xs
xsm
sm
md
lg

‘เกมเขย่าสถาบัน’แย่แน่ – ถ้ารับมืออย่างสะเปะสะปะ ! ตอนที่ 1 ‘องค์พระมหากษัตริย์’

เผยแพร่:   โดย: คำนูณ สิทธิสมาน

ยุทธศาสตร์ “โลกล้อมประเทศ” วันนี้ ไม่ได้ถูกใช้แค่การต่อสู้เพื่อหวลคืนอำนาจของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรเท่านั้น แต่ถูกใช้ใน “เกมเขย่าสถาบัน” นำโดยนายใจ อึ๊งภากรณ์ และหนุนเสริมโดยนายธงชัย วินิจจะกุล ในขณะที่นายจักรภพ เพ็ญแขยืนตอกย้ำอรรถาธิบายในฐานะกองเชียร์อยู่ห่าง ๆ คนเหล่านี้แม้จะต่างคิดต่างทำต่างแรงจูงใจแต่แน่นอนว่ามีสถานะเป็น “แนวร่วมโดยธรรมชาติ” ของกันและกัน

ดีใจที่เห็นคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะไม่กลัวดอกพิกุลจะร่วง ออกมาตอบโต้ในทันทีเมื่อค่ำวันที่ 5 มีนาคม

และดีใจยิ่งขึ้นที่ท่านนายกฯเห็นความสำคัญ แสดงความจำนงจะมาตอบกระทู้ด่วนของผมกับท่านส.ว.อโณทัย ฤทธิปัญญาวงศ์ในวุฒิสภาด้วยตนเอง ในที่ประชุมวุฒิสภา กำหนดนัดล่าสุดไว้เป็นวันศุกร์ที่ 20 มีนาคม

กฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นบทบัญญัติว่าด้วยความมั่นคงแห่งรัฐที่ดำเนินตามรัฐธรรมนูญมาตรา 8 มาตราแรกในหมวดพระมหากษัตริย์

“มาตรา 8 องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้

“ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใด ๆ มิได้”


ถ้าเลิกกฎหมายอาญามาตรา 112 ตามที่นายธงชัย วินิจจะกุล นักวิชาการคนไทยที่สอนอยู่ในสหรัฐฯ นำนักวิชาการต่างชาติชั้นนำหลายคนมาเรียกร้อง รัฐธรรมนูญมาตรานี้ก็จะเป็นอันไร้ความหมาย เพราะเท่ากับเขียนไว้ลอย ๆ ไม่มีบทลงโทษ

โปรดสังเกตคำว่า “องค์พระมหากษัตริย์” ในรัฐธรรมนูญมาตรา 8 นี้ให้ดี !

ผมมีข้อมูลจะเล่าต่อให้ฟัง

นี่เป็นทั้งมาตรฐานสากล ในฐานะบทบัญญัติคุ้มครองการกระทำของผู้ดำรงตำแหน่งประมุขแห่งรัฐโดยทั่วไป และเป็นมาตรฐานเฉพาะของประเทศไทยที่มีที่มาจากรากเหง้าทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่มีบทบัญญัติคุ้มครองพระมหากษัตริย์ในฐานะส่วนพระองค์ด้วย

อ่านรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และฉบับก่อน ๆ ให้ดีเถอะครับ ทุกที่ทุกมาตราที่บัญญัติไว้เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์จะใช้คำว่า “พระมหากษัตริย์” เฉย ๆ มีอยู่ที่เดียวมาตราเดียวคือมาตรา 8 วรรคแรกนี้เท่านั้นที่ใช้คำว่า “องค์พระมหากษัตริย์” ซึ่งไม่ใช่เขียนเกิน เขียนผิด แต่เป็นความจงใจ

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 17 – 18 ฉบับที่มีมา ทั้งถาวร และชั่วคราว จงใจใช้คำว่า “องค์พระมหากษัตริย์” ในมาตรานี้ที่เดียวทั้งนั้น

จะมียกเว้นฉบับเดียวก็คือรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2515 ที่ใช้คำว่า “พระมหากษัตริย์” เหมือนกันในทุกมาตรา

ที่ “เกือบไป” ก็คือรัฐธรรมนูญ 2534 ในวาระที่ 1 – 2 ใช้คำว่า “พระมหากษัตริย์” เหมือนกันในทุกมาตรา

มาแก้ไขได้หวุดหวิดในวาระที่ 3 ให้ใช้คำว่า “องค์พระมหากษัตริย์” เฉพาะในมาตรา 8


การถกเถียงในช่วงเวลานั้น แม้จะเป็นการภายใน ก็ทำให้ได้รับรู้หลักการเฉพาะของรัฐธรรมนูญไทยที่เทิดทูนพระมหากษัตริย์ไว้สูงส่ง คุ้มครองพระองค์ทั้งฐานะผู้ทรงดำรงตำแหน่งประมุขแห่งรัฐ ที่ทรงปฏิบัติหน้าที่ขณะดำรงตำแหน่ง และทั้งในฐานะส่วนพระองค์

หลักการสากลนั้นกฎหมายสูงสุดของทุกประเทศคุ้มครองประมุขแห่งรัฐว่าจะถูกฟ้องร้องมิได้อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นพระมหากษัตริย์ ประธานาธิบดี ประธานประเทศ หรือตำแหน่งชื่ออื่น ๆ จะมียกเว้นไม่คุ้มครองก็แต่ใน 2 เงื่อนไข

หนึ่ง - คือเมื่อพ้นตำแหน่งออกไปแล้ว หรือเมื่อกระทำการใดไปในฐานะส่วนตัว

สอง - คือเมื่อประเทศนั้นลงนามและให้สัตยาบันในสนธิสัญญาสละสิทธิการคุ้มครองประมุขแห่งรัฐ

แต่หลักการเฉพาะของประเทศไทยที่พระมหากษัตริย์ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณมาโดยตลอดนั้น ให้ความคุ้มครองพระองค์เพิ่มขึ้นในฐานะ “ส่วนพระองค์” ด้วย

จำภาษาวิชาการเขามาพูดต่อเสียหน่อยว่า....

ไม่เฉพาะคุ้มครองแต่สถานะ The King หรือ The Crown เท่านั้น แต่คุ้มครองไปถึงสถานะ The Person of the King หรือ The Person of the Crown ด้วย !

หลักการเฉพาะนี้อย่าว่าแต่เรา ๆ ท่าน ๆ ที่ไม่เคยรู้เลยครับ แม้ในแวดวงนักกฎหมายระดับปรมาจารย์ และบุคคลที่รับใช้ใกล้ชิดราชบัลลังก์ ยังลืมเลือนไปในช่วงปี 2534 ขณะมีการร่างรัฐธรรมนูญ

ถกเถียงกันแต่ว่าสมควรเขียนกฎหมายให้เป็น “พระมหากษัตริย์” ให้เหมือนกันหมด ไม่ต้องมีคำว่า “องค์พระมหากษัตริย์” เพราะรกรุงรัง และฟังแล้วเหมือนคำว่า “นักองค์...” ของกัมพูชา ซึ่งไม่ใช่ตำแหน่งของไทย

คนที่ออกแรงคัดค้านอย่างหนักในช่วงนั้นเข้าใจว่ามีหลายคน เป็นการคัดค้านและเคลื่อนไหวทำความเข้าใจกับผู้หลักผู้ใหญ่เป็นการภายใน

เท่าที่ผมทราบก็มีท่านอาจารย์ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ สุดยอดนักวิชาการกฎหมายมหาชนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์มากที่สุดคนหนึ่ง แล้วก็มีท่านอาจารย์ดร.สุรเกียรติ เสถียรไทย นักกฎหมายที่มีความใกล้ชิดสถาบันพระมหากษัตริย์อีกคนหนึ่ง

ทราบมาว่าทั้งสองได้กราบเรียนทำความเข้าใจกับผู้หลักผู้ใหญ่หลายท่านอย่างไม่เป็นทางการ

รวมทั้งท่านศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ประธานองคมนตรีในขณะนั้น !

และที่สุดความรู้ความเข้าใจที่อาจจะเลือนไปบ้างตามกาลเวลาก็ได้รับการส่งผ่านไปยังท่านโอสถ โกศิน ซึ่งขณะนั้นเป็นประธานคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญของสภานิติบัญญัติแห่งชาติยุคนั้น

คำว่า “องค์พระมหากษัตริย์” จึงยังคงอยู่ต่อมาในรัฐธรรมนูญ 2534 ได้อย่างหวุดหวิดในวาระที่ 3 !

เป็นคำ ๆ เดียวที่มีความหมายยิ่งใหญ่เหลือเกิน !!

ระหว่างการคุ้มครองพระมหากษัตริย์ในพระราชสถานะเดียว คือ ในพระราชสถานะประมุขแห่งรัฐ กับการคุ้มครองอีกพระราชสถานะหนึ่ง คือ รวมในพระราชสถานะส่วนพระองค์ด้วย มีความแตกต่างกันมากครับ

ไหน ๆ พูดถึงยุทธศาสตร์ “โลกล้อมประเทศ” ที่จะผลักดันให้ประเทศไทยเดินตามมาตรฐานตะวันตกในทุกประการโดยไม่ทิ้งรากเหง้าความเป็นมาทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของเราเหลือไว้เลย และหลักรัฐธรรมนูญมาตรา 8 วรรคแรกในประเด็นคำ “องค์พระมหากษัตริย์” แล้ว คราวต่อ ๆ ไปก็อยากจะพูดต่อถึงความในมาตรา 8 วรรคสองเสียหน่อย

ในยุคโลกาภิวัตน์ ยุทธศาสตร์ “โลกล้อมประเทศ” ที่ใช้ในที่อื่น ๆ ทำให้ประมุขของประเทศหลายประเทศตกเป็นจำเลยในศาลอาญาระหว่างประเทศมาแล้ว

รัฐบาล โดยเฉพาะกระทรวงการต่างประเทศ ต้องระมัดระวังให้จงหนักในการตัดสินใจลงนามหรือให้สัตยาบันในสนธิสัญญาระหว่างประเทศใด ๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น