“วิทยา” ยันจุดยืนขอสงวนสิทธิ์ทำซีแอล หากจำเป็นเร่งด่วน ไม่สนสหรัฐฯ ขู่เลื่อนบัญชีเป็นประเทศจับตามองสูงสุด ชี้ ควรให้เกียรติ เคารพศักดิ์ศรีของกันและกัน ไม่ใช่เอาประโยชน์ฝ่ายเดียว
วันนี้ (3 มี.ค.) นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ได้ทำหนังสือ เรื่องความเห็นเอกชนสหรัฐฯ ต่อสถานการณ์คุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของไทย มายังกระทรวงสาธารณสุข เพื่อสอบถามถึงนโยบายการดำเนินการตามนโยบายการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรโดยรัฐ (ซีแอล) ว่า ขณะนี้ยังไม่ได้รับหนังสือดังกล่าวอย่างเป็นทางการ แต่ติดตามข่าวทราบว่า สหรัฐฯ อยู่ระหว่างการดำเนินการเลื่อนสถานะประเทศไทยจากประเทศจับตามองพิเศษ (พีดับบลิวแอล) เป็นประเทศที่มีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาสูงสุดสูงสุด (พีเอฟซี) ซึ่งไม่ได้เป็นประเด็นเกี่ยวข้องกับการละเมิดลิขสิทธิ์ซีดี แต่พุ่งเป้ามาที่การทำซีแอลของประเทศไทย เนื่องจากรัฐบาลสหรัฐถูกอุตสาหกรรมยาในประเทศกดดันให้ไทยไม่ประกาศซีแอลอีกต่อไป
“เข้าใจว่า ครั้งนี้เป็นการพุ่งเป้ามาที่การทำซีแอลโดยเฉพาะ แต่ผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องโดยตรง คือกระทรวงพาณิชย์ ที่ต้องชี้แจง ดังนั้น สธ.จะจัดทำข้อมูลตามข้อเท็จจริง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างทำข้อมูลรายงานให้ พณ.ทราบ ซึ่งในการรับมือเพื่อแก้ปัญหานี้เพียงแค่พูดตามความจริงและเอาผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก ดังนั้น การที่สหรัฐฯขู่ว่าจะจัดอันดับประเทศไทยเป็นประเทศจับตามมองสูงสุดนั้น พณ.ต้องกลับไปตรวจสอบข้อมูลว่าสหรัฐฯ ซื้อสินค้าอะไรจากประเทศไทยบ้าง” นายวิทยา กล่าว
นายวิทยา กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม ที่ผ่านมา คณะกรรมการสภาธุรกิจสหรัฐฯ-อาเซียน (U.S.ASEAN BUSINESS COUNCIL) ได้เข้าพบตน และได้สอบถามถึงท่าเกี่ยวกับการทำซีแอลของไทยด้วยเช่นกัน ซึ่งตนได้ชี้แจงแล้วว่า ไทยจะสงวนสิทธิ์ในการทำซีแอล หากเกิดกรณีความจำเป็นเร่งด่วน เช่น การเกิดภัยพิบัติ ไทยจะประกาศซีแอลทันที เพื่อเป็นประโยชน์ของประชาชนในการเข้าถึงยาราคาที่เป็นธรรม ไม่แพงจนเกินไป ซึ่งการประกาศซีแอล มีกระบวนการหลายขั้นตอน และไทยจะทำให้ถูกต้องทุกกระบวนการ จะต้องมีการเจรจาหารือกับกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
“ได้ยืนยันท่าทีชัดเจนว่า จะยังไม่ทำซีแอลยาตัวใหม่ในเวลานี้ แต่ทุกตัวที่ทำมาก่อนหน้านี้จะต้องเดินหน้าต่อไป ไม่มีเหตุผลที่จะต้องหยุด หรือยกเลิก ส่วนอนาคตหากมีความจำเป็นต้องทำซีแอลก็จะต้องโดยไม่รีรอ เนื่องจากไม่ได้เป็นการทำผิดกฎหมาย และไม่ได้เป็นการละเมิดสิทธิบัตรยาด้วย แต่จะไม่ทำอะไรโดยพลการ หรือไม่มีเหตุผลที่ทำให้กระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรือเกิดข้อขัดแย้งขึ้น ซึ่งคณะกรรมการสภาธุรกิจสหรัฐฯ-อาเซียน มีความเข้าใจ และบอกด้วยว่าไม่ควรกดดันไทยเช่นนี้” นายวิทยา กล่าว
นายวิทยา กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ เบื้องต้นได้หารือด้วยวาจากับ นายอลงกรณ์ พลบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เกี่ยวกับเรื่องนี้แล้ว ซึ่ง รมว.พาณิชย์ ก็เข้าใจสถานการณ์ว่า เรื่องนี้เป็นการกดดันของสหรัฐฯ และบริษัทยาข้ามชาติ ดังนั้น ไทยจำเป็นต้องส่งสัญญาณให้สหรัฐฯ รับรู้ว่า ไม่ควรใช้วิธีนี้กดดันไทย และควรอยู่อย่างให้เกียรติ เคารพในศักดิ์ศรีของกันและกันมากกว่า ไม่ใช่ว่าสหรัฐฯ หรือบริษัท จะได้ประโยชน์อยู่ฝ่ายเดียวเท่านั้น
นายวิทยา กล่าวด้วยว่า ส่วนการที่สหรัฐฯ ระบุว่า ไทยมีปัญหายาปลอมระบาดก็เป็นเรื่องที่กล่าวหากัน โดยเข้าใจว่า ยาปลอมที่ระบาดนั้น ก็คือ ยารักษาโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ (ซิดินาฟิล) ที่มีขายตามชายแดนในราคาถูก ซึ่งของแท้ราคา เม็ดละ 50 บาท แต่ของปลอมราคาเม็ดละ 5 บาทเท่านั้น คงเป็นราคาที่คนไทยไม่กล้าซื้อมาใช้อยู่แล้ว เพราะราคาถูกเกินไปอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้ ส่วนเงื่อนไขเรื่อง การขยายเวลาคุ้มครองสิทธิบัตรยา จาก 20 ปี เพิ่มเป็น 25 ปีนั้น ยังไม่ทราบว่าสหรัฐฯ ได้เสนอเงื่อนไขนี้ด้วย ซึ่งเรื่องนี้ ตนก็ไม่เห็นด้วย เพราะการคุ้มครองสิทธิบัตรยามานานถึง 20 ปี ก็นานพอแล้ว และควรจะให้เรื่องสิทธิบัตรยาเป็นสมบัติของมวลมนุษยชาติได้แล้ว