xs
xsm
sm
md
lg

วิปรัฐ ซัด “แม้ว” เลิกบ้าอำนาจ พร้อมขอบคุณฝ่ายค้านหนุนโหวต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชินวรณ์ บุญยเกียรติ ประธานวิปรัฐบาล
“ชินวรณ์” หยัน “แม้ว” บ้าอำนาจไล่งับ ส.ส.งูเห่า แต่ขอบคุณฝ่ายค้านปันใจให้ โวได้เสียงเกินครึ่งไม่ต้องใช้เงิน แฉ ส.ส.เพื่อไทย ไม่ได้เข้าประชุมแต่มีเสียงโหวต พร้อมขอบคุณ “เกียรติกร” ยอมลาออกวิปรัฐ ยก “กษิต” เหนือ “นพดล” เปรียบกันไม่ได้ หยัน “เหลิม” กระสุนด้าน ส่วน ส.ส.เพื่อแผ่นดิน ย้ำแน่นปึ้กรัฐบาล

วันนี้ (23 มี.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายชินวรณ์ บุญยเกียรติ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) แถลงผลการประชุมเพื่อประเมินผลการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ และรัฐมนตรีทั้ง 5 คน เมื่อวันที่ 19-20 มี.ค.ที่ผ่านมา ว่า ภาพรวมการอภิปรายครั้งนี้ วิปรัฐบาลพอใจบรรยากาศการอภิปราย โดยฝ่ายค้านพยายามทำหน้าที่อย่างเต็มที่ ฝ่ายรัฐบาลก็ได้ชี้แจงชัดเจนทุกข้อกล่าวหา โดยเฉพาะการชี้แจงของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ที่มีการชี้แจงทุกข้อกล่าวหา แต่ก็น่าเสียดายที่มีบรรยากาศบางส่วนที่มี ส.ส. ยังใช้กิริยาที่ไม่สุภาพ ซึ่งเป็นเรื่องของตัวบุคคลส่วนน้อย ทำให้เกิดความเสียหายต่อภาพลักษณ์ของ ส.ส.ในสภา ซึ่งวิปรัฐบาลต้องการให้คณะกรรมการกิจการสภาผู้แทนราษฎร หยิบยกเรื่องนี้พิจารณาการทำหน้าที่ของ ส.ส.ในฐานะตัวแทนประชาชน

“เรื่องนี้ก็ได้มีการแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง ถึงแม้ว่าจะมีการแสดงออกในเชิงทางอวัจนภาษา ที่ ส.ส.บางคนได้ดำเนินการ เรื่องนี้วิปรัฐบาลเห็นว่า เรื่องนี้เป็นการกระทำของคนบางคน แต่อาจจะกระทบต่อภาพลักษณ์ของ ส.ส.คณะกรรมาธิการกิจการสภา จึงต้องเข้ามาดูแลและดำเนินการต่อไป ส่วนวิธีการดำเนินการเป็นเรื่องของคณะกรรมการกิจการสภา เพื่อเป็นบรรทัดฐานทางสังคม แต่ในทางการเมืองถือว่าเป็นสีสัน แต่ส่งผลต่อความรู้สึกของประชาชน” นายชินวรณ์ กล่าว

สำหรับกรณีของ นายการุณ โหสกุล ส.ส.กทม.คณะกรรมการกิจการสภา ก็ยังไม่สามารถดำเนินการเป็นรูปธรรมได้ วิปรัฐบาลจะมีการกดดันอย่างไรนั้น นายชินวรณ์ กล่าวว่า เป็นหน้าที่ของ ส.ส.ทุกคนที่ต้องดูแลกัน ว่า การกระทำหรือการอภิปรายโดยมีกิริยา และวาจาที่ไม่สุภาพ ไม่เป็นแบบอย่างที่ดีแก่เยาวชน ที่สำคัญ เราเป็นบุคคลสาธารณะต้องรับผิดชอบต่อการกระทำที่ผ่านมา

นายชินวรณ์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ พรรคร่วมรัฐบาลยังต้องขอบคุณ ส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้าน ที่ลงคะแนนไว้วางใจนายกฯและรัฐมนตรี ทำให้มีเสียงเพิ่มขึ้น 12 เสียง และลงคะแนนไว้วางใจจาก นายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ 3 เสียง เป็นเพราะเกิดจากที่นายกฯและรัฐมนตรีได้ตอบข้อซักถามอย่างชัดเจน ประกอบกับในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ไม่มีประเด็นใดที่ชี้ให้เห็นว่านายกฯและรัฐมนตรี ทั้ง 5 มีข้อบกพร่องในการบริหารบ้านเมือง จนไม่สามารถให้ทำงานต่อไปได้

นายชินวรณ์ กล่าวว่า วิปรัฐบาลยังได้ประเมินความรู้สึกของประชาชน จากผลสำรวจของสำนักโพลต่างๆ เห็นชัดว่า ประชาชนให้ความเชื่อถือและศรัทธาในการตอบคำถามรัฐบาลเกินร้อยละ 50 และให้ความเชื่อถือข้อมูลของฝ่ายค้านไม่ถึงครึ่งหนึ่ง ชี้ให้เห็นว่า ผลของการอภิปรายในครั้งนี้ ทำให้รัฐบาลต้องเร่งเดินหน้าบริหารบ้านเมืองต่อไป โดยเฉพาะในเรื่องของการแก้ไขปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ ช่วงหลังอภิปรายรับบาลควรจะใช้โอกาสในการที่จะต้องตอบสนองความต้องการของประชาชน ในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ในเรื่องนี้เป็นหลัก

นายชินวรณ์ กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีของคะแนนของ ส.ส.ที่มาจากพรรคร่วมฝ่ายค้าน ซึ่งมาจากบางส่วนของพรรคเพื่อแผ่นดิน จึงถือโอกาสขอบคุณอีกครั้ง และสำหรับบางคนที่ลงคะแนนงดออกเสียงหรือไม่ลงคะแนน ก็ถือเป็นเอกสิทธิ์ ของ ส.ส.ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ และเชื่อว่าผลคะแนนดังกล่าวจะไม่มีผลกระทบต่อรัฐบาล ส่วน ส.ส.ที่มาไม่ทันลงคะแนน ก็ให้แต่ละพรรคไปดำเนินการ และในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ ก็ได้ให้ฝ่ายเลขาฯ ไปดำเนินการ ที่จะให้ ส.ส.ที่มาประชุมลงคะแนนโหวตไม่ทัน ได้ทำบันทึก ชี้แจงเหตุผล

“แต่ที่ประชุมมีข้อสังเกตในกรณีของ นายวิชัย สานิต ส.ส.หนองบัวลำภู พรรคเพื่อไทย ที่ได้มีการลงคะแนนไม่ไว้วางใจนายกฯ หลังจากนั้น การลงคะแนนให้รัฐมนตรีคนอื่นๆ นั้น ปรากฏว่าไม่มีการลงคะแนน จึงต้องข้อสังเกตว่า ในกรณีดังกล่าวอาจเป็นไปได้ว่า ส.ส.ดังกล่าวไม่อยู่ในห้องประชุม และจากการตรวจสอบเบื้องต้น พบว่า ส.ส.คนดงกล่าวก็ไม่ได้อยู่ในที่ประชุม ซึ่งการลงมติแทนถือว่าขัดแย้งต่อการปฏิบัติหน้าที่โดยพื้นฐาน ของการเป็นตัวแทนปวงชนชาวไทย และถือเป็นเรื่องความรับผิดชอบโดยส่วนตัว และจะฝากให้คณะกรรมการกิจการสภา ไปตรวจสอบเรื่องนี้ด้วย” นายชินวรณ์ กล่าว

นายชินวรณ์ กล่าวต่อว่า กรณีของ นายเกียรติกร ภาคเพียรศิลป์ ส.ส.ปราจีนบุรี พรรคประชาธิปัตย์ ที่ให้สัมภาษณ์สวนกับความเห็นของพรรคร่วมรัฐบาล จึงขอให้ นายเกียรติกร ให้ความร่วมมือในการทำงานร่วมกัน แต่เมื่อ นายเกียรติการ ได้ลาออกจากวิปรัฐบาล ก็ต้องขอบคุณที่ได้แสดงสปิริต

นอกจากนี้ นายชินวรณ์ ยังได้กล่าวถึงการโฟนอินของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่ตำหนิเพื่อน ส.ส.ที่ทำหน้าที่ ว่า มี ส.ส.ของพรรคร่วมฝ่ายค้านบางคนไปลงคะแนนให้ผ่ายรัฐบาล เป็นเรื่องของการทรยศ และไม่หมาะสม ว่า ซึ่งตนคิดว่าอดีตนายกฯคงห่างไกลจากความเป็นจริง และห่างไกลจากข้อมูล ว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ส.ส.สามารถลงคะแนนได้ โดยไม่ต้องตามมติพรรค อดีตนายกฯคงคิดว่า ส.ส.ยังอยู่ภายใต้อาณัติของตนเอง เหมือนในช่วงที่ตนเองยังมีอำนาจอยู่ และจากผลการลงมติที่ออกมาได้ส่งสัญญาณทางการเมือง ว่า ส.ส.ไม่มีใครอยากเป็นทาสในเรือนเบี้ยของอดีตนายกฯอีกต่อไป และยึดถือหลักผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศเป็นหลัก จึงอยากให้ทบทวนบทบาทที่ผ่านมา ว่า การดำเนินการดังกล่าวก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติหรือไม่ และถ้าอดีตนายกฯยุติบทบาททางการเมือง ก็จะทำให้ประเทศชาติสงบขึ้น

ส่วนกรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ระบุว่า มีการจ่ายเงิน 2 แสนบาท เพื่อจ้างให้ ส.ส.โหวตไว้วางใจนายกฯและรัฐมนตรี ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรนั้น นายชินวรณ์ กล่าวว่า รัฐบาลมีเสียงข้างมากอยู่แล้ว ก็ต้องมาลงคะแนนเพื่อให้คะแนนไว้วางใจเกินกึ่งหนึ่งอยู่แล้ว แต่ว่าเสียงที่จะทำให้รัฐมนตรี ไม่สามารถดำรงตำแหน่งต่อได้ คือ เสียงไม่ไว้วางใจ ถ้าจะมีการจ่ายเงิน ก็จ่ายเงินเพื่อให้ไปลงมติไม่ไว้วางใจ เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่า ต้องมีเสียงไม่ไว้วางใจเกินกึ่งหนึ่ง รัฐมนตรีจึงไม่สามารถดำรงตำแหน่งต่อไปได้

ผู้สื่อข่าวถามว่า ผลโพลเห็นว่าควรมีการปรับ นายกษิต ออกจากตำแหน่ง แต่วิปรัฐบาลกลับประเมินว่า ผลการอภิปรายน่าพอใจ นายชินวรณ์ กล่าวว่า จากการสำรวจเบื้องต้นของคณะทำงาน ถึงแม้ว่าจะได้คะแนนน้อยกว่ารัฐมนตรีท่านอื่น แต่เมื่อประมวลผลรวมแล้ว นายกษิตมีความเหมาะสมในการทำหน้าที่ต่อไป

ด้าน นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่ นายพร้อมพงษ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อนไทย จี้ให้ นายกษิต แสดงสปิริตลาออกจากตำแหน่ง เพราะขาดเสียงสนับสนุน 9 เสียง ว่า อยากให้ นายพร้อมพงษ์ ลองฝึกบวกลบตัวเลขดีๆ เพราะฐานของรัฐบาล คือมี 234 เสียง แต่เมื่อหักลบรัฐมนตรี หรือ ส.ส.ที่ไม่สามารถลงคะแนนเสียงได้ แต่ปรากฏว่า รัฐมนตรีส่วนใหญ่ได้คะแนนไว้วางใจ 246 และนายกษิต ก็ได้ 237 แสดงว่ารัฐมนตรีทุกคนได้เสียงสนับสนุนเพิ่มขึ้น ดังนั้น ควรไปตรวจสอบกันเองในพรรคดีกว่า ว่า ทำไมการอภิปรายครั้งนี้ นายกฯและรัฐมนตรีทุกคนจึงได้รับคะแนนเสียงไว้วางใจเพิ่มขึ้น

เมื่อถามว่า มีการพยายามนำกรณีของ นายกษิต ไปเปรียบเทียบกับกรณีของ นายนพดล ปัทมะ อดีต รมว.ต่างประเทศ เพื่อกดดันให้ลาออก นายชินวรณ์ กล่าวว่า เป็นคนละกรณีกัน เพราะนายกษิตสามารถเจรจาตกลงกับกัมพูชา ที่เป็นไปในทิศทางที่ดี ที่สำคัญ ในอนาคต การเจรจาทั้งสองฝ่ายในฐานะประเทศเพื่อนบ้าน จะมีทิศทางที่ดีขึ้น แต่กรณีของ นายนพดล เป็นกรณีที่ต้องรับผิดชอบฐานะที่ไม่ดำเนินการตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 190

เมื่อถามว่า ผลการลงมติที่ออกมาแสดงให้เห็นว่า เพื่อไทย กลายเป็นพรรคฝ่ายค้านที่ถูกโดดเดี่ยวแล้วหรือไม่ นายชินวรณ์ กล่าวว่า เราต้องให้กำลังใจ เพราะการตรวจสอบและถ่วงดุล เป็นหน้าที่ของฝ่ายค้าน แม้ว่าจะเหลือพรรคเพื่อไทยพรรคเดียว แต่ก็มีเสียงมากพอที่จะยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯและรัฐมนตรีได้

เมื่อถามถึงการนำเอกสารที่อภิปรายยื่นที่ กกต.นายชินวรณ์ กล่าวว่า ประเด็นนี้ที่ทางคณะทำงานได้ประเมินและตรงกับความรู้สึกของประชาชน ว่า ข้อมูลที่ฝ่ายค้านนำข้อมูลในอดีตมาอภิปรายเพื่อจะให้ถึงตัวนายกฯ แต่ในที่สุดก็ไม่ถึงตัวนายกฯ รวมทั้งไฮไลต์ ของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ประธาน ส.ส.พรรคเพื่อไทย จึงเปรียบเสมือนปืนใหญ่ แต่ว่าด้าน เพราะไม่ถึงเป้าหมาย แต่การนำเรื่องแจ้งต่อ กกต.ให้ตรวจสอบ หากพบข้อมูลดังกล่าวไม่เป็นความจริง ก็จะเป็นการใส่ความด้วยข้อความอันเป็นเท็จ ต่อพรรคการเมืองอื่น ก็ต้องรับผิดชอบ

ส่วนข้อท้วงติงที่ระบุว่า ร.ต.อ.เฉลิม ไม่ได้เป็นกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย และไม่เกี่ยวข้องกับพรรคเพื่อไทยแต่อย่างใด จะทำให้ไม่ต้องรับผิดชอบ นายชินวรณ์ กล่าวว่า ต้องไปถามพรรคเพื่อไทย ว่า จะยอม ร.ต.อ.เฉลิม หรือไม่ เพราะที่ผ่านมาก็ไม่ยอมเป็นหัวหน้าพรรคและผู้นำพรรคฝ่ายค้าน แต่ว่าเมื่อยอมให้เป็นผู้สมควรดำรงตำแหน่งเป็นนายกฯก็ต้องถามว่าจะยอมให้กรณีเอาดังกล่าวเป็นเดิมพันหรือไม่


เมื่อถามว่า มองว่า ฝ่ายค้านต้องการให้การอภิปรายครั้งนี้ เป็นเชื้อจุดชนวนให้กับการเคลื่อนไหวของกลุ่มเสื้อแดงในวันที่ 26 นี้ นายชินวรณ์ กล่าวว่า ต้องเคารพความคิดเห็นที่แตกต่างของประชาชน แต่ทางวิปรับบาลประเมินแล้ว ว่า คนส่วนใหญต้องการให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาปากท้องประชาชน การว่างงาน และปัญหาเศรษฐกิจ เพื่อให้ประเทศได้เดินหน้า กลุ่มเสื้อแดงสามารถชุมนุมได้ โดยความสงบปราศจากอาวุธ ส่วนรัฐบาลก็จะอดทน เพื่อให้ทุกคนได้มีที่ยืนในการแสดงความคิดเห็นสังคมประชาธิปไตย

ด้าน นพ.อลงกต มณีกาศ รองประธานวิปรัฐบาลพรรคเพื่อแผ่นดิน กล่าวว่า ในส่วนของพรรคเพื่อแผ่นดิน ทั้งกลุ่มเสียงส่วนใหญ่ และกลุ่มของ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก ว่าที่หัวหน้าพรรคเพื่อแผ่นดิน ก็ได้ลงคะแนนในแนวเดียวกันหมด ถือว่ามีความแตกแยกไม่มากนัก และชี้ให้เห็นว่า พรรคเพื่อแผ่นดิน สนับสนุนการทำงานของนายกฯ
กำลังโหลดความคิดเห็น