xs
xsm
sm
md
lg

“อลงกรณ์”พกความมั่นใจเต็ม100%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ระหว่างวันที่ 9-17 มี.ค.2552 นี้ นายอลงกรณ์ พลบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ จะนำคณะผู้แทนไทยเดินทางไปเยือนสหรัฐฯ ซึ่งกว่าต้นฉบับจะตีพิมพ์ นายอลงกรณ์คงเดินทางถึงสหรัฐฯ และเริ่มปฏิบัติภารกิจต่างๆ แล้ว แต่ทั้งนี้ นายอลงกรณ์ได้เปิดใจให้สัมภาษณ์ถึงภารกิจสำคัญที่จะทำในระหว่างที่อยู่ในสหรัฐฯ โดยตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะต้องได้อะไรติดไม้ติดมือกลับมาให้กับประเทศไทย

ขอทราบเหตุผลที่ต้องเดินทางไปสหรัฐฯ ครั้งนี้
เป้าหมายการเดินทางก็เพื่อต้องการไปฟื้นความเชื่อมั่น ภาพลักษณ์ของไทยทั้งด้านเศรษฐกิจ และการเมือง และหาทางเพิ่มการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับสหรัฐฯ หลังจากที่ไทยมีรัฐบาลใหม่ และสหรัฐฯ เองก็มีรัฐบาลใหม่ และอีกเหตุผลที่ต้องไป เพราะสหรัฐฯ เป็นตลาดการค้าสำคัญของไทย โดยในปีที่ผ่านมา มีมูลค่าการค้ารวม 3.1 หมื่นล้านบาท ไทยส่งออกมูลค่า 2 หมื่นกว่าล้านบาท และนำเข้า 1.1 หมื่นล้านบาท และเป็นฝ่ายได้ดุลการค้า
“ก่อนที่ผมจะเดินทางไปครั้งนี้ ผมได้ส่งทีมเดินทางไปล่วงหน้า โดยมอบหมายให้อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา (นางพวงรัตน์ อัศวพิศิษฐ์) เป็นหัวหน้าทีม ไปเตรียมการ เตรียมความพร้อม ในการเจรจาหารือทั้งกับภาครัฐบาลและเอกชนของสหรัฐฯ แล้ว พอผมไปถึงก็จะได้ทำงานเลย”

เตรียมอะไรไปคุยกับสหรัฐฯ
ได้เตรียมประเด็นไว้มากมาย เพราะจะพบปะทั้งรัฐบาลและเอกชนของสหรัฐฯ โดยมีเรื่องสำคัญที่จะไปเสนอเพื่อสร้างมิติใหม่ในด้านทรัพย์สินทางปัญญาร่วมกับสหรัฐฯ คือ โครงการไทยแลนด์ โมเดล ที่จะดึงให้นักลงทุนสหรัฐฯ ใช้ไทยเป็นฐานการผลิตสินค้าแบรนด์เนม เพราะที่ผ่านมา แบรนด์ดังๆ ของสหรัฐฯ ได้ลงทุนในไทยอยู่แล้ว ทั้งเสื้อผ้า เครื่องหนัง รองเท้า เครื่องประดับ โดยจะทำให้เกิดความร่วมมือมากขึ้น ให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยี ช่วยไทยพัฒนาแบรนด์ และทำตลาดสินค้าแบรนด์เนม แทนที่สหรัฐฯ จะมารุกไทยให้เข้มงวดเรื่องการปราบปรามสินค้าละเมิดเพียงอย่างเดียว ก็ต้องหันมาช่วยไทยพัฒนาด้วย และจะนำแนวคิดนี้ไปคุยกับทางยุโรป และญี่ปุ่น ที่เป็นเจ้าของแบรนด์ดังต่อไป

มีคิวจะพบปะกับใครบ้าง
ก็อย่างที่บอก จะพบทั้งภาครัฐบาลและเอกชน ภาครัฐบาล โดยการพบกับสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) จะคุยเรื่องนโยบายและมาตรการในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาของไทย และถือโอกาสทำความเข้าใจในประเด็นต่างๆ ที่สหรัฐฯ ยังสงสัย เพราะตอนนี้ USTR กำลังประเมินผลการจัดอันดับประเทศคู่ค้าตามกฎหมายมาตรา 301 พิเศษ และภาคเอกชนสหรัฐฯ ได้ให้ข้อมูลที่มีความคาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริงมาก และส่วนใหญ่เป็นข้อมูลเก่า ก็ต้องไปชี้แจงให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง
ขณะเดียวกัน มีโอกาสที่จะพบปะกับภาคเอกชนสหรัฐฯ ที่เป็นผู้ที่ให้ข้อมูลโดยตรง เช่น สมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์แห่งสหรัฐอเมริกา (PhRMA) องค์กรอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ (BIO) Levi Strauss & Co. องค์กรทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างประเทศ (IIPA) สมาพันธ์ภาพยนตร์ของสหรัฐฯ (MPAA) ผู้แทนบริษัทเคเบิล ซึ่งจะทำการชี้แจงถึงนโยบายและแนวทางการทำงานของรัฐบาลไทย เพื่อให้ภาคเอกชนสหรัฐฯ เกิดความเข้าใจ
นอกจากนี้ ยังมีโอกาสที่จะพบปะกับส.ส. ส.ว. หอการค้าสหรัฐฯ สภาธุรกิจสหรัฐฯ-อาเซียน ซึ่งจะชี้แจงและทำความเข้าใจถึงแนวทางการทำงานของรัฐบาล และมาตรการของไทยในการรับมือวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น เพื่อเรียกความเชื่อมั่นให้กลับคืนมา

คาดหวังแค่ไหนกับการจัดอันดับประเทศคู่ค้าในปีนี้
ยอมรับว่าคงยากที่สหรัฐฯ จะปรับไทยออกจากบัญชีประเทศที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษ (PWL) ในการพิจารณาปีนี้ แต่เชื่อว่า หากรัฐบาลชุดนี้ยังอยู่ทำงาน ปีหน้าสหรัฐฯ จะปรับไทยออกจากบัญชี PWL ลงมาเหลือแค่ WL (ประเทศที่ถูกจับตามอง) แน่นอน

มีประเด็นสำคัญอะไรที่จะไปเจรจาในครั้งนี้อีกหรือไม่
คงจะมีการตั้งคำถามกับสหรัฐฯ เยอะมาก ทั้งเรื่องการห้ามนำเข้าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่ใช้พลอยจากพม่า กฎหมายบาย อเมริกัน ที่จะส่งผลกระทบต่อการค้า รวมไปถึงความชัดเจนเรื่อง FTA ว่าสหรัฐฯ มีนโยบายในเรื่องนี้อย่างไร เป็นการไปหยั่งท่าทีเบื้องต้น หลังจากที่การเจรจาหยุดชะงักมาเกือบ 2 ปีแล้ว
นอกจากนี้ จะไปขอให้สหรัฐฯ คงการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) สินค้าไทยกว่า 3,400 รายการต่อไป หลังจากที่โครงการจะหมดอายุลงในปีนี้ และขอคืนสิทธิ GSP สินค้าไทยอีก 6 รายการ ที่ส่งออกเกินเงื่อนไขที่สหรัฐฯ กำหนด แต่เป็นสินค้าที่ไทยไม่มีคู่แข่ง และสหรัฐฯ เองก็ไม่มีการผลิตสินค้าเหล่านี้
กำลังโหลดความคิดเห็น