเป็นผู้มีความปรารถนาลามก เป็นผู้ทุศีลปรารถนาความยกย่องที่ตนไม่มี เป็นความเห็นผิด 1 และความเป็นผู้ถือมั่นทิฏฐิของตน 1 เมื่อเกิดขึ้นกับผู้ใดแล้ว ทำให้แบ่งชนเป็น 2 ฝ่าย ย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เป็นประโยชน์แก่ชนเป็นอันมาก เพื่อความไม่เป็นสุขแก่ชนเป็นอันมาก เพื่อความพินาศแก่ชนเป็นอันมาก เพื่อความไม่เป็นประโยชน์ เพื่อความทุกข์แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ทำให้ไปอบายได้ในที่สุด ดังเรื่องที่มีแล้วในครั้งพุทธกาล

2. พระคาถา จากข้อความบางส่วนของพระคาถาที่ทรงแสดงไว้ในพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรัสมูลเหตุแห่งวิวาท 6 อย่าง 6 อย่างเป็นไฉน?

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในศาสนานี้เป็นผู้มักโกรธ มีความผูกโกรธไว้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุใดเป็นผู้มักโกรธ ผูกโกรธไว้

ภิกษุนั้นไม่เคารพ ไม่ยำเกรง แม้ในพระศาสดา ไม่ทำให้บริบูรณ์ แม้ในพระธรรม แม้ในพระสงฆ์ (หมู่คณะ) แม้ในสิกขา (การศึกษาคำสอน)

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุใดไม่เคารพ ไม่ยำเกรง ในพระศาสดาไม่ทำให้บริบูรณ์ ในพระธรรม ในพระสงฆ์ ในสิกขา ภิกษุนั้นย่อมยังวิวาท ให้เกิดในสงฆ์ วิวาทย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เป็นประโยชน์แก่ชนเป็นอันมาก เพื่อความไม่เป็นสุขแก่ชนเป็นอันมาก เพื่อความพินาศแก่ชนเป็นอันมาก เพื่อความไม่เป็นประโยชน์ เพื่อความทุกข์แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ข้ออื่นยังมีอีก ภิกษุเป็นผู้มีความลบหลู่ ตีเสมอ

เป็นผู้มีความริษยา (ริษยา ในสักการะ เป็นต้นของผู้อื่น) ความตระหนี่

เป็นผู้โอ้อวด เจ้าเล่ห์ (ปกปิดความชั่วที่ตนทำ)

เป็นผู้มีความปรารถนาลามก (เป็นผู้ทุศีลปรารถนาความยกย่องที่ตนไม่มี) เป็นมิจฉาทิฐิ

เป็นผู้ถือมั่นทิฐิของตน มีการสละได้ยาก

ตัวอย่างที่เคยมีแล้วในครั้งพุทธกาล การวิวาทของภิกษุ 2 รูป ย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เป็นประโยชน์ เพื่อทุกข์แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายเป็นอย่างไร คือ เมื่อภิกษุ 2 รูปวิวาทกัน อันเตวาสิก (ลูกศิษย์) ของภิกษุ 2 รูปเหล่านั้น ในวัดนั้นก็วิวาทกัน ภิกษุสงฆ์ ภิกษุณีสงฆ์ ผู้รับ-โอวาทของภิกษุ 2 รูปนั้นก็วิวาทกัน แต่นั้นอุปัฏฐาก (ผู้บำรุง) ของภิกษุ 2 รูปเหล่านั้นก็วิวาทกัน

ครั้นแล้วเทวดาผู้อารักขามนุษย์ทั้งหลายก็แบ่งเป็น 2 พวก เทวดาผู้อารักขาธรรมวาที ก็เป็นพวกธรรมวาที เทวดาที่อารักขาอธรรมวาที ก็เป็นพวกอธรรมวาที แต่นั้นภุมเทวดาผู้เป็นมิตรของ อารักขเทวดาก็แตกกัน เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย (เว้นเฉพาะพระอริยสาวกเท่านั้น) แบ่งเป็น 2 ฝ่าย โดยต่อๆ กันอย่างนี้ จนถึงพรหมโลก อธรรมวาทีมากกว่าธรรมวาที แต่นั้นสิ่งที่พวกมากถือเอาจึงเป็นสัจจะเพราะเหตุนั้น พวกมากกว่าจึงพากันสละธรรม ถือเอาอธรรม พวกอธรรมวาทีเหล่านั้น ยึดอธรรมเป็นหลัก ย่อมเกิดในอบาย การวิวาทของภิกษุ 2 รูปอย่างนี้ย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เป็นประโยชน์ เป็นไปเพื่อทุกข์แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย (จบ)

6. เข้าใจประชาธิปไตยและคำสอนของพระพุทธเจ้า ทรงตรัสว่า “ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา” แสดงว่ามิได้เน้นที่สัญลักษณ์หรือการเป็นผู้นับถือศาสนาพุทธ ธรรมนั้นมีอยู่ก่อน และมีอยู่ทั่วไป พระบรมศาสดาทรงค้นพบนำมาสั่งสอน ผู้ที่เห็นธรรมและนำไปปฏิบัติในวิถีชีวิตของตนเอง ของครอบครัว ของหมู่เหล่า และสังคมการปกครอง ก็ย่อมจะประสบความจำเริญ ดีกว่าผู้ที่เป็นพุทธแต่ปาก เกาะกุมและกอดรัดแต่สัญลักษณ์ แต่หามีความเป็นพุทธในตัวตนและการปฏิบัติไม่ ฉันใดก็ฉันนั้น คือ ประชาธิปไตย (ของทักษิณ บริวารเสื้อแดง นักการเมือง ข้าราชการทหาร ตำรวจ และประชาชนทั่วไป)

7. ประชาธิปไตยนั้นมิได้จำกัดอยู่ที่ระบบการปกครอง แต่ต้องมีอยู่ในวิถีชีวิตของประชาชนเป็นประจำ และเป็นความเชื่อ ปรัชญา หรืออุดมการณ์ของคนในระบบการเมืองนั้นด้วย

8. ข้อสำคัญ ประชาธิปไตยมิใช่อยู่ที่ สัญลักษณ์หรือการเลือกตั้งเท่านั้น แต่จะต้องมีอยู่ในโครงสร้างคือสถาบันและกฎหมาย องค์ประกอบ ได้แก่ตัวบุคคล องค์กร หรือพรรคที่เข้าไปอยู่ในโครงสร้างนั้น และในการกระทำหรือพฤติกรรม ทุกระดับ ทั้งหมดจะต้องเป็นประชาธิปไตยคล้องจองและกลมกลืนกันทั้งหมด

9. อนิจจาเอ๋ย ผู้นำไทยปล่อยให้ประชาชนวิวาทฆ่าฟันกันเพราะต่างก็ขาดความเข้าใจประชาธิปไตย คนที่เคยเป็นนายกฯ อ้างมาจากการเลือกตั้งย่อมมีอำนาจทำอะไรก็ได้ อีกคนหนึ่งเพิ่งได้อำนาจจากสภาฯ และอยากอยู่นานๆ เลยอ่อยๆ ว่า การกระทำผิดกฎหมาย ขู่เข็ญว่าจะทำลายการปกครอง ตั้งรัฐไทยใหม่สีแดง หากทำโดยคนหมู่มากก็เป็นการใช้เสรีภาพตามครรลองประชาธิปไตย!!!

โปรดช่วยถามและตอบกันเองเถิดว่า วิถีชีวิตและพฤติกรรมของผู้ใด หมู่คณะใด เป็นประชาธิปไตยหรือไม่ และใครเป็นผู้กระพือ ความจริงวันนี้ อันเป็นมูลเหตุแห่งการวิวาทที่หลวงพ่อผู้ทรงศีลได้เทศนาโปรดนักรบปัญญาชนแห่งกองทัพภาคที่ 3

หนึ่ง “มีความเป็นผู้มักโกรธ มีความผูกโกรธ” เช่น โกรธผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ โกรธป๋า โกรธ คมช.โกรธพลเอกสุรยุทธ์ โกรธสองสนธิ โกรธเสื้อเหลือง ฯลฯ

สอง “มีความลบหลู่ ตีเสมอ” ไม่รู้จักที่ต่ำที่สูง ไม่สำรวมกิริยาวาจา (ใจ) สามหาว “เมตตา” หลวงตาบัว ฯลฯ

สาม “ความริษยา ในสักการะเป็นต้นของผู้อื่น และความตระหนี่” ทนเด็กวานซืนไปเด่นในเวทีโลกไม่ได้ ภาษาอังกฤษเหนือชั้นฯลฯ

สี่ “ความเป็นผู้โอ้อวด เจ้าเล่ห์ ปกปิดความชั่วที่ตนทำ” ผมไม่เคยทำผิดอะไร แต่พวกมันช่วยกันใส่ความ มันอิจฉารวมหัวกันเล่นงานผม ผมมันบ้าทำงานไม่ลืมหูลืมตา จนอีกไม่กี่ปีคนไทยก็จะพากันเลิกจนทั้งประเทศอยู่แล้ว ฯลฯ

ห้า “ความเป็นผู้มีความปรารถนาลามก เป็นผู้ทุศีลปรารถนาความยกย่องที่ตนไม่มี เป็นความเห็นผิด” เก่งเหมือนปรีดี พนมยงค์ กล้าเหมือนแมนเดลลา ปฏิรูปยิ่งใหญ่ปาน ร. 5 มีประเทศนับไม่ถ้วนคอยให้ไปช่วยแก้ความจน ประเทศเพื่อนบ้าน ทหาร ตำรวจเป็นของพวกเรา ฯลฯ

หก “ความเป็นผู้ถือมั่นทิฐิของตน” ไม่ยากเลยครับ ผมจะทำให้ประเทศชาติมั่งคั่ง ประชาชนพ้นความยากจนทั่วถึง หากเสียงปืนแตกเพียงหนึ่งนัดเมื่อไร ผมจะกลับมาทันที มานำหน้าพี่น้องกอบกู้เอาประชาธิปไตยที่แท้จริงของเรากลับคืนมา ฯลฯ

เอวัง ก็มีด้วยประการฉะนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น