คณะนักธุรกิจจากสภาอาเซียน-สหรัฐฯ 20 บริษัท พบ “อภิสิทธิ์” ที่ทำเนียบ ยันขอพัฒนาธุรกิจในประเทศไทยต่อเนื่อง หยอดคำหวานบอกไทยเป็นศูนย์กลางภูมิภาค ด้าน นายกฯ ยืนยันให้ความสำคัญ พร้อมดูแลหุ้นส่วนทางธุรกิจ ประกาศหาพันธมิตรสร้างอุตสาหกรรมอาหารโลก ช่วยเหลือวิกฤติขาดแคลนอาหาร
วันนี้ (4 มี.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นาย Eric G. John เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย พร้อมด้วย นาง Frances Zwenig, Counselor, USABC และ นาง Laura Hudson, Chair of the US–Thailand Business Committee ของ USABC นำคณะนักธุรกิจจากสภาธุรกิจอาเซียน-สหรัฐฯ (USABC) โดยมีผู้แทนจากบริษัทต่างๆ กว่า 20 บริษัท อาทิ Abbott, AIG, Chevron, The Coca-Cola Company, ConocoPhillips, Fords, GE, GSK, Guardian Industries Corp, Johnson & Johnson, Merck, Pfizer, Phillip Morris, Time Warner และ UPS เข้าเยี่ยมคารวะนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี โดยมีนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี เข้าร่วมหารือ
โดยนายอภิสิทธิ์กล่าวต้อนรับคณะนักธุรกิจสหรัฐฯ ยืนยันว่ารัฐบาลเห็นถึงความสำคัญของภาคเอกชน ในฐานะหุ้นส่วนสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการค้าการลงทุน รัฐบาลพร้อมดูแล รับฟังปัญหา และจะทำงานร่วมกับภาคเอกชน เพื่ออำนวยต่อการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจดังกล่าว
ทั้งนี้ คณะนักธุรกิจจากสภาธุรกิจอาเซียน-สหรัฐฯ ได้กล่าวแสดงความยินดีที่ได้มีโอกาสเข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรี แม้การเดินทางมาไทยในครั้งนี้จะเป็นช่วงเวลาสั้น แต่ก็ได้พบปะและพูดคุยกับผู้บริหารระดับสูงของรัฐบาล ทั้งนี้ คณะนักธุรกิจยืนยันที่จะพัฒนาธุรกิจในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง และเห็นว่า ไทยเป็นศูนย์กลางภูมิศาสตร์ที่สำคัญในภูมิภาค
นายกฯ กล่าวในตอนท้ายว่า ไทยมีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมบริการและธุรกิจสร้างสรรค์ต่างๆ เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ เพิ่มมูลค่าและสร้างความเข้มแข็งให้กับประเทศไทยในเวทีโลก รัฐบาลเองก็ให้ความสำคัญในการเพิ่มผลผลิต และพัฒนาเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ในเดือนหน้านี้ ตนจะได้เข้าร่วมการประชุม G20 ที่สหราชอาณาจักรด้วย ซึ่งจะถือโอกาสส่งสารไปยังประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำต่างๆ ว่าไทยในฐานะประเทศผู้ผลิตอาหารของโลก เห็นว่าอุปสรรคสำคัญในเรื่องการขาดแคลนอาหารของโลกนั้น มิได้อยู่มีผลผลิตไม่เพียงพอ แต่ระบบการตลาดที่บิดเบี้ยว ทำให้อาหารที่ถูกผลิตไม่สามารถไปถึงผู้บริโภค โดยเฉพาะคนยากคนจนที่อยู่ทั่วโลกได้ การร่วมมือมือกันในการพิจารณากลไกการค้าของโลกจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ
นายปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี รักษาการโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังคณะนักธุรกิจสหรัฐเข้าพบนายกรัฐมนตรี ว่า คณะดังกล่าวเข้าเยี่ยมคารวะนายกฯเพื่อขอทราบแนวทางดำเนินการทางเศรษฐกิจการค้า การลงทุน และการต่างประเทศของรัฐบาล รวมไปถึงแนวทางการดำเนินการทางการค้าการลงทุน ซึ่งสภาธุรกิจสหรัฐ-อาเซียน ประกอบด้วย บริษัท เชฟรอน, ยูพีเอส (United Parcel Service), ฟอร์ด โคคา-โคล่า, ฟิลลิป มอร์ริส อินเตอร์เนชั่นแนล, โคโนโค,ไฟเซอร์, ไทม์ วอร์เนอร์ และบริษัทผลิตอาหารอีกหลายบริษัท โดยรวมมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นสอบถามความคืบหน้าประมาณ 10เรื่อง โดยเฉพาะกฎหมายที่เป็นอุปสรรคทางการค้าและการลงทุน เพราะต้องประสานกับหลายหน่วยงาน
นายปณิธานกล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ยังมีการพูดถึงเรื่องสิทธิบัตรยา มีการหารือและมีข้อกังวลเกี่ยวกับสิทธิของรัฐเหนือสิทธิบัตรยาหรือ ซีแอลล์ รวมไปถึงการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งนายอลงกรณ์ พลบุตร รมช.พาณิชย์จะเดินทางไปยังสหรัฐอเมริกาเพื่อหารือในรายละเอียด รวมไปถึงการลงทุนอื่นๆ อาทิ ภาษีศุลกากร การลงทุนในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล ระหว่างไทย-กัมพูชา อย่างไรก็ตาม ได้มีการสอบถามด้านกิจการโทรคมนาคมมีการสอบถามการจัดตั้งคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะนายกรัฐมนตรี ได้แจ้งความคืบหน้าให้ทราบว่า ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวจะเข้าสภาในวันนี้
นายปณิธานยังกล่าวอีกว่า ที่ประชุมได้หารือแลกเปลี่ยนวิธีการทำงานของรัฐบาลในนโยบายเศรษฐกิจ สภาธุรกิจสหรัฐฯ-อาเซียนได้สอบถามว่า การทำงานรัฐบาลประสานงานกันอย่างไรระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล โดยนายกฯแจ้งว่า ในรูปแบบผ่านคณะกรรมการทางคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจจะมีการจัดตั้งสำนักงานประสานงานที่เป็นอุปสรรคต่างๆ ซึ่งการแลกเปลี่ยนเป็นไปด้วยดี มีความพอใจทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งนายกฯ ได้ให้ความมั่นใจความคืบหน้าที่รัฐบาลไทยพยายามผลักดันด้านการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะคู่ค้าสำคัญเป็นไปได้ด้วยดี ด้วยการพยายามแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องกับสภาพในปัจจุบัน ซึ่งจะตั้งสำนักงานประสานงานในการช่วยเหลือดูแลปัญหาอุปสรรคต่างๆ เรียกว่า “One Start Services” โดยนายกฯ ได้มอบหมายให้นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกฯ เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบ เพื่อให้การค้าการลงทุนมีความสะดวกในการดำเนินการ ถือว่าเป็นการทำงานให้เศรษฐกิจไทย
นายปณิธานกล่าวอีกว่า ไทยได้ผลักดันให้มีการรักษาการคุ้มครองสิทธิทางปัญญา และเรื่องสิทธิบัตรยาตามมาตรฐานสากล เป็นท่าทีที่ได้รับการตอบสนองที่ดีของสหรัฐอเมริกา เพื่อไม่ให้ถูกลดสถานภาพจากกลุ่มประเทศที่ถูกจับตามอง (Watch List) ไปอยู่ในประเทศที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษหรือ (Parity Watch List) โดยไทยแสดงความจริงใจ โปร่งใสทางด้านทรัพยสินทางปัญญามาหลายรัฐบาล ซึ่งนายกฯ ได้ย้ำกับนักธุรกิจว่า 2-3 รัฐบาลที่ผ่านมาพยายามเต็มที่ที่ดำเนินการป้องกันในเรื่องทรัพยสินทางปัญญา รวมไปถึงสิทธิบัตรยา ฉะนั้นไทยจึงไม่สมควรถูกขึ้นทะเบียนหรือลดสภาพลง ซึ่งนายกฯ เกรงว่าองค์กรต่างๆ ที่ดูแลในเรื่องนี้หากถูกลดสถานภาพลง อาจเป็นสัญญาณไม่ดี จึงได้ขอให้สภาธุรกิจสหรัฐฯ ได้ชี้แจงไปยังผู้บริหารประเทศ หรือรัฐบาลชุดใหม่ของสหรัฐอเมริกาให้ช่วยดูแลแก้ปัญหา ซึ่งสหรัฐอเมริกาจะจัดอันดับประเทศที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษอีกครั้งในวันที่ 1 พ.ค. ซึ่งหลายกลุ่มได้เสนอให้รัฐบาลสหรัฐฯเพื่อรับทราบปัญหาและนำไปพูดคุยกับรัฐบาลสหรัฐฯ ต่อไป
โดยรวมไปให้ความเชื่อมั่นกับนักธุรกิจสหรัฐฯ และชี้แจงสภาพการเมืองไทย รวมไปถึงการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งได้ตกลงในการติดตามเรื่องดังกล่าวต่อไป โดยประสานผ่านนายก อร์ปศักดิ์ ต่อไป
นายปณิธานได้เปิดเผยอีกว่า ทางสภาธุรกิจสหรัฐฯ-อาเซียนได้ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ร่าง พ.ร.บ.กิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติจะเข้าสภา โดยนายอภิสิทธิ์ได้ให้ความเชื่อมั่นว่าภายในปลายปีจะสามารถผลักดันได้ อย่างไรก็ตาม เรื่องซีแอลยา แรงกดดันอยู่ที่สหรัฐ ฯ เนื่องจากแนวทางในหลายประเทศสนับสนุนให้ประชาชนเข้าถึงยาราคาแพงได้ เป็นไปตามแนวทางปฏิบัติของมูลนิธิต่างๆ เช่น มูลนิธิคลินตัน ทั้งนี้ บริษัทยามีความกังวลเรื่องสิทธิบัตรยา และรายได้ คงต้องหารือในระดับสูง
เมื่อถามว่า การลงทุนในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล ระหว่างไทย-กัมพูชา กลุ่มไหนให้ความสนใจเป็นพิเศษ นายปณิธานกล่าวว่า ทางสภาธุรกิจสหรัฐฯ-อาเซียน จะเดินทางไปหารือกับนายกฯ ฮุนเซน ในวันนี้ (4 มี.ค.) เพื่อสอบถามความคืบหน้าการตกลงในพื้นที่ทับซ้อน เพื่อได้รับการยินยอมทั้ง 2 ฝ่ายเพื่อเดินหน้าลงทุนด้านขุดเจาะน้ำมัน โดยนายกฯ กล่าวในที่ประชุมว่าได้พบกันกับนายกฯ ฮุนเซน แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ตกลงในหลักการเรื่องปัญหาการแบ่งปันเส้นเขตแดนจะต้องหารือในคณะกรรมาธิการร่วมชายแดนไทย-กัมพูชา หรือเจบีซี เดินหน้า อย่างไรก็ตาม ติดขัดปัญหาเพียงแค่ชื่อของเขาพระวิหารและกองกำลังทหารเพียงนิดเดียว ส่วนการสำรวจทางบกและทางทะเลคืบหน้าไปมาก
หลังจากนั้น เอกอัคราชทูตสหรัฐฯ ยังได้เข้าพบนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีด้วย