xs
xsm
sm
md
lg

สหรัฐฯประจานไทยกีดกันการค้า “อลงกรณ์”เล็งโต้หากพบบิดเบือน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-USTRประจานไทย มีมาตรการกีดกันทางการค้าเพียบ ทั้งเก็บภาษีนำเข้าสูงสุดในอาเซียน การจัดซื้อโดยรัฐ ระบบศุลกากร ไม่โปร่งใส ปราบสินค้าละเมิดล้มเหลว มาตรฐานสุขอนามัยโอเว่อร์ กีดกันการลงทุนธุรกิจบริการ “อลงกรณ์”ของขึ้น เตรียมโต้ทันควัน หากพบเนื้อหาบิดเบือนกล่าวหาไทยเกินจริง

รายงานจากกระทรวงพาณิชย์ แจ้งว่า เมื่อวันที่ 31 มี.ค.ที่ผ่านมา สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) ได้เผยแพร่รายงานอุปสรรคทางการค้าของประเทศต่างๆ ที่มีผลต่อการค้าสหรัฐฯ ประจำปี 2552 (National Trade Estimate Report on Foreign Trade Barriers 2009 - NTE) ซึ่งข้อมูลในรายงานดังกล่าวจะเป็นส่วนหนึ่งในการนำไปพิจารณาทบทวนสถานะประเทศคู่ค้าด้านทรัพย์สินทางปัญญา ตามกฎหมายการค้า มาตรา 301 พิเศษ ที่จะประกาศผลทบทวนสิ้นเดือนเม.ย.นี้

ทั้งนี้ ในรายงาน NTE สหรัฐฯ ระบุว่า นโยบายการนำเข้าไทยมีการเก็บภาษีนำเข้าที่สูงมากในแทบทุกสินค้า เป็นอุปสรรคในการเข้าถึงตลาดของสหรัฐฯ และปกป้องผู้ผลิตภายในมากเกินไป โดยบางสินค้าเก็บสูงถึง 80% สิ่งทอ 20-30% ผ้าผืน 30% อาหารพร้อมรับประทาน 30-50% บางรายการ 90% สูงที่สุดในอาเซียน ส่วนเนื้อสัตว์ ผลไม้สด ผักสด เนยแข็ง เมล็ดพืช เช่น ถั่วเมล็ดแห้ง ก็เก็บสูงเช่นกัน แม้แต่เฟรนช์ฟราย ที่ไม่มีการผลิตในไทยเก็บสูงถึง 30% เช่นเดียวกับผลิตภัณฑ์ยา ขณะที่สินค้าที่เก็บภาษีนำเข้าสูงสุด คือ ไวน์ เกือบ 400%

ขณะเดียวกัน ไทยยังมีมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่มาตรการทางภาษี โดยเฉพาะกำหนดให้ต้องมีใบอนุญาตการนำเข้าในสินค้าไม่ต่ำกว่า 32 รายการ มีการห้ามนำเข้ารถยนต์เก่า และตู้เกม ที่สำคัญต้องเสียค่าใบอนุญาตนำเข้าสูงถึงตันละ 142 เหรียญสหรัฐ สำหรับสินค้าเนื้อวัว เนื้อหมู และเครื่องในสัตว์ ส่วนไก่ ตันละ 286 เหรียญสหรัฐ มีการกำหนดโควตาภาษีนำเข้าบางสินค้าไม่โปร่งใส และยังพบว่าระบบศุลกากรที่ไม่โปร่งใสของกรมศุลกากร และการบริหารงานที่ขาดความสุขุม รอบคอบของเจ้าหน้าที่กรมศุลกากร รวมไปถึงมีการเก็บภาษีสรรพสามิตที่ไม่เหมะสมในหลายสินค้า เช่น รถยนต์

ในด้านการจัดซื้อโดยรัฐ ขาดความโปร่งใส และไทยไม่ได้ลงนามในข้อตกลงว่าด้วยการจัดซื้อโดยรัฐภายใต้กรอบองค์การการค้าโลก (WTO) การป้องกันและปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาที่ขาดประสิทธิภาพและขาดการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง เจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐฯ ยังถูกละเมิดสิทธิ์เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อ ในด้านการลงทุน ที่ไทยและสหรัฐฯ มีสนธิสัญญาไมตรีและความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ ซึ่งให้สิทธิชาวอเมริกันเยี่ยงคนชาติ แต่ก็ยังจำกัดการลงทุนในอีกหลายสาขา และภาคบริการ ก็มีข้อกีดกันมากมายในแทบทุกสาขา ทั้งโทรคมนาคม บริการทางกฎหมาย ภาคการเงิน การขนส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ เป็นต้น รวมถึงรัฐบาลไทยยังมีมาตรการคุมราคาสินค้า 34 รายการ 1 บริการ และยังมีมาตรการกีดกันอื่นๆ อีก เช่น รัฐบาลไทยปกป้องหน่วยงานรัฐจากการแข่งขันกับชาวต่างชาติ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยา
 
นอกจากนี้ ยังพบว่า มาตรฐานสุขอนามัยพืชและสัตว์ของไทยในบางผลิตภัณฑ์ มีข้อจำกัดสูงกว่ามาตรฐานระหว่างประเทศของ WTO ในบางผลิตภัณฑ์ ที่มีการเปลี่ยนแปลงมาตรฐานสุขอนามัย ก็ไม่มีการแจ้งต่อคณะกรรมการสุขอนามัยของ WTO ก่อนมีผลบังคับใช้จริง

นายอลงกรณ์ พลบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า จะมีการตรวจสอบเนื้อหาในรายงาน NTE ของสหรัฐฯ ที่ออกมาว่ามีข้อมูลถูกต้องตามข้อเท็จจริงหรือไม่ หากไม่ถูกต้องก็ต้องบอกให้รู้ จะได้ไม่เข้าใจผิดอีก แต่ไม่ใช่การชี้แจง เพราะไทยไม่จำเป็นต้องชี้แจง ส่วนรายงานฉบับนี้ จะมีผลต่อการพิจารณาปรับบัญชีสถานะประเทศไทยตามมาตรา 301 อย่างไรนั้น ยังตอบไม่ได้ แต่ทางสหรัฐฯ เองก็บอกว่าจะใช้ข้อมูลปี 2551 ในการพิจารณา ดังนั้น คงเป็นไปได้ที่ไทยจะยังอยู่ในบัญชีประเทศที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษด้านทรัพย์สินทางปัญญา (PWL) คงไม่น่าจะถูกปรับเพิ่มบัญชีขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น