xs
xsm
sm
md
lg

บัวหลวงเเพิ่มทุนธนทวีอีก2หมื่นล้าน รับดีมานด์ลูกค้าหาช่องลงทุนหนีดอกเบี้ยต่ำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการรายวัน – บลจ. บัวหลวง เป็นปลื้ม ดีมานด์กองทุนเปิดบัวหลวงธนทวีล้น หลังลูกค้าแห่เข้ามาลงทุนหนีดอกเบี้ยต่ำ ล่าสุดเพิ่มทุนจดทะเบียนอีก 20,000 ล้านบาทเป็น 80,000 ชี้เป็นอีกหนึ่งทางของแหล่งพักเงิน และให้ผลตอบแทนสูง ส่วนผลตอบแทนล่าสุด ย้อนหลัง 1 ปียังสูงที่ 2.69%
  นางวรวรรณ ธาราภูมิ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) บัวหลวง เปิดเผยว่า หลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเมื่อช่วงเดือนที่ผ่านมา ส่งผลให้นักลงทุนในเงินฝากต้องได้รับผลตอบแทนที่น้อยลงไปอีก ดังนั้นนักลงทุนต่างแสวงหาช่องทางใหม่ ๆ ในการลงทุนเพื่อให้ได้รับผลตอบแทนที่ดี และกองทุนเปิดบัวหลวงธนทวี (B-TNTV) เองก็เป็นอีกหนึ่งกองทุนที่นักลงทุนต่างให้ความสนใจและเลือกเข้ามาลงทุนแทนการฝากเงิน เนื่องจากกองทุนดังกล่าวต่างให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า
    ทั้งนี้ หลังจากที่กองทุนดังกล่าวมีนักลงทุนแห่เข้ามาลงทุนเป็นจำนวนมาก ทำให้บริษัทต้องทำการเพิ่มทุนกองทุนอีก 20,000 ล้านบาท จากเดิมมีอยู่ 60,000 ล้านบาท รวมเป็น 80,000 ล้านบาท  ซึ่งบริษัทได้รับอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ( ก.ล.ต.) เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2552 ที่ผ่านมา
   “หลังจากที่อัตราดอกเบี้ยปรับลดลง ทำให้นักลงทุนต่างหาช่องทางใหม่  ๆ ที่จะให้ได้ผลตอบแทนที่ดี แต่อย่างไรก็ตาม เรื่องของอัตราดอกเบี้ยปรับลดลงก็ไม่ใช่ประเด็นหลักเพียงอย่างเดียว ซึ่งยังมีนักลงทุนบางรายต้องการที่จะหาช่องทางไว้เป็นที่พักเงินก่อนที่จะเข้าไปลงทุนในช่องทางอื่นด้วย และถึงแม้ว่ากองทุนประเภทดังกล่าวยังมีการแข่งขันกันสูงด้วย แต่กองทุนของบริษัทเราถือว่ายังสามารถให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า”นางวรวรรณ กล่าว
  สำหรับมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ หรือเอ็นเอวีของกองทุน ล่าสุดอยู่ที่ 58,474.01 ล้านบาท และมูลค่าหน่วยลงทุนอยู่ที่ 11.32 บาทต่อหน่วย ส่วนผลตอบแทนของกองทุน ณ วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2552 กองทุนให้ผลตอบแทนย้อนหลัง 3 เดือนอยู่ที่ 2.63% เมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 1 ปีอยู่ที่ 0.75% ย้อนหลัง 6 เดือนอยู่ที่ 2.85% เมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 1 ปีอยู่ที่ 0.75% ย้อนหลัง 1 ปีอยู่ที่ 2.69% เมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 1 ปีอยู่ที่ 2.46% ย้อนหลัง 3 ปีอยู่ที่ 3.54% เมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 1 ปีอยู่ที่ 3.15% และผลตอบแทนตั้งแต่เริ่มจัดตั้งกองทุนอยู่ที่ 3.37% 
 ขณะที่สัดส่วนการลงทุน ณ วันที่ 26 ธันวาคม 2551 แบ่งออกเป็น เงินฝาก/ตั๋วสัญญาใช้เงิน 43.54%  ตั๋วเงินคลัง 1.02%  พันธบัตรรัฐบาล/ธปท. 24.50% หุ้นกู้รัฐวิสาหกิจ และบริษัทเอกชน 15.08% ตั๋วแลกเงิน 15.93%  และ 5 อันดับแรกของตราสารหนี้เอกชน และอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารและบริษัท ที่กองทุนเข้าไปลงทุนได้แก่ 1. ธนาคารฮ่องกงและเซี้ยงไฮ้แบงค์กิ้ง 3.84% 2. ธนาคารสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด (ไทย) 3.84% 3. ธนาคารดอยซ์แบงค์ 2.58% 4. ธนาคารกสิกรไทย 2.58% และ 5. บริษัท โตโยต้า ลิสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด 2.24%
 ทั้งนี้กองทุนได้รับการอนุมัติให้จัดตั้งกองทุนเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2548 และเข้าจดทะเบียนกองทุนในวันที่ 8 มีนาคม 2548 ซึ่งกองทุนจะเน้นการลงทุนในตราสารหนี้ที่มีสภาพคล่อง โดยจะลงทุนในตราสารหนี้ที่ออกหรือค้ำประกันโดยรัฐบาลและตราสารแห่งหนี้ภาคเอกชนที่มีความมั่นคง ซึ่งเน้นการลงทุนในตราสารแห่งหนี้ที่มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือในตัวตราสาร หรือผู้ออกตราสาร หรือผู้ค้ำประกัน ผู้รับอาวัล ผู้สลักหลัง หรือรับรองตราสารหนี้นั้นๆ ซึ่งมีอันดับความน่าเชื่อถือ ( Credit Rating ) ตั้งแต่ A- ขึ้นไป ส่วนอัตราการผลตอบแทนกองทุนจะเปรียบเทียบกับอัตราดอกบี้ยเงินฝากออมทรัพย์เฉลี่ยของ 3 ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย และธนาคาร ไทยพาณิชย์ และเกณฑ์มาตรฐานการวัดผลการดำเนินงานของกองทุนรวมของสมาคมบริษัทจัดการลงทุน
   ขณะเดียวกัน บริษัทยังได้เปิดขายกองทุนรวมบัวหลวงธนรัฐ 4/09(B4/09) เพื่อทางเลือกให้กับนักลงทุนอีกทาง โดยกองทุนดังกล่าวมีมูลค่าโครงการ 3,000 ล้านบาท อายุโครงการประมาณ 4 - 6 เดือน ซึ่งกองทุนเน้นลงทุนตราสารหนี้ภาครัฐ และปาระมาณการณ์ผลตอบแทนอยู่ที่ 1.00%กว่าต่อปี ทั้งนี้ กองทุนดังกล่าวได้ปิดการขายไปแล้วเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2552 ที่ผ่านมา
  ส่วนแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยอาร์/พี ที่จะมีการประชุมกันในวันที่ 25 ก.พ. นี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ออกมาคาดการณ์ ก่อนหน้านี้ว่า กนง. อาจมีมติให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วัน ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย ลงอีกไม่น้อยกว่าร้อยละ 0.50 จากร้อยละ 2.00 มาที่ร้อยละ 1.50 หรือต่ำกว่านั้น ในการประชุมรอบที่สองของปี ทั้งนี้เป็นเพื่อการส่งสัญญาณการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และสร้างความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจในภาพรวม ท่ามกลางความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศที่ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนและมีน้ำหนักมากกว่าความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อที่ยังไม่ใช่ประเด็นปัญหาที่น่ากังวลในปีนี้
    ในขณะที่ นอกเหนือไปจากประเด็นเสถียรภาพทางการเมืองในประเทศแล้ว ประสิทธิผลของนโยบายการคลังยังคงต้องรอการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีที่คงเร่งตัวขึ้นในระยะข้างหน้าและการเบิกจ่ายงบกลางปีที่จะเริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่เดือนเมษายน 2552
กำลังโหลดความคิดเห็น