xs
xsm
sm
md
lg

เศรษฐกิจการเงินยุคใหม่:ทองคำ น้ำมัน ดอลลาร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ในปัจจุบันรู้สึกว่าราคาทองคำจะเป็นประเด็นที่พูดคุยกันถึงมากเป็นพิเศษ ไม่เหมือนกับในช่วงปีที่ผ่านมาที่หัวข้อสนทนามักเกี่ยวกับราคาน้ำมัน แล้วราคาน้ำมันกับราคาทองคำถูกกำหนดจากอะไร? ทำไมบางช่วงที่ราคาน้ำมันแพง ทองคำก็แพงด้วย แต่ในช่วงนี้ราคาน้ำมันถูกลง ราคาทองคำกลับแพงขึ้นๆ และดอลลาร์ (สหรัฐ) เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่อย่างไร

ราคาน้ำมันถูกกำหนดจากปัจจัยพื้นฐานความต้องการและปริมาณอุปทานของน้ำมัน เมื่อไรก็ตามที่มีความต้องการใช้น้ำมันมาก เช่น เมื่อเศรษฐกิจอยู่ในช่วงขยายตัว ราคาน้ำมันก็จะปรับตัวสูงขึ้น หรือเมื่อไรที่มีการขาดแคลนน้ำมัน เช่นเมื่อแหล่งการผลิตน้ำมันมีปัญหาด้านการสงคราม ราคาน้ำมันก็จะปรับตัวขึ้น นอกจากนี้ในระยะหลังๆ พบว่าปัจจัยที่เริ่มมีบทบาทในการกำหนดราคาน้ำมัน คือ การซื้อขายน้ำมันในตลาดล่วงหน้า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการซื้อขายเพื่อเก็งกำไร โดยการกำหนดราคาการซื้อขายล่วงหน้านี้จะอาศัยข้อมูลปัจจุบันและการคาดการณ์เกี่ยวกับปัจจัยที่จะกระทบกับราคาน้ำมันในอนาคต ในบางช่วงเวลาธุรกรรม การซื้อขายน้ำมันในตลาดซื้อขายล่วงหน้ามีปริมาณเกือบถึงร้อยละ 50 ของธุรกรรมซื้อขายน้ำมันทั้งหมด จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ราคาน้ำมันในช่วงกลางปี 2551 ทะยานขึ้นไปถึง 140 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาเรล สำหรับการกำหนดราคาทองคำ ก็เช่นเดียวกับราคาน้ำมัน เป็นการกำหนดจากทั้งปัจจัยพื้นฐานความต้องการและปริมาณอุปทาน รวมทั้งการซื้อขายทองคำในตลาดล่วงหน้าด้วย ทั้งนี้ หากดูข้อมูลในอดีตก่อนปี 2543 จะพบว่าราคาน้ำมันกับราคาทองคำมีสัดส่วนค่อนข้างคงที่เฉลี่ยประมาณ 0.06 บาเรลต่อออนซ์ และราคาของสินค้าทั้งสองจะเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม หากคำนวณตามสัดส่วนดังกล่าว เมื่อเดือนกรกฏาคมที่ผ่านมาที่ราคาน้ำมันแตะระดับ 136 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาเรล ราคาทองคำก็น่าจะอยู่ที่ 2,267 ดอลลาร์ สรอ.ต่อออนซ์ แต่ในช่วงนั้นราคาทองคำกลับมีค่าอยู่ที่ระดับ 940 ดอลลาร์ สรอ.ต่อออนซ์เท่านั้น สะท้อนให้เห็นว่าสัดส่วนข้างต้นได้มีการเปลี่ยนแปลงไป การที่ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นรวดเร็วเกิดจากความต้องการใช้น้ำมันในโลกที่มีมากขึ้น และการที่นักลงทุนคาดการณ์ว่าการลงทุนในตลาดซื้อขายล่วงหน้าน่าจะเป็นแหล่งที่ทำกำไรได้ จึงมีผลทำให้ราคาน้ำมันวิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตรงกันข้ามกับในปัจจุบันที่ราคาน้ำมันอยู่ที่ประมาณ 43-44 ดอลลาร์ สรอ.ต่อบาร์เรล หากคำนวณตามสัดส่วนข้างต้นราคาทองคำควรอยู่ที่ 717-733 ดอลลาร์ สรอ. ต่อออนซ์ แต่ในความเป็นจริงราคาทองคำกลับมีค่าอยู่ที่ประมาณ 910-920 ดอลลาร์ สรอ. ต่อออนซ์

เกิดอะไรขึ้นและดอลลาร์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่ อย่างไร เมื่อวิกฤตสถาบันการเงินในสหรัฐฯเริ่มชัดเจนขึ้นประมาณเดือนกันยายน 2551 จึงทำให้มีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวลงความต้องการใช้น้ำมันจะลดลง กอปรกับเป็นจังหวะเดียวกับที่นักลงทุนทำการขายสัญญาล่วงหน้าน้ำมันเพื่อทำกำไรจากราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในระดับสูง จึงมีผลให้ราคาน้ำมันลดลงอย่างรวดเร็ว วิกฤตสถาบันการเงินในสหรัฐฯ ทำให้สถาบันการเงินใหญ่ๆของโลกมีปัญหาสภาพคล่อง เพราะการกู้ยืมกันเองทำได้ยากขึ้น ในช่วงเวลาดังกล่าวจึงมีการโยกเงินออกจากประเทศต่างๆ ที่สถาบันการเงินเหล่านั้นไปลงทุนเพื่อไปเพิ่มเติมสภาพคล่องที่หดหายและสำรองกรณีฉุกเฉิน เช่น สำหรับประเทศไทยจะเห็นได้ว่ามีนักลงทุนต่างชาติขายหุ้นและส่งเงินกลับไปประเทศตนเองเป็นจำนวนมาก โดยตราบใดที่วิกฤตสถาบันการเงินทั้งในสหรัฐฯและในยุโรปยังไม่นิ่งความต้องการสภาพคล่องก็จะยังมีอยู่ ซึ่งสภาพคล่องที่ต้องการถือส่วนใหญ่เป็นดอลลาร์ สรอ. จึงมีผลให้เงินดอลลาร์ สรอ. แข็งค่าขึ้น ทั้งนี้ นอกจากดอลลาร์ สรอ.แล้ว สินทรัพย์อื่นที่นักลงทุนถือ ก็คือ ทองคำ เนื่องจากทองคำเป็นสินทรัพย์ที่มีความมั่นคงปลอดภัยและยังเป็นแหล่งสะสมความมั่งคั่ง ราคาทองคำจึงปรับตัวสูงขึ้นสวนทางกับราคาน้ำมัน

ราคาทองคำจะสูงอยู่อย่างนี้อีกนานเท่าไร เมื่อสินทรัพย์อื่นมีความไม่แน่นอนเช่นในช่วงนี้ นักลงทุนจึงหันไปถือดอลลาร์ สรอ.และทองคำตามที่กล่าวข้างต้น แต่เมื่อวิกฤตสถาบันการเงินโลกถึงจุดต่ำสุด ความต้องการดอลลาร์ สรอ.หรือสภาพคล่องส่วนเกินอาจลดลง มีความเป็นไปได้ที่ค่าเงินดอลลาร์สรอ.จะอ่อนตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐฯที่ยังไม่กระเตื้อง ในภาวการณ์นั้นทองคำก็อาจจะยังคงเป็นที่ต้องการอยู่ แต่สิ่งที่นักลงทุนพึงระมัดระวัง คือ เมื่อเศรษฐกิจสหรัฐฯและโลกส่อแววฟื้นตัวแล้ว สินทรัพย์อื่นๆก็อาจกลับมาเข้มแข็งและมีโอกาสที่จะทำกำไรได้มากเพราะมีราคาถูก เมื่อเป็นเช่นนั้น ตามกลไกที่กำหนดราคาทองคำตามที่กล่าวมาข้างต้นราคาทองคำอาจปรับตัวและกลับไปมีความสัมพันธ์กับราคาน้ำมันในสัดส่วนเดิม ดังนั้น ท่านที่ถือทองคำไว้มากๆก็ต้องระมัดระวังนะครับ

(surachit@gmail.com)
กำลังโหลดความคิดเห็น