xs
xsm
sm
md
lg

รู้ทันการเงิน:ประเทศไทยยังมีฐานะการเงินมั่นคงเพียงพอที่จะรองรับความผันผวนของการเงินโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

bunluasak.p@bankthai.co.th

ในระยะนี้ผู้อ่านคงจะได้รับทราบข่าวไม่ค่อยดีอยู่ตลอดว่า เศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะของประเทศชั้นนำ เช่น สหรัฐฯ ญี่ปุ่น เยอรมนี และอังกฤษ ต่างมีปัญหาอย่างรุนแรงและได้เข้าสู่ภาวะถดถอย ขณะเดียวกันก็มีแนวโน้มว่าจะเกิดปัญหาการขาดแคลนเงินทุนทั่วโลก ซึ่งอาจจะนำไปสู่ความผันผวนทางการเงินครั้งใหญ่ โดยเฉพาะกรณีประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศที่อาจจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางปัญหาและข่าวร้ายต่างๆ ยังมีข่าวดีว่าประเทศไทยยังมีฐานะการเงินระหว่างประเทศมั่นคงเพียงพอที่จะรองรับความผันผวนทางการเงินของโลกได้อย่างไม่ทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปกว่าปัจจุบันมากนัก

เนื่องจากผมได้เขียนถึงวิกฤติการเงินโลกมาแล้วหลายครั้ง ดังนั้นจึงขอไม่กล่าวถึงอีก ฉบับนี้ ผมจะเน้นถึงปัญหาการขาดแคลนเงินทุนของโลกโดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนาซึ่งโดยปกติในช่วงต้นของการพัฒนาเศรษฐกิจ ประเทศกำลังพัฒนาจะต้องมีการลงทุนอย่างมากทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน ทำให้เงินออมในประเทศไม่เพียงพอและต้องการเงินทุนจากต่างประเทศ จึงนำไปสู่การขาดดุลบัญชีเดินสะพัด

ประเทศที่ขาดดุลดังกล่าวต้องพึ่งพิงเงินทุนระหว่างประเทศ 3 แบบด้วยกัน คือการลงทุนโดยตรง (Foreign Direct Investment) การลงทุนในสินทรัพย์ (Portfolio Investment) และการกู้เงินจากต่างประเทศ (Foreign Loan) เพื่อใช้ในการลงทุนในประเทศทั้งในภาครัฐและเอกชน

การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ได้แก่การลงทุนเพื่อประกอบกิจการโดยตรง เช่น การลงทุนในอุตสาหกรรมประเภทต่างๆ การลงทุนในสินทรัพย์ เช่น การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ และสุดท้ายเงินกู้จากสถาบันการเงินต่างประเทศ วิกฤติเศรษฐกิจทำให้เงินทุนจากต่างประเทศทั้ง 3 ประเภทโดยเฉพาะเงินกู้ลดลงอย่างมาก

วิกฤติการเงินที่เกิดขึ้นส่งผลให้การลงทุนโดยตรงลดลงมากกว่าครึ่งหนึ่ง และมีการไถ่ถอนการลงทุนในสินทรัพย์จำนวนมากในประเทศต่างๆ ทั่วโลกเมื่อปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ผลกระทบที่สำคัญที่สุด คือ การกู้เงินจากต่างประเทศ เนื่องจากวิกฤติการเงินทำให้สถาบันการเงินหลายแห่งของประเทศพัฒนาแล้วประสบปัญหาอย่างหนัก ประกอบกับความเสี่ยงที่สูงขึ้นทั่วโลก สถาบันการเงินส่วนใหญ่จึงตัดวงเงินกู้ที่ให้กับธุรกิจและรัฐบาลของประเทศกำลังพัฒนาเนื่องจากถูกจัดว่ามีความเสี่ยงสูง ทำให้ประเทศเหล่านั้นเกิดปัญหาอย่างรุนแรง ธุรกิจล้มละลายจากการขาดเงินทุนและสภาพคล่องอย่างเฉียบพลัน เศรษฐกิจจึงถดถอยจากการหดตัวของการลงทุน เหตุการณ์ดังกล่าวได้เกิดขึ้นแล้วในยุโรปตะวันออก รวมไปถึงประเทศที่เคยอยู่ภายใต้การปกครองของสหภาพโซเวียตเดิม (CIS) ที่ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่องมาหลายปี โดยวิกฤติครั้งนี้ทำให้สถาบันการเงินในยุโรปตัดวงเงินสินเชื่อที่ให้แก่ธุรกิจของประเทศเหล่านี้ ทำให้โครงการที่ลงทุนไปแล้วแต่ยังไม่เสร็จต้องหยุดชะงักกลางคัน และไม่สามารถสร้างรายได้แก่ผู้ลงทุน ธุรกิจจึงประสบกับปัญหาขาดทุนและไม่สามารถจะชำระหนี้สินได้ ผลที่ตามมาคือธุรกิจหลายแห่งมีปัญหาล้มละลายจำนวนมาก นอกจากนี้ การตัดวงเงินสินเชื่อ ทำให้การลงทุนหดตัวลง ส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้หดตัวลง ผู้อ่านลองนึกดูว่า ประเทศที่ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดประมาณร้อยละ 3 – 4 ของ GDP เมื่อไม่สามารถกู้เงินมาสนับสนุนการลงทุนได้ ก็ทำให้การลงทุนหดตัวลง จึงหดตัวและเข้าสู่ภาวะถดถอย

ดังที่กล่าวมาข้างต้นเป็นเพียงส่วนเดียวของปัญหาการขาดแคลนเงินทุนระหว่างประเทศ ซึ่งจะนำมาสู่ปัญหาที่ใหญ่กว่าการล้มละลายของธุรกิจและการหดตัวของเศรษฐกิจ ก็คือ ประเทศกำลังพัฒนาที่ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่อง ต่างก็มีหนี้ต่างประเทศจำนวนมาก และเกือบทั้งหมดจะมีหนี้ต่างประเทศมากกว่าปริมาณเงินสำรองระหว่างประเทศ จึงไม่มีเงินตราต่างประเทศเพียงพอที่จะชำระหนี้ได้ ซึ่งที่ผ่านมาการที่ประเทศเหล่านี้ยังคงสามารถชำระหนี้และดอกเบี้ยได้ก็เนื่องจากมีเงินทุนไหลเข้าต่อเนื่อง แต่การที่เงินทุนไหลเข้าประเทศหายไปเพราะผลจากวิกฤติการเงิน เมื่อเจ้าหนี้ต่างประเทศเรียกร้องเงินกู้คืนพร้อมดอกเบี้ย ซึ่งก็แน่นอนว่าประเทศเหล่านี้จะไม่สามารถชำระหนี้ได้ ในภาวะการณ์แบบนี้จึงเป็นการเสี่ยงอย่างยิ่งที่จะนำไปสู่วิกฤติค่าเงินระหว่างประเทศ ปัญหานี้ไม่จำกัดเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาเท่านั้น แต่ประเทศพัฒนาแล้วที่ขาดดุลสูงมาก เช่น ออสเตรเลีย ก็คาดว่าจะเผชิญปัญหาเช่นเดียวกัน เพียงแต่จะช้ากว่าเนื่องจากสถาบันการเงินจะตัดสินเชื่อประเทศกำลังพัฒนาก่อน

เพื่อให้เห็นภาพว่าขนาดของปัญหาใหญ่เพียงใด ผมขอเปรียบเทียบหนี้ต่างประเทศและเงินสำรองระหว่างประเทศ เพื่อให้ผู้อ่านเห็นภาพชัดเจนขึ้น ข้อมูลล่าสุดจาก IMF แสดงว่า ยอดหนี้ต่างประเทศคงค้างรวมของทุกประเทศในโลก ณ สิ้นปี 2550 อยู่ที่ประมาณ 67 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเปรียบเทียบกับเงินสำรองระหว่างประเทศทั้งหมดที่มีเพียงประมาณ 7.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จะเห็นว่าหนี้ต่างประเทศคงค้างมีมูลค่าประมาณ 9 เท่าของเงินสำรองระหว่างประเทศ และมีมูลค่าสูงกว่า GDP ของทุกประเทศในโลกรวมกันที่มีอยู่ประมาณ 52 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2550 ขนาดปัญหาที่ใหญ่ขนาดนี้ ไม่มีประเทศหนึ่งประเทศใดจะแก้ไขได้เพียงลำพัง และใหญ่เกินกว่าที่ IMF จะแก้ไขได้เพียงลำพังเช่นเดียวกัน เนื่องจาก IMF มีเงินกองทุนที่จะให้ประเทศต่างๆกู้ได้เพียง 300,000 – 400,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (รวมเงินช่วยเหลือจากญี่ปุ่น 100,000 ดอลลาร์สหรัฐฯแล้ว) ซึ่งจะเห็นว่า วงเงินที่ IMF มียังต่ำกว่าขนาดของปัญหามาก

ผู้อ่านคงสงสัยว่า แล้วประเทศไทยของเราจะเป็นอย่างไรในสถานการณ์เช่นนี้ ผมตอบได้เต็มปากว่าประเทศไทยจะอยู่รอดปลอดภัย เนื่องจากเราเป็นเพียงไม่กี่ประเทศในโลกที่มีเงินสำรองระหว่างประเทศสูงกว่าหนี้ต่างประเทศ โดย ณ สิ้นปี 2551 เรามีเงินสำรองระหว่างประเทศประมาณ 117,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มากกว่าหนี้ต่างประเทศทั้งหมดที่มีมูลค่าประมาณ 60,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้ประเทศไทยมีความมั่นคงทางการเงินระหว่างประเทศในระดับสูง ล่าสุดวารสาร The Economist ฉบับวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2552 ได้จัดอันดับให้ไทยเป็นประเทศที่มีความมั่นคงทางการเงินเป็นอันดับที่ 5 ของประเทศกำลังพัฒนาทั้งหมด อันดับที่ 1 คือ จีน ตามด้วย มาเลเซีย จีนไทเป และอินเดีย

ผมคิดว่าวิกฤติการเงินครั้งนี้จะยังไม่จบง่ายๆ ในเร็ววันนี้ แต่กำลังจะขยายตัวกลายเป็นวิกฤติการเงินระหว่างประเทศ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อค่าเงินของประเทศพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนาอีกหลายประเทศ ท่ามกลางมรสุมการเงินระหว่างประเทศที่เกิดขึ้น การที่ประเทศไทยมีฐานะการเงินระหว่างประเทศที่แข็งแกร่ง จะทำให้เราเป็นเพียงไม่กี่ประเทศในโลกที่อยู่รอดปลอดภัย โดยได้รับผลกระทบน้อยมากเมื่อเทียบประเทศอื่นๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น