xs
xsm
sm
md
lg

เรื่องที่ศาลรัฐธรรมนูญจะปล่อยผ่านไม่ได้

เผยแพร่:   โดย: ราวี เวียงพยัคฆ์

การอภิปรายไม่ไว้วางนายกรัฐมนตรี และอีก 5 รัฐมนตรีร่วมรัฐบาลผสม นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จบลงเรียบร้อยแล้ว

จบลงด้วยคะแนนเสียงไว้วางใจ ซึ่งเป็นเรื่องปกติธรรมดาเพราะรัฐบาลเป็นฝ่ายกุมเสียงข้างมาก สมาชิกพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันก็ต้องไว้วางใจกันเป็นธรรมดา เว้นเสียแต่จะมีหลักฐานหนาแน่นมั่นคงให้เห็นว่า นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจบริหารบ้านเมืองผิดพลาด ทุจริตประพฤติมิชอบ ปล่อยให้บริหารบ้านเมืองต่อไปจะเกิดความเสียหายแก่ประเทศชาติและประชาชนก็อาจจะมีวิธีการบีบให้ออก หลังจากการไว้วางใจแล้ว (เพื่อรักษาหน้า)

การอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ไม่มีเรื่องผิดปกติแต่อย่างใด มีรัฐมนตรีที่ได้เสียงไว้วางใจน้อยกว่ารัฐมนตรีอื่นที่ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจคือ นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ จนทำให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบางคนบางกลุ่มเรียกร้องให้ท่านลาออก หรือมีความกดดันที่จะให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีปรับเปลี่ยนคณะรัฐมนตรี แต่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นคนหนักแน่น พูดเสียงดังฟังชัดให้ผู้คนทั้งแผ่นดินรับรู้ว่า จะไม่มีการปรับเปลี่ยนคณะรัฐมนตรีในช่วงนี้

ความพยายามที่ไม่ยอมรับนายกษิต ภิรมย์ เกิดขึ้นตั้งแต่ที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์กำลังพิจารณาหาบุคคลที่เหมาะสมมารับตำแหน่งรัฐมนตรี โน่นแล้ว เพราะนายกษิต ภิรมย์ แสดงจุดยืนอย่างเด่นชัดว่า ไม่ยอมรับระบอบทักษิณ นอกจากไม่ยอมรับแล้วยังต่อสู้กับระบอบทักษิณอย่างเอาเป็นเอาตาย ชนิดที่เรียกว่าไม่อาจจะประนีประนอมกันได้เลย

พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรนั้นอยู่ระหว่างระเหระหนอยู่นอกประเทศ หนีคุกหนีตะรางเพราะศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตัดสินจำคุกพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เรียบร้อยแล้วเป็นเวลา 2 ปี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องระมัดระวังในการเดินทาง เพราะการเดินทางต้องใช้หนังสือเดินทาง การเดินทางต้องระวังไม่ให้ถูกจับในฐานะผู้ร้ายที่จะถูกส่งข้ามแดนมาติดคุกเอาง่ายๆ การเดินทางหรือทำกิจกรรมใดๆ ต้องไม่ให้กระทบกระเทือนความสัมพันธ์อันดีของประเทศนั้นๆ (ที่พ.ต.ท.ทักษิณไปอาศัยอยู่ อาศัยกิน อาศัยนอน)

ผู้ที่จะพิจารณาเรื่องนี้ จัดการเรื่องนี้ก็คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

ซึ่งแน่ละ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศที่ชื่อ กษิต ภิรมย์ ย่อมแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับนายนพดล ปัทมะ หรือนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ อย่างฟ้ากับเหว

และนี่คือเหตุที่ต้องถล่มนายกษิต ภิรมย์ อย่างเต็มที่ เอาเป็นเอาตาย

พวกเขาอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย แต่พวกเขาบางคนงดออกเสียง หรือให้ความไว้วางใจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมากกว่าที่จะไว้วางใจนายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศที่ลุกขึ้นมาชี้แจงข้อกล่าวหาของพรรคฝ่ายค้านเสียอีก

พวกเขาแสดงอาการจงเกลียดจงชังนายกษิต ภิรมย์ เพราะนายกษิต ภิรมย์ เคยแสดงความคิดเห็นผ่านเวทีพันธมิตรฯ ตอบโต้ฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชาอย่างเผ็ดร้อน เมื่อนายฮุนเซน เข้าใจว่าไทยส่งกองกำลังรุกเข้าไปในเขตกัมพูชา ในขณะที่นายกรัฐมนตรีของเรา (นายสมัคร สุนทรเวช) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของเรา (นายนพดล ปัทมะ) เงียบเป็นเป่าสาก

พวกเขา (สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคเพื่อไทย) เจ็บร้อนแทนฮุนเซน มากกว่าที่ฮุนเซน เจ็บร้อนเสียอีก

เพราะฮุนเซนเองเขาก็รู้ว่า นายกษิต ภิรมย์ พูดในฐานะคนไทยที่จะต้องรักษาผลประโยชน์ของคนไทย ประเทศไทย เช่นเดียวกับที่ ฮุนเซน พูดหรือทำเพื่อผลประโยชน์ของ กัมพูชา เมื่อนายกษิต ภิรมย์ได้รับแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และเดินทางไปกัมพูชา ฮุนเซน นายกรัฐมนตรีของกัมพูชา จึงให้การต้อนรับในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และเมื่อมีการประชุมสุดยอดอาเซียน ฮุนเซน และฮอร์นัมฮง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของกัมพูชาจึงได้เดินทางมาร่วมประชุม

เขาก็ต้องรักษาผลประโยชน์ของเขา เช่นเดียวกับที่เรารักษาผลประโยชน์ของเรา

มีข้อที่น่าสังเกตอีกอย่างหนึ่งก็คือ การอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและ 5 รัฐมนตรีครั้งนี้เป้าหลักๆ ดูเหมือนจะเป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งบรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคเพื่อไทยต่างก็รู้ดีว่า เป็นองค์กรที่ขับเคี่ยวสู้รบปรบมือกับระบอบทักษิณอย่างเอาเป็นเอาตาย จนพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ผู้เป็นเสมือนบิดาบังเกิดเกล้าของพวกเขาไม่มีที่หยัดยืนอยู่ในขณะนี้

นั่นก็ช่างเถอะ เพราะพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งเป็นองค์กรเอกชนคงจะตอบโต้เอง

ที่น่าเป็นห่วงก็คือมีการอภิปรายพาดพิงไปถึงองค์กรอิสระคือ ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินคดี(ซึ่งคงหมายถึงคดียุบพรรคและตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคการเมือง 3 พรรค) ไม่เป็นธรรม เมื่อมีผู้ทักท้วง ผู้ที่ทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุม ก็บอกว่าเป็นเรื่องที่องค์กรที่ได้รับความเสียหายจากการอภิปรายจะดำเนินการเอง

คงจะเป็นเพราะประธานในที่ประชุมก็เป็นสมาชิกพรรคที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญพิจารณายุบพรรคด้วย

มีคนอภิปรายอย่างนั้นก็เป็นเรื่องที่สะใจดี โดยหารู้ไม่ว่า การอภิปรายเช่นนั้นสร้างความเสียหายให้แก่องค์กรอิสระอย่างศาลรัฐธรรมนูญ คำอภิปรายดังกล่าวย่อมบันทึกในรายงานการประชุมเป็นประวัติศาสตร์

และถ้าหากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนหนึ่งสามารถกล่าวถึงศาลรัฐธรรมนูญอย่างเสียๆ หายๆ เช่นนั้นได้ก็จะกลายเป็นตัวอย่าง เป็นเรื่องปกติธรรมดาที่ใครจะพูดถึงศาลรัฐธรรมนูญให้เกิดความเสียหายได้

จึงเป็นเรื่องที่ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องลุกขึ้นมาปกป้องเกียรติยศ เกียรติภูมิขององค์กร จะคิดว่า ศาลเป็นองค์กรใหญ่เพียงหมาเยี่ยวรดนิดๆ หน่อยๆ เล็กๆ น้อยๆ ไม่ทำให้เกิดความกระทบกระเทือนได้

เกียรติยศเกียรติภูมิของศาล ไม่ว่าศาลใดก็ตามคือการดำรงความยุติธรรม

การพูดถึงศาลว่า กลั่นแกล้งไม่ให้ความเป็นธรรมเป็นเรื่องใหญ่ เรื่องสำคัญที่ศาลรัฐธรรมนูญจะปล่อยให้ผ่านไปไม่ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น