xs
xsm
sm
md
lg

ทนายร้องศาลคดียึดทรัพย์ขอนช.แม้วแก้ตัวผ่านวีดีโอ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หางโผล่ แม้วดิ้นสู้เพื่อเงิน สั่งทนายรุกคดียึดทรัพย์ 7.6 หมื่นล้าน ร้องศาลฎีกานักการเมือง ขอแถลงเปิดคดีผ่านวีดีโอคอนเฟอร์เร้นซ์ ศาลนัดฟังคำสั่งอนุญาตหรือไม่ วันนี้ 27 มี.ค. 4 โมงเย็นพร้อมกำหนดวันไต่สวน ส่วน"บรรณพจน์" ร้องศาลคืนทรัพย์ตัวเองและภรรยา ด้าน"หญิงอ้อ" ร้องศาล อสส.ไม่มีอำนาจร้องยึดทรัพย์ ศาลนัดฟังคำสั่ง 20 เม.ย.บ่ายสอง ด้าน "เทพไท" แฉเหตุแม้วดิ้น เพราะหลายคดีใกล้ตัดสิน  ดักคอขอใช้วีดีโอฯ ให้การ ไม่เข้าข่ายข้อกำหนดศาล

วานนี้ ( 26 มี.ค.) เมื่อเวลา 11.00 น. ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สนามหลวง นายสมศักดิ์ เนตรมัย ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา เจ้าของสำนวนคดีพร้อมองค์คณะรวม 9 คน ออกนั่งบัลลังก์นัดตรวจพยานหลักฐาน คดีหมายเลขดำที่ 14 / 2551 ที่อัยการสูงสุด (อสส.) ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งยึดทรัพย์สินที่ร่ำรวยผิดปกติ และได้มา เนื่องจากการกระทำที่เป็นการขัดกัน ระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม ของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จำนวน 76,621,603,061.05 บาท พร้อมดอกผลตกเป็นของแผ่นดิน

เมื่อเริ่มการพิจารณา ศาลอธิบายว่า กระบวนการพิจารณานั้น ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 ม.35 วรรค 1 กำหนดไว้ว่า ผู้ใดกล่าวอ้างโต้แย้งว่าทรัพย์สินที่ร้องขอให้ตกเป็นของแผ่นดินมิได้เกิดจากการร่ำรวยผิดปกติก็ดี มิได้เป็นทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติก็ดี ผู้นั้นมีภาระพิสูจน์ต่อศาล และข้อกำหนดเกี่ยวกับการดำเนินคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2543 ข้อ 26 กำหนดว่า ให้องค์คณะผู้พิพากษาไต่สวนพยานหลักฐานของผู้ถูกกล่าวหาและคำคัดค้านของบุคคลภายนอกถ้าหากมีก่อน แล้วจึงไต่สวนพยานหลักฐานของผู้ร้อง เว้นแต่จะเห็นสมควรเป็นประการอื่น ดังนั้นผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านจึงมีหน้าที่พิสูจน์ที่มาของทรัพย์สิน และจะพิจารณาพยานหลักฐานผู้ร้องและผู้คัดค้านก่อน ซึ่งฝ่าย อสส. ผู้ร้อง ได้ยื่นเอกสารหลักฐานจำนวน 46 แฟ้ม ส่วน พ.ต.ท.ทักษิณ ผู้ร้องและผู้คัดค้านทั้ง 22 คน ยื่นหลักฐานจำนวน 52 แฟ้ม

หญิงอ้ออ้าง อสส.ไม่มีสิทธิ์ยึดทรัพย์

ศาลอธิบายต่อว่า คดีนี้นอกจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ผู้ถูกกล่าวหาแล้ว มีผู้มีรายชื่อถือครองทรัพย์สินที่ อสส. ร้องขอให้ตกเป็นของแผ่นดินยื่นคำร้องในฐานะผู้คัดค้านอีก 22 คน โดยก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 20, 25 และ 26 มีนาคม 2552 ผู้คัดค้านที่ 2 (คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ ) และผู้คัดค้านที่ 3, 7, 8, 19 และ 17 ยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมายในประเด็นอัยการสูงสุดผู้ร้องไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน เนื่องจากผู้คัดค้านดังกล่าวไม่ได้เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

นอกจากนี้ นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ ผู้คัดค้านที่ 5 ยังได้ยื่นคำร้องเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2552 ขอให้ศาลส่งคืนทรัพย์สินเฉพาะในส่วนของ ผู้คัดค้านที่ 5 และ นางบุษบา ดามาพงศ์ ผู้คัดค้านที่ 6 คืน ศาลจึงมีคำสั่งให้สำเนาคำร้องทั้ง 2 ฉบับให้ อสส. ผู้ร้อง ยื่นคำร้องคัดค้านภายใน 7 วัน หากไม่ยื่นถือว่าไม่ติดใจคัดค้าน โดยศาลนัดฟังคำสั่งเกี่ยวกับคำร้องทั้ง 2 ฉบับในวันที่ 20 เม.ย. นี้ เวลา 14.00 น. และให้คู่ความทั้งสองฝ่ายตรวจสอบพยานหลักฐาน ภายใต้การดูแลของเลขานุการองค์คณะและเลขานุการศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 27 มี.ค. และหากคู่ความประสงค์โต้แย้งเอกสารหลักฐานใดให้ยื่นคำร้องก่อน เวลา 14.00 น.

สำหรับคำร้องที่ทนายความ พ.ต.ท.ทักษิณ ผู้ถูกกล่าวหายื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้แถลงเปิดคดีโดยระบบการประชุมทางจอภาพ (VIDEO CONFERENCE) นั้นและคำร้องอื่นๆของผู้คัดค้านที่ศาลยังไม่ได้มีคำสั่งในวันนี้ ศาลจะมีคำสั่งในวันที่ 27 มี.ค. เวลา 16.00 น.

แม้วขอศาลแถลงเปิดคดีผ่านวีดีโอ

ภายหลังนายธนา เบญจาธิกุล ทนายความผู้คัดค้าน กล่าวว่า เป็นความประสงค์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่ต้องการแถลงเปิดคดีด้วยตัวเอง ซึ่งสามารถทำได้ตามข้อกำหนดเกี่ยวกับการดำเนินคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ ข้อ 20 ที่ระบุว่า เมื่อคู่ความฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดหรือทั้งสองฝ่ายมีคำขอ และองค์คณะผู้พิพากษาเห็นสมควรเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม องค์คณะผู้พิพากษาอาจอนุญาตให้ทำการไต่สวนพยานบุคคลที่อยู่นอกศาล โดยระบบการประชุมทางจอภาพได้ โดยให้ผู้ขอเป็นผู้ดำเนินการเพื่อจัดให้มีการไต่สวน โดยระบบดังกล่าวและเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายทั้งหมด และให้ถือว่าพยานเบิกความในห้องพิจารณาของศาล

“หากศาลอนุญาตให้ พ.ต.ท.ทักษิณ แถลงเปิดคดีผ่านทาง VIDEO CONFERENCE ได้พ.ต.ท.ทักษิณ ก็พร้อมที่จะแถลงเปิดคดีตามวันที่ศาลกำหนดทันที ส่วนจะแถลงมาจากที่ใดนั้นผมยังไม่ทราบ”

แม้วหน้าเงินเลือกขอสู้คดียึดทรัพย์

สำหรับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มีคดีติดตัวอยู่หลายคดี เริ่มจากคดีทุจริตจัดซื้อที่ดินรัชดาฯที่เป็นคดีแรกที่สิ้นสุดไปแล้ว เมื่อวันที่ 21 ต.ค.2551 ที่ผ่านมา โดยศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษา จำคุก 2 ปี ในความผิดตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช.กรณีปล่อยให้คุณหญิงพจมาน ภริยาเข้าเป็นคู่สัญญาประมูลซื้อที่ดิน 33 ไร่ ย่าน ถ.รัชดาฯ จากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ได้ในราคา 772 ล้านบาท ซึ่งเป็นการซื้อขายที่ดินที่ต่ำกว่าราคาประเมิน ซึ่งทำให้ชื่อของ ทักษิณ ถูกบันทึกไว้ว่าเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกที่ถูกพิพากษาจำคุกจากการกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่

อย่างไรก็ดี เมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ต้องหนีโทษจำคุกจากแผ่นดินไทย ส่งผลให้คดีทุจริตอีกมากมาย ต้องหยุดชะงัก ศาลฎีกาฯ ต้องจำหน่ายคดีไว้เป็นการชั่วคราว ประกอบด้วย

คดีทุจริตโครงการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย 3 ตัว และ 2 ตัว “หวยบนดิน” ซึ่ง คตส.ได้ยื่นฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ครม.และผู้บริหารสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล รวม 47 คน เป็นจำเลย ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญา และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ

คดีทุจริตแปลงค่าสัมปทานโทรศัพท์มือถือ-ดาวเทียม เป็นภาษีสรรพสามิต เอื้อประโยชน์ธุรกิจบริษัท ชินคอร์ป ทำให้รัฐเสียหายกว่า 6.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งอัยการสูงสุด เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นจำเลยในความผิดฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นหุ้นส่วน หรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วน หรือบริษัทที่รับสัมปทาน หรือเข้าเป็นคู่สัญญาในลักษณะดังกล่าว, เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการ หรือดูแลกิจการใดเข้าไปมีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่น เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา พ.ร.บ.ป.ป.ช.พ.ศ.2542

คดีเอ็กซิมแบงก์ปล่อยเงินกู้ 4,000 ล้านบาท ให้กับรัฐบาลพม่า เพื่อดำเนินโครงการจัดซื้ออุปกรณ์กิจการโทรคมนาคมจาก บริษัทในเครือชินคอร์ป ของครอบครัวชินวัตร ซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นจำเลยในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการดูแลกิจการเข้าไปมีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่น และเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152 และมาตรา 157 โดยคดีอาญาทั้งหมด พ.ต.ท.ทักษิณ แสดงเจตนาชัดเจนที่จะไม่ขอสู้คดี ด้วยการหลบหนีกระบวนการยุติธรรม

จนกระทั่ง มาถึงคดีแพ่งในส่วนของการยึดทรัพย์มูลค่ากว่า 7.6 หมื่นล้าน อันได้มาจากการร่ำรวยผิดปกติ ตกเป็นของแผ่นดิน จากการจงใจฝ่าฝืน พ.ร.บ.ป.ป.ช.ทำให้ธุรกิจครอบครัวมีการเพิ่มมูลค่านับแสนล้านบาท รวมทั้งมีการออกมาตรการแก้ไขสัญญาบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เอื้อประโยชน์ให้พวกพ้อง ทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ เกิดอาการหวงทรัพย์สิน จึงมอบหมายให้ทนายความ ยื่นขอต่อศาล เพื่อจะแถลงเปิดคดีเพื่อคัดค้านคำสั่งยึดทรัพย์ ด้วยตนเอง ซึ่งถือเป็นเรื่องแปลกที่ พ.ต.ท.ทักษิณ เลือกที่จะต่อสู้คดีเพื่อรักษาทรัพย์สินของตนเอง แต่กลับหนีการต่อสู้คดีความผิดอาญาแผ่นดิน

แฉทักษิณดิ้นเพราะคดีใกล้ตัดสิน

นายเทพไท  เสนพงศ์ โฆษกประจำตัวหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร  เปิดตัวเคลื่อนไหวรุนแรงในช่วงหลังนี้ว่า เป็นเพราะคดีความต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับพ.ต.ท.ทักษิณกำลังเข้าสู่การพิจารณาของกระบวนการยุติธรรมหลายคดี จึงจำเป็นที่ต้องดิ้นสุดชีวิตเพื่อกดดันศาลและหวังผลทางคดีความโดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่ถูกตั้งข้อหาว่า ใช้อำนาจหน้าที่เอื้อประโยชน์ต่อตนเองและพวกพ้องจนสร้างฐานะภายในไม่กี่ให้เกิดความร่ำรวยผิดปกติซึ่งศาลกำลังพิจารณาให้ทรัพย์สินจำนวน 7.6 หมื่นล้านบาทที่มีการอายัดไว้ก่อนหน้านี้ให้ตกเป้นของแผ่นดิน ซึ่งพ.ต.ท.ทักษิณจำเป็นต้องปรากฏตัวต่อศาลในฐานะผู้ถูกกล่าวหา

ในกรณีนี้ได้มีทนายความได้ยื่นร้องต่อศาล โดยอ้างข้อกำหนดในการดำเนินคดีของศาลฏีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2543 ข้อ 20 ระบุสรุปใจความไว้ว่า  หากคู่ความฝ่ายใดร้องขอต่อองค์คณะผู้พิพากษา ทางคณะผู้พิพากษาอาจอนุญาตให้สามารถใช้การประชุมทางจอภาพหรือวีดีโอ คอนเฟอร์เรนต์ ได้ โดยผู้ร้องขอต้องเป็นผู้ดำเนินการเสียค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด  ส่วนตัวเห็นว่า  ข้อกำหนดดังกล่าวเปิดโอกาสให้กับบุคคลทั่วไปที่มีความบริสุทธิ์และมีภารกิจที่ไม่สามารถมาปรากฏตัวต่อศาลได้ แต่กรณีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ถือว่าไม่ใช่บุคลตามภาวะปกติ เพราะเป็นบุคคลที่มีคดีติดตัวที่ศาลเคยมีคำพิพากษาให้จำคุกแล้ว และถ้ามาปรากฏตัวต่อศาลจะถูกจับกุมเพื่อดำเนินตามกฎหมายจึงจำเป็นต้องหนีศาล ไม่มาปรากฏตัวต่อศาล ข้ออ้างของทนายความของพ.ต.ท.ทักษิณจึงไม่เข้าข่ายตามข้อกำหนดที่ 20 นี้  

“ถ้าศาลได้ใช้ดุลยพินิจให้พ.ต.ท.ทักษิณสามารถใช้วีดีโอ คอนเฟอร์เรนท์ได้นั้น ก่อนการเบิกความต่อศาลก็จะต้องสาบานตนและเปิดเผยที่อยู่ในปัจจุบันต่อศาลก็จะเป็นโอกาสที่ดีของเจ้าหน้าที่ ผู้ที่รับผิดชอบในการติดตามตัวบุคคลผู้หลบหนีคดี เพื่อที่จะได้ออกตามตัวของพ.ต.ท.ทักษิณ และจับกุมมารับโทษได้".
กำลังโหลดความคิดเห็น