xs
xsm
sm
md
lg

วิกฤตรอบนี้...รุนแรงและกินเวลามาตรการที่เห็นผลเท่านั้นที่เยียวยาได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


    รายงานตัวเลขทางเศรษฐกิจของประเทศต่างๆทั่วโลกในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 ที่ผ่านมา เริ่มเปิดเผยออกมาให้เห็นกันอย่างต่อเนื่องแล้ว พร้อมๆกับการคาดการณ์ถึงทิศทางเศรษฐกิจว่าจะเป็นไปในทิศทางใด  ตัวเลขทางเศรษฐกิจดังกล่าวนั้น เป็นตัวสะท้อนถึงปัญหาจากวิกฤตที่ทั่วโลกได้รับกันไปตามวิถีทางที่ประเทศของตนเองได้ดำเนินการในช่วงที่ผ่านมา
    แต่อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ทิศทางของเศรษฐกิจที่จะฟื้นตัวกลับมานั้น ยังไม่ชัดเจนนักว่าจะเป็นในช่วงใด ซึ่งสิ่งที่เห็นกันอยู่ในตอนนี้ดูเหมือนจะมีเพียงเรื่องของการรับมือและการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เพื่อไม่ให้ลุกลามไปมากกว่านี้เท่านั้น
       ส่วนจะต้องใช้เวลาอีกนานเท่าไร ทุกอย่างถึงจะกลับมาในทิศทางที่ดีเหมือนดิม ทั้งเรื่องการค้า การลงทุน และในช่วงเวลานี้หลายภาคส่วนควรทำอย่างไรกันบ้าง..! เรามีมุมมองที่น่าสนใจจากผู้บริหารกองทุนรวมมาให้ฟังกัน

   ตระกูลจิตร จิตตไสยะพันธ์  ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ธนชาต จำกัด เล่าถึงสถานการณ์ของวิกฤตเศรษฐกิจโลกในครั้งนี้ว่า เป็นวิกฤตที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงที่สุดอย่างที่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ซึ่งเมื่อเทียบกับที่เกิดวิกฤตในช่วงปี 2540 นั้น สถานการณ์ในครั้งนั้นไม่ได้รุนแรงและสร้างความเสียหายให้กับทุกประเทศเหมือนในครั้งนี้ โดยครั้งนั้นแม้ว่าประเทศในเอเชียหลายประเทศจะได้รับความเสียหาย แต่ประเทศยักษ์ใหญ่อย่างญี่ปุ่นกลับไม่ได้รับผลกระทบ รวมไปถึงประเทศกำลังพัฒนาบางประเทศก็ไม่ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน  แต่วิกฤตซับไพร์มในครั้งนี้ประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายรวมไปถึงบรรดาประเทศเกิดใหม่ (Emerging Market) ต่างพากันรับผลกระทบที่รุนแรงในครั้งนี้โดยทั่วกัน

  โดยจะเห็นได้ว่า...เศรษฐกิจของโลกในช่วงประมาณ 5 ปีที่ผ่านมานั้น มีอัตราการเติบโตในระดับที่สูง และยังส่งผลให้ประเทศเกิดใหม่ต่างๆ เช่น จีน รัสเซีย อินเดีย มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นตามไปด้วย แต่ในปัจจุบัน ณ ขณะนี้ ไม่ได้เป็นอย่างนั้นแล้ว เมื่อเงินลงทุนที่เคยไหลเข้าไปลงทุนในประเทศเกิดใหม่เหล่านี้ในปัจจุบันลดลงไปอย่างมาก เพราะเงินลงทุนเหล่านี้ถูกนักลงทุนดึงกลับไปที่ประเทศของตนเอง 
    ขณะเดียวกันประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายก็ได้รับผลกระทบตามไปด้วยเช่นกัน  เรียกได้ว่าได้รับผลกระทบกันทั้งโลกจริงๆ  อีกทั้งความรุนแรงที่เกิดขึ้นนี้ยังสะท้อนให้เห็นถึงผลลัพธ์ออกมาให้เห็นอีก นั่นก็คือการที่บางประเทศ ถึงกับต้องขอความช่วยเหลือจาก องค์กรการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ เลยทีเดียว พูดง่ายๆว่าเมื่อเวลาที่เศรษฐกิจเติบโต ก็พากันโตไปด้วยกัน เมื่อตกก็ตกกันทั้งหมดเหมือนกัน ...!
    วิกฤตที่รุนแรงในครั้งนี้ ตระกูลจิตร บอกว่า เป็น วิกฤตฟองสบู่ในด้านของเครดิต (BUFFBEL CREDIT ) ซึ่งไม่ใช่แค่ในเรื่องของ ซับไพร์ม หรือ สินเชื่อด้อยคุณภาพเท่านั้น ดังนั้น สถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้จึงรุนแรงอย่างมาก ซึ่ง ณ ขณะนี้เรายังไม่เห็นตัวเลขความเสียหายทั้งหมดของสินทรัพย์ต่างๆที่เกิดขึ้นกับสถาบันการเงินในสหรัฐฯว่ามีจำนวนมากเท่าไร แม้ว่าทางรัฐบาลของสหรัฐเองก็ได้ทำการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงการลดอัตราดอกเบี้ย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจแล้วก็ตาม ซึ่งก็ยังไม่เพียงพอที่จะฟื้นเศรษฐกิจขึ้นมาได้ 
    ดูๆแล้วความรุนแรงในครั้งนี้ ไม่เชื่อว่า ในช่วงระยะเวลาประมาณ 6 เดือน หรือช่วงครึ่งปีหลังนี้ เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาจะฟื้นขึ้นมาได้ อย่างที่มีการคาดกันเอาไว้ ซึ่งอาจจะต้องใช้ระยะเวลาประมาณ 1 ปีหรือนานกว่านั้น เพราะจะเห็นว่าปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ ต้นเหตุนั้นเกิดขึ้นจากภาคสถาบันการเงินของสหรัฐฯ แต่กลับลุกลามและสร้างความเสียหายไปถึงเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศและทั่วโลกเลยทีเดียว
   ซึ่งเมื่อเกิดสถานการณ์เช่นนี้แล้ว บรรดาสถาบันการเงินที่ได้รับผลกระทบจึงต้องพยายามที่จะรักษาตัวเองเอาไว้เพื่อให้อยู่รอด และไม่พยายามที่จะปล่อยกู้เงินลงทุนออกไปในยามนี้ ไม่ว่าสถาบันการเงินทั้งหลายนี้จะมีเงินหรือไม่ก็ตาม และผลที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ ไม่มีเงินทุนที่จะหมุนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ทำให้ภาครัฐต้องเป็นฝ่ายที่เข้ามาแก้ปัญหา ด้วยการอัดฉีดเงินจำนวนมหาศาลเข้าสู่ระบบเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในหลายภาคส่วนของประเทศ เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายไปมากว่านี้  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการว่างงาน ที่ตัวเลขเพิ่มมากขึ้น ทั่งในสหรัฐฯและยุโรป
    สำหรับเรื่องของการว่างงานนั้น เป็นปัญหาที่สำคัญ และมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจภายในประเทศ เพราะเมื่อคนว่างงานมีจำนวนมาก อัตราการใช้จ่ายอุปโภคบริโภคของประชาชนภายในประเทศก็หายไป  และเป็นผลต่อเนื่องกันไปถึงบริษัทที่ผลิตสินค้าต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และดูเหมือนว่าจะมีความรุนแรงอย่างมากด้วย ที่เห็นกันอย่างชัดเจนที่สุด นั้นก็คือ อุตสาหกรรมรถยนต์ ที่บริษัทผลิตรถยนต์ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น ยักษ์ใหญ่ อย่าง ฟอร์ด โฟล์คสวาเกน หรือแม้แต่ โตโยต้า ยักษ์ใหญ่แห่งเอเชีย ก็มีการลดกำลังการผลิต รวมไปถึงปิดโรงงานในบางประเทศ และปลดพนักงานออกไปกันเป็นจำนวน มากขณะที่การผลิตอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ และชินส่วนอิเล็กทรอนิคต่างๆ ก็ได้รับผลกระทบในลักษณะเดียวกัน ซึ่งแน่นอนว่าประเทศผู้ผลิตและส่งออกสินค้าเหล่านี้ ต่างก็เจ็บกันไปตามๆกัน  ไม่ว่าจะเป็นเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น รวมไปถึง สิงค์โปร์ เพราะส่วนใหญ่พึ่งพาการส่งออกไปยังสหรัฐฯและยุโรปเป็นหลัก
  ส่งออกไทยต้องเอาตัวรอดให้ได้ 
  มาดูกันที่ประเทศไทยกัน ในส่วนของประเทศไทยนั้น ตระกูลจิตร  มีมุมมองในด้านเศรษฐกิจที่น่าสนใจมาก โดยบอกว่า ประเทศไทย นั้นภาคสถาบันการเงินยังมีความแข็งแกร่งอยู่ แต่ภาคการส่งออกนั้นประสบปัญหาเนื่องจากต่างประเทศโดยเฉพาะตลาดส่งออกหลักของไทยนั้นมีกำลังซื้อที่น้อยลง  เรื่องนี้ตรงกันข้ามกับเมื่อวิกฤตปี 2540 ในเวลานั้นการส่งออกของไทยเติบโตอย่างมาก แต่ภาคสถาบันการเงินได้รับผลกระทบอย่างหนัก ทั้งนี้ ในส่วนของภาคการส่งออกนั้น ได้แนะนำว่า เนื่องจากผู้ซื้อสินค้าของไทยนั้นประสบปัญหา ในระยะ 3-6 เดือน ต่อจากนี้ผู้ส่งออกต้องพยายามเอาตัวรอดให้ได้
   ที่สำคัญไปกว่านั้น คือเรื่องของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากทางภาครัฐนั้น ซึ่ง มาตรการของรัฐบาลที่จะให้ได้ได้ผลนั้น ต้องเป็นมาตรการที่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศได้อย่างจริงจังและต้องได้ผล*  เนื่องจากปัญหาของประเทศไทยในขณะนี้  คือเรื่องปัญหาการว่างงาน ขณะเดียวกันภาคเอกชนเองก็ได้รับผลกระทบกันอย่างมากเช่นกัน  มาตรการที่รัฐบาลจะดำเนินการต้องเป็นมาตรการที่ทำแล้วเห็นผลออกมาอย่างชัดเจน ต้องไม่ใช่มาตรการที่สร้างแต่ความคาดหวังเพียงอย่างเดียว เพราะจะส่งผลโดยตรงไปถึงเรื่องของความมั่นใจการการลงทุน และความมั่นใจในการใช้จ่ายของประชาชน 
    นอกจากนี้ ยังบอกถึงเรื่องภาวะเงินเฟ้อด้วยว่า ในอนาคตนั้น ไม่ห่วงเรื่องของเงินเฟ้อ โดยเชื่อว่าภาวะเงินเฟ้อจะไม่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในระยะต่อจากนี้ ซึ่งปัญหาเงินเฟ้อนั้นจะเกิดขึ้นได้ต้องมากจาก ปัจจัยที่สำคัญ อย่างเช่น เกิดความกัวลขึ้นว่า ผู้ผลิตน้ำมันจะไม่ขายน้ำมัน ซึ่งมีผลทำให้ราคาปรับเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว หรือจะเป็นในกรณี สินค้าล้นตลาดและมีคนว่างงานเพิ่มมากขึ้น เป็นต้น 
    สำหรับการลงทุนนั้น ในขณะนี้มีการมองกันอย่างมากว่า วิกฤตที่เกิดขึ้นส่งผลให้ตลาดหุ้นทั่วโลกลดต่ำลงไปมากโดยเฉพาะตลาดหุ้นของสหรัฐฯ ที่มีราคาต่ำมากจนน่าเข้าไปลงทุน  ตระกูลจิตร ก็บอกว่า แม้ว่าราคาหุ้นจะถูกลงก็จริงแต่เนื่องจากวิกฤตที่เกิดขึ้นในสหรัฐยังเห็นความเห็นความเสียหายทั้งหมดไม่ชัดเจน ทำให้ราคาหุ้นมีโอกาสที่จะถูกลงไปกว่านี้อีก โดยที่ตลาดหุ้นของประเทศไทยเอง ขณะนี้ยังมองไม่เห็นสัญญาณอะไรที่จะเข้ามาทำให้ตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นมา  แต่เชื่อว่าในปีนี้ดัชนีหุ้นไทยน่าจะอยู่ที่ระดับ 500 จุดได้  แต่ก็ขึ้นอยู่กับภาคเอกชนด้วยว่าในระยะ 6 เดือนต่อจากนี้จะสามารถทำให้ตลาดหุ้นกระเตื้องขึ้นมาได้ในระดับไหน 
   อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเราจะเห็นตลาดหุ้นในบ้านเรากระเตื้องขึ้นมาบ้าง แต่ก็ไม่ได้เป็นสัญญาณที่บ่งบอกให้รู้ว่าเศรษฐกิจจะเริ่มปรับตัวดีขึ้น หรือนักลงทุนจะทำให้นักลงทุนมีความมั่นใจขึ้นมาบ้าง  เพราะตามหลักแล้วภาพของเศรษฐกิจโดยรวมกับภาพของตลาดหุ้นนั้นแตกต่างกัน เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศนั้นเป็นการเคลื่อนไหวที่ต้องใช้ระยะเวลายาวกว่า ขณะที่ตลาดหุ้นนั้นเป็นในช่วงที่สั้นกว่า ซึ่งหากมีปัจจัยสำคัญเข้ามากระตุ้นก็สามารถที่จะดีดตัวขึ้นมาได้ทันที
กำลังโหลดความคิดเห็น