xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.ชี้ส่งออกก.พ.รับอานิสงส์ทองคำแบงก์แนะจับตาศก.โลกยังส่อแววซบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - แบงก์ชาติชี้สัญญาณตัวเลขส่งออก 2 เดือนแรกของปีดีขึ้น ส่วนเดือนก.พ.ติดลบน้อยลง รับอานิสงส์จากการส่งออกทองคำเป็นจำนวนมาก ขณะที่การนำเข้าที่ลดฮวบถึง 40% เป็นการปรับตัวของผู้ประกอบการ ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุแนวโน้มช่วงถัดไปยังไม่สดใส แนะยังต้องจับตาทิศทางเศรษฐกิจโลกและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาค โดยเแฉพาะจีนและอินเดียมีโอกาสฟื้นตัวเร็ว

นางอมรา ศรีพยัคฆ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจในประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวว่า การส่งออกของไทยที่ติดลบ 11.3% ในเดือนกุมภาพันธ์ของปีนี้ ซึ่งชะลอน้อยกว่าที่ธปท.ประเมินไว้ ถือเป็นสัญญาณที่ดีต่อภาพการส่งออกของไทยที่ดีขึ้น โดยขณะนี้เท่าที่ดูภาพรวมแล้วการส่งออกไทยสุทธิในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้เริ่มปรับตัวดีขึ้น ส่วนที่ส่งผลให้การส่งออกเดือนนี้ติดลบน้อยลงได้รับอนิสงส์จากการส่งออกทองคำจำนวนมากด้วย

ขณะที่การนำเข้าที่ติดลบเยอะถึง 40.3% ไม่ได้ส่อให้เห็นว่าอุปสงค์ในประเทศเริ่มอ่อนแอแต่อย่างใด แต่เกิดจากการปรับตัวของผู้ประกอบการมากกว่า โดยในช่วงครึ่งแรกของปีก่อน ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ต่างเกรงว่าอัตราเงินเฟ้อจะฉุดให้ราคาสินค้าแพงขึ้น จึงมีการเร่งนำเข้าวัตถุดิบเข้ามามาก โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสที่ 3 และ 4 ของปีก่อน ทำให้ขณะนี้ยอดการนำเข้าในเดือนกุมภาพันธ์ไม่มากนัก และผู้ประกอบการเองใช้วัตถุดิบที่นำเข้ามาก่อนหน้านี้ด้วย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่าตัวเลขการส่งออกในเดือนกุมภาพันธ์ 2552 หากไม่นับรวมทองคำซึ่งไม่ใช่รายการที่สะท้อนความสามารถในการส่งออกที่แท้จริงของไทย พบว่าหดตัว 24.6% ยังหดตัวสูงต่อเนื่องจากเดือนมกราคมที่การส่งออกไม่รวมทองคำหดตัว 30%

ส่วนแนวโน้มการส่งออกในเดือนถัดๆไป ปัจจัยที่มีผลเบี่ยงเบนตัวเลขการส่งออกน่าจะลดน้อยลงไป ขณะที่ทิศทางเศรษฐกิจโลกซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานที่จะมีผลต่อทิศทางการส่งออกยังคงเปราะบาง ในประเด็นเกี่ยวกับการส่งออกทองคำ คาดว่าคงมีผลน้อยลง เนื่องจากหลังจากราคาทองคำขึ้นไปแตะระดับสูงสุดของปีนี้ที่ 1,005.40 ดอลลาร์ฯ ต่อออนซ์ เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ก็ได้มีทิศทางปรับลดลงมาอย่างต่อเนื่อง การตื่นขายทองของประชาชนจึงลดน้อยลง ขณะที่หากพิจารณาถึงสถานการณ์เศรษฐกิจต่างประเทศ แม้ว่าตั้งแต่สัปดาห์ก่อน จะเริ่มมีกระแสการปรับตัวดีขึ้นของบรรยากาศในตลาดการเงิน หลังจากสถาบันการเงินของสหรัฐฯ หลายแห่งเปิดเผยว่ามีผลกำไร และตัวเลขการก่อสร้างบ้านใหม่ของสหรัฐฯ ดีขึ้นเหนือความคาดหมาย แต่ภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงของสหรัฐฯ และกลุ่มเศรษฐกิจชั้นนำอื่นๆ ไม่ว่ายูโรโซน หรือญี่ปุ่น ยังคงมีแนวโน้มอ่อนแอลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะปัญหาการว่างงานที่ยังมีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้นจะยังคงเป็นปัจจัยที่บั่นทอนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และโอกาสที่จะเห็นเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวได้ภายในปีนี้มีน้อยลง

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาตัวเลขการนำเข้าที่หดตัวลงอย่างมาก พบว่ากลุ่มสินค้าที่หดตัวสูงเป็นสินค้าประเภทวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ที่ลดลงถึง 48.8% ซึ่งอาจถือเป็นสัญญาณล่วงหน้าว่าการผลิตในภาคอุตสาหกรรมหลักๆ ยังคงไม่ฟื้นตัว เนื่องจากยังไม่มีสัญญาณของการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางเพื่อนำมาใช้ในการผลิต และในด้านคำสั่งซื้อสินค้าล่วงหน้าซึ่งเป็นภาพสะท้อนของภาวะตลาดยังคงไม่ดีขึ้นเช่นกัน จากเหตุผลดังกล่าวทำให้คาดว่าการส่งออกของไทยจะยังหดตัวสูงในระดับประมาณ 20% ต่อเนื่องไปจนถึงปลายไตรมาสที่ 2 ขณะที่แนวโน้มในครึ่งปีหลังยังคงขึ้นอยู่กับทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภูมิภาคหลักของโลก ยิ่งถ้าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกล่าช้าออกไปเป็นปีหน้า ก็จะส่งผลกระทบต่อภาพรวมการส่งออกของไทยตลอดทั้งปี 2552 มากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ หากพิจารณาจากสถานการณ์ล่าสุดที่คาดว่าเศรษฐกิจโลกในปีนี้อาจหดตัวลงรุนแรงกว่าประมาณการใหม่ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ที่ประเมินว่าเศรษฐกิจโลกจะหดตัว 0.6% แล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าแนวโน้มการส่งออกของไทยในปี 2552 อาจจะลดลงประมาณ 13.5-20% จากปีก่อนหน้า โดยลดลงจากประมาณการในเดือนก่อนที่คาดว่าจะหดตัวร้อยละ 10-16%

สำหรับการปรับตัวของธุรกิจส่งออกในช่วงระยะเวลาที่เหลือของปีนี้ เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภูมิภาคหลักของโลกยังคงมีความไม่แน่นอน ผู้ประกอบการจึงควรเตรียมแผนรับมือในกรณีสถานการณ์เลวร้ายที่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยของโลกอาจจะยิ่งรุนแรงและยาวนาน ในด้านการตลาด ควรศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภคในตลาดประเทศต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงในในภาวะเศรษฐกิจซบเซา เพื่อปรับกลยุทธ์การผลิตและการตลาดให้สอดคล้องกับสภาวะตลาด และควรประเมินทิศทางตลาดอย่างใกล้ชิดเนื่องจากเหตุการณ์เศรษฐกิจโลกมีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างรวดเร็ว ขณะเดียวกัน ควรให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการด้านการเงิน โดยเฉพาะในด้านสภาพคล่อง และการบริหารต้นทุนอย่างรัดกุม เพื่อประคองธุรกิจในอยู่รอดในสภาวะที่ยากลำบากนี้

ด้านประเด็นที่ควรติดตามคือทิศทางมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในประเทศต่างๆ ซึ่งผู้ประกอบการในบางธุรกิจอาจมีโอกาสได้รับประโยชน์จากการใช้จ่ายเม็ดเงินในโครงการเหล่านั้น ขณะเดียวกัน อาจมองหาโอกาสในตลาดใหม่ที่ยังมีศักยภาพเติบโต โดยประเทศในภูมิภาคที่ยังมีการขยายตัวในเกณฑ์ที่ดีกว่าประเทศอื่นๆ คือจีนและอินเดีย ซึ่งเป็นตลาดที่ผู้ประกอบการไทยยังควรแสวงหาโอกาสในการเจาะตลาด แม้ว่าในขณะนี้การส่งออกของไทยไปยังประเทศจีนและอินเดียจะยังคงหดตัว แต่ทั้งสองประเทศเป็นประเทศที่น่าจะได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกน้อยกว่าประเทศก้าวหน้าอื่นๆ รวมถึงประเทศกำลังพัฒนาด้วยกัน โดยเฉพาะจีน ซึ่งมีการคาดหมายว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้ในช่วงครึ่งหลังของปี จากผลของแผนกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 4 ล้านล้านหยวน และรัฐบาลจีนยังกล่าวว่าพร้อมที่จะออกมาตรการเพิ่มเติมทุกเมื่อหากมีความจำเป็น เพื่อผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ร้อยละ 8 นอกจากนี้ การวางรากฐานตลาดสินค้าในจีนและอินเดียจะมีความหมายต่อผู้ประกอบการไทยในระยะต่อๆ เนื่องจากทั้งสองประเทศจะมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจโลกเพิ่มมากยิ่งขึ้น ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า จีนจะก้าวแซงญี่ปุ่นขึ้นมาเป็นเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับ 2 ของโลกรองจากสหรัฐฯ ได้ภายในปี 2553

อ่านรายละเอียดหน้า32)
กำลังโหลดความคิดเห็น