xs
xsm
sm
md
lg

BISยันวิธีอัดฉีดเงินให้แบงก์ได้ผล แต่ก็ทำเอารบ.ขาย‘พันธบัตร’ยาก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเอฟพี – ธนาคารเพื่อการชำระบัญชีระหว่างประเทศ(บีไอเอส) ยืนยันเมื่อวานนี้(2) มาตรการรักษาเสถียรภาพตลาดการเงินของรัฐบาลต่าง ๆ ก่อให้เกิดผลในทางดีในเดือนพฤศจิกายนและกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม รายงานประจำไตรมาสที่บีไอเอสนำออกเผยแพร่วานนี้ฉบับนี้ ได้ระบุด้วยว่า มาตรการรักษาเสถียรภาพตลาดการเงินและกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่ามหาศาลซึ่งรัฐบาลต่างๆ นำมาใช้เหล่านี้ ก็มีผลทำให้เกิดปัญหาความสมดุลของงบประมาณ จนต้องกู้หนี้ยืมสินกันเพิ่มขึ้นออก แล้วจึงเป็นการเพิ่มแรงกดดันอย่างมหาศาลต่อตลาดตราสารหนี้

รายงานฉบับนี้ระบุว่า “นโยบายที่มุ่งจะรักษาเสถียรภาพของตลาด ดูเหมือนจะทำให้สถานการณ์ดีขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว”

โดยจากปฏิบัติการของธนาคารกลาง และการเสนอตัวเข้าค้ำประกันของรัฐบาลต่าง ๆ ได้ช่วยลดความผันผวนของตลาดอินเตอร์แบงก์ นอกจากนี้ยังช่วยกระตุ้นให้การกู้ยืมพุ่งสูงขึ้นสู่ระดับประวัติการณ์ในเดือนมกราคม อันเป็นเดือนที่มีบริษัทต่าง ๆออกหุ้นกู้จำนวนมหาศาล

บีไอเอสระบุว่า “จากการที่ทางการผู้มีอำนาจของประเทศจำนวนหนึ่ง พิจารณาที่จะเข้าไปซื้อหุ้นกู้ของบริษัทต่างๆ กันโดยตรง และจากการที่มีการใช้โครงการค้ำประกันเพื่อสนับสนุนพวกผู้ค้ำประกันทางการเงิน จึงทำให้เกิดการเปิดท่อส่งการออกหุ้นกู้ใหม่ๆเมื่อเดือนมกราคม หลังจากที่ได้ติดขัดคั่งค้างกันมานาน”

ทั้งนี้ หุ้นกู้นั้นโดยสาระสำคัญแล้วเป็นเครื่องมือระดมทุนในรูปของการกู้ยืมนั่นเอง และตัวมันเองก็คือตราสารแสดงหนี้ ตราสารเช่นนี้สามารถออกโดยบริษัทหรือประเทศที่ต้องการเงินทุน เพียงแต่ถ้าออกโดยรัฐบาลจะนิยมเรียกว่าพันธบัตร

ตัวเลขสถิติล่าสุดของบีไอเอสชี้ว่า อัตราการกู้ยืมของภาคบริษัทได้พุ่งขึ้นไปถึง 150% สู่ระดับ 131,000 ล้านดอลลาร์ ในเดือนมกราคม เมื่อเทียบกับระดับเฉลี่ยในช่วงเดือนเดียวกันของปีก่อน

ข้อสังเกตของรายงานฉบับนี้ที่ว่ามาตรการต่าง ๆกำลังเริ่มส่งผลทางดีต่อตลาดเงินนั้น ดูจะเป็นการยืนยันการประเมินของบรรดานายธนาคารกลางในกลุ่ม จี 10 เมื่อเดือนมกราคมที่ว่า นโยบายดังกล่าว “มีบทบาทสำคัญในทางบวก”ในการฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจโลก

รัฐบาลหลายแห่งของเขตเศรษฐกิจในซีกโลกตะวันตกอย่างอังกฤษและเยอรมนี ได้ประกาศมาตรการในการค้ำประกันเงินกู้เพื่อช่วยบริษัทหรือธนาคารต่าง ๆให้ได้รับเม็ดเงินที่ต้องการ ในยามที่มีปัญหาด้านกระแสเงินหมุนเวียนอย่างหนัก

จากสถิติล่าสุดของบีไอเอสชี้ให้เห็นว่าสภาพการไหลเวียนของเม็ดเงิน ซึ่งเคยถูกสะกัดกั้นด้วยปัญหาขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรงในไตรมาสที่สาม เริ่มที่จะกระเตื้องขึ้นในไตรมาสที่สี่ของเมื่อปีก่อน

ปริมาณสุทธิของตราสารหนี้ระหว่างประเทศทั้งระยะสั้นและระยะยาว ได้เพิ่มขึ้นเป็น 624,300 ล้านดอลลาร์ สูงขึ้นเกือบ 1.5 เท่าของเมื่อไตรมาสสาม ซึ่งอยู่ที่ 253,300 ล้านดอลลาร์

พวกสถาบันการเงินต่างๆ ก็ออกตราสารหนี้ด้วยสถิติสูงขึ้นกว่าเดิมเช่นเดียวกัน โดยมีการออกตราสารหนี้ทั้งระยะสั้นและระยะยาวสูงถึง 570,000 ล้านดอลลาร์ ในไตรมาสที่สี่ ขณะที่ไตรมาสก่อนมีเพียง 252,000 ล้านดอลลาร์


การกู้เงินดังกล่าวเหล่านี้ ได้รับการสนับสนุนจากมาตรการที่รัฐในยุโรปและในสหรัฐฯ เข้าค้ำประกันหุ้นกู้ของพวกธนาคาร

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตราสารหนี้ที่ออกเป็นเงินสกุลยูโรพุ่งขึ้นสูงถึง 10 เท่า โดยมูลค่าตราสารเหล่านี้พุ่งขึ้นถึงระดับ 337,000 ล้านดอลลาร์ในไตรมาสที่สี่ เทียบกับเพียง 30,000 ล้านดอลลาร์เมื่อไตรมาสก่อน

อย่างไรก็ตาม ขณะที่นโยบายสนับสนุนทั้งหลายทำให้การระดมทุนทำได้ง่ายขึ้นมาก โครงการช่วยเหลือขนาดใหญ่ของรัฐก็กำลังส่งผลกระทบต่อดุลงบประมาณ และนำไปสู่ความยุ่งยากและความกดดันในตลาดตราสารหนี้ของรัฐ

รายงานระบุว่า รัฐบาลหลายแห่งกำลังเผชิญกับ “ความท้าทายที่เพิ่มขึ้นในการระดมเงินทุนในตลาดพันธบัตร”

บีไอเอสแจกแจงว่า จากการที่ภาคบริษัทออกหุ้นกู้กันเพิ่มขึ้น รวมทั้งการที่รัฐเข้าไปค้ำประกันหนี้ธนาคาร จึงทำให้เมื่อรัฐบาลเองต้องการออกพันธบัตร ก็ต้องต่อสู้แข่งขันกับผู้ออกตราสารหนี้อื่นๆ อย่างหนักหน่วงขึ้นทุกที โดยบีไอเอสเพิ่มเติมว่า หลายประเทศในเขตยูโรโซนต้องยกเลิกการประมูลตราสารหนี้ไปเนื่องจากนักลงทุนไม่สนใจ
กำลังโหลดความคิดเห็น