xs
xsm
sm
md
lg

รายงานพิเศษ : “นปช.-นักวิชาการเสื้อแดง”...ไร้เดียงสา หรือเบาปัญญา!?!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพเหตุการณ์ม็อบเสื้อแดง ใช้กำลังกับเจ้าหน้าที่ระหว่างเคลื่อนพลจากสนามหลวงไปปิดล้อมทำเนียบฯ เมื่อคืนวันที่ 31 ม.ค.
อมรรัตน์ ล้อถิรธร...รายงาน

หลังแกนนำ นปช.เดินเกมรุกด้วยการชุมนุมใหญ่-เคลื่อนไปปิดล้อมทำเนียบรัฐบาลเมื่อคืนวันที่ 31 ม.ค. เพื่อยื่น 4 ข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลให้จัดการ “พันธมิตรฯ” - ปลด “กษิต” - เปลี่ยนรัฐธรรมนูญมาใช้ปี 40 และยุบสภา โดยขีดเส้นให้รัฐบาลรีบดำเนินการภายใน 15 วัน หาไม่แล้วจะรวมพลบุกปิดล้อมทำเนียบฯ อีกครั้ง พร้อมขู่ คราวนี้ชุมนุมยืดเยื้อแน่ เมื่อรัฐบาลยืนยันข้อเรียกร้องส่วนใหญ่ทำไม่ได้ ต้องลุ้นว่า นปช.จะว่าอย่างไร แต่ก่อนถึงเวลานั้น ลองมาส่องกล้องดูข้อเรียกร้องของกลุ่มเสื้อแดงกันว่า สมเหตุสมผลหรือไม่ หรือเป็นเพียงข้อเรียกร้องที่ขลาดเขลาเบาปัญญา หวังหาผลประโยชน์ทางการเมืองใส่ตนเท่านั้น

 คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายงานพิเศษ 

การชุมนุมใหญ่ของกลุ่ม นปช.-คนเสื้อแดง ที่สนามหลวง เมื่อวันที่ 31 ม.ค. ไม่เพียงคลาคล่ำไปด้วย ส.ส.พรรคเพื่อไทย ที่บางทีก็สวมบทเล่นเกมป่วนในสภา แต่พออยู่นอกสภาก็มาร่วมชุมนุมกับ นปช. และมวลชนคนเสื้อแดงเล่นบทกดดันรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ให้ยุบสภา ไม่ว่าจะเป็นนายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.นครราชสีมา, นายอนุสรณ์ ปั้นทอง ส.ส.กทม., นายการุณ โหสกุล ส.ส.กทม., นายศักดา นพสิทธิ์ อดีตโฆษกพรรคเพื่อไทย, นายพายัพ ปั้นเกตุ อดีตผู้สมัคร ส.ส.สิงห์บุรี พรรคเพื่อไทย รวมทั้งยังมีอดีตกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชนอย่าง นพ.ประสงค์ บูรณพงศ์,นายประแสง มงคลศิริ อดีตผู้สมัคร ส.ส.อุทัยธานี พรรคพลังประชาชน เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีนักวิชาการที่แสดงตัวชัดเจนว่าอยู่สายเสื้อแดงมาร่วมชุมนุมใหญ่กับ นปช.ด้วย เช่น นายใจ อึ๊งภากรณ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้ต้องหาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และนายวรพล พรหมิกบุตร อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่มาขึ้นเวที นปช.อ่านแถลงการณ์โจมตีการเข้าสู่อำนาจของพรรคประชาธิปัตย์ ขณะที่ ร.ท.(หญิง) สุณิสา เลิศภควัต หรือ “หมวดเจี๊ยบ” นายทหารสังกัดสำนักงานเลขานุการกองทัพบก ผู้เขียนหนังสือ “ทักษิณ WHERE ARE YOU?” ที่แอบผู้บังคับบัญชาไปร่วมแถลงข่าวกับแกนนำ นปช.ก่อนหน้านี้ว่าจะไปร่วมจัดรายการทางสถานีโทรทัศน์ดีทีวีของคนเสื้อแดง ก็ไปร่วมชุมนุมกับ นปช.ที่สนามหลวงด้วย

ทั้งนี้ หลังมวลชนคนเสื้อแดงได้เคลื่อนขบวนจากสนามหลวงไปปิดล้อมทำเนียบรัฐบาลในคืนเดียวกัน ได้มีการประกาศข้อเรียกร้องให้รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ดำเนินการ 4 ข้อ 1.ให้เร่งดำเนินคดีกลุ่มพันธมิตรฯ ที่ปิดสนามบิน 2.ให้ปลดนายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ที่เคยขึ้นเวทีพันธมิตรฯ 3.ให้นำรัฐธรรมนูญ ปี 2540 หรือร่างรัฐธรรมนูญฉบับ คปพร.ของ นพ.เหวง โตจิราการ 1 ในแกนนำ นปช. มาใช้แทนรัฐธรรมนูญ 2550 และ 4.ให้รัฐบาลประกาศยุบสภาคืนอำนาจให้ประชาชน


นายจตุพร พรหมพันธุ์ 1 ในแกนนำ นปช.และ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย ประกาศว่าจะให้เวลารัฐบาลดำเนินการตามข้อเรียกร้องดังกล่าวภายใน 15 วัน หากไม่มีท่าทีตอบรับ นปช.และคนเสื้อแดงจะกำหนดมาตรการขั้นเด็ดขาดต่อไป ขณะที่นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ 1 ในแกนนำ นปช.ขู่ว่า ถ้านายอภิสิทธิ์ไม่ดำเนินการตามข้อเรียกร้องให้เห็นเป็นรูปธรรม จะได้พบกับกองทัพคนเสื้อแดงที่จะมาประชิดรั้วทำเนียบฯ อีกครั้งในอีก 15 วัน และว่าคราวนี้จะเป็นการชุมนุมที่ยืดเยื้อที่ทำเนียบฯ จนกว่าจะได้คำตอบที่ชัดเจน หรือมีการดำเนินการในบางเงื่อนไขที่น่าพอใจ นายณัฐวุฒิ ยังบอกด้วยว่า ระหว่างการชุมนุมยืดเยื้อ คนเสื้อแดงอาจจะเคลื่อนไหวประท้วงการประชุมอาเซียนซัมมิต ที่จะมีขึ้นปลายเดือน ก.พ.นี้ ที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ด้วย

ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ พูดถึงข้อเรียกร้องของกลุ่มเสื้อแดงว่า บางเรื่องกำลังทำอยู่ เช่น การดำเนินคดีและการปฏิรูปการเมือง ซึ่งคงไม่สามารถระบุได้ว่า เมื่อปฏิรูปการเมืองแล้ว ต้องนำรัฐธรรมนูญปี 2540 มาใช้ภายใน 15 วัน ส่วนข้อเรียกร้องที่ให้ปลดนายกษิตนั้น นายอภิสิทธิ์ บอกว่า เป็นเรื่องทางการเมืองที่สามารถมีความเห็นแตกต่างกันได้

ขณะที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ด้านความมั่นคง ก็พูดสอดคล้องกับนายอภิสิทธิ์ โดยบอกว่า ข้อเรียกร้องบางอย่างรัฐบาลก็ทำได้ บางอย่างก็ทำไม่ได้ โดยสิ่งที่ทำได้คือ การดำเนินคดีต่อกลุ่มพันธมิตรฯ ซึ่งรัฐบาลได้ขอให้ตำรวจดำเนินการอย่างเต็มที่โดยไม่ต้องเกรงใจใคร แต่ที่ทำไม่ได้ เช่น การบอกให้รัฐบาลยกเลิก รธน.2550 แล้วไปใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 เพราะการยกเลิกหรือประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ไม่ใช่อำนาจของรัฐบาล แต่มีกระบวนการที่ต้องทำในการขอความเห็นชอบของคนทั้งประเทศ ดังนั้น 15 วันทำไม่ได้ นายสุเทพ ยังเชื่อด้วยว่า ข้อเรียกร้องของกลุ่ม นปช.มีขึ้นเพียงเพื่อเป็นเหตุผลว่าจะได้ยกพวกมาทำเนียบรัฐบาลอีกภายใน 15 วันเท่านั้น

สำหรับข้อเรียกร้องที่ให้ปลดนายกษิตนั้น นายสุเทพ ก็ยืนยันว่า ทำไม่ได้เช่นกัน เพราะนายกษิตทำงานได้ดีทุกอย่าง ให้ไปเจรจากับกัมพูชา ก็รายงานว่าได้ผลดี ไปประชุมที่สวิตเซอร์แลนด์กับนายกฯ ก็ได้ผลดี ยังไม่ได้ทำอะไรเสียหายในตำแหน่งรัฐมนตรี ดังนั้นจะปลดทำไม...

ได้เห็นข้อเรียกร้องของกลุ่ม นปช.และท่าทีของรัฐบาลแล้ว ลองมาฟังทัศนะของนักวิชาการกันบ้างว่า มองข้อเรียกร้องของ นปช.อย่างไร สมเหตุสมผลหรือไม่ และหากรัฐบาลไม่ทำตามข้อเรียกร้อง จะส่งผลให้การชุมนุมลุกลามบานปลาย จนสั่นคลอนต่อความมั่นคงของรัฐบาลหรือไม่

รศ.วิทยากร เชียงกูล คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต มองว่า ข้อเรียกร้องของกลุ่มเสื้อแดงทั้ง 4 ข้อ เป็นข้อเรียกร้องที่ไม่มีเหตุผล ไม่ใช่ข้อเรียกร้องของประชาชน แต่เป็นข้อเรียกร้องทางการเมืองที่ต้องการเล่นงานคนที่อยู่ตรงข้ามตน รวมทั้งหวังผลประโยชน์ทางการเมือง

“คือมันไม่มีเหตุผล มันฟังแปลกๆ ไง เหมือนกับว่าคุณจะแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ เพื่อกลับไปเหมือนปี 40 ทั้งที่ปี 50 มันก็เอามาจากปี 40 ก็ไม่ได้ต่างอะไรกันมาก ยกเว้นเรื่อง ส.ว.นะ แต่เขาน่าจะเสนอเป็นเรื่องๆ ว่าจะแก้รัฐธรรมนูญจุดไหนบ้าง (ถาม-แล้วข้อเรียกร้องที่เขาเรียกร้องมาตั้งแต่วันแรกถึงวันนี้ คือรัฐบาลต้องยุบสภา?) อันนี้ก็เป็นไปเพื่อประโยชน์ทางการเมือง เพราะคิดว่าฝ่ายเขาเพลี่ยงพล้ำ คิดว่าถ้าเลือกตั้งใหม่ เขาจะมีโอกาสมากกว่า (ถาม-ห่วงสถานการณ์การเมืองมั้ย เพราะกลุ่มเสื้อแดงบอกว่า ถ้าไม่ทำตามข้อเรียกร้อง เขาจะมาปิดล้อมทำเนียบฯ อีกครั้ง และอาจจะประท้วงการประชุมอาเซียนซัมมิตด้วย?) ผมดูแล้วก็ไม่น่าจะมีกำลังเท่าไหร่ การจะชุมนุมยืดเยื้อได้เนี่ย คนต้องมีอุดมการณ์เยอะ และต้องมีแนวร่วมเยอะ เพราะฉะนั้นถ้าหากเรื่องราวมันไม่ใหญ่โตมาก มันก็หาแนวร่วมยาก และยืดเยื้อยาก”

“(ถาม-พอใจการทำงานของพรรคเพื่อไทยแค่ไหน เพราะเราก็เห็นเขาทำงานทั้งในสภา แต่พอข้างนอกเขาก็ไปร่วมกับคนเสื้อแดง?) ผมว่าแย่นะ ผมว่าคุณภาพของการอภิปรายก็แย่ เพราะมันไม่ค่อยตรงประเด็นน่ะ อย่างเรื่องของอาเซียน สมมติต้องอภิปรายว่ามันมีข้อดี-ข้อเสียยังไง เห็นด้วย-ไม่เห็นด้วยยังไง นี่กลับใช้เวลาไปว่าคุณกษิตน่ะ ก็เป็นความไม่พอใจด้านเดียวว่า เคยไปขึ้นเวทีฝ่ายพันธมิตรฯ อะไรอย่างนี้ มันคนละประเด็นไง เพราะกฎหมายอาเซียนนี่ ความจริงรัฐบาลเดิมเป็นคนทำนะ มันทำมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลที่แล้วใช่มั้ย มันก็เป็นการค้านแบบมั่วไง ค้านเพราะว่าสักแต่ได้ชื่อว่าเป็นฝ่ายค้าน เป็นคนละข้างก็ต้องค้านไว้ก่อน มันต้องค้านให้ตรงประเด็นว่ากรอบกฎหมายอาเซียนมันจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนมากน้อยแค่ไหน อย่างไร ต้องค้านแบบนี้”


ขณะที่ อ.อัษฎางค์ ปาณิกบุตร นักวิชาการอิสระ และอดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง มองว่า กลุ่ม นปช.ก็คงมีเหตุผลในข้อเรียกร้องของตน และคงไม่ใช่เหตุผลอย่างที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ที่บอกว่า นปช.เรียกร้องเพื่อเป็นข้ออ้างในการกลับมาปิดล้อมทำเนียบฯ อีกครั้ง เพราะ นปช.จะชุมนุมเมื่อไหร่ ก็ชุมนุมได้อยู่แล้ว แต่เจตนาของ นปช.คงแค่อยากรู้ว่ารัฐบาลจะใช้กฎหมายเสมอภาคหรือไม่เท่านั้น

“คนเรามันแบ่งเป็น 2 กลุ่ม 2 ฝ่าย มันไม่มีใครดีกว่าใครหรอก เพราะฉะนั้นถ้าเขาเรียกร้อง เพราะเขามีเหตุผลของเขา และอยู่ที่ปฏิบัติได้มั้ย ซึ่งก็คงไม่ปฏิบัติ เพราะบ้านเมืองเป็นอย่างนี้อยู่แล้วตั้งแต่ต้น (ถาม-ซึ่งรัฐบาลบอกว่า 2 ข้อทำไม่ได้ ส่วนกรณีพันธมิตรฯ มันมีกระบวนการของมันอยู่แล้ว?) ตอบลักษณะนั้นน่ะว่า มันมีขั้นตอนการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่อยู่แล้ว จริงๆ แล้วเขาก็รู้ว่ามันต้องเป็นอย่างนี้ มันไม่มีเหตุผลอื่น (ถาม-คุณสุเทพมองว่า เรียกร้องทั้งที่รู้ว่าทำไม่ได้ แต่เรียกร้องเพื่อที่จะได้กลับมาชุมนุมอีกครั้ง เป็นอย่างนั้นมั้ย?) ไม่ใช่อย่างนั้น เขาจะชุมนุมเมื่อไหร่ เขาก็ชุมนุมได้อยู่แล้ว ขั้นตอนการชุมนุมแตกต่างกับเสื้อเหลือง เพราะหัวคิดอะไรไม่เหมือนกัน (ถาม-อ.มองว่า พอรัฐบาลไม่ทำ เดี๋ยวมันจะยืดเยื้อบานปลายมั้ย?) ไม่หรอก มันก็เป็นแบบนี้แหละ (ถาม-เพราะเขาบอกว่า ถ้าไม่งั้นเดี๋ยวเขาประท้วงยืดเยื้อนะ จะประท้วงอาเซียนซัมมิทด้วย?) เป็นไปได้ ในการที่เขาจะปิดล้อมอย่างสงบ เจตนาเขาจริงๆ เขาอยากรู้ว่ารัฐบาลจะใช้กฎหมายยังไง เท่ากันมั้ย เหมือนกันหรือเปล่า (ถาม-อ.คิดว่าจะทำให้รัฐบาลอยู่ได้ไม่นานมั้ย?) ผมว่าไม่เกี่ยวกัน ช้าหรือไม่ช้ามันอยู่ที่โกงไม่โกง ถ้าทำดีมากๆ ใครเขาจะไปไล่ล่ะ คนส่วนใหญ่เขาต้องเห็นชอบ มันมีนิดเดียวเอง ประเทศไทยนักการเมืองก็เหมือนกันหมดน่ะ”

ด้าน รศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร แห่งคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองข้อเรียกร้องของ นปช.4 ข้อที่ขีดเส้นให้รัฐบาลดำเนินการภายใน 15 วันว่า เป็นสิทธิของ นปช.และคนเสื้อแดงที่จะยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล แต่การยื่นคำขาดภายใน 15 วัน คงเป็นไปไม่ได้ โดยการดำเนินคดีกับพันธมิตรฯ ก็เป็นเรื่องที่กระบวนการยุติธรรมกำลังดำเนินอยู่ ส่วนการเรียกร้องให้ปลดนายกษิต เพราะเคยขึ้นเวทีพันธมิตรฯ นั้น อ.ไชยันต์ ยืนยันว่า ไม่มีเหตุผลที่จะต้องปลดนายกษิต เพราะนายกษิตมีคุณสมบัติเพียบพร้อมและไม่มีปัญหาเรื่องผลงาน ส่วนที่นายกษิตเคยขึ้นเวทีพันธมิตรฯ ก็เป็นสิทธิเสรีภาพของทุกคนที่สามารถแสดงจุดยืนทางการเมืองก่อนที่จะมาเป็นรัฐมนตรีได้

“การที่คนคนหนึ่งเคยขึ้นเวทีหรือเคยมีจุดยืนทางการเมือง มีการเรียกร้องอะไรทางการเมืองเนี่ย ทุกคนมันมีสิทธิเสรีภาพตรงนี้ และหลังจากนั้นถ้าเขาจะขึ้นมาทำงานทางด้านการเมือง ก็ไม่ได้เป็นปัญหาอะไร เพราะทุกคนก็มีสิทธิที่จะเรียกร้องหรือแสดงจุดยืนทางการเมือง อีกทั้งก่อนหน้านี้ สมัยวันที่ 23 ธ.ค.(2550) เวลาคนเลือกพรรคประชาธิปัตย์เนี่ย เขาก็รู้อยู่ว่า คุณกษิตจะเป็น 1 ในคนที่จะกลายมาเป็นรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ ดังนั้นการที่คุณกษิตจะมาดูแลกระทรวงการต่างประเทศก็ไม่ใช่เรื่องแปลก”

“2.สิ่งที่ท่านกษิตได้พูดไว้เกี่ยวกับเรื่อง (การชุมนุมของพันธมิตรฯ) ดนตรีไพเราะอะไรนั่น มันก็เป็นช่วงก่อนที่ท่านจะได้รับการตัดสินจากพรรคให้มาเป็นรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศจริงๆ เพราะฉะนั้นมันก่อนหน้านั้น ถ้าเป็น(รมต.) แล้วยังพูดเนี่ย ผมว่ามันก็ไม่ถูกต้อง เสียมารยาท ทีนี้ข้อ 3 ตัวคุณกษิตเองเป็นคนที่คร่ำหวอดมาในวงการการทูต และเป็นข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศที่ได้รับการยืนยันจากข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศในปัจจุบันว่าเป็นคนที่แอคทีฟ กระตือรือร้น มีความสามารถ 4.ผลงานที่เริ่มต้นทำ ก็เป็นผลงานที่ไม่มีปัญหาอะไร ทุกอย่างก็ดูเหมือนจะสร้างภาพพจน์ที่ดีให้กับประเทศไทยด้วยซ้ำไป ขณะนี้ไม่มีเหตุผลอันควรอะไรเลยที่จะบอกว่าท่านไม่เหมาะสมหรือต้องปลด”


ส่วนกรณีที่กลุ่มเสื้อแดงเรียกร้องให้รัฐบาลนำ รธน.ปี 2540 มาใช้แทนรัฐธรรมนูญ 2550 นั้น อ.ไชยันต์ บอกว่า ไม่เห็นด้วย เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้เพิ่งใช้มาได้แค่ 1 ปี น่าจะลองใช้ไปอีกสักระยะ แล้วค่อยตรวจสอบหรือตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาทบทวนว่ามีข้อบกพร่องตรงไหน อย่างไร แต่ถ้าจะให้อยู่ๆ ก็ปรับเปลี่ยนรัฐธรรมนูญ ถือเป็นเรื่องที่ผิดหลักการ หากจะทำคงต้องทำรัฐประหารเท่านั้น อ.ไชยันต์ ยังสนับสนุนแนวคิดของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ ที่มีแนวคิดให้สถาบันพระปกเกล้าเป็นผู้ศึกษาเรื่องแก้รัฐธรรมนูญด้วย เพราะเหตุผลส่วนหนึ่งของการตั้งสถาบันพระปกเกล้าขึ้นมา ก็เพื่อให้มีการปฏิรูปการเมือง จึงควรจะใช้งานสถาบันนี้ที่มีผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญด้านรัฐธรรมนูญอยู่หลายคนพอสมควร

อ.ไชยันต์ ยังสอนประชาธิปไตยเกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาลแก่กลุ่ม นปช.และนักวิชาการในกลุ่มเสื้อแดงด้วยว่า อย่าคิดว่าพรรคการเมืองที่มีสิทธิเป็นรัฐบาล จะต้องเป็นพรรคที่ได้รับเลือกด้วยเสียงข้างมากจากประชาชนเท่านั้น เพราะตัวตัดสินที่สำคัญและมีอำนาจสูงสุดอยู่ที่เสียงไว้วางใจในสภา ดังนั้น การอ้างว่าพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งมีเสียงอันดับ 2 ไม่มีสิทธิจัดตั้งรัฐบาลหรือไม่มีความชอบธรรมในการบริหารประเทศนั้น เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง

“เรื่องที่บอกว่าไม่ชอบธรรมเพราะเป็นพรรคที่ได้คะแนนอันดับ 2 มา ผมต้องเรียนอย่างนี้นะว่า ผมเคารพในสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของพี่น้องเสื้อแดงในวันที่มาชุมนุมที่สนามหลวงวันที่ 31 ม.ค. แต่มีอันหนึ่งที่ผมคิดว่าคนที่เป็นนักวิชาการในเสื้อแดงเองก็ดี น่าจะคนที่เชี่ยวชาญทางด้านรัฐศาสตร์น่าจะเข้าใจว่า มันไม่ใช่ว่าพรรคที่ได้คะแนนเสียงข้างมากสูงสุดจะต้องได้จัดตั้งรัฐบาลเสมอไป มันขึ้นอยู่กับความไว้วางใจในสภา ไม่ใช่คะแนนเสียงข้างมากของประชาชน ที่ผ่านมาก็คือ ตั้งแต่สมัยรัฐบาลสมัครก็ดี รัฐบาลคุณสมชายก็ดีได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า การทำงานของพรรคที่ได้เสียงข้างมากที่สุดในประเทศ และพรรคที่ได้เสียงข้างมากที่สุดในสภาในคราวนั้น ได้พิสูจน์แล้วว่าเกิดปัญหา โดยธรรมเนียมปฏิบัติแล้วนะ ไปอ่านหรือเปิดในหนังสือเล่มไหนก็ได้ โดยธรรมเนียมปฏิบัติแล้ว เมื่อพรรคที่ได้คะแนนเสียงข้างมากที่สุดมีปัญหา พรรคอันดับรองลงมาก็ควรจะจัดตั้งรัฐบาล”

“และจริงๆ แล้วก็ขอให้ไปอ่านในตำราด้วยนะว่า แม่แบบของอังกฤษเองด้วยซ้ำไปว่า การปกครองแบบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาเนี่ย เขาดูว่า ใครที่ได้รับเสียงหรือได้รับความไว้วางใจจากสภาเป็นสำคัญนะ เพราะสภาในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย สภาคือที่มีอำนาจสูงสุดในการตัดสินใจว่า จะให้ใครขึ้นมาเป็นนายกฯ ตรงนี้สำคัญ ผมรู้สึกเสียใจนิดหนึ่งว่าทำไมฝ่ายวิชาการของกลุ่มเสื้อแดงน่าจะให้ความรู้ที่แท้จริงกับประชาชน เพราะในอนาคตมันก็ไม่แน่ว่า พรรคเพื่อไทยหรือพรรคอะไรก็ตาม อาจจะได้คะแนนเสียงมาเป็นที่ 2 แต่ก็สามารถที่จะมีเครือข่ายโยงใยสร้างความไว้วางใจให้กับ ส.ส.พรรคอื่นในสภา และสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ คุณไม่เผื่อไว้ตรงนี้เลยเหรอในความเป็นจริง มันทฤษฎีและหลักการ หรือการปฏิบัติในประวัติศาสตร์มันเป็นมาเช่นนั้น ผมเสียดายที่ว่าพี่น้องเสื้อแดงก็ได้รับความรู้จากวิทยุชุมชนคนแท็กซี่ ได้รับความรู้ผ่านดี สเตชั่น ความจริงวันนี้ บางส่วนเนี่ยควรจะให้ให้ครบ เพื่อประโยชน์ในระยะยาว และเพื่อความรู้เกี่ยวกับระบอบประชาธิปไตยจริงๆ ถ้าไม่รู้หรือไม่เข้าใจก็โอเค อันนี้ผมก็อธิบายให้เข้าใจ”


อ.ไชยันต์ ยังพูดถึงกรณีที่สื่อต่างประเทศบางสำนักวิพากษ์วิจารณ์ว่า รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ถูกทหารและพันธมิตรฯ ครอบงำด้วยว่า คงเป็นไปได้ยาก และส่วนตัวมองว่าไม่ได้มีการครอบงำ เพราะถ้าจะครอบงำคงครอบงำมาตั้งแต่วันที่ 19 ก.ย.2549 แล้ว แต่ก็ไม่ได้ทำ ส่วนช่วงเลือกตั้งวันที่ 23 ธ.ค.2550 ถ้ามีการครอบงำจริงๆ ผลเลือกตั้งคงไม่ออกมาว่า พรรคพลังประชาชนได้คะแนนเสียงมากสุดแน่ ส่วนช่วงก่อนจัดตั้งรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ ก็น่าจะจำกันได้ว่า ภาคเอกชน ไม่ว่าจะเป็นประธานหอการค้าฯ หรือสภาอุตสาหกรรมฯ ต่างก็อยากให้มีการเปลี่ยนขั้วการเมือง ซึ่งภาคประชาชนก็ยอมรับ ขณะที่ทหารก็มองว่า การเปลี่ยนขั้วการเมืองน่าจะเป็นทางออกที่ประชาชนยอมรับ

อ.ไชยันต์ ยังย้ำด้วยว่า เมื่อพรรคพลังประชาชนที่มีคะแนนเสียงมากสุดเกิดปัญหา ถูกศาลตัดสินยุบพรรค ก็เป็นมารยาททางการเมืองที่จะต้องเปลี่ยนขั้วใหม่ ให้อีกขั้วหนึ่งได้ลองจัดตั้งรัฐบาลบ้าง ซึ่งเผอิญ ส.ส.ในสภาก็เห็นดีเห็นงามด้วย ดังนั้นการที่ ส.ส.กลุ่มเพื่อนเนวินไม่ไปพรรคเพื่อไทย แต่หันมาจับมือพรรคประชาธิปัตย์จัดตั้งรัฐบาล ก็อาจเป็นเพราะ ส.ส.เหล่านั้นได้ผลประโยชน์จากการเปลี่ยนขั้ว ไม่ใช่ถูกทหารบังคับให้แปรพักตร์อย่างที่กลุ่มเสื้อแดงเข้าใจแต่อย่างใด!!




รศ.วิทยากร เชียงกูล คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต ชี้ ข้อเรียกร้อง 4 ข้อของกลุ่ม นปช.ไร้เหตุผล
อ.อัษฎางค์ ปาณิกบุตร นักวิชาการอิสระ เชื่อ การชุมนุมของ นปช.-เสื้อแดง แค่อยากรู้ว่า รบ.จะใช้กฎหมายอย่างเสมอภาคหรือไม่
รศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร แห่งคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ไม่เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องของกลุ่มเสื้อแดง
กำลังโหลดความคิดเห็น