xs
xsm
sm
md
lg

เศรษฐกิจการเงินยุคใหม่:จะพัฒนาตลาดทุนไทยอย่างไร?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ขณะนี้หน่วยงานของทางการกำลังจะดำเนินการยกร่างแผนพัฒนาตลาดทุนไทย ซึ่งจะเป็นแผนระยะที่ 3 ของประเทศที่นำมาใช้แทนแผนพัฒนาตาดทุนปัจจุบันคือแผนระยะที่สองที่กำลังจะหมดระยะเวลาดำเนินการลงในปีสองปีข้างหน้า ผู้เขียนได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้เกี่ยวข้องอยู่บ้างจึงขอนำมาพูดคุยในที่นี้

หากกล่าวถึงตลาดทุน ความเข้าใจทั่วไปก็คือตลาดหุ้นหรือตลาดหลักทรัพย์ แต่ในทางวิชาการแล้วตลาดทุนมีความหมายกว้างกว่านั้น ตลาดทุนก็คือเป็นแหล่งระดมทุนที่มีระยะยาวโดยทั่วไปก็เกินหนึ่งปี บทบาทของตลาดทุนในประเทศไทยคือก็คงคล้ายๆ กับของประเทศอื่นคือเพื่อให้เป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่ต้องการทุนและผู้ออมในระยะยาว นอกเหนือจากการพึงพาแต่สินเชื่อสถาบันการเงิน อันที่จริงตลาดทุนของไทยเกิดขึ้นมานานแล้วตั้งแต่สมัยรัฐกาลที่ 5 ซึ่งรัฐบาลขณะนั้นได้มีการออกพันธบัตรเพื่อระดมเงินทุนมาก่อสร้างทางรถไฟ ต่อมาก็มีการออกพันธบัตรรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง และมีการจัดตั้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยขึ้นเมื่อปี 2518 ตลาดทุนไทยได้ผ่านร้อนผ่านหนาวมานานมพอสมควรแต่ดูเหมือนว่าเราก็ยังต้องพัฒนาอีกอย่างต่อเนื่อง

ในแผนพัฒนาตลาดทุนอยู่ฉบับใหม่นี้ได้กำหนดวิสัยทัศน์ไว้คือ ตลาดทุนไทยจะตอบสนองความต้องการของผู้ลงทุนและผู้ระดมทุนได้อย่างกว้างขวาง ทั่วถึง มีประสิทธิภาพ และเสถียรภาพ ด้วยมาตรฐานสากล และเชื่อมโยงตลาดทุนทั่วโลก ทั้งนี้ มีการกำหนดเป้าหมายของแผนฯ ไว้ 6 ประการคือ 1. มีระดับการเข้าถึงที่เหมาะสมกับผู้ลงทุนและผู้ระดมทุนประเภทต่าง ๆ 2. พัฒนาคุณภาพและความหลากหลายของสินค้าเพื่อการลงทุน ระดมทุนและการบริหารความเสี่ยง และตอบสนองกับความต้องการ 3. มีต้นทุนต่ำ และสามารถแข่งขันได้ 4. มีโครงสร้างที่มีประสิทธิภาพทั้งด้านกฎหมาย ระเบียบ บัญชี ภาษี เทคโนโลยีและการกำกับดูแล 5. นักลงทุนได้รับการคุ้มครองและมีความรู้อย่างเหมาะสม และ 6. เปิดเสรีการทำธุรกิจในตลาดทุน โดยมีการกำกับดูแลอย่างเหมาะและสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการเติบโตของตลาดทุน โดยแต่ละเป้าหมายก็มีการกำหนดมาตรการที่ต้องดำเนินการไง้ด้วย เป็นที่คาดการณ์ว่าหากสามารถดำเนินมาตรการต่างๆ ที่กำหนดขึ้นเพื่อให้บรรลุเป้าหมายทั้ง 6 ข้อดังกล่าวก็จะทำให้ตลาดทุนไทยมีขนาด และสภาพคล่องเพิ่มขึ้น มีความสมดุลและเสถียรภาพมากขึ้น ตลาดทุนไทยจะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และคนไทยจะมีความมั่งคั่งและสวัสดิการเพิ่มขึ้น

จะว่าไปแล้วตลาดทุนไทยมีปัญหาทั้งด้านด้านอุปทานและอุปสงค์ กล่าวคือข้อจำกัดด้านอุปสงค์ที่สำคัญของตลาดทุนไทยคือยังมีฐานผู้ลงทุนน้อยเมื่อเทียบกับคนทั่งประเทศ จะเห็นได้ว่าเมื่อมีทุนต่างประเทศหลั่งไหลเข้าตลาดไทยก็จะทำให้ระดับราคาและมูลค่าตลาดพุ่งขึ้นอย่างแรง ทำนองเดียวกันเมื่อทุนนอกไหลออก ตลาดเราก็ตกต่ำอย่างแรง นอกจากนี้ก็พบว่าคนไทยยังนิยมออมเงินกับธนาคารพาณิชย์อยู่มาก ประกอบกับค่านิยมที่ยังไม่ชอบลงทุนในตลาดทุนเนื่องจากมีความเสี่ยง และก็ขาดความรู้ความเข้าใจในการลงทุนในตลาดทุน นักลงทุนที่อยู่มีพฤติกรรมซื้อขายแบบเก็งกำไรเป็นส่วนมาก และผู้ลงทุนประเภทสถาบันก็น้อย จึงทำให้ตลาดมีความผันผวน ดังนั้นตราบใดที่อุปสงค์หรือความต้องการลงทุนจากภายในประเทศยังมีจำกัดอยู่ตลาดเราก็คงไม่ไปไหน ส่วนด้านอุปทานโดยรวมแล้วขนาดของตลาดไทย (เมื่อคิดเป็นสัดส่วนของ GDP) ก็ยังเล็กกว่าตลาดของประเทศคู่แข่ง แน่นอนก็คงเนื่องมาจากจำนวนสินค้าที่จำกัดไม่ใช่เฉพาะในตลาดหุ้นแต่รวมถึงพันธบัตร หุ้นกู้ และตราสารอนุพันธ์ด้วย การมีสินค้าที่ดีมีคุณภาพจำนวนมาก ก็จะดึงดูดการเข้ามาของนักลงทุนได้ทั้งในและจากต่างประเทศ ปัญหาของตลาดหุ้นคือขาดหุ้นขนาดใหญ่ที่มีคุณภาพ ในบรรดาหุ้นของบริษัทจดทะเบียบ 528 บริษัทนั้น นักลงทุนจะลงทุนกระจุกอยู่ในบริษัทใหญ่ โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติที่ลงทุนใน 50 อันดับแรกถึงถึงร้อยละ 87 ของเงินลงทุนรวม

สิ่งที่คาดว่าจะเป็นมาตรการที่สร้างการเปลี่ยนแปลงอย่าแรงในตลาดทุนไทยได้แก่ การแปรสภาพสภาพตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยให้เป็นบริษัทเอกชน และนำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ดังเช่นที่ทำกันในหลายประเทศ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานมากขึ้น มีการเข้าเชื่อมโยงกับตลาดอื่นเช่นในกลุ่มอาเซียนเพื่อดึงดูดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบ นอกจากนี้ยังจะมีการเปิดเสรีทำธุรกิจในตลาดทุนและการปฏิรูปตลาดพันธบัตร โดยการปรับปรุงวิธีการบริหารเงินคงคลังเพื่อให้ออกตราสารหนี้ภาครัฐเช่นตั๋วเงินคลังได้อย่างสม่ำเสมอ และมีการออกพันธบัตรที่มีอัตราผลตอบแทนแปรผันตามอัตราเงินเฟ้อ

ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญในตลาดทุนที่ได้รับฟังมาคือ แผนพัฒนาตลาดทุนฯ ดังกล่าวยังมีความเป็นนามธรรมมาก ควรต้องมีการระบุเป้าหมายเชิงปริมาณที่ชัเจน เช่นเมื่อสิ้นสุดแผนแล้วเราต้องการให้ขนาดหรือมูลค่าตลาดทุนไทยเป็นเท่าไร เราจะเทียบชั้นตลาดเรากับประเทศใดได้ ควรจะมีสัดส่วนหุ้นในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมเป็นเท่าไร ไม่ใช่มีแต่กลุ่มพลังงานหรือธนาคารขนาดใหญ่ที่ขับเคลื่อนตลาด ควรส่งเสริมให้มีการนำบริษัทที่ผลิตการเกษตรให้บริการท่องเที่ยวมาจดทะเบียนมากขึ้น ในองค์ประกอบของตลาดทุนไทยนั้นควรมีสัดส่วนของตลาดตราสารหนี้และตลาดหุ้นเป็นอย่างไร และเมื่อเทียบกับตลาดเงิน (ธนาคารพานิชย์) ควรเป็นเท่าไร สำหรับบทบาทที่เหมาะสมของผู้ที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุนไทยควรเป็นอย่างไร และประการที่สำคัญคือหน่วยงานทางการที่มีหน้าที่กำกับดูแลก็มีหลายหน่วยงานแยกกันดูแลแบ่งตามประเภทสถาบันซึ่งยังขาดเอกภาพและก็ไม่ควรทำหน้าที่แค่เป็นผู้คุ้มกฎแต่ควรต้องมีบทบาทในด้านการพัฒนาตลาดทุนด้วย ก็หวังว่าคงมีโอกาสที่จะได้ปรับปรุงแผนฯ ดังกล่าวกันเพื่อให้สามารถเป็นแผนงานที่นำมาซึ่งการพัฒนาตลาดทุนไทยอย่างแท้จริงไม่ใช่เป็นเพียงแค่แผนงานในกระดาษเท่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น