xs
xsm
sm
md
lg

ถกห้ามขายเหล้าสงกรานต์เดือด คนขาย-รร.ค้านสุดตัว สธ.ชง “มาร์ค” ตัดสิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เวทีรับฟังความเห็นคุมขายเหล้า-เบียร์ ช่วงสงกรานต์เดือด ผู้ผลิตเหล้า-เบียร์ ยังไม่เห็นด้วย ชี้ ร้านค้าปลีกโดนเต็มๆ คอเหล้าเล็งกักตุนเพียบ ติงเอาจริงบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่ให้ได้ก่อน ชี้ มาตรการรัฐไม่ได้ประโยชน์ ด้านผู้ประกอบการท่องเที่ยว โรงแรม ขอให้จัดโซนนิง ลดกระทบนักท่องเที่ยวต่างชาติ สธ.เตรียมประมวลผลชงคุมห้ามขาย ช่วงสงกรานต์ 3-5 วัน ให้ “อภิสิทธิ์” ตัดสินใจ มั่นใจทันบังคับใช้สงกรานต์นี้

เมื่อเวลา 09.30 น.วันที่ 4 มีนาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานในการประชุมเพื่อหารือเรื่อง มาตรการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเทศกาลปีใหม่และสงกรานต์ โดยมีตัวแทนบริษัทผู้ผลิต เช่น บริษัท บุญรอด เทรดดิ้ง จำกัด บริษัท ไทยเบเวอเรจ มาร์เก็ตติ้ง บริษัท บาร์คาดี (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท ดิอาจิโอ โมเฮ็ท เฮนเนสซี่ จำกัด บริษัท ซานมิเกลเบียร์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท บราวน์-ฟอร์แมนไทยแลนด์ บริษัท ไทยเอเซียแปซิฟิก บริเวอรี่ สมาคมภัตตาคารไทย สมาคมโรงแรมไทย และเครือข่ายต่างๆ เช่น มูลนิธิเพื่อนหญิง มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เครือข่ายเยาวชนสร้างสรรค์ รู้ทันแอลกอฮอล์ เครือข่ายองค์กรงดเหล้า เป็นต้น โดยใช้เวลาในการประชุมนานเกือบ 4 ชั่วโมง

สำหรับบรรยากาศในการประชุมเป็นการฟังความคิดเห็นเป็นไปอย่างเข้มข้น ความเห็นแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม อย่างชัดเจนใหญ่ คือ ฝ่ายรณรงค์อยากให้มีการห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 100% ขณะที่ฝ่ายผู้ประกอบการไม่เห็นด้วยกับมาตรการหามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อย่างไรก็ตาม ต่างฝ่ายต่างยอมให้มีการยืดหยุ่นโดยภาคนักวิชาการ เครือข่ายและมูลนิธิต่างๆ เห็นด้วยกับการกำหนดวันห้ามจำหน่าย ส่วนใหญ่เสนอให้ ห้ามจำหน่าย 3 วัน คือ ระหว่างวันที่ 12-14 เมษายน นอกจากนี้ มีการเสนอให้ห้ามจำหน่ายช่วงต้นและท้ายเทศกาล ห้ามจำหน่ายตลอด 7 วัน และห้ามขาย 1 วัน คือ วันมหาสงกรานต์ 13 เมษายน ขณะที่ฝ่ายเอกชน ผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การท่องเที่ยว และโรงแรม ไม่เห็นด้วยหากมีการห้ามวันจำหน่าย โดยเสนอให้ขายได้ทุกวันแต่จำกัดเวลาจำหน่ายให้ลดลงจากเดิม และเสนอให้จัดโซนนิงเพื่อเอื้อให้กับธุรกิจท่องเที่ยวด้วย

นายวิทยา กล่าวว่า แม้ว่าความคิดเห็นจะไม่ตรงกัน แต่เชื่อว่าในที่สุดจะสามารถไปในทิศทางเดียวกันได้ เพราะมีเป้าหมายตรงการ คือ การลดอุบัติเหตุในช่วงเทศกาล ทั้งนี้ กระบวนการห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะพุ่งไปยังปัญหาที่แท้จริง ไม่มีการเหวี่ยงแหไปกระทบถึงธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรม ซึ่งเปราะบางมาก โดยจะคุมร้านสะดวกซื้อกับร้านขายของชำเพราะผลวิจัยชัดเจน ว่า อุบัติเหตุเกิดขึ้นในถนนในหมู่บ้าน ชุมชน และคนกลุ่มนี้คงไม่ย้ายไปซื้อในโรงแรม เพราะมีราคาที่ต่างกันมาก ทั้งนี้ หากมาตรการดังกล่าวได้ผลดีก็จะนำมาเป็นต้นแบบในใช้ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเทศกาลอื่นๆ เช่น ปีใหม่ ด้วยเช่นกัน

นพ.ทักษพล ธรรมรังษี แผนงานพัฒนาศักยภาพนักวิจัยด้านนโยบายแอลกอฮอล์ สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ กล่าวว่า ผลการวิจัยชัดเจนว่า การลดอุบัติเหตุในช่วงวันหยุดยาวของเทศกาลจะต้องขยายการควบคุมการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกประเภท และควบคุมการดื่มในที่สาธารณะตลอดช่วงวันหยุด โดยเทศกาลสงกรานต์ เห็นว่า ควรห้ามขายตั้งแต่วันที่ 11-15 เมษายน และ ปีใหม่วันที่ 29 ธันวาคม-2 มกราคม

“มีข้อมูลชี้ว่า การผลิตเบียร์สูงที่สุดในรอบปี คือ เดือนมีนาคม และธันวาคม และมียอดการจำหน่ายสูงสุดในเดือนเมษายนและธันวาคม สอดคล้องกับสถิติการเกิดอุบัติเหตุเพิ่มขึ้น 2.6 เท่า และมีคดีเกี่ยวกับความรุนแรงเพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาล ช่วงเทศกาลจึงเป็นเวลาทองของผู้ประกอบการเหล้า เบียร์ สำหรับมาตรการเมาไม่ขับแก้ปัญหาได้เพียงร้อยละ 50 แต่ปัญหาอื่นยังมีอยู่ เช่น คดีความรุนแรง การถูกลวนลามทางเพศ ความเจ็บป่วย พิษสุราเรื้อรัง” นพ.ทักษพล กล่าว

นพ.ทักษพล กล่าวต่อว่า หากพิจารณาผลกระทบจากการท่องเที่ยว เชื่อว่า จะมีผลกระทบบ้างแต่เป็นผลกระทบระยะสั้น แต่หากมองมูลค่าความสูญเสียทางสังคม ถือว่ามีมากถึง 800 ล้านบาทต่อวัน ทั้งนี้ ประชาชน ประมาณร้อยละ 20 ของทั้งหมดจะได้รับผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และหากมีรายได้เพิ่มร้อยละ 10 แต่จะเสียค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากกว่าร้อยละ 10 ขณะที่กลุ่มคนที่ได้ผลประโยชน์มีเพียงกลุ่มเล็กๆ เท่านั้น

ด้านนายฉัตรชัย วิรัตน์โยสินทร์ ผู้อำนวยการสายการตลาด บริษัท บุญรอด เทรดดิ้ง จำกัด กล่าวว่า เจตนารมณ์ของกฎหมาย คือ การควบคุมไม่ใช่การจำกัด การห้ามการจำหน่ายเป็นแค่การย้ายปัญหาจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง ย้ายการซื้อจากร้านสะดวกซื้อไปร้านของชำ หมายถึงย้ายจากสถานที่ควบคุมได้ เป็นสถานที่ที่ควบคุมไม่ได้ ซึ่งจะทำให้สถิติการเกิดอุบัติเหตุย้ายจากช่วงสงกรานต์เป็นก่อนสงกรานต์ จะมีการซื้อเพื่อกักตุนจากบริโภคแค่ 10 ขวด ก็จะเปลี่ยนเป็นซื้อเป็น 10 ลัง ปริมาณการบริโภคก็เพิ่มมากขึ้น ซึ่งไม่ได้แก้ปัญหาอะไรเลย

“การทำงานของราชการยังคงคิดแบบซ้ำซาก เช่น มาตรการ 7 วันอันตราย ซึ่งทำมาเป็น 10 ปี แต่ก็ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาอะไรเลย ข้อเสนอ คือ 1.ต้องแก้ปัญหาที่วุฒิภาวะกับคน ให้การศึกษา ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่สุด และสร้างเยาวชนรุ่นใหม่ขึ้นมา อาจใช้เวลานานแต่ก็ต้องทำเป็น 10 ปี 2.ใช้แรงจูงใจด้านมาตรการภาษี โดยเพิ่มเพดานภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้สูงขึ้นเพื่อลดการบริโภคและจูงใจให้ผู้ผลิตเปลี่ยนมาผลิตสินค้าที่มีดีกรีต่ำลงแต่ปัจจุบันมาตรการทางภาษีส่งเสริมมีการผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ดีกรีสูงขึ้น” นายฉัตรชัย กล่าว

นายฉัตรชัย กล่าวต่อว่า บริษัทยินดีให้ความร่วมมือไม่ว่า สธ.จะกำหนดกี่วันในการห้ามขาย แต่ สธ.ควรจะประชุมร่วมกับผู้ประกอบการค้าส่ง ค้าปลีก ร้านชำ หรือโชวห่วย เพราะเกี่ยวข้องกับการขายโดยตรง บริษัทผู้ผลิตไม่เดือดร้อนเลย เพราะช่วงวันหยุดเทศกาลก็หยุดยาวเหมือนกัน ดังนั้น ไม่ว่ากำหนดมาตรการใดก็ไม่มีผลกับผู้ประกอบการและผู้ผลิตอยู่แล้ว แต่ขอเตือนว่า การห้ามจำหน่ายอาจเป็นมาตรการกีดกันทางการค้าได้ เพราะทำให้รายได้จากผู้ประกอบการหนึ่งย้ายไปที่อีกผู้ประกอบการหนึ่ง การกำหนดมาตรการใดๆ จึงต้องมีผลที่ชัดเจนว่าทำแล้วจะเกิดประโยชน์อะไร ซึ่งปัจจุบันมาตรการของ สธ.ไม่ได้ทำให้ยอดขายลดลง แต่ทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้น เนื่องจากการกักตุน

นายธนากร คุปตจิตต์ รองผู้อำนวยการฝ่ายรัฐกิจและกฎหมาย บริษัท ดิอาจิโอ กล่าวว่า การห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่กระทบกับผู้ผลิต ผู้นำเข้า เพราะตามมาตร 28 พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ได้ยกเว้นอยู่แล้ว และในช่วงเทศกาลวันหยุดยาว โรงงาน บริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็หยุดทำการ แต่เรื่องนี้จะกระทบกับผู้ค้าปลีก ร้ายโชว์ห่วยต่างๆ มากกว่า ซึ่ง สธ.ควรจะเชิญผู้ประกอบการส่วนนี้มาประชุมรับฟังความเห็นด้วย

ขณะที่ นายปริญ มาลากุล ณ อยุธยา ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการองค์กร บริษัท ไทยเอเชีย ผู้ผลิตเบียร์ไฮเนเก้น กล่าวว่า ต้องการให้ภาครัฐบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่เดิมให้มีประสิทธิภาพเสียก่อน เพราะหากออกกฎหมายใหม่ออกมาก็ไม่สามารถบังคับใช้ได้จริงอยู่ดี อย่างไรก็ตาม ภาครัฐจะออกกฎหมายอะไรมา ภาคธุรกิจก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับกฎหมายอยู่แล้ว

นายศักรินทร์ ช่อไสว ผู้อำนวยการสมาคมโรงแรมไทย กล่าวว่า สมาคมโรงแรมไม่เห็นด้วยกับมาตรการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ในแง่ของการท่องเที่ยว ถือว่าเป็นการไม่เหมาะสม เพราะมาตรการของภาครัฐจะส่งผลกระทบต่อการรับรู้ของนักท่องเที่ยว ซึ่งบางส่วนไม่เข้าใจแม้ว่าเหตุผลของภาครัฐเป็นการห้ามไม่ให้ผู้ที่ขับขี่รถยนต์ หรือมอเตอร์ไซค์ เมาแล้วขับ ดังนั้น รัฐจะออกกฎหมายก็ขอให้ฟังผู้ประกอบการก่อน บังคับใช้กฎหมายที่มีทั้งหมด การดำเนินการในลักษณะนี้เท่ากับเป็นการซ้ำเติมภาวะเศรษฐกิจกิจโดยที่ไม่ได้คิดให้รอบคอบ

“โรงแรมเองก็ไม่ตั้งอกตั้งใจจะขายเหล้า ไม่ใช่ตัวแทนจำหน่ายไม่ต้องการเอาโรงแรงมาแลกกับให้ขายเหล้าได้อยู่แล้วเพราะการท่องเที่ยวไม่ได้มีแต่ขายเหล้า แต่ถือเป็นส่วนหนึ่งเป็นการพักผ่อนเป็นด้านความรู้สึกที่ดีของนักท่องเที่ยว ส่วนการจะดื่มหรือไม่ดื่มก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง อย่างในประเทศดูไบ ซึ่งห้ามขายห้ามดื่มเหล้าแต่หากเป็นในโรงแรมก็อนุญาตให้ขายได้ตลอด 24 ชั่วโมง” นายศักรินทร์ กล่าว

นายศักรินทร์ กล่าวต่อว่า รัฐควรจะแก้ให้ถูกจุด เพราะมาตรการนี้มีผลกระทบอย่างมาก ตอนนี้ก็แย่อยู่แล้ว เพราะเศรษฐกิจไม่ดี ไม่ใช่ว่ามีประเทศไทยประเทศเดียวที่นักท่องเที่ยวมาเที่ยวยังมีอีกหลายประเทศ แต่หากประเทศเรามีข้อห้ามมากมายจะมีนักท่องเที่ยวอยากมาเที่ยวหรือไม่ ดังนั้น ถ้าหากจำเป็นต้องออกกฎข้อบังคับก็ควรหาทางออกให้กับผู้ประกอบการด้วยว่าควรจะแก้อย่างไร เพราะหากถามว่าการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะส่งผลกระทบกับธุรกิจภาคการท่องเที่ยวเป็นมูลค่าเท่าไรคงไม่สามารถบอกเป็นตัวเลขได้

นายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในที่ประชุมมีข้อเสนอหลายแนวทาง แต่ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการห้ามจำหน่ายเป็นรายวัน มีตั้งแต่ ห้าม 1-7 วันตลอดช่วงเทศกาล โดยได้มอบหมายให้ นพ.สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุม ในฐานะเลขาการประชุม สรุปข้อมูลเพื่อรายงานให้นายวิทยา รับทราบ และเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานให้เร็วที่สุด เพื่อให้ทันการบังคับใช้ในเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ ซึ่งหลังจากหมดเทศกาลสงกรานต์จะมีการประเมินผลว่าสามารถลดอุบัติเหตุลงได้มากน้อยเท่าใด หากสามารถลดได้มากอนาคตจะมีการพิจารณาขยายวันห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้นอีก

“เบื้องต้นน่าจะควบคุมแบบห้ามวันจำหน่ายเพราะมีความเท่าเทียมกัน และสามารถควบคุมได้ดีที่สุด อาจจะเป็น ห้ามจำหน่าย 3 วัน และ 7 วัน ส่วนข้อเสนอที่ให้จัดโซนนิ่ง ส่วนตัวคิดว่าสามารถควบคุมได้ลำบาก เพราะคนไปซื้อเหล้า เบียร์ในโซนนิ่ง แต่นำมาดื่มนอกพื้นที่อยู่ดี อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้จะไม่มีการประชุมรับฟังความเห็นจากผู้ประกอบการค้าส่ง ค้าปลีกอีกตามที่ฝ่ายผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เสนอมา เพราะถือว่าได้ประชุมร่วมกับผู้ผลิตที่เป็นต้นทางจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้ว ซึ่งสามารถบอกต่อให้กับผู้ค้าของแต่ละบริษัทได้โดยตรง ส่วนร้ายค้าทั่วไป สธ.จะมีการออกฎโฆษณาแจ้งให้ทราบทั่วประเทศอยู่แล้ว”


กำลังโหลดความคิดเห็น