เอเอฟพี – ภาพชายหนุ่มผมยาวสวมเสื้อผ้ายับยู่ยี่ จะมองมุมไหนก็บอกได้ว่าเขาเป็นศิลปิน ทุกวันนี้ ศิลปินหนุ่มผู้นี้ไม่ค่อยมีเวลาคิดว่าเขาจะสร้างสรรค์ผลงานอย่างไร หากแต่เรื่องที่คอยรบกวนจิตใจของเขากลับเป็นว่า ทำอย่างไรเขาจึงจะอยู่รอดได้ในเมืองหลวงของศิลปะก๊อปปี้แห่งนี้
หลายปีที่ผ่านนมา เฉิน หงหลิน ศิลปินหนุ่มวัย 24 ที่มาจากหมู่บ้านทุรกันดารทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน ใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในหมู่บ้านต้าเฟิน และพิถีพิถันกับการก๊อปปี้ภาพวาดชื่อดัง แต่ตอนนี้เขาเริ่มถามตัวเองว่า เขาจะทำอาชีพนี้ได้อีกนานเท่าไหร่ เพราะออร์เดอร์งานศิลปะชนิดนี้ลดลงมากอันเนื่องมาจากวิกฤตเศรษฐกิจ
“เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นสนทนาในกลุ่มของพวกเรา หากผมบอกว่าผมไม่กังวลเรื่องนี้ ผมก็พูดโกหก” ศิลปินหนุ่มกล่าว
การก๊อปปี้ภาพวาด กลายเป็นศิลปะอีกแขนงหนึ่งในหมู่บ้านต้าเฟิน ที่ตั้งอยู่ในชานเมืองเซินเจิ้น มณฑลกว่างตง ทางภาคใต้ของจีน ที่นี่...ภาพดอกทานตะวันอันลือของ วินเซนต์ แวนโก๊ะ หรือภาพวาดหยดน้ำอันเลื่องชื่อของ แจ๊คสัน พอลลอค สามารถซื้อหาได้ในราคากว่า 100 หยวน (ประมาณ 500 บาท) และคนที่ไม่มีความรู้ทางศิลปะก็มองไม่ออกในทันทีว่ามันเป็นงานที่ก๊อปปี้เขามา
ต้าเฟินเป็นแหล่งรวบรวมจิตรกร 8,000 ชีวิตจากทั่วประเทศจีน ซึ่งผลิตภาพวาดสีน้ำมันออกมามากมายถึงร้อยละ 60 ของภาพวาดสีน้ำมันในโลก
ในแต่ละปี จิตรกรแห่งหมู่บ้านต้าเฟินผลิตภาพวาดออกมาเกือบ 5 ล้านชิ้น ทว่าเกือบร้อยละ75 เป็นผลงานก๊อปปี้ลวก ๆ (คนที่นี่ชอบใช้คำว่า ภาพจำลอง มากกว่า) ส่วนที่เหลือเป็นภาพวาดต้นฉบับของจิตรกรเอง
บรรดาจิตรกรในหมู่บ้านต้าเฟิน เคยใช้ชีวิตอย่างสบายในสภาพอากาศที่อบอุ่นและมีรายได้พอเลี้ยงตัว
แต่หลังจากความต้องการภาพก๊อปปี้ในตลาดต่างประเทศลดลง ศิลปินในหมู่บ้านนี้จึงต้องว้าวุ่นใจ แม้ว่าศิลปินหลายๆ คนจะมีฝีมือเข้าขั้น แต่เขาก็พอใจกับการก๊อปปี้งานศิลปะของคนอื่นมากกว่าสร้างสรรค์งานของตัวเอง
กง ฟาจวิน ศิลปินวัย 27 จากมณฑลหูเป่ย ที่เข้ามาอยู่ในต้าเฟิน เมื่อ 4 ปีที่แล้ว บอกว่า “วิกฤตการเงินนี่ส่งผลกระทบจริงๆ “ และว่า ปีที่แล้วรายได้ของเขาลดลงถึง 40 เปอร์เซ็นต์จากรายได้เมื่อปีก่อน
จิตรกรที่อยู่ในหมู่บ้านนี้ส่วนใหญ่จะเช่าหอพักอยู่กับแฟนและใช้ชีวิตอย่างไร้ความกังวล บทสนทนาภายใต้แสงเทียนในยามค่ำคืนของพวกเขา จะมีตั้งแต่ปรัชญาเอ็กซิสตองเชียลลิสม์*เสรีภาพด้านความรัก ไปจนถึงปัญหาที่ว่าจะมีงานเพียงพอให้เขาทำอาชีพนี่ต่อไปหรือไม่
ต้าเฟินเคยเป็นหมู่บ้านที่มีชีวิตเรียบง่ายไม่เร่งร้อน ด้วยประชากรเพียง 300 คน ส่วนใหญ่ปลูกผักขมและกะหล่ำปลีเลี้ยงชีวิต จนกระทั่งวันหนึ่งเมื่อ 19 ปีก่อน หวง เจียง นักธุรกิจชาวฮ่องกง ซึ่งเกิดที่แผ่นดินใหญ่ เดินทางมายังหมู่บ้านพร้อมช่างวาดภาพ 26 คน เพื่อหาทำเลราคาถูก สำหรับเป็นสถานที่เร่งผลิตภาพวาดสีน้ำมันกว่าหนึ่งหมื่นชิ้นให้ทันตามคำสั่งซื้อของบริษัทวอล-มาร์ต สโตร์ส และเคมาร์ต
เมื่อ19 ปีก่อน ค่าจ้างจิตรกรคนหนึ่งในต้าเฟินตกราว 800 หยวน เทียบกับในฮ่องกง ซึ่งสูงกว่า 1,000 หยวน ขณะที่สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์สาขาท้องถิ่นยื่นมือช่วยเหลือในด้านการลำเลียงขนส่ง และนำนักธุรกิจและช่างวาดเข้ามากันมากขึ้น
ดังนั้น ต้าเฟินจึงเป็นเพียงแหล่งส่งออกทางศิลปะอีกแห่งหนึ่ง และผลงานส่วนใหญ่ 70 เปอร์เซ็นต์จะขายให้แก่ชาวต่างชาติ เมื่อตลาดส่วนนี้เจอปัญหาเศรษฐกิจ จึงส่งผลต่อเศรษฐกิจของหมู่บ้านด้วย
ต้าเฟินเคยมีนักท่องเที่ยวเข้ามาจำนวนมาก แต่หลังจากวิกฤตเศรษฐกิจเริ่มขึ้นเมื่อปีที่แล้วนักท่องเที่ยวก็เข้ามาหรอมแหรม แม้บรรดาศิลปินจะพากันลดราคาภาพวาดแต่ก็ไม่มีใครสนใจซื้อ
“เมื่อไม่กี่เดือนมานี้ ลูกค้าชาวอังกฤษได้สั่งภาพวาดล็อตใหญ่จากร้านเรา แต่เขาเพิ่มโทรมาเมื่อสัปดาห์ก่อนว่าขอยกเลิกออร์เดอร์ทั้งหมด แม้ว่าเขาจะจ่ายเงินมัดจำก้อนใหญ่ไว้แล้ว ในบรรยากาศเศรษฐกิจแบบนี้ เขาก็ไม่กล้าเสี่ยงที่จะขนของเข้าไปขาย” นั่นเป็นคำกล่าวของ ลั่ว เหว่ย ผู้จัดการฝ่ายศิลปะจากร้านอี้ซันหง
สำนักงานบริหารหมู่บ้านระบุว่า ในปี 2550 ต้าเฟินขายงานศิลปะได้มากถึง 430 ล้านหยวน หรือสูงเกือบสองเท่าของการขายเมื่อปี 2548
แต่อย่างไรก็ตาม ภาพวาดของประธานาธิบดีหู จิ่นเทา ที่วางเรียงรายอยู่ตามทางเดินในหมู่บ้านต้าเฟิน ก็ยังคงเป็นที่ต้องการของตลาดภายในจีน ภาพประธานาธิบดีหูดูมีชีวิตชีวา ราวกับว่าเขาจะกระโดดออกมาจากภาพวาดได้ แล้วเดินเข้าไปทักทายกับบรรดานักท่องเที่ยว
ไช่ หลี่จวิน จิตรกรและเจ้าของแกลอรี่แห่งหนึ่ง บอกว่า ส่วนใหญ่บริษัทต่างๆ จะมาซื้อภาพประธานาธิบดีหูไปแขวนไว้ในที่ทำงาน แต่ก็มีลูกค้าบางรายที่ซื้อไปแขวนไว้ในบ้าน “เราสามารถวาดภาพ บารัค โอบามา เสร็จในเวลาเพียงไม่กี่วัน ถ้ามีคนสั่งเข้ามา แต่น่าเสียดายที่ไม่มีใครยอมสั่ง” เธอกล่าวในตอนท้าย
อุตสาหกรรมก๊อปปี้งานศิลปะของหมู่บ้านต้าเฟิน ก่อให้เกิดเสียงตำหนิวิพากษ์วิจารณ์จากนักศิลปะซึ่งผลิตผลงานต้นฉบับ กระตุ้นให้รัฐบาลต้องประกาศกฎข้อบังคับเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา โดยห้ามแกลเลอรี่ขายงานก๊อปปี้จากผลงานของศิลปินที่ยังมีชีวิตอยู่ หรือศิลปินที่อำลาโลกไปได้ไม่ถึง 50 ปี
นอกจากนั้น หน่วยปราบสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ ยังออกตรวจตราแกลเลอรี่ “เดือนละครั้ง หรือสัปดาห์ละครั้ง” และยึดผลงานที่เข้าข่ายละเมิดกฎข้อบังคับ
ทว่าเจ้าของแกลเลอรี่ในหมู่บ้านกลับเห็นว่า ความรับผิดชอบปัญหาด้านลิขสิทธิ์ควรตกเป็นของผู้ซื้อและผู้มอบหมายให้วาด มากกว่าจะตกเป็นความรับผิดชอบของจิตรกร
* Existentialism เป็นแนวคิดทางปรัชญาชนิดหนึ่งเรียกว่าปรัชญาอัตถิภาวะนิยม ผู้นำเสนอแนวคิดนี้คือ ฌอง ปอล ซาร์ต (Jean Paul Satre, 1905-1980) นักวรรณคดีและนักปรัชญาชาวฝรั่งเศส