xs
xsm
sm
md
lg

ถกห้ามขายเหล้าสงกรานต์เดือดคนขาย-รร.ค้าน สธ.ชงนายกฯตัดสิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน –   เวทีรับฟังความเห็นคุมขายเหล้า-เบียร์ช่วงสงกรานต์เดือด ผู้ผลิตเหล้า-เบียร์ไม่เห็นด้วย ชี้ ติงเอาจริงบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่ให้ได้ก่อน ชี้มาตรการรัฐไม่ได้ประโยชน์ ด้านผู้ประกอบการท่องเที่ยว โรงแรม ขอให้จัดโซนนิ่ง ลดกระทบนักท่องเที่ยวต่างชาติ สธ. เตรียมประมวลผล ให้ “อภิสิทธิ์” ตัดสินใจ มั่นใจทันบังคับใช้สงกรานต์นี้
วานนี้(4 มี.ค.) ที่กระทรวงสาธารณสุข นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เป็นประธานในการประชุมเพื่อหารือเรื่อง มาตรการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเทศกาลปีใหม่และสงกรานต์ โดยมีตัวแทนบริษัทผู้ผลิต เช่น บริษัท บุญรอด เทรดดิ้ง จำกัด บริษัท ไทยเบเวอร์เรจ มาเก็ตติ้ง บริษัท บาร์คาดี (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท ดิอาจิโอ โมเฮ็ท เฮนเนสซี่ จำกัด บริษัท ซานมิเกลเบียร์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท บราวน์-ฟอร์แมนไทยแลนด์ บริษัท ไทยเอเซียแปซิฟิก บริเวอร์รี่ สมาคมภัตตาคารไทย สมาคมโรงแรมไทย และเครือข่ายต่างๆ เช่น มูลนิธิเพื่อนหญิง  มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เครือข่ายเยาวชนสร้างสรรค์ รู้ทันแอลกอฮอล์ เครือข่ายองค์กรงดเหล้า  เป็นต้น โดยใช้เวลาในการประชุมนานเกือบ 4 ชั่วโมง
    นพ.ทักษพล ธรรมรังษี แผนงานพัฒนาศักยภาพนักวิจัยด้านนโยบายแอลกอฮอล์ สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ กล่าวว่า ผลการวิจัยชัดเจนว่า การลดอุบัติเหตุในช่วงวันหยุดยาวของเทศกาลจะต้องขยายการควบคุมการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกประเภท และควบคุมการดื่มในที่สาธารณะตลอดช่วงวันหยุด โดยเทศกาลสงกรานต์ เห็นว่า ควรห้ามขายตั้งแต่วันที่ 11-15 เมษายน และ ปีใหม่วันที่ 29 ธันวาคม – 2 มกราคม 
“มีข้อมูลชี้ว่า การผลิตเบียร์สูงที่สุดในรอบปีคือเดือนมีนาคม และธันวาคม และมียอดการจำหน่ายสูงสุดในเดือนเมษายนและธันวาคม  สอดคล้องกับสถิติการเกิดอุบัติเหตุเพิ่มขึ้น 2.6 เท่า และมีคดีเกี่ยวกับความรุนแรงเพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาล ช่วงเทศกาลจึงเป็นเวลาทองของผู้ประกอบการเหล้า เบียร์ สำหรับมาตรการเมาไม่ขับแก้ปัญหาได้เพียงร้อยละ 50 แต่ปัญหาอื่นยังมีอยู่ เช่น คดีความรุนแรง การถูกลวนลามทางเพศ ความเจ็บป่วย พิษสุราเรื้อรัง”นพ.ทักษพล กล่าว
  ด้านนายฉัตรชัย วิรัตน์โยสินทร์ ผู้อำนวยการสายการตลาด บริษัท บุญรอด เทรดดิ้ง จำกัด  กล่าวว่า เจตนารมณ์ของกฎหมายคือการควบคุมไม่ใช่การจำกัด การห้ามการจำหน่ายเป็นแค่การย้ายปัญหาจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง ย้ายการซื้อจากร้านสะดวกซื้อไปร้านของชำ หมายถึงย้ายจากสถานที่ควบคุมได้ เป็นสถานที่ที่ควบคุมไม่ได้ ซึ่งจะทำให้สถิติการเกิดอุบัติเหตุย้ายจากช่วงสงกรานต์เป็นก่อนสงกรานต์ จะมีการซื้อเพื่อกักตุนจากบริโภคแค่ 10 ขวด ก็จะเปลี่ยนเป็นซื้อเป็น 10 ลัง ปริมาณการบริโภคก็เพิ่มมากขึ้น ซึ่งไม่ได้แก้ปัญหาอะไรเลย
  “การทำงานของราชการยังคงคิดแบบซ้ำซาก เช่นมาตรการ 7 วันอันตราย ซึ่งทำมาเป็น 10 ปี แต่ก็ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาอะไรเลย ข้อเสนอคือ 1. ต้องแก้ปัญหาที่วุฒิภาวะกับคน ให้การศึกษา ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่สุด และสร้างเยาวชนรุ่นใหม่ขึ้นมา อาจใช้เวลานานแต่ก็ต้องทำเป็น 10 ปี   2.ใช้แรงจูงใจด้านมาตรการภาษี โดยเพิ่มเพดานภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้สูงขึ้นเพื่อลดการบริโภคและจูงใจให้ผู้ผลิตเปลี่ยนมาผลิตสินค้าที่มีดีกรีต่ำลงแต่ปัจจุบันมาตรการทางภาษีส่งเสริมมีการผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ดีกรีสูงขึ้น”นายฉัตรชัย กล่าว
  นายฉัตรชัยกล่าวต่อว่า บริษัทยินดีให้ความร่วมมือไม่ว่า สธ. จะกำหนดกี่วันในการห้ามขาย แต่สธ. ควรจะประชุมร่วมกับผู้ประกอบการค้าส่ง ค้าปลีก ร้านชำหรือโชว์ห่วยเพราะเกี่ยวข้องกับการขายโดยตรง บริษัทผู้ผลิตไม่เดือดร้อนเลยเพราะช่วงวันหยุดเทศกาลก็หยุดยาวเหมือนกัน ดังนั้น ไม่ว่ากำหนดมาตรการใดก็ไม่มีผลกับผู้ประกอบการและผู้ผลิตอยู่แล้ว แต่ขอเตือนว่า การห้ามจำหน่ายอาจเป็นมาตรการกีดกันทางการค้าได้ เพราะทำให้รายได้จากผู้ประกอบการหนึ่งย้ายไปที่อีกผู้ประกอบการหนึ่ง การกำหนดมาตรการใดๆ จึงต้องมีผลที่ชัดเจนว่าทำแล้วจะเกิดประโยชน์อะไร ซึ่งปัจจุบันมาตรการของสธ. ไม่ได้ทำให้ยอดขายลดลง แต่ทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้น เนื่องจากการกักตุน
  ขณะที่ นายปริญ มาลากุล ณ อยุธยา ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการองค์กร บริษัท ไทยเอเชียฯ ผู้ผลิตเบียร์ไฮเนเก้น กล่าวว่า ต้องการให้ภาครัฐบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่เดิมให้มีประสิทธิภาพเสียก่อน เพราะหากออกกฎหมายใหม่ออกมาก็ไม่สามารถบังคับใช้ได้จริงอยู่ดี อย่างไรก็ตาม ภาครัฐจะออกกฎหมายอะไรมา ภาคธุรกิจก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับกฎหมายอยู่แล้ว
  นายศักรินทร์ ช่อไสว ผู้อำนวยการสมาคมโรงแรมไทย กล่าวว่า สมาคมโรงแรมไม่เห็นด้วยกับมาตรการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ในแง่ของการท่องเที่ยวถือว่าเป็นการไม่เหมาะสมเพราะมาตรการของภาครัฐจะส่งผลกระทบต่อการรับรู้ของนักท่องเที่ยว ซึ่งบางส่วนไม่เข้าใจแม้ว่าเหตุผลของภาครัฐเป็นการห้ามไม่ให้ผู้ที่ขับขี่รถยนต์ หรือมอเตอร์ไซค์เมาแล้วขับ ดังนั้น รัฐจะออกกฎหมายก็ขอให้ฟังผู้ประกอบการก่อน บังคับใช้กฎหมายที่มีทั้งหมด การดำเนินการในลักษณะนี้เท่ากับเป็นการซ้ำเติมภาวะเศรษฐกิจกิจโดยที่ไม่ได้คิดให้รอบคอบ
“โรงแรมเองก็ไม่ตั้งอกตั้งใจจะขายเหล้า ไม่ใช่ตัวแทนจำหน่ายไม่ต้องการเอาโรงแรงมาแลกกับให้ขายเหล้าได้อยู่แล้วเพราะการท่องเที่ยวไม่ได้มีแต่ขายเหล้า แต่ถือเป็นส่วนหนึ่งเป็นการพักผ่อนเป็นด้านความรู้สึกที่ดีของนักท่องเที่ยว ส่วนการจะดื่มหรือไม่ดื่มก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง อย่างในประเทศดูไบ ซึ่งห้ามขายห้ามดื่มเหล้าแต่หากเป็นในโรงแรมก็อนุญาตให้ขายได้ตลอด 24 ชั่วโมง”นายศักรินทร์กล่าว
นายศักรินทร์ กล่าวต่อว่า รัฐควรจะแก้ให้ถูกจุด เพราะมาตรการนี้มีผลกระทบอย่างมาก ตอนนี้ก็แย่อยู่แล้วเพราะเศรษฐกิจไม่ดีไม่ใช่ว่ามีประเทศไทยประเทศเดียวที่นักท่องเที่ยวมาเที่ยวยังมีอีกหลายประเทศ แต่หากประเทศเรามีข้อห้ามมากมายจะมีนักท่องเที่ยวอยากมาเที่ยวหรือไม่ ดังนั้น ถ้าหากจำเป็นต้องออกกฎข้อบังคับก็ควรหาทางออกให้กับผู้ประกอบการด้วยว่าควรจะแก้อย่างไร เพราะหากถามว่าการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะส่งผลกระทบกับธุรกิจภาคการท่องเที่ยวเป็นมูลค่าเท่าไรคงไม่สามารถบอกเป็นตัวเลขได้
  นายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สธ.มอบหมายให้นพ.สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุม ในฐานะเลขาการประชุม สรุปข้อมูลเพื่อรายงานให้นายวิทยารับทราบ และเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานให้เร็วที่สุด เพื่อให้ทันการบังคับใช้ในเทศกาลสงกรานต์ปีนี้
  “เบื้องต้นน่าจะควบคุมแบบห้ามวันจำหน่ายเพราะมีความเท่าเทียมกัน และสามารถควบคุมได้ดีที่สุด อาจจะเป็นห้ามจำหน่าย 3 วัน และ 7 วัน ส่วนข้อเสนอที่ให้จัดโซนนิ่ง ส่วนตัวคิดว่าสามารถควบคุมได้ลำบาก เพราะคนไปซื้อเหล้า เบียร์ในโซนนิ่ง แต่นำมาดื่มนอกพื้นที่อยู่ดี”นายมานิตกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น