xs
xsm
sm
md
lg

คลังปลุกผีภาษีโทรคม หวังรายได้ปีละ1.6หมื่นล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน – คลังหาช่องปิดรูโหว่ภาษีหลุดเป้า เตรียมรื้อฟื้นภาษีสรรพสามิตโทรคมนาคมที่ยกเลิกสมัยรัฐบาลขิงแก่แต่ยังไม่ได้ดำเนินการใดๆ หวังดึงรายได้กลับคืนรัฐปีละกว่า 1.6 หมื่นล้าน พร้อมถก กทช.ประเมินภาษีจากมูลค่าคลื่นความถี่แทน

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า ขณะนี้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สสค.) อยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสมในการปรับปรุงการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตกิจการโทรคมนาคม จากปัจจุบันที่ลดลงเหลือ 0% โทรศัพท์เคลื่อนที่และโทรศัพท์พื้นฐานโดยในส่วนของโทรศัพท์เคลื่อนที่อาจปรับขึ้นไปเท่าเดิมที่จัดเก็บในอัตรา 10% ของรายได้ และโทรศัพท์พื้นฐานจัดเก็บในอัตรา 2 % ซึ่งรวมเป็นรายได้ของกรมสรรพสามิตปีละประมาณ 1.6 หมื่นล้านบาท

เนื่องจากพบว่าที่ผ่านมาเดิมที่เอกชนผู้ได้รับสัญญาสัมปทานต้องแบ่งส่วนรายได้ให้เจ้าของสัมปทานทั้ง องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ทศท.) การสื่อสารแห่งประเทศไทย (กสท.) แต่ก็มีกรณีปัญหาของการตีความและฟ้องร้องจนไม่สามารถนำส่งรายได้ให้รัฐวิสาหกิจเจ้าของสัมทานได้ อีกทั้งในส่วนของ ทศท.และกสท.เองก็ไม่ได้นำส่งเป็นรายได้แผ่นดินตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ ซึ่งควรจะจัดส่งเป็นรายเดือน แต่จากภาวะเศรษฐกิจและจากปัญหากับภาคเอกชนในช่วงที่ผ่านมาทำให้ทั้ง 2 แห่งเลื่อนการนำส่งมาตลอด ขณะที่ภาวะปัจจุบันรัฐบาลจำเป็นต้องพึ่งพารายได้จากภาษีและการนำส่งของรัฐวิสาหกิจเพื่อนำไปใช้จ่ายในการกระตุ้นเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม หากเป็นนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังก็สามารถดำเนินการได้ทันทีโดยออกเป็นประกาศของกรมสรรพสามิตและนำเข้าขอมติจากคณะรัฐมนตรี แต่คงขึ้นอยู่กับจังหวะเวลาและความเหมาะสมด้วย โดยหากเปลี่ยนจากการส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจเป็นภาษีกิจการโทรคมนาคมก็จะช่วยให้กรมสรรพสามิตจัดเก็บภาษีได้มากขึ้นด้วย จากปัจจุบันที่ยังต่ำกว่าเป้าหมายและอยู่ระหว่างศึกษาการจัดเก็บภาษีบาปอีกหลายชนิด

ปัญหาการจัดเก็บรายได้จากภาษีสรรพสามิตโทรคมนาคมจากผู้รับสัมปทานโทรศัพท์เคลื่อนที่เกิดขึ้นในสมัยคณะรัฐมนตรี พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้ยกเลิกไป ส่งผลให้รายได้ที่รัฐควรจะได้ปีละ 1.6 หมื่นล้านบาท หายไป กระทรวงการคลังจึงมีแนวคิดที่จะจัดเก็บรายได้จากผู้ประกอบการด้วยการคำนวณจากมูลค่าคลื่นความถี่ ซึ่งกว่า 200 ประเทศทั่วโลกได้จัดเก็บแล้ว และปัจจุบันในประเทศไทยผู้ประกอบการจ่ายในอัตราต่ำมาก เช่น เอไอเอสจ่ายเพียงปีละ 2 ล้านบาท ขณะที่ดีแทคจ่ายปีละ 3 ล้านบาท ซึ่งเรื่องดังกล่าวสอดคล้องกับที่สำนักงานกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.)ได้ศึกษา ซึ่งคาดว่าปี 52 จะออกเป็นร่างหลักเกณฑ์ได้

โดยปัจจุบันคลื่นความถี่เป็นธุรกิจที่มีมูลค่ามาก ซึ่งต้องประเมินมูลค่าที่เหมาะสม ซึ่งหากสามารถจัดเก็บภาษีจากคลื่นความถี่ได้จะเพิ่มรายได้เข้ารัฐกว่าหมื่นล้านบาท.
กำลังโหลดความคิดเห็น