xs
xsm
sm
md
lg

Commodity Corner:เงินดอลลาร์กับเศรษฐกิจยุควิกฤต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ท่ามกลางปัญหาการขาดแคลนเม็ดเงินลงทุนในตลาดโลกที่เป็นอยู่นี้นั้น นับเป็นเรื่องน่าแปลกใจที่ประเทศที่ประสบปัญหาดังกล่าวน้อยที่สุดในตอนนี้กลับกลายเป็นประเทศสหรัฐอเมริกา ที่เป็นต้นกำเนิดหลักของบรรดาปัญหาทั้งปวงของระบบเศรษฐกิจโลกในตอนนี้เสียเอง

ดัชนีค่าเงินดอลลาร์ สหรัฐฯ (US Dollar Index) ซึ่ง เป็นดัชนีเปรียบเทียบมูลค่าของเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯกับตะกร้าอัตราค่าเงินสกุลหลักอื่นๆทั่วโลกนั้น บ่งบอกว่า เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯในตอนนี้ มีอัตราแลกเปลี่ยนที่เข้มแข็งที่สุดนับตั้งแต่ เดือนเมษายน 49 หรือ ในสมัยก่อนหน้าที่ปัญหาวิกฤติต่างๆตั้งแต่ปัญหาซัพไพร์ม จะกระจายไปสู่ตลาดโลกเสียอีก

สถานการณ์ในตลาดปริวัติเงินตรานั้น เปรียบเสมือนว่า นักลงทุนมีความต้องการที่จะเก็บเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ มากกว่าเงินสกุลอื่นๆ ทั้งๆที่บรรดา บริษัทอุตสาหกรรม สถาบันการเงิน หรือ แม้แต่ดัชนี Dow Jones ของสหรัฐฯ จะอยู่ในภาวะวิกฤติที่ดูน่าเป็นห่วงกว่าประเทศอื่นๆ

ทั้งนี้ ความเห็นส่วนใหญ่ในตลาดต่างเห็นพ้องต้องกันว่า ของการแข็งค่าของเงินดอลลาร์นั้น เป็นเหตุมาจากการที่นักลงทุนและสถาบันการเงินในสหรัฐฯเองนั้น ดึงเงินลงทุนจำนวนมหาศาลในต่างประเทศกลับสู่ประเทศของตน และในขณะเดียวกันก็ถมเงินทั้งหมดลงไปที่พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่ง รัฐบาลยุค โอบามา ประกาศรับประกันความเสี่ยงจากการลงทุน

การไหลเวียนกลับสู่สหรัฐฯของเงินดอลลาร์ปริมาณมากนั้น ส่งผลให้ปริมาณเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่ง ยังคงเป็นเงินสกุลหลักสำหรับการค้าขาย หรือธุรกรรมระหว่างประเทศในตลาดโลกนั้น เกิดภาวะขาดแคลนในทันที เพราะถึงแม้ว่ารัฐบาลสหรัฐฯจะอัดฉีดเงินดอลลาร์จำนวนมากเข้าสู่ระบบตามนโยบายกอบกู้เศรษฐกิจของต้น แต่การเคลื่อนไหวของเงินส่วนใหญ่เป็นเพียงการเคลื่อนไหวของตัวเลขบัญชี ระหว่างธนาคารกลางและสถาบันการเงิน โดย ที่มีเงินเพียงจำนวนน้อยเท่านั้นที่ไหลออกไปสู่ตลาดจริง หรือตลาด off-shore ในต่างประเทศ

สำหรับ รัฐบาลสหรัฐฯแล้ว สถานการณ์ข้างต้นจัดว่าเป็นเรื่องที่ดีสำหรับระบบเศรษฐกิจ เพราะเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าอย่างต่อเนื่องประกอบกับ ตลาดพันธบัตรรัฐบาลที่ยังมีปริมาณความต้องการในระดับสูง ทำให้เงินทุนจากต่างชาติ เช่น เงินจากรัฐบาลจีน ซึ่งเป็นผู้ซื้อรายใหญ่ที่สุดของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯในตอนนี้ เริ่มไหลเข้าสู่ประเทศ และก็หมายความว่ารัฐบาลของนาย โอบามา นั้นจะมีทรัพยากรทางการเงินเพียงพอที่จะกระตุ้นระบบเศรษฐกิจภายในประเทศได้โดยไม่ต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

อย่างไรก็ตามเงินสกุลดอลลาร์ที่หายไปจากตลาดโลกนั้น ทำให้ท่อน้ำเลี้ยงที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนานั้นขาดหายไปในทันที โดย ตัวเลขการประเมินเม็ดเงินลงทุนจากภาคเอกชนในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ที่คำนวณโดย Institute of International Finance นั้น ลดลงจาก 928,000 ล้านดอลลาร์ในปี 50 เหลือเพียง 466,000 ล้านดอลลาร์ในปี 51 และ คาดว่าภายในปีนี้ จะปรับลดลงเหลือเพียง 165,000 ล้านดอลลาร์เท่านั้น

สำหรับประเทศกำลังพัฒนาแล้ว การนำเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติจำนวนมากออกจากประเทศนั้นจะทำให้ค่าเงินของประเทศนั้นๆปรับตัวอ่อนค่าอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ยังมีอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับสูง ซึ่ง จะถูกปรับลดลงอย่างต่อเนื่องเพื่อชดเชยกับการหดตัวทางเศรษฐกิจ และจะมีผลโดยตรงต่อการปรับตัวลดลงของค่าเงินเช่นกัน ทั้งนี้ สำหรับประเทศในกลุ่มดังกล่าวการลงทุนส่วนใหญ่ในภาคเอกชนหรือภาครัฐนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นเงินกู้ที่มีต้นทางมาจากต่างประเทศทั้งสิ้น ดังนั้น การปรับตัวลดลงเร็วของค่าเงิน (Devaluation) จะก่อให้เกิดสถานการณ์คล้ายๆ กับวิกฤติเศรษฐกิจปี 40 นั่นเองครับ

ประเทศไทยของเราเองนั้น นับว่ายังโชคดีที่มีหนี้ต่างชาติอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับประเทศในกลุ่มยุโรปตะวันออกที่กำลังประสบปัญหาในระดับที่ค่อนข้างรุนแรง ซึ่ง หน่วยงาน IMF กำลังยื่นมือเข้าช่วยเหลืออยู่ แต่ทั้งนี้ประเทศที่มีพื้นฐานของระบบเศรษฐกิจอยู่ในการนำเข้า หรือ ส่งออก สินค้าโภคภัณฑ์หรือทรัพยากรธรรมชาติต่างๆนั้น อาจจำเป็นที่ต้องเตรียมพร้อมรับมือกับปัญหาค่าเงินที่จะตามมาอีกไม่ช้าอย่างแน่นอน
กำลังโหลดความคิดเห็น