xs
xsm
sm
md
lg

กบข.! แค่ตรวจสอบอย่างเดียวยังไม่พอ

เผยแพร่:   โดย: สุวิชชา เพียราษฎร์

กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือ กบข. ดำเนินงานมาแล้ว 12 ปีนับจากปี 2540 ที่ก่อตั้งยังไม่เคยเผชิญกับข้อครหาที่หนักหน่วงเช่นวันนี้มาก่อน

การบริหารที่ขาดทุนจนทำให้ผลตอบแทนแก่สมาชิกกว่า 1 ล้านคนออกมาเป็นลบในงวดปี 2551 คือ ข้อสงสัย และความคลางแคลงใจของบรรดาสมาชิกซึ่งส่วนใหญ่เป็นข้าราชการเรียกร้องต่อสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ(ป.ป.ท.) ให้สอบผู้บริหาร กบข.

เกิดอะไรขึ้นกับเงินออมของสมาชิกที่วูบหายไปหลายหมื่นล้าน? การลงทุนเป็นไปอย่างโปร่งใสหรือไม่อะไร คือ ความผิดพลาด? ไม่ว่าจะมองมุมไหน ผู้บริหารกบข.ไม่มีทางเลือกเลยที่จะต้องทำตามคำที่สมาชิกร้องเรียน ทุกอย่างต้องตรวจสอบ

เอาละ! ไม่ว่า กบข.จะบ่ายเบี่ยง เลี่ยงไม่ให้ใครอื่นเข้ามาตรวจสอบโดยเลือกที่จะขอสอบตนเอง และแม้ว่าปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการกองทุนเพิ่งจะลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อตรวจสอบการดำเนินงานของกบข.ไปเมื่อวันศุกร์ (20 มี.ค.) ที่ผ่านมา และให้นั่งรอนับไปอีก 30 วันจึงจะทราบผล แต่ การกระทำเพียงเท่านี้ก็ยังนับว่าไม่พอ!

หนึ่งนั้น กบข.วันนี้เหมือนคนฝีแตก การดำเนินงานที่ออกมาคือภาพสะท้อนของปัญหาที่หมกหมมมานานแล้วเกิดระเบิดออกมา การตรวจสอบจึงไม่ใช่เรื่องที่จะได้ข้อยุติ และการันตีการทำงานของ กบข.ในอนาคตว่าจะไม่เกิดปัญหาขาดทุนยับเช่นวันนี้อีก ดีไม่ดีก็อาจถูกมองแค่เพียงว่าเป็นเรื่องของการ “ฟอกตัว” เท่านั้น

สองต้องไม่ลืมว่า เรื่องที่เกิดขึ้นใน กบข.วันนี้เป็นเรื่องที่ใหญ่มาก ไม่เพียงเกี่ยวพันกับคนเป็นล้านหากดูเม็ดเงินสะสมมหาศาลสามแสนกว่าล้านนั้น ซึ่งคงไม่มีกองทุนไหนในประเทศที่จะมีขนาดใหญ่เท่านี้ หาก กบข.มีอันเป็นไป อย่าว่าแต่ขาดทุน การทำงานที่ไม่โปร่งใส ไม่สามารถตอบคำถามสมาชิก หรือสังคมได้ ระบบกองทุนที่มีอยู่ทั้งหมด อาทิ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนรวมอื่นๆ ก็เลี่ยงไม่พ้นที่จะต้องถูกลดความน่าเชื่อถือ รวนกันไปทั้งระบบอย่างไม่สงสัย

รัฐบาลคงไม่ต้องการให้วันนั้นมาถึงกระมัง!

ก่อนจะถึงวันนั้น ทางออกที่ควรจะเป็นเห็นว่า รัฐบาลควรจะถือโอกาสนี้จัดให้มีเจ้าภาพขึ้นมาสักคณะแล้วสังคายนา กบข.อย่างจริงๆ จังๆ โดยเฉพาะ “ปรัชญา” ของการมีกองทุนบำเหน็จบำนาญนั้นเพื่ออะไร?

ผลงานของ กบข.ที่ขาดทุนวันนี้ต้องถูกตั้งคำถามและถกเถียงค้นหาสาเหตุกันอย่างตรงไปตรงมาว่า เป็นเพราะปรัชญาที่ผิดเพี้ยนไป ไม่ประเมินตนหรือไม่?

กบข.มีเงินสามแสนกว่าล้านได้ก็เพราะมาจากเงินของข้าราชการที่สะสมเอาไว้ สำหรับข้าราชการนับล้านที่เป็นสมาชิก พวกเขาไม่อยู่ในฐานะที่ต้องมา “เสี่ยง” เพียงเพื่อให้ได้มาซึ่งข้ออ้างที่ว่า ผลตอบแทนที่สูงกว่า

พวกเขามีแต่ความคิดของคนทำงาน คนที่ทำงานมาตลอดชีวิตด้วยความอุตสาหะ ซื่อสัตย์ สุจริต สู้เก็บหอมรอมริบ หวังว่า เมื่อวันหนึ่งตนเองเกษียณอายุ พ้นจากสมาชิกภาพ กบข.ไป จะมีเงินสักก้อนเป็นหลักประกัน “ความมั่นคง” ของชีวิต

ทว่า ตั้งแต่ นายวิสิฐ ตันติสุนทร ได้รับเลือกเข้ามานั่งในตำแหน่งเลขาธิการกองทุนเมื่อปี 2544 กบข.แทบจะละเลย หลงลืมคำว่า “มั่นคง” แต่กลับให้ความสำคัญกับคำว่า “เสี่ยง” แทน

นายวิสิฐ เป็นนักไฟแนนซ์ที่มีชื่อเสียงในช่วงนั้น เข้ามาเปลี่ยนแปลง กบข.พร้อมกับเอาวิธีคิดแบบโลกทุนนิยมตะวันตกเข้ามาปรับใช้ “เสี่ยงมาก ผลตอบแทนย่อมมาก” ยิ่งลงทุน ยิ่งขยายพอร์ต ผลตอบแทนก็ยิ่งจะไหลมาเทมาซึ่งเป็นวิธีคิดแบบเดียวกับที่เขาเคยนั่งบริหารพอร์ตหลายหมื่นล้านให้กับเอไอจี ก่อนจะมาอยู่ กบข.

กบข.ในยุคของนายวิสิฐจึงนำเงินของสมาชิกเข้าสู่เกมการเงินเต็มรูปแบบ คิดว่า กบข.ภาคภูมิใจในบทบาทการเป็น “นักลงทุนสถาบัน” ขาใหญ่ของวงการตลาดการเงิน ขยับตัวแต่ละครั้งก็ทรงอิทธิพล เขาขยายพอร์ตการลงทุนมหาศาล มีทั้งการลงทุนหุ้นในประเทศ และต่อมาขอขยายเพดานเงินลงทุนไปต่างประเทศเพื่อซื้อตราสารการเงินที่เสี่ยงสูง โดยที่ไม่มีใครได้ทราบเลยว่า ปัจจุบัน กบข.มีพอร์ตลงทุนในตราสารเหล่านี้มากน้อยเพียงใด

หลายปีที่ผ่านมา กบข.ทำผลงานได้ไม่เลวร้ายนัก ซึ่งนั่นอาจเพราะภาวะหุ้นหรือการลงทุนที่ยังดีอยู่มีส่วนช่วยพยุง “นักลงทุนรายใหญ่” รายนี้เอาไว้เยอะ แต่มาปี 2550 สัญญาณอันตรายเริ่มเกิดเมื่อปัญหาวิกฤตการเงินโลกจากปัญหาซับไพรม์ส่งผล กบข.แม้เอาตัวรอดมาได้แต่ก็เริ่มมีแผลอักเสบ

กระทั่งปี 2551 เมื่อซับไพรม์ฉุดภาวะหุ้น การลงทุนทั่วโลก พอร์ตของ กบข.ที่เน้นการลงทุนจึงปรากฏอย่างที่เห็น จากผลการดำเนินงานปี 2550 ที่เป็นบวกพลิกเป็นติดลบ ผลตอบแทนแย่แพ้แม้กระทั่งอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ต่ำเตี้ยติดดิน หรืออัตราเงินเฟ้อ!

นายวิสิฐ และผู้บริหาร กบข.จะคิดอย่างไรต่อโลกการลงทุนเป็นเรื่องที่ถูกหรือผิดอาจมีข้อโต้แย้งได้ตลอดเวลา แต่ที่ไม่อาจโต้แย้งได้แน่ๆ ก็คือ วันนี้ กบข.ในสายตาของสมาชิกคือความไม่ไว้วางใจไปแล้ว

หวังอย่างยิ่งว่า บทเรียน กบข.จะไปเป็นตัวจุดประกายให้หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้ลองทบทวนเรื่องดังกล่าวนี้

ไม่เช่นนั้น ทุกอย่างก็จะผ่านไปตามสายลมเหมือนๆ ที่เคยผ่านมา ซึ่งมันน่าขมขื่น และหดหู่เกินไป เมื่อเวลาที่เกิดเรื่องเช่นนี้แบบนี้ในโลกตลาดการเงินแล้วคำที่เรามักได้ยินจากปากผู้บริหารไฟแนนซ์ก็จะเป็นชุดคำพูดที่ซ้ำไปซ้ำมา ซ้ำแล้วซ้ำเล่าเหมือนคำปลอบประโลมที่ปราศจากความรับผิดชอบใดๆ แค่ว่า...

“การลงทุนมีความเสี่ยง!” แล้วก็จบๆ กันไป.
กำลังโหลดความคิดเห็น