เอเอฟพี/ASTVผู้จัดการรายวัน - สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (International Telecommunications Union หรือ ITU) หน่วยงานผู้ดูแลอุตสาหกรรมโทรคมนาคมในเครือสหประชาชาติ ประกาศผลการจัดอันดับประเทศที่มีการพัฒนาด้านคอมพิวเตอร์และโทรคมนาคมสูงที่สุดในโลก ปรากฎว่าสวีเดนเป็นอันดับหนึ่ง ตามมาด้วยเกาหลีใต้ เดนมาร์ก เนเธอร์แลนด์ ไอซ์แลนด์ และนอร์เวย์
ไอทียูระบุว่า ประเทศที่อยู่ในกลุ่มตัวอย่างของการสำรวจครั้งนี้ทั้ง 154 ประเทศนั้นมีการพัฒนาคะแนนในทิศทางที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับคะแนนในปี 2007 โดยการสำรวจพบว่าส่วนใหญ่มีการพัฒนาโครงข่ายและเทคโนโลยีเพื่อยกระดับการเข้าถึงเทคโนโลยีของชนในชาติ แม้ว่าเมื่อพิจารณาในแง่ของการใช้งาน พบว่าการพัฒนาด้านการศึกษา ทักษะ และระดับความมั่งคั่งของชนในชาติ จะยังคงมีพัฒนาการในระดับที่ต่ำกว่า
ดังนั้น ประเทศ 20 อันดับแรกที่ไอทียูจัดอันดับให้เป็นสุดยอดประเทศที่มีพัฒนาการไอทีดีที่สุดจึงเป็นกลุ่มประเทศร่ำรวยในยุโรป อเมริกาเหนือ และเอเชีย ซึ่งเป็นแบบแผนเดิมตั้งแต่ปี 2002 โดยไอทียูยอมรับว่า ประเทศยากจนจำนวนมากถูกจัดอันดับให้อยู่ในท้ายตาราง ส่วนหนึ่งมาจากประชาชนในชาติถูกจำกัดการใช้งานไอที เพราะโครงข่ายโทรคมนาคมทั้งโทรศัพท์พื้นฐาน โทรศัพท์เคลื่อนที่ อินเทอร์เน็ต และบรอดแบนด์ยังขยายตัวไม่ครอบคลุมทั่วประเทศ
อย่างไรก็ตาม ไอทียูพบว่า ปริมาณการใช้ไอทีของประชาชนในประเทศกำลังพัฒนานั้น สวนทางกับปริมาณการใช้งานโทรศัพท์มือถือ เนื่องจากประเทศกำลังพัฒนาและไม่ร่ำรวยเหล่านี้ ถูกยกให้เป็นตลาดโทรศัพท์มือถือขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดยการสำรวจพบว่า จำนวนผู้ใช้โทรศัพท์มือถือทั่วโลกมีจำนวนทั้งสิ้น 4,100 ล้านคนแล้วในปัจจุบัน (ตัวเลขปลายปี 2008) สูงกว่าจำนวนผู้ใช้บริการโทรศัพท์พื้นฐานที่มี 1,300 ล้านคน โดย 2 ใน 3 ของ 4,100 ล้านผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่นั้นเป็นผู้อาศัยอยู่ในประเทศกำลังพัฒนา
สำหรับประเทศที่ถูกมองว่าเป็นพื้นที่ที่ภาพรวมไอทีมีการเติบโตสูงที่สุดได้แก่ ปากีสถาน ซาอุดิอาระเบีย จีน และเวียดนาม โดยไอทียูระบุว่า ปากีสถานซึ่งถูกจัดให้อยู่ในอันดับที่ 127 นั้นมีการเติบโตรวดเร็วที่สุดเนื่องจาก 5 ปีก่อน ประชาชนในปากีสถานยังไม่มีการใช้งานคอมพิวเตอร์ในวงกว้าง
นอกจากปากีสถานแล้ว ลักเซมเบิร์ก สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ไอร์แลนด์ มาเก๊า และญี่ปุ่น ก็ได้รับการยอมรับจากไอทียูว่ามีการพัฒนารวดเร็วมากในช่วงปี 2002 ถึงปี 2007 โดยพื้นที่ซึ่งมีภาพรวมการพัฒนารวดเร็วที่สุดคือพื้นที่ยุโรปตะวันออก
ไอทียูระบุว่า การจัดอันดับพัฒนาการด้านไอทีของทั้ง 154 ประเทศนี้พิจารณาปัจจัยร่วม 11 ประการ ซึ่งเชื่อว่าสามารถใช้เป็นดัชนีชี้วัดพัฒนาการด้านไอซีทีของประเทศนั้นๆได้ อาทิ ระดับการเข้าถึงไอซีที การใช้งาน ทักษะ รวมถึงการมีคอมพิวเตอร์ใช้งานในครัวเรือนด้วย