xs
xsm
sm
md
lg

ยอดจิตรกรแห่งต้าเฟิน เชิดชูหรือปล้นงานศิลป์&?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บรรยากาศที่หมู่บ้านต้าเฟิน...หมู่บ้านต้าเฟินได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลจีนมาโดยตลอด โดยในปี2547 กระทรวงวัฒนธรรมของจีนกำหนดให้ต้าเฟินเป็นตัวอย่างของวิสาหกิจวัฒนธรรมของชาติ นายอู๋ ปังกั๋ว ประธานรัฐสภาจีนเคยมาเยี่ยมชม และสรรเสริญเลิศลอย
บลูมเบิร์ก - สมาคมศิลปะแห่งหมู่บ้านต้าเฟิน ตั้งอยู่ในชานเมืองเซินเจิ้น มณฑลกว่างตง ทางภาคใต้ของจีน เป็นแหล่งรวบรวมจิตรกร 8,000 ชีวิต ซึ่งผลิตภาพวาดสีน้ำมันออกมามากมายถึงร้อยละ 60 ของภาพวาดสีน้ำมันในโลก

จิตรกรเหล่านี้ก๊อปปี้งานของศิลปินชื่อก้องโลกอย่างเร็มแบรนดตส์ (Rembrandts) ,โมเน่ต์ส (Monets) และวอร์ฮอลส์ (Warhols) ขายดิบขายดีเป็นเทน้ำเทท่า ไม่แพ้พวกลูกจ้างในเซินเจิ้น ที่ผลิตเครื่องเล่นดีวีดี, เครื่องคอมพิวเตอร์ และเสื้อยืดราคาถูก

จนกระทั่งมาวันนี้ ตลาดค้างานศิลปะที่นี่ต้องซบเซาจากพิษเศรษฐกิจที่ฝืดเคือง

“เวลานี้ไม่ใช่ช่วงที่ดีที่สุด” อู๋ รุ่ยชิว หนุ่มใหญ่ วัย 37 ปี ซึ่งนั่งเก้าอี้ประธานสมาคมเอ่ยขึ้น ขณะกรองใบชา ยี่ห้อ“ ไอรอน บุ๊ดด้า” (Iron Buddha) จากถ้วยกระเบื้องเคลือบ

“ต้าเฟินต้องปฏิรูปตัวเองให้เป็นมากกว่าฐานผลิตสินค้าปลอมระดับล่าง”

อู๋ บอกว่ายอดส่งออกลดลงถึง 1 ใน 3 ในปีนี้ ซึ่งเป็นการตกต่ำสุด ๆ นับตั้งแต่โรคซาร์สแพร่ระบาดในปี 2546 โดยการเกิดโรคระบาดคราวนั้นทำให้ยอดขายสินค้า ที่ผลิตในภาคใต้ของจีนตกฮวบ

พวกแกลเลอรี่ขนาดเล็กๆ 800 รายในหมู่บ้านพากันปิดกิจการ ส่วนที่เหลือกระเสือกกระสนดิ้นรนให้อยู่รอดด้วยการลดกระหน่ำราคาภาพวาดถูกสุด ๆ
“พวกนักสะสมรักงานต้นฉบับ แต่ไม่ได้เป็นเจ้าของ นี่เป็นการช่วยเหลือวิธีหนึ่งให้เขาได้สิ่งทดแทน ที่ยอมรับได้” หนึ่งในจิตกรภาพก็อปแห่งต้าเฟินกล่าว, ในภาพ ซันฟลาเวอร์ส ผลงานชิ้นเอกของวินเซนต์ แวนโก๊ะ
หากคุณอยากได้ภาพ “ซันฟลาเวอร์ส” ของแท้จากฝีมือของแวน โก๊ะแล้วล่ะก้อ คงต้องจ่ายเงินถึงราว 40 ล้านดอลลาร์ จากสถิติในการประมูลภาพวาดชิ้นหนึ่งพร้อมลายเซ็นของยอดศิลปินบันลือโลกผู้นี้

แต่ที่ต้าเฟิน คุณจ่ายแค่ 250 หยวน หรือราว 37 ดอลลาร์ ก็ได้ครอบครองงานศิลปะของแวน โก๊ะแล้ว เพียงแต่ต้องทำใจหน่อยว่า ที่ครอบครองนั้น คืองานก๊อป !

หรืออยากได้ภาพเขียน “เดอะ ลาสต์ ซัปเปอร์”ของดาวินชี่ , ภาพวาด
“กรินนิ่ง เมน” (Grinning Men) ของเยี่ยว์ หมินจวิน หรือผลงานของจาง เสี่ยวกัง ?

ร้านขายงานศิลปะที่เบียดเสียดจนแทบเกยกันภายในบริเวณพื้นที่ขนาดเท่าจัตุรัสเทียนอันเหมิน มีพร้อมเสนอขายให้คุณทุก ๆ สไตล์,ทุกประเภท และทุกยุคสมัยกันเลยทีเดียว

ผลงานผีหลายล้านชิ้น

ในแต่ละปี จิตรกรแห่งหมู่บ้านต้าเฟินผลิตภาพวาดออกมาเกือบ 5 ล้านชิ้น ทว่าเกือบร้อยละ75 เป็นผลงานก๊อปปี้ลวก ๆ (คนที่นี่ชอบใช้คำว่า ภาพจำลอง มากกว่า) ส่วนที่เหลือเป็นภาพวาดต้นฉบับของจิตรกรเอง

แกลเลอรี่ของหลัน ซิน มีขนาดกว้าง 100 ตารางฟุต ระเกะระกะด้วยงานลอกเลียนแบบของศิลปิน เยี่ยว์ วางพิงผนัง และแขวนตามเสา

ทันทีที่ลูกค้าแวะเข้ามาสั่งซื้อ คุณหลัน จะคลิกไปที่ไอคอนบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ เพื่อขยายภาพจิตรกรรมอมตะของโลกมากมาย เช่น รูปวาดมาริลิน มอนโร ฝีมือของวอร์ฮอลส์ จากนั้น จิตรกรฟรีแลนซ์ ที่เขาว่าจ้างมา จะปาดป้ายพู่กัน ละเลงสีบนผืนผ้าใบอย่างฉับไว เป็นรูปร่างอย่างที่ลูกค้าต้องการ

“เราไม่ได้เรียกเงินแพงจากลูกค้า ก็เลยให้ค่าตอบแทนจิตรกรของเราไม่ได้มากมายนัก” หลัน ยักไหล่

ช่างวาดภาพบางคนได้ค่าตอบแทนแค่รูปละ 200 หยวน และโดยทั่วไป ทางแกลเลอรี่ได้กำไรร้อยละ 30

หมู่บ้านที่เคยเงียบสงบ

ต้าเฟินเคยเป็นหมู่บ้านที่มีชีวิตเรียบง่าย ไม่เร่งร้อน ด้วยประชากรเพียง 300 คน ส่วนใหญ่ปลูกผักขมและกะหล่ำปลี เลี้ยงชีวิต จนกระทั่งวันหนึ่งเมื่อ 19 ปีก่อน หวง เจียง นักธุรกิจชาวฮ่องกง ซึ่งเกิดที่แผ่นดินใหญ่ เดินทางมายังหมู่บ้าน พร้อมช่างวาดภาพ 26 คน เพื่อหาทำเลราคาถูก สำหรับเป็นสถานที่เร่งผลิตภาพวาดสีน้ำมันกว่าหนึ่งหมื่นชิ้นให้ทันตามคำสั่งซื้อของบริษัทวอล-มาร์ต สโตร์ส และเคมาร์ต

วีนัส เดอ มิโล

มาวันนี้ จากถนนที่ฟุ้งด้วยฝุ่นในหมู่บ้าน ถูกปรับให้เรียบ ปูซีเมนต์ทางเดิน เรียงรายด้วยร้านขายกาแฟสไตล์ตะวันตก สลับกับร้านอาหารแบบท้องถิ่น บริเวณซึ่งกำหนดให้เป็นตลาดขายงานศิลปะถูกกันออกจากบริเวณรกสกปรกด้วยพุ่มไม้ ที่ตัดแตะสวยงาม,ผืนผ้าใบสูงเท่าตึกหนึ่งชั้นสร้างด้วยหิน สลักชื่อต้าเฟินเป็นภาษาจีนและอังกฤษ และรูปประติมากรรมจำลองวีนัส เดอ มิโล ของไมเคิล แองเจโล มียามสวมเครื่องแบบ เดินตรวจตราการจราจร และผู้คน ที่เข้าออกหมู่บ้าน

เมื่อ19 ปีก่อน ค่าจ้างจิตรกรคนหนึ่งในต้าเฟินตกราว 800 หยวน เทียบกับในฮ่องกง ซึ่งสูงกว่า 1,000 หยวน ขณะที่สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์สาขาท้องถิ่นยื่นมือช่วยเหลือในด้านการลำเลียงขนส่ง และนำนักธุรกิจ,ช่างวาดเข้ามากันมากขึ้น

สำนักงานบริหารหมู่บ้านระบุว่า ต้าเฟินขายงานศิลปะได้มากถึง 430 ล้านหยวนในปีที่แล้ว หรือสูงเกือบสองเท่าของเมื่อปี2548

“ภาพวาดที่นี่ราคาถูก ภาพก็ดี มีอะไรบ้างล่ะ ที่ไม่เหมือน?” จูดี้ เบิร์กแมน ซึ่งอยู่ที่ฮูสตัน,รัฐเท็กซัสกล่าว ขณะด้อมๆ มอง ๆ หาร้านขายงานแอ็บสแตร็กต์

บริษัทต่างชาติหลายรายก็คิดอย่างเธอ งานศิลปะจากหมู่บ้านต้าเฟินเรียงรายบนฝาหนังในบ่อนคาสิโนในลาส เวกัส และมาเก๊า

ทว่าถึงแม้เป็นของปลอม แต่คุณภาพก็ไม่เท่ากัน พวกนักสะสมที่มองหางานลอกเลียนแบบคุณภาพระดับพิพิธภัณฑ์จะมุ่งหน้าไปที่แกลเลอรี่อย่างบริษัท เซินเจิ้น ซันไรส์ ออยล์ เพ้นติ้งส์ (Shenzhen Sunrise Oil Paintings Co.) ซึ่งขายงานแพงกว่าร้านอื่น ๆถึง 10 เท่า แต่เจ้าของร้านยืนยันว่า คุ้ม เพราะผลงานทำขึ้นอย่างประณีต

นอกจากนั้น เขายังไม่รู้สึกผิด ที่ไปก๊อปปี้ผลงานของศิลปินคนอื่น

“พวกนักสะสมรักงานต้นฉบับ แต่ไม่ได้เป็นเจ้าของ นี่เป็นการช่วยเหลือวิธีหนึ่งให้เขาได้สิ่งทดแทน ที่ยอมรับได้” เขาให้เหตุผล

อุตสาหกรรมก๊อปปี้งานศิลปะของหมู่บ้านต้าเฟินก่อให้เกิดเสียงตำหนิวิพากษ์วิจารณ์จากนักศิลปะ ซึ่งผลิตผลงานต้นฉบับ กระตุ้นให้รัฐบาลต้องประกาศกฎข้อบังคับเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา โดยห้ามแกลเลอรี่ขายงานก๊อปปี้จากผลงานของศิลปิน ที่ยังมีชีวิตอยู่ และที่อำลาโลกไปได้ไม่ถึง 50 ปี

นอกจากนั้น หน่วยปราบสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ ยังออกตรวจตราแกลเลอรี่“เดือนละครั้ง หรือสัปดาห์ละครั้ง” และยึดผลงาน ที่เข้าข่ายละเมิดกฎข้อบังคับ

ทว่าเจ้าของแกลเลอรี่ในหมู่บ้านยังเห็นว่า ความรับผิดชอบปัญหาด้านลิขสิทธิ์ควรตกเป็นของผู้ซื้อ และผู้มอบหมายให้วาด

“ช่างวาดภาพก็แค่ทำสิ่งที่มีคนบอกให้ทำ” เจ้าของแกลเลอรี่รายหนึ่งว่า

“ภาระข้อผูกพันของเขาหมดลง เมื่อเขามอบสินค้าให้ลูกค้าพอใจ”

แต่เมื่อตระเวนไปดูแกลเลอรี่ต่าง ๆ จนทั่ว ก็จะเห็นว่า รัฐบาลมิได้บังคับใช้กฎข้อระเบียบอย่างเข้มงวดสักเท่าไร

ทั้งนี้ หมู่บ้านต้าเฟินได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลจีนมาโดยตลอด โดยในปี2547 กระทรวงวัฒนธรรมของจีนกำหนดให้ต้าเฟินเป็นตัวอย่างของวิสาหกิจวัฒนธรรมของชาติ นายอู๋ ปังกั๋ว ประธานรัฐสภาจีนเคยมาเยี่ยมชม และสรรเสริญเลิศลอย

นอกจากนั้น เมื่อปีที่แล้ว รัฐบาลยังจัดสรรงบประมาณจำนวน 100 ล้านหยวนสำหรับสร้างพิพิธภัณฑ์ขึ้นที่นี่ ซึ่งจัดแสดงผลงานต้นฉบับของนักศิลปะเท่านั้น

ขณะเดียวกัน รัฐบาลยังเสนอมาตรการช่วยเหลือ เพื่อจูงใจให้นักศิลปะผลิตผลงานต้นฉบับ เช่น ให้เงินช่วยเหลือด้านที่อยู่อาศัย และสิทธิพิเศษในช่วงฝึกหัดความชำนาญสำหรับนักศิลปะ ที่มีคุณภาพครบตามเกณฑ์ที่รัฐบาลกำหนด

ความสำเร็จในการลอกเลียนแบบงานศิลปะของหมู่บ้านต้าเฟินยังสร้างบุคคลอย่างชิว จื้อหย่ง นักวาดภาพ ซึ่งฝึกเขียนภาพด้วยตนเอง เขามีภูมิลำเนาอยู่ในชนบทของมณฑลเหอหนัน แต่มาแสวงโชคที่ต้าเฟินเมื่อปีที่แล้ว

ชิว อายุ 35 ปี วาดภาพได้เดือนละประมาณ 20 ภาพ มีรายได้ราว 2,000-3,000 หยวน เขาเคยพยายามผลิตผลงานต้นฉบับ เช่นภาพวาดซานตา คลอส แต่ก็เลิกทำไป เพราะขายไม่ออก

สำหรับในปีนี้ เขามีงานเข้ามาน้อยลงถึงราว 1 ใน 3 ถ้าอีกสองสามเดือนข้างหน้า สถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น เขากะว่าจะเพลาการวาดงานก๊อปปี้ให้น้อยลง แต่เน้นรายละเอียดมากขึ้น เพื่อขายได้ราคาสูงขึ้น

“ตลาดเป็นคนบงการให้ผมวาดอะไร” ชิว กล่าว

“ผมจะฝ่าด่านใดๆก็ตาม เพื่อวาดรูปตามที่ตลาดสั่งมาในหมู่บ้านต้าเฟิน”
กำลังโหลดความคิดเห็น