xs
xsm
sm
md
lg

ปรัชญากฎหมายขององค์พระประมุข

เผยแพร่:   โดย: ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน

องค์พระประมุขทรงเป็นผู้ปกครองที่มีพระปรีชาสามารถ เข้าใจลึกซึ้งในการปกครองบริหาร กฎหมาย และปรัชญากฎหมาย ความยุติธรรมทางสังคม รวมตลอดทั้งระบบเศรษฐกิจ พระราชดำริเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงนั้นถือได้ว่าเป็นสำนักความคิดหนึ่งซึ่งแตกต่างจากกระแสหลัก โดยมุ่งเน้นถึงการไม่ขยายเศรษฐกิจจนเกินเลย อันจะนำไปสู่ปัญหาทางเศรษฐกิจ และในส่วนนี้ปัญหาเศรษฐกิจที่สหรัฐฯ กำลังเผชิญอยู่นี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นการลงทุนและขยายการผลิตและการบริโภค การปล่อยสินเชื่อ โดยไม่คำนึงถึงผลลบที่ตามมา กล่าวอีกนัยหนึ่ง เป็นผลมาจากการกระทำตรงกันข้ามกับหลักเศรษฐกิจพอเพียง

ในส่วนปรัชญากฎหมายขององค์พระประมุขนั้น นายสงวน ลิ่วมโนมนต์ สมาชิกภาคี สำนักธรรมศาสตร์และการเมือง ราชบัณฑิตยสถาน ได้เสนอบทความในหัวข้อ “ปรัชญากฎหมายไทย” ซึ่งได้มีการยกปรัชญาความคิดทางกฎหมายขององค์พระประมุขมาหลายตอน ซึ่งล้วนแต่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อกฎหมายและหลักความยุติธรรม กระบวนการออกกฎหมาย การนำกฎหมายไปปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ ซึ่งจะขอยกมาให้เห็นเป็นตัวอย่างอีกเพื่อเป็นข้อคิดสำหรับการตรากฎหมายและการใช้กฎหมายต่อสำหรับผู้มีหน้าที่โดยตรง และสำหรับประชาชนผู้มีความสนใจอยากรู้ในเบื้องต้น สิ่งซึ่งเห็นได้ชัดจากพระราชดำรัสต่างๆ นั้น สรุปความได้ว่า ปรัชญากฎหมายขององค์พระประมุขนั้นมีหลักการสำคัญที่สุดคือ “กฎหมายมิใช่ตัวของความยุติธรรม แต่กฎหมายจะต้องมีเป้าหมายเพื่อความยุติธรรม หรือเรียกว่า ความยุติธรรมจะต้องอยู่เหนือกฎหมายหรือเป็นใหญ่กว่ากฎหมาย”

กฎหมายจึงต้องมีไว้เพื่อความสงบสุขของบ้างเมือง มิใช่มีไว้สำหรับบังคับประชาชน ซึ่งจะส่งในทางตรงกันข้ามกับหลักการเรื่องสิทธิเสรีภาพ ในส่วนนี้นั้นมีนัยสำคัญอย่างยิ่งต่อบทบาทของกฎหมาย เจตนารมณ์ของกฎหมาย รวมตลอดทั้งนัยที่ตามมาในทางการเมือง ดังจะเห็นได้จากพระบรมราโชวาทของพระองค์ท่านใน “วันรพี” ของคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ทรงพระราชทาน ณ ตำหนักจิตรลดารโหฐาน ในวันพุธที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2516 ใน “ประมวลพระราชดำรัส หน้า 54” ความว่า

“เราจะต้องพิจารณาในหลักว่า กฎหมายมีไว้สำหรับให้มีความสงบสุขในบ้านเมือง มิใช่ว่า กฎหมายมีไว้สำหรับบังคับประชาชน ถ้ามุ่งหมายที่จะบังคับประชาชนก็จะกลายเป็นเผด็จการ กลายเป็นสิ่งที่บุคคลหมู่น้อยจะต้องใช้บังคับบุคคลหมู่มาก ในทางตรงกันข้ามกฎหมายมีไว้สำหรับให้บุคคลส่วนมากมีเสรี และอยู่ได้ด้วยความสงบ”

ในส่วนของการตรากฎหมายนั้น มีจุดประสงค์หลักเพื่อก่อให้เกิดความสงบสุขในบ้านเมือง และเพื่อธำรงไว้ซึ่งความยุติธรรม แต่ในบางครั้งเนื่องจากความเหลื่อมล้ำของคนในสังคม ในแง่ข่าวสารข้อมูลและความรู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจกับราษฎร ซึ่งส่วนใหญ่ก็มัวใช้เวลาในการทำมาหากิน ไม่สามารถจะมีความรอบรู้ว่ามีกฎหมายใดบ้างที่ได้ตราออกมา และถ้าไม่มีการบอกกล่าวโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐก็อาจจะมีการกระทำสิ่งที่ผิดกฎหมาย

ขณะเดียวกันหลักการของกฎหมายก็มีอยู่ว่า “ผู้ใดจะอ้างความไม่รู้กฎหมายมาเป็นข้อแก้ตัวไม่ได้” (ignorantia juris non excusat) แต่ในความเป็นจริงเขาไม่รู้กฎหมายจริงๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่องค์พระประมุขได้ทรงตักเตือนไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการทำงานของเจ้าหน้าที่ซึ่งจะต้องคำนึงถึงความเป็นจริงด้วย เพื่อให้การบังคับกฎหมายนั้นมีความยุติธรรมอย่างแท้จริง และสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง ดังความว่า

“เราไม่ปรารถนาเลยที่จะให้มีผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ในประเทศไทย แต่เราก็สร้างขึ้นมาเองโดยการไปชี้หน้าชาวบ้านที่เขาปกครองตัวเองดีแล้ว เรียบร้อยแล้ว เป็นประชาธิปไตยอย่างชอบแล้วว่า บุกรุกเข้ามาอยู่ในป่าสงวน และขับไล่ให้เขาย้ายออกไป...ป่าสงวนนั้นเราขีดเส้นบนแผนที่ เจ้าหน้าที่จะไปถึงหรือไม่ได้ก็ช่าง และส่วนมากก็ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ไม่ได้ไป ดังนั้น ราษฎรจะทราบได้อย่างไรว่า ที่ที่เขาเข้ามาอาศัยอยู่เป็นป่าสงวน และเมื่อเราถือว่าเขาเป็นชาวบ้านก็ไปกดหัวเขา ว่าเขาจะต้องทราบกฎหมาย แต่กฎหมายอย่างนี้เป็นแต่เพียงขีดเส้นทับเขาไม่ใช่กฎหมายแท้ ที่เป็นกฎหมายก็เพราะพระราชบัญญัติป่าสงวนเป็นกฎหมาย ซึ่งจะให้เขาทราบเองก็เป็นไปไม่ได้เพราะทางฝ่ายปกครองไม่ได้นำเอากฎหมายนั้นไปแจ้งให้แก่เขา...”

“...ถ้าดูในทางกฎหมายเขา (หมายถึงราษฎร) ก็เป็นอยู่อย่างฝ่าฝืน เพราะว่าตรามาเป็นกฎหมายโดยชอบธรรม แต่ว่าถ้าตามธรรมชาติใครเป็นผู้ทำผิด ก็ผู้ที่ขีดเส้นนั่นเอง เพราะว่าบุคคลที่อยู่ในป่านั้นเขาอยู่มาก่อน เขามีสิทธิในทางเป็นมนุษย์ หมายความว่าทางราชการบุกรุกบุคคล ไม่ใช่บุคคลบุกรุกกฎหมายบ้านเมือง...”


ที่สำคัญ พระองค์ท่านยังชี้ให้เห็นว่าการตรากฎหมายโดยอาศัยหลักการของต่างประเทศโดยไม่คำนึงถึงความเป็นอยู่ของประชาชนซึ่งมีความแตกต่างกันตามท้องที่ และอาจจะมีกฎประเพณีของท้องถิ่นซึ่งบางครั้งก็อาจไม่สอดคล้องกับกฎหมายสมัยใหม่ ดังนั้น กฎหมายกับความเป็นจริงก็อาจขัดกัน พระองค์ท่านได้เตือนให้เห็นข้อเท็จจริงดังกล่าวเพื่อการตรากฎหมายและการปรับปรุงกฎหมาย แต่ในความเป็นจริงก็คือ การนำกฎหมายไปปฏิบัติ เจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่ในประเทศยังคงใช้วิธีแปลความตามลายลักษณ์อักษรมากกว่าเจตนารมณ์ เพราะไม่ต้องการจะเสี่ยงต่อการกระทำผิดกฎหมาย

ขณะเดียวกันการแปลกฎหมายตามเจตนารมณ์จะต้องมีความรู้เรื่องปรัชญา มีความสามารถที่จะตีความกฎหมาย นอกเหนือจากวิชาการทางนิติศาสตร์ แต่อาจต้องคำนึงถึงทางรัฐศาสตร์ ทางจริยธรรมและศีลธรรม ดังที่พระองค์ท่านได้มีพระราชดำรัสให้เห็นข้อเท็จจริงดังกล่าว

“...ในเมืองไทยนี้ ถ้าสังเกตดูวิธีการปกครองข้าราชการเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลไปถึงจังหวัด ถึงอำเภอ ถึงตำบลต่างๆ จริง แต่ว่าบางทีบางหมู่บ้านที่อยู่ในที่ลึกในป่าในภูเขาเจ้าหน้าที่ปกครองไม่ได้ไปถึง ชาวบ้านพวกนั้นเขาก็อยู่ของเขาโดยดี มีกฎเกณฑ์ของเขาเอง แต่ว่าไม่ใช่กฎหมายบ้านเมืองอย่างที่เรียกว่าเป็นกฎหมายที่ในการปกครองส่วนกลาง ถ้ามีการผิดหรือมีการทำอะไรผิดหลักของกฎหมายเขาก็ไม่ทราบ ในที่เช่นนั้นหลักใหญ่ของกฎหมายที่ว่า ประชาชนทุกๆ คนจะต้องทราบถึงกฎหมายนั้น จะมาใช้การไม่ได้ เพราะว่าประชาชนในที่บางส่วนไม่ทราบถึงกฎหมาย ด้วยเหตุที่เจ้าหน้าที่หรือฝ่ายปกครองไม่ได้มีโอกาสไปชี้แจง และประชาชนเหล่านั้นก็ไม่มีโอกาสที่จะทราบว่าเราวางหลักเกณฑ์ไว้อย่างไร...” (พระราชดำรัสพระราชทานแก่คณะกรรมการจัดงาน “นิติศาสตร์รำลึก” ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน 24 กรกฎาคม 2513)

“...กฎหมายกับความเป็นอยู่ที่เป็นจริงอาจขัดกัน และในกฎหมายก็มีช่องโหว่มิใช่น้อย เพราะเราปรับปรุงกฎหมายและการปกครองโดยอาศัยหลักการของต่างประเทศ โดยมิได้คำนึงถึงความเป็นอยู่ของประชาชนว่าในที่สุดเป็นอย่างไร...” (พระราชดำรัสพระราชทานแก่คณะกรรมการจัดงาน “นิติศาสตร์จุฬา” ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน 13 มีนาคม 2512)

“...การนำบทบัญญัติที่ปฏิบัติไม่ได้ตามสภาพที่เป็นจริงของชีวิตมาบังคับใช้ เป็นต้นเหตุแห่งความเดือดร้อนแตกแยกในชาติและประชาชน บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่จะยังความสงบเรียบร้อยให้เกิดขึ้นได้ต้องตราขึ้นตามสภาพการณ์และสภาพชีวิตที่แท้จริงของบ้านเมืองและบุคคล...” (พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานประกาศนียบัตรของสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา ณ ศาลาดุสิดาลัย 7 สิงหาคม 2514)

“...ถ้าทุกสิ่งทุกอย่างในบ้านเมืองไม่มีความเรียบร้อย มีกฎหมายที่ไม่มีประสิทธิภาพ ก็จะทำให้งานการส่วนมากไม่ก้าวหน้าได้ ถ้าได้ตั้งกฎหมายและเป็นกฎหมายที่ปฏิบัติได้ บ้านเมืองก็จะมีอย่างที่เรียกว่ามีขื่อมีแป...” (พระบรมราโชวาทพระราชทานแก่คณะกรรมการจัดงานนิติศาสตร์ ครั้งที่ 5 ประจำปี 2513 ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน 25 มิถุนายน 2514)

องค์พระประมุขยังมีพระราชดำรัสเกี่ยวกับเรื่องสิทธิเสรีภาพและบทบาทของกฎหมาย โดยพระองค์ท่านทรงชี้ให้เห็นว่า เสรีภาพจะต้องใช้ด้วยความระมัดระวังและด้วยความรับผิดชอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่กระทบกระเทือนต่อเสรีภาพของคนอื่น ขณะเดียวกันการมีกฎหมายก็มีเพื่อความสงบสุขในบ้านเมือง และต้องระมัดระวังมิให้กระทบกระเทือนต่อเสรีภาพ เพราะถ้ามุ่งเน้นบังคับประชาชนก็จะกลายเป็นเผด็จการ อย่างไรก็ตาม ก็ต้องมีกฎเกณฑ์ของบ้านเมืองที่จะใช้บังคับเมื่อคนอยู่รวมกันเป็นหมู่มาก เพราะมิฉะนั้นก็อาจจะนำไปสู่ความไม่สงบเรียบร้อยได้ ดังจะเห็นได้จากพระราชดำรัสของพระองค์ท่านข้างล่างนี้

“...คนที่อยู่รวมกันเป็นหมู่มาก แม้ได้ชื่อว่าเป็นอิสรชนก็ใช่อิสรภาพ คือ ความเป็นใหญ่ของตนเต็มที่ไม่ได้หากจำเป็นต้องจำกัดไว้ด้วยกฎข้อบังคับและวินัยอันเหมาะสม เพื่อให้แต่ละคนมีอิสรภาพสม่ำเสมอกัน ทั้งมิให้ล่วงละเมิดกันและกัน กฎที่บังคับใช้แก่ทุกคนได้ก็มีอยู่อย่างเดียวคือกฎหมาย....” (พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานประกาศนียบัตรแก่ผู้สอบไล่ได้ตามหลักสูตรของสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร 27 ตุลาคม 2523)

“...การมีเสรีภาพนั้นเป็นของดีอย่างยิ่ง แต่เมื่อจะใช้จำเป็นจะต้องใช้ด้วยความระมัดระวังและความรับผิดชอบ มิให้ล่วงละเมิดเสรีภาพของผู้อื่น ที่เขาก็มีอยู่เท่าเทียมกัน ทั้งมิให้กระทบกระเทือนถึงสวัสดิภาพและความเป็นปกติสุขของส่วนรวมด้วย มิฉะนั้น จะทำให้มีแต่ความยุ่งยากจะทำให้สังคมและชาติประเทศต้องแตกสลายจนสิ้นเชิง...” (พระบรมราโชวาทพระราชทานแก่ผู้บังคับบัญชาลูกเสือ ในโอกาสเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท และรับพระราชทานเหรียญลูกเสือสดุดี ณ ศาลาดุสิดาลัย 9 กรกฎาคม 2514)

“...กฎหมายมีไว้สำหรับให้มีความสงบสุขในบ้านเมือง มิใช่ว่ากฎหมายมีไว้สำหรับบังคับประชาชน ถ้ามุ่งหมายที่จะบังคับประชาชนก็กลายเป็นเผด็จการ กลายเป็นสิ่งที่บุคคลหมู่น้อยจะต้องบังคับบุคคลหมู่มาก ในทางตรงข้ามกฎหมายมีไว้สำหรับให้บุคคลส่วนมากมีเสรี และอยู่ได้ด้วยความสงบ...” (พระบรมราโชวาทพระราชทานแก่คณะกรรมการจัดงาน “วันรพี” ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน 27 มิถุนายน 2516)

องค์พระประมุขทรงให้น้ำหนักอย่างยิ่งต่อความยุติธรรม โดยทรงชี้ให้เห็นว่ากฎหมายนั้นไม่ใช่ตัวความยุติธรรม แต่เป็นเพียงเครื่องมืออย่างหนึ่งสำหรับใช้ในการรักษาและอำนวยความยุติธรรม นอกจากนั้นยังต้องมีการใช้กฎหมายให้ถูกวัตถุประสงค์หรือเจตนารมณ์ของกฎหมายด้วย การอบรมจิตใจให้มีความยุติธรรมจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการใช้กฎหมายอย่างสัมฤทธิผล โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้มีหน้าที่โดยตรงต่อการธำรงไว้ซึ่งความยุติธรรมโดยการใช้กฎหมาย การตีความกฎหมาย และการวินิจฉัยอรรถคดี รวมตลอดทั้งเจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติงานตามบทบัญญัติของกฎหมาย ดังจะเห็นได้จากพระราชดำรัสอันลึกซึ้งข้างล่างนี้

“....กฎหมายนั้นไม่ใช่ตัวความยุติธรรม เป็นแต่เพียงเครื่องมืออย่างหนึ่งสำหรับใช้ในการรักษาและอำนวยความยุติธรรมเท่านั้น การใช้กฎหมายจึงต้องมุ่งหมายใช้เพื่อรักษาความยุติธรรม ไม่ใช่เพื่อรักษาตัวบทของกฎหมายเอง และการรักษาความยุติธรรมในแผ่นดิน ก็มิได้มีวงแคบอยู่เพียงแค่ขอบเขตของกฎหมาย หากต้องขยายออกไปให้ถึงศีลธรรมจรรยา ตลอดจนเหตุและผลตามเป็นจริงด้วย...” (พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานประกาศนียบัตรแก่ผู้สอบไล่ได้วิชาความรู้ชั้นเนติบัณฑิต สมัยที่ 33 ปีการศึกษา 2523 ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร 29 ตุลาคม 2524)

“...กฎหมายทั้งปวงจะธำรงความยุติธรรมและถูกต้องเที่ยงตรง หรือจะธำรงความศักดิ์สิทธิ์และประสิทธิภาพเต็มเปี่ยมอยู่ได้หรือไม่เพียงไรนั้นขึ้นอยู่กับการใช้ คือ ถ้าใช้ให้ได้ถูกวัตถุประสงค์หรือเจตนารมณ์ของกฎหมายนั้นๆ จริงแล้ว ก็จะทรงความศักดิ์สิทธิ์และประสิทธิภาพอันสมบูรณ์ไว้ได้ แต่ถ้าหากนำไปใช้ให้ผิดวัตถุประสงค์และเจตนารมณ์ โดยการพลิกแพลงบิดพลิ้วให้ผันผวนไปด้วยความหลงผิดด้วยอคติ หรือด้วยเจตนาอันไม่สุจริตต่างๆ กฎหมายก็เสื่อมความศักดิ์สิทธิ์และประสิทธิภาพลงทันที และกลับกลายเป็นพิษเป็นภัยแก่ประชาชนอย่างใหญ่หลวง...” (พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานประกาศนียบัตรแก่ผู้สอบไล่ได้ตามหลักสูตรของสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร 19 กรกฎาคม ตุลาคม 2520)

“...การอบรมจิตใจของตัวให้มีความยุติธรรมทุกเมื่อนั้น จะต้องรักษาสติให้มั่น ต้องมีความรู้ทุกอย่าง ได้ประสบสิ่งใดจะต้องรู้ว่านี่คืออะไร นี่คือสิ่งที่ควร และอาจจะเห็นด้วยว่าสิ่งที่ไม่ควรมีอะไรบ้าง ต้องเลือกสิ่งที่ควรและละสิ่งที่ไม่ควร ทั้งนี้ก็เป็นงานที่สำคัญยิ่ง ถ้าหากว่าไม่สามารถที่จะปฏิบัติตามนี้แล้ว เข้าใจได้ว่างานในหน้าที่ก็จะเสียหายไปได้มากที่สุด เพราะว่าการที่เป็นผู้พิพากษา ก็เท่ากับประชาชนได้ฝากความหวังไว้แก่ตนว่าเป็นผู้ที่มีความยุติธรรมโดยบริสุทธิ์ใจ...” (พระราชดำรัสพระราชทานในโอกาสที่คณะผู้พิพากษาประจำกระทรวงเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน 28 ธันวาคม 2516)

ในช่วงที่สังคมเกิดความขัดแย้ง สิ่งสำคัญที่สุดคือ ระบบการเมืองการบริหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ครองอำนาจรัฐจะต้องพยายามธำรงไว้ซึ่งความชอบธรรมทางการเมือง (political legitimacy) และความยุติธรรม (justice) โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักนิติธรรม (the rule of law) ทั้งในกระบวนการออกกฎหมาย การบังคับกฎหมาย อันประกอบด้วยการวินิจฉัยตีความ โดยต้องยึดหลักความยุติธรรมและความเป็นธรรมเป็นฐาน มิฉะนั้นความสงบสุขและสันติสุขจะเกิดขึ้นไม่ได้เพราะผู้นำกฎหมายไปปฏิบัติโดยเฉพาะผู้ครองอำนาจรัฐจะขาดซึ่งธรรมแห่งอำนาจ (moral authority)

และถึงแม้จะอ้างว่าเป็นการกระทำตามกฎหมาย (legality) แต่ถ้าขาดความยุติธรรมก็จะไม่ใช่หลักนิติธรรม (the rule of law) หากแต่เป็นหลักนิติกลวิธี หรือนิติประศาสน์ (the rule by law) ซึ่งไม่สามารถจะสร้างระเบียบการเมือง (political order) ที่ต่อเนื่องและยั่งยืนได้ เพราะจะไม่เป็นที่ยอมรับของประชาชนส่วนใหญ่ซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย

พระราชดำริและพระราชดำรัสขององค์พระประมุขเป็นเสมือนหนึ่งดวงประทีปที่ส่องแสงสว่างให้เกิดปัญญาในทางความคิดเรื่องกฎหมาย ความยุธรรม และหลักนิติธรรม
กำลังโหลดความคิดเห็น