xs
xsm
sm
md
lg

รู้ทัน การเงิน:ความเป็นมาของภาวะเงินฝืด(Deflation)จากอดีตถึงปัจจุบัน(2)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บทความนี้เป็นฉบับที่ 2 ของประวัติความเป็นมาของปัญหาเงินฝืดหรือ Deflation ซึ่งผมจะเขียนถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นหลังจากปี 1960 ภาวะที่ระดับราคาสินค้าโดยทั่วไปลดลงหรือภาวะเงินฝืดที่เราเรียกกันนั้น เกิดขึ้นน้อยครั้งมากเมื่อเทียบกับในช่วงแรก ขณะเดียวกันระดับราคาก็ลดลงน้อยกว่า และเกิดการถดถอยของเศรษฐกิจน้อยกว่าในช่วงยุคแรกมาก มีหลายครั้งที่อัตราเงินเฟ้อเป็นลบแต่เศรษฐกิจก็ยังขยายตัวได้ดี และมีน้อยครั้งมากที่ระดับราคาลดลงพร้อมกับการหดตัวอย่างรุนแรงของเศรษฐกิจ

การที่สหรัฐฯ ไม่มีสถานการณ์ราคาลดลงหลังจากปี 1960 (ปีสุดท้ายที่เกิดคือปี 1955) ผมจึงขอยกตัวอย่างประเทศอื่นทั้งประเทศพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว เช่น ญี่ปุ่น เยอรมนี ออสเตรีย และสวีเดน ส่วนประเทศกำลังพัฒนาก็เช่น สิงคโปร์ จีน ไต้หวัน และอาร์เจนตินา

ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วผมขอเริ่มจากกรณีที่ได้รับการกล่าวถึงมากที่สุดคือ ญี่ปุ่น ที่เผชิญภาวะการลดลงของระดับราคาในทศวรรษ 1990 การเกิดปัญหาเงินฝืดเริ่มจากการแตกของฟองสบู่ที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศ ทำให้เกิดการลดลงของราคาสินทรัพย์ และตามด้วยการทรุดตัวของอุปสงค์ (คล้ายกับเหตุการณ์ปี 1929-33) อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเศรษฐกิจของญี่ปุ่นจะหดตัวในบางปี แต่ไม่รุนแรงเหมือนกับ เหตุการณ์ก่อนปี 1960 ทว่าเศรษฐกิจก็ชะลอตัวเรื้อรัง เนื่องจากรัฐบาลไม่ได้ใช้มาตรการ เด็ดขาดในการแก้ไขปัญหาสถาบันการเงินและภาคอสังหาริมทรัพย์ นอกจากนี้ยังอุ้ม ธุรกิจที่ไม่สามารถอยู่รอดได้ และใช้นโยบายการเงินและการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจช้าเกินไป

กรณีที่คล้ายกับญี่ปุ่นคือเยอรมนีในช่วงครึ่งหลังทศวรรษ 1980 การแตกของฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ ทำให้อุปสงค์ชะลอตัวมาก ขณะที่มีอุปทานส่วนเกินทั้งในภาค อุตสาหกรรมและอสังหาริมทรัพย์ เหตุการณ์ดังกล่าวนำไปสู่การลดลงของระดับราคาในครึ่งหลังของทศวรรษ 1980 และการถดถอยของเศรษฐกิจในช่วงเวลาดังกล่าว นอกจากนี้ การรวมตัวของเยอรมนีตะวันตกและตะวันออกในขณะที่เศรษฐกิจกำลังอ่อนแอ บวกกับข้อจำกัดที่ทำให้รัฐบาลไม่สามารถใช้นโยบายการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจ ได้มาก ได้ซ้ำเติมปัญหาอย่างรุนแรง เศรษฐกิจเยอรมนีจึงอยู่ในภาวะซบเซาตลอดทศวรรษ 1990 และต่อเนื่องไปถึงต้นทศวรรษ 2000

ออสเตรียในทศวรรษ 1990 ก็มีปัญหาคล้ายกับเยอรมนี และใช้มาตรการการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างจำกัดจากข้อตกลง Stability and Growth Pact เช่นเดียวกัน นอกจากนี้ตั้งแต่ปี 1999 ธนาคารกลางยุโรปก็ไม่ลดดอกเบี้ยเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของออสเตรีย เนื่องจากต้องควบคุมอัตราเงินเฟ้อของประเทศสมาชิกทั้งหมด เศรษฐกิจของออสเตรียจึงซบเซาค่อนข้างนาน

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าทั้ง 2 ประเทศจะเผชิญภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวยืดเยื้อ แต่ก็ไม่ได้มีปัญหาการหดตัวของเศรษฐกิจที่รุนแรงเหมือนที่เกิดขึ้นในหลายประเทศช่วง ก่อนปี 1960 เนื่องจากมีมาตรการในการแก้ปัญหาที่ดีกว่าในอดีตมาก

ในกรณีของสวีเดนนั้น เผชิญกับสถานการณ์การลดลงของระดับราคาที่แตกต่างออกไป เนื่องจากการลดลงของราคาในช่วงปี 2003 และ 2004 นั้นมาจากต้นทุนที่ต่ำลง เช่น ราคาสินค้านำเข้าลดลง และต้นทุนแรงงาน (Unit labor Cost) ลดลง ขณะเดียว กันก็มีประสิทธิภาพการผลิตสูงขึ้น ทำให้เศรษฐกิจของสวีเดนยังคงขยายตัวได้ตามปกติ แม้ว่าระดับราคาจะลดลงก็ตาม

สำหรับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่เผชิญภาวะการลดลงของระดับราคาหรืออัตราเงินเฟ้อเป็นลบก็มีความแตกต่างกัน ประเทศที่มีประสบการณ์คล้ายกับสวีเดนมากที่สุดก็คือจีนในช่วงปลายทศวรรษ 1990 และต้นทศวรรษ 2000 เนื่องจากจีนมีการลงทุนมากและประสิทธิภาพการผลิตเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูง ขณะที่ค่าจ้างเพิ่มขึ้นในระดับต่ำ เพราะมีแรงงานเข้าสู่ตลาดแรงงานจำนวนมาก ส่งผลให้เศรษฐกิจจีนมีอัตราการขยายตัวที่สูง ขณะที่ระดับราคาสินค้าและบริการโดยทั่วไปลดลง

อีกกรณี คือ สิงคโปร์ และไต้หวัน ที่มีอัตราเงินเฟ้อต่ำมาโดยตลอด และในบางช่วงก็เผชิญกับสถานการณ์ที่อัตราเงินเฟ้อเป็นลบเนื่องจากอุปสงค์ชะลอตัว ซึ่งเกิดขึ้นบ้างตั้งแต่ปี 1970 ถึงปัจจุบัน แต่ก็เป็นระยะสั้นๆ และไม่ได้สร้างปัญหาระยะยาว แต่อย่างใด ส่วนใหญ่เป็นการเกิดขึ้นในช่วงเศรษฐกิจขาลง

เศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเงินฝืดมากที่สุดในเอเชีย (ยกเว้นญี่ปุ่น) คือ ฮ่องกง ที่ผูกค่าเงินไว้กับดอลลาร์สหรัฐ และปล่อยให้อัตราดอกเบี้ยเปลี่ยนแปลงไปตามการไหลเข้า-ออกของเงินทุน ราคาสินทรัพย์ในฮ่องกงจึงขึ้นลงตามกระแสเงินทุน และส่งผลต่อเนื่องไปยังอุปสงค์และอุปทานของสินค้าและบริการด้วย ในช่วงทศวรรษ 1990 การลดลงของราคาสินทรัพย์กระทบต่อความมั่งคั่ง และนำไปสู่การลดลงของ อุปสงค์ในประเทศ ส่งผลต่อเนื่องให้ระดับราคาสินค้าและบริการลดลง แต่ไม่มีผลระยะยาว และสถาบันการเงินก็ไม่ได้รับผลกระทบกระเทือนมากนักจากการลดลงของราคาสินทรัพย์และการลดลงของระดับราคา

ประเทศกำลังพัฒนาที่เกิดปัญหามากที่สุดเมื่อมีการลดลงของระดับราคา และเศรษฐกิจถดถอยอย่างรุนแรง คือ อาร์เจนตินา ในช่วงต้นทศวรรษ 2000 ที่เกิดปัญหาการแตกของเศรษฐกิจฟองสบู่ และหนี้ต่างประเทศพุ่งขึ้นอย่างมากจนกลายเป็นวิกฤตค่าเงินและมีการไหลออกของเงินทุนต่างประเทศจำนวนมาก ประกอบกับการแก้ไขปัญหาที่ผิดพลาด เช่น การจำกัดการถอนเงินจากธนาคาร และการผูกค่าเงินกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ส่งผลให้ค่าเงินสูงเกินจริง จึงทำให้เหตุการณ์เลวร้ายลงไปมาก อุปสงค์หดตัวอย่างรุนแรงจนทำให้ระดับราคาสินค้าลดลง เกิดปัญหา Deflation ควบคู่ไปกับเศรษฐกิจถดถอยรุนแรง

จากการรวบรวมสถานการณ์การลดลงของระดับราคาของหลายประเทศทั่วโลกตั้งแต่ปี 1800 ถึงปัจจุบัน ผมขอสรุปว่า ภาวะที่ราคาสินค้าและบริการลดลง หรือในบางครั้งเราเรียกว่าเงินฝืด (Deflation) เกิดขึ้นบ่อยครั้ง ตั้งแต่ปี 1820-1960 และเป็นสถานการณ์ค่อนข้างปกติในช่วงเวลานั้น ขณะที่สถานการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นค่อนข้างน้อย หลังจากปี 1960 ที่สำคัญก็คือ สถานการณ์ของการลดลงของระดับราคา ไม่จำเป็นว่าจะต้องเกิดปัญหาเศรษฐกิจถดถอยควบคู่กันไป ที่จริงแล้วการเกิดเศรษฐกิจถดถอยควบคู่กับภาวะเงินฝืด ส่วนใหญ่จะเกิดจากการแตกของฟองสบู่ เช่นในปี 1929-33 ในสหรัฐฯ และญี่ปุ่น เยอรมนี ในทศวรรษ 1980 หรือจากการหดตัวของปริมาณเงิน เช่นสหรัฐฯ ในปี 1938 หลังจากปี 1960 มีเพียงอาร์เจนตินาประเทศเดียวที่เศรษฐกิจถดถอยรุนแรงควบคู่กับภาวะเงินฝืด ซึ่งเกิดจากการแก้ปัญหาที่ผิดพลาดของรัฐบาล นอกจากนี้ยังมีหลายครั้งที่ระดับราคาสินค้าและบริการลดลง แต่เศรษฐกิจก็ยังขยายตัวได้ดี เช่น กรณีสหรัฐฯ ในปี 1921-28 สวีเดนและจีนในทศวรรษ 1990 และ 2000 ดังนั้น การลดลงของระดับราคาจึงไม่ใช่ปัจจัยสำคัญในการกำหนดว่าเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร แต่ประเด็นสำคัญคือสาเหตุหรือที่มาของการลดลงของระดับราคาและวิธีที่ใช้ในการแก้ปัญหานั้นว่าเป็นอย่างไร

กรณีของไทย มีการคาดการณ์ว่าระดับราคาสินค้าและบริการจะลดลงหรืออัตรา เงินเฟ้อจะเป็นลบในปีนี้ ซึ่งสาเหตุหลักมาจากการลดลงของราคาน้ำมัน ขณะที่อุปสงค์ ที่ชะลอตัวเป็นเพียงปัจจัยเสริม ขณะที่เราไม่มีปัญหาการแตกของฟองสบู่ที่จะนำไปสู่การหดตัวของเศรษฐกิจที่รุนแรง การลดลงของต้นทุนน่าจะเป็นผลดีคล้ายกับจีนและสวีเดน นอกจากนี้สำนักวิจัยไทยธนาคารได้ประเมินว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (ไม่รวมพลังงานและอาหาร) ก็ยังเพิ่มขึ้น จึงไม่นำไปสู่การคาดการณ์ว่าราคาสินค้าใน อนาคตจะลดลงต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ซึ่งถ้าเกิดขึ้นจริงก็จะทำให้เกิดการชะลอการซื้อสินค้าออกไปจนทำให้อุปสงค์ลดลง (Deflationary Spiral) ผมคาดว่าโอกาสที่จะเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวมีน้อยมาก เราจึงไม่ควรตื่นตระหนกจนเกินไปนัก แต่ต้องมีสติและใช้ความรู้ในการวิเคราะห์ติดตามสถานการณ์อย่างรอบคอบ
กำลังโหลดความคิดเห็น