xs
xsm
sm
md
lg

หยวนแข็งซ้ำเติมผู้ส่งออกชาวเอเชียในจีน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คนงานกำลังผลิตธงชาติสหรัฐอเมริกาในโรงงานที่เซี่ยงไฮ้ ขณะนี้ ค่าเงินหยวนที่แข็งค่ารวมถึงร้อยละ 18 นับตั้งแต่จีนเลิกตรึงค่าเงินกับดอลลาร์สหรัฐในปี 2005 กำลังพ่นพิษใส่กลุ่มบริษัทเอเชีย ที่เข้าไปตั้งฐานผลิตในจีน เพื่อส่งสินค้าออกไปยังสหรัฐฯ หลายรายถึงขั้นเจ๊ง ปิดกิจการ ลอยแพคนงาน-ภาพเอเอฟพี
เอเอฟพี – การที่เงินหยวนแข็งค่าอย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐจะส่งผลทางลบต่อบริษัทสัญชาติเอเชียที่ใช้ประเทศจีนเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา ขณะที่ผู้ผลิตเหล่านี้ส่งออกได้น้อยลงอยู่แล้วเนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ถดถอย

ในขณะนี้อัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวนต่อดอลลาร์สหรัฐอยู่ที่ราว 7.0 หยวนต่อดอลลาร์ โดยเงินหยวนได้แข็งค่าขึ้น 18% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ นับตั้งแต่รัฐบาลจีนประกาศเลิกตรึงค่าเงินไว้กับดอลลาร์สหรัฐเมื่อกรกฎาคมปี 2005

จอห์น ฟริสบี ประธานสภาธุรกิจสหรัฐฯ-จีนได้ออกมาชี้ว่า ค่าเงินหยวนที่แข็งขึ้นทำให้การส่งออกของสหรัฐฯ มีแรงแข่งขันมากกว่าสินค้าจีนในสหรัฐฯ เอง ขณะที่ต้นทุนดำเนินธุรกิจของบริษัทสัญชาติเอเชียจำนวนมากที่ผลิตสินค้าและส่งออกจากประเทศจีนไปยังสหรัฐฯ ต้องสูงขึ้น เพราะบริษัทเหล่านี้ต้องจ่ายเงินสกุลท้องถิ่นเป็นจำนวนมากขึ้นสำหรับค่าแรงและวัตถุดิบ และยังต้องขายสินค้าออกไปโดยรับเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐ

ในทางตรงข้าม บริษัทอเมริกันที่มีฐานการผลิตในประเทศจีนซึ่งส่วนใหญ่มุ่งทำตลาดภายในประเทศจีนกลับไม่ได้รับผลกระทบเท่าใดนัก ทั้งนี้ บริษัทเอเชียที่ลงทุนในประเทศจีนเพื่อส่งออกไปยังตลาดสหรัฐส่วนใหญ่เป็นบริษัทที่มาจากญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน ฮ่องกง มาเลเซียและสิงคโปร์ โดยบริษัทเหล่านี้ได้ย้ายฐานการผลิตสู่ประเทศจีนเมื่อราว 10 ปีที่แล้วเพื่อให้ต้นทุนต่ำลง

นอกจากนี้ บริษัทเอเชียเหล่านี้ยังได้รับผลกระทบจากดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงด้วย เพราะความต้องการในตลาดสหรัฐลดน้อยลงเนื่องจากเศรษฐกิจถดถอย ทั้งนี้ ในปีนี้ดอลลาร์สหรัฐตกลงถึง 4% เมื่อเทียบกับเงินหยวน หลังจากเมื่อปีที่แล้วตกไปถึง 7%

การที่เงินหยวนแข็งค่าขึ้นซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากนโยบายสยบภาวะเงินเฟ้อภายในประเทศ ดูจะเป็นการเย้ยหยันเล็กน้อย เพราะในช่วงหลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลปักกิ่งถูกวอชิงตันกล่าวหามาตลอดว่าจงใจตรึงให้ค่าเงินหยวนต่ำเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ เพื่อให้ได้เปรียบเมื่อส่งออกสินค้าไปยังตลาดโลก

อย่างไรก็ตาม ฟริสบีกล่าวว่าความเห็นของสภาธุรกิจฯ ต่ออัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวนยังคงอยู่ในจุดที่ว่า “ตลาดควรเป็นเป็นปัจจัยกำหนดค่าเงินที่แท้จริงที่ดีที่สุด”

ด้านนิโคลัส ลาร์ดี้ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องจีนจากสถาบันเศรษฐกิจนานาชาติปีเตอร์สันในวอชิงตัน ซึ่งเพิ่งตีพิมพ์หนังสือเรื่อง “Debating China’s exchange rate policy” กล่าวว่า สินค้าที่ผลิตในจีนที่ขายอยู่ในสหรัฐขณะนี้ราคาได้ขยับสูงขึ้น แต่ยังไม่มากเท่าค่าเงินหยวนที่สูงขึ้น ในขณะที่การส่งออกของจีนกำลังชะลอตัว

ลาร์ดี้เสริมอีกว่า ขณะที่ประเด็นค่าเงินหยวนลดความน่าสนใจลงในสภาคองเกรสเนื่องจากเงินหยวนเริ่มแข็งค่าขึ้นแล้ว แต่สิ่งที่ยังคงอยู่คือความกังวลเกี่ยวกับตัวแดงในบัญชีเดินสะพัดที่สหรัฐฯ ขาดดุลให้กับจีนจำนวนมหาศาล

ลาร์ดี้แนะว่าเราไม่ควรมุ่งมองแค่อัตราแลกเปลี่ยนระหว่างหยวนกับดอลลาร์สหรัฐ แต่ควรมองไปที่ค่าเงินหยวนต่อตะกร้าเงินที่อิงตามน้ำหนักการค้าที่รวมสกุลเงินของประเทศที่เป็นคู่ค้าของจีน

ทั้งนี้ ตั้งแต่กลางปี 2005 เป็นต้นมาค่าเงินหยวนสูงขึ้น 18% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ แต่เพิ่มขึ้นเพียง 10% เท่านั้นตามน้ำหนักทางการค้า ซึ่งยังไม่สูงพอที่จะทำให้เกินดุลจำนวนมหาศาล อย่างไรก็ตาม เมื่อปี 2007 จีนได้ทำลายสถิติเกินดุลการสูงสุดถึง 378,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 12% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศจีนเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น